วิธีการทำ ขั้นตอนต่างๆ

เมื่อมีมาร มุ่งมาท้าทายความเป็นโสด

November 30, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,317 views 0

เมื่อมีมาร มุ่งมาท้าทายความเป็นโสด : “ความอยากมีคู่ครอง” กับดักเพื่อฆ่าบัณฑิตบนเส้นทางธรรม

ถ้าใครมีคำถามประมาณว่า พยายามประพฤติตนเป็นบัณฑิต พยายามปฏิบัติตนให้เป็นคนโสด แต่ก็มีผู้เข้ามาท้าชิง จนปวดหัว ไม่รู้จะทำอย่างไร พรากก็แล้ว ห่างก็แล้ว ยังตามจีบ ตามคุย ตามหา จะทำอย่างไรให้การตัดสินใจต่าง ๆ เป็นไปในทางที่ดีงาม

ก็เป็นคำถามที่ดีนะครับ เพราะคนส่วนมาก แม้จะตั้งใจปฏิบัติให้ตนเป็นบัณฑิต ตั้งใจอยู่เป็นโสด แต่ส่วนใหญ่ พอเจอโจทย์เข้าจริง ๆ จะหลงไปเลย ไม่มีสติยั้งคิดที่จะมาถามหรือแสวงหาคำตอบอะไรหรอก คำตอบของเขามักจะเป็นไปสองทางคือ ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ถ้าถูกใจก็ไปกับเขาเลย ถ้าไม่ถูกใจก็อาจจะลองดู ๆ กันไป หรือไม่ก็ผลักเขาออกไปเพราะไม่ถูกใจเท่านั้นเอง

ทีนี้คนที่ตั้งใจก็เหลือไม่เยอะหรอก คนส่วนน้อยในโลกเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะผ่าวังน้ำวนโลกีย์ที่หมุนอย่างรุนแรงด้วยกำลังของกามและอัตตาในสังคมปัจจุบัน จะตอบคำถามโดยไล่เป็นประเด็น ๆ ไปนะครับ

  1. ผู้มาด้วยความกำหนัดกล้า

เมื่อเราตั้งจิตตั้งใจที่จะอยู่เป็นโสด ก็เป็นธรรมดาที่จะมีโจทย์เข้ามากระทบในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มานั้น ก็ใช่ว่าจะมาอย่างไร้ศักยภาพ ฟ้าจะส่งผู้ที่มีความสามารถเข้ามาท้าทายเรา เหมือนมีอัศวินใส่เกราะขี่ม้าขาวมาพร้อมอาวุธครบมือมาท้าทายอยู่หน้าบ้าน คนที่จะเข้ามาเจอเรานี้ มักจะมีองค์ประกอบที่เราจะแพ้ทางโดยธรรมชาติ เพราะเขาคัดมาแล้ว ต้องแบบนี้ คนนี้เท่านั้นที่จะปราบความไม่จริงใจในความโสดของเราได้ หมายจะเอาชนะเราให้ได้แน่ ๆ ไม่ได้มาเพื่อแพ้ ให้ทำความเข้าใจไว้ได้เลยว่าประมาทไม่ได้ แม้หนึ่งการสบตาหรือรอยยิ้มเพียงแค่ครั้งเดียว เป้าหมายในการมีอยู่ของเขาก็แน่นอน ทำให้เราเกิดความอยากที่จะไปมีคู่

  1. มารไม่มา บารมีไม่มี

การประพฤติตนเป็นโสดนั้น ไม่ได้หมายความเป็นโสดอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ หลบ ๆ เลี่ยง ๆ แบบกลัว ๆ แต่สามารถตั้งใจเป็นโสดได้แม้จะมีสิ่งยั่วย้อมมอมเมาที่น่าใคร่น่าเสพขนาดไหนเข้ามาปะทะ ก็ยังตั้งใจที่จะอยู่เป็นโสดได้ แม้จิตหวั่นไหวก็ใจแข็งสู้ มันจะไม่ง่ายเหมือนคิดเอา เพราะจริง ๆ แล้ว เขามาเพื่อชนะ เราก็ต้องปราบมารนี่แหละ เพื่อที่จะเพิ่มกำลังของเรา แม้ในตอนแรกอินทรีย์พละ หรือกำลังของเรายังไม่สูง แต่ถ้าเราตั้งมั่นพากเพียร เราจะพบเลยว่า ตัวเราที่ผ่านโจทย์นี้มา จะเป็นตัวเราอีกคนที่เหนือกว่าตัวเราที่เคยเป็นอย่างเทียบไม่ได้ กำลังใจ กำลังปัญญาจะเพิ่มขึ้นมหาศาลแทบจะเปรียบได้ว่า ปราบอัศวินผู้ช่ำชองในการรบได้เพียงแค่กระดิกนิ้วเท่านั้น อันนี้เป็นผลของการปราบมาร เล่ากันไว้ก่อน จะได้มีเป้าหมาย

  1. มารทุบหม้อข้าวลุย

โดยธรรมชาติของมาร เวลาเราตั้งใจจะสู้จริง ๆ มันก็จะเอาจริงเหมือนกัน มันจะจริงจังตามความจริงใจในธรรมะของเราเลย ยิ่งถ้าเราตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดด้วยนะ เรียกว่าแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้มารเสพเลย มันจะยอมหรือ? มันก็ทุบหม้อข้าวลุยล่ะทีนี้ หมายถึงมันก็ทุ่มหมดตัวเหมือนกัน เราก็ทุ่มหมดใจเหมือนกัน มารในที่นี้ไม่ใช่อัศวินขี่ม้าขาวนะ แต่เป็นความอยากมีคู่ในใจเรานี่แหละ ที่จะเสกอัศวินขึ้นมา ถ้าไม่มีจิตอยากมีคู่นะ ถึงจะมีโคตรอัศวินขี่ม้าขาวเป็นร้อย ก็ได้แค่เดินวนไปวนมาหน้าบ้านเราเท่านั้นแหละ เพราะไม่มีทางเข้ามาตีได้ สะพานไม่มีเขาจะข้ามมาได้อย่างไร อย่าไปทอดสะพานให้เขาเข้ามาตีแล้วกัน ยิ่งถ้าใหม่ ๆ ชักสะพานออกเลย ไม่ต้องไปยุ่ง อย่าไปพัวพันมาก เรื่องคู่นี่ไม่ใช่ง่าย รบแพ้แล้วมักจะแพ้หลุดลุ่ยเลย

  1. หมู่มิตรดี ชีวีผาสุก

เวลาเจอข้าศึกมาบุก การจะสู้คนเดียวมันก็ดูจะลำบาก ควรจะมีพันธมิตรร่วมสู้ด้วย การสร้างพันธมิตรหรือหมู่มิตรดีนั้น ก็ใช่ว่าจะสร้างกันตอนข้าศึกบุกทันนะ มันต้องขยันสร้างกันไว้แต่เนิ่น ๆ คือมีเวลาก็เข้าไปคบหาหมู่มิตรดีที่ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดไว้  ให้เน้นคนที่มีกำลังใจกำลังปัญญามาก ๆ เช่นทนการยั่วเย้าได้มาก ๆ หรือ มีปัญญาเถียงสู้กิเลสได้เก่ง ๆ ยิ่งได้ครูบาอาจารย์ที่ท่านพ้นเรื่องนี้แล้วยิ่งเป็นกำลังสำคัญเลยแหละ เรียกว่ากำลังเสริมระดับกองทัพ ยกทัพมาตีคนสองคนไม่รอดหรอก การสานพลังกับหมู่มิตรดี ก็คือเข้าไปคบคุ้น ช่วยกันทำดี หมั่นสนทนาธรรม ฟังธรรม หมั่นเข้าหาปรึกษาครูบาอาจารย์ จะทำให้เรามีความมั่นคงขึ้น ไม่มีทางถูกตีแตกได้ง่าย ๆ ไม่หวั่นไหวได้ง่าย ๆ เพราะมีที่พึ่งที่ถูก เป็นที่พึ่งที่พาพ้นทุกข์

*Key success factor หนึ่งเดียวของการพาตนเองเป็นโสดอย่างผาสุก ก็คือหมู่มิตรดีนี่แหละ ถ้าคบผิดกลุ่ม ไปคบหาของปลอม ไม่ได้มีธรรมะจริง ไม่มีของจริง ไม่หลุดพ้นจริง ไม่รอด 100% แต่ถ้าคบกับกลุ่มที่จริง ยังมีโอกาสรอดขึ้นมาตามความพากเพียร ถ้าคบผิดกลุ่มปิดประตูบรรลุธรรมไปได้เลย

  1. กิจตน กิจท่าน

เวลาเจอข้าศึกบุก หรือมีคนมาจีบ ให้ตั้งเป้าหมายให้ถูก เรียงลำดับความสำคัญให้ถูก กำลังจิตและปัญญาเรามีจำกัด ไม่ควรเทไปในจุดที่ยังไม่สมควร นั่นคือควรลำดับงานที่สมควรทำก่อน งานที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือล้างความอยากมีคู่ในตัวเองเสียก่อน เอาให้เด็ดขาดเสียก่อน อย่าพึ่งไปคิดเมตตาเขาหรือไปช่วยอะไรเขา เอาตัวเองให้รอดก่อน เดี๋ยวไม่งั้นมันจะกลายเป็นการทอดสะพาน ชักศึกเข้าบ้าน ไปช่วยเขา สุดท้ายเขามาแทงเราตาย อันนี้มันก็ผิด เราต้องจัดการศึกในตัวเราก่อน อย่าเพิ่งไปเปิดศึกข้างนอก พระพุทธเจ้าได้สอนพระอานนท์ไว้ว่า เวลาเจอเพศตรงข้าม ก็ไม่ต้องมอง ถ้าจำเป็นต้องมองก็ไม่ต้องพูด ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ให้ตั้งสติ พูดอย่างสำรวม อย่าให้ความอยากความหลง ความยินดีพอใจปลื้มใจในเพศตรงข้ามแทรกเข้ามาครอบงำจิตใจได้  จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติที่ตนก่อน เรื่องคนอื่นอย่าเพิ่งไปคิด

  1. ความอยากมีคู่คือเชื้อร้าย

ในท้ายที่สุด เราก็จะพบว่า ศัตรูที่แท้จริงก็อยู่แค่ภายในใจของเราเอง คือกิเลสที่มันสิงเราอยู่นี่แหละ เหมือนถูกผีสิง ความอยากมีคู่มันอยู่ในใจเรา มันเป็นเชื้อร้ายที่คอยดึงสิ่งต่าง ๆ เข้ามา ความปลื้มใจ ความยินดีพอใจต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มันเสกสร้างขึ้นมาทั้งนั้น อารมณ์สุขจากความอยากมีคู่ ความยินดีพอใจในการมีคู่ คือสิ่งที่กิเลสนั้นสร้างขึ้นมาหลอกให้เราหลงว่ามันเป็นสุข หลอกให้เราหลงวนอยู่ในโลกนี้ ในความสงสารนี้ เป็นสิ่งที่กักขังเราไว้จากอิสรภาพอันยิ่งใหญ่ ความเป็นอิสระจากความอยากมีคู่นั้นหากจะลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพ ก็เหมือนคนที่ถูกขังในคุกแคบ ๆ อันมืดมิดหนาวเหน็บอยู่หลายสิบปีแล้วต่อมาถูกปล่อยออกมาพบทุ่งกว้าง ลมพัดเย็น และอบอุ่น  เป็นความสบายใจ ความปลอดภัยที่ไม่มีวันจะพบได้หากยินดีที่จะดำรงอยู่ในคุก กิเลสมันก็หลอกเราว่า ในคุกนี้แหละดี เป็นสุข อย่างน้อยก็มีอาหารให้กินเลี้ยงชีพ มันก็เอาความอยาก เอารสยินดีพอใจในคนคู่นั่นแหละ มาเป็นอาหารให้เราเสพดำรงชีวิตไป นั่นเพราะเรามีอัตตายึดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ถ้าเราไม่ยึดความอยากมีคู่ คุกคนคู่นั้นย่อมพังทลายลง อาหารทิพย์นั้นรสดีสูงค่ากว่าอาหารคุกคนคู่มากนัก อย่างที่ไม่มีใครหลุดพ้นคุกคนคู่แล้ว เวียนกลับไปกินอาหารคุกอีกเลย

  1. สำรวมกายใจ

เมื่อรู้แล้วว่าต้องทำอะไร สิ่งใดที่เป็นภาพลวง สิ่งใดที่เป็นเป้าหมายที่ควรทำลาย ให้สำรวมระวังกายใจทั้งหมด โจทย์จะผ่านมาทางการกระทบ ด้วยหน้าตาลีลา ด้วยน้ำเสียง ด้วยคำหวาน ด้วยสัมผัส ฯลฯ สารพัดสิ่งที่เข้ามากระทบ โดยหลักแรก เราก็ต้อง สงบ สำรวม ไม่หวั่นไหว ดำรงสติให้ตั้งมั่นก่อน เมื่อมีสติแล้วจับให้ได้ว่าแต่ละครั้งที่กระทบ มันมีอาการใจฟู อิ่มใจ พอใจอะไรไหม เมื่อเห็นอาการก็พิจารณาวิจัยหาสาเหตุว่ามันมีจิตไปชอบสิ่งใดลีลาใด จับเหตุนั้นให้ได้ จับโจรให้ได้ก่อน ส่วนจะการลงโทษเป็นอีกขั้น ต้องใช้ปัญญาครูบาอาจารย์ร่วมด้วย เพราะปัญญาเราจะไม่พอ ถ้าปัญญาเราพอ เราจะไม่หวั่นไหว ถ้าเราหวั่นไหวแสดงว่ามันสู้ไม่ได้ ต้องใช้คำสอนคำแนะนำจากครูบาอาจารย์หรือมิตรดีที่ท่านพ้นเรื่องคู่เข้ามาช่วย จะเป็นการอ่านทบทวนธรรม จะฟัง  หรือจะเป็นการปรึกษาก็ได้ทั้งนั้น เอายังไงก็ได้ให้มีปัญญาไปเถียงกิเลส แน่นอนว่าไม่ง่าย มันต้องมีกำลังจิตพอที่จะกดไม่ให้ฟุ้งซ่าน และปัญญาที่คมพอจะตัดความโง่ที่ไปหลงผิด ที่ไปหลงปลื้มกับรสสุขลวงของกิเลสนั้นได้

มาถึงขั้นตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เอาสมบูรณ์แบบ ทุกคนพลาดกันได้เป็นธรรมดา แต่พลาดแล้วต้องตั้งสติสำรวม อย่าพลาดซ้ำพลาดซ้อน หรือปล่อยให้พลาดจนไหลร่วงตกหล่นไปคบหากัน ไปแต่งงานมีลูกกัน เพราะความจริงมันมีเวลาให้พิจารณาโดยลำดับ แพ้ก็สู้ พลาดก็สู้ แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดพลั้งเผลอไปทุกวัน กำลังมันจะมากขึ้น แต่ถ้ายอมแพ้กิเลสทุกวัน ก็มีแต่จะเสื่อมถอยตกร่วงไปเรื่อย ๆ

  1. เมตตามหานิยม

อย่างที่กล่าวกันไว้ก่อนหน้านี้ ว่ากิเลสจะทุบหม้อข้าว ดังนั้นมันจะงัดทุกเหลี่ยมทุกมุมของอวิชชาที่มันมีออกมาโชว์ ให้เราเห็นว่าเราโง่แค่ไหน เราหลงแค่ไหน ให้พยายามตั้งสติเพียรพิจารณาล้างความหลงผิดไปโดยลำดับอย่างพากเพียร อย่าโทษเขา อย่าโทษใคร อย่าโทษตัวเอง ให้มีเมตตาต่อตัวเอง ให้เข้าใจว่าทำชั่วมามาก หลงมานานมาก มันมีคราบสกปรกเกรอะกรังมาก มันก็ต้องใช้เวลา ธรรมะหรือแม้แต่เหตุการณ์ที่พิสดารอย่างมากในการชำระล้าง อย่าโกรธแค้นตัวเองที่ทำชั่วมามาก ให้ทำความเข้าใจว่ากิเลสมันก็พาให้โง่ ให้หลงไปแบบนั้น แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาพากเพียรล้างไป

อย่าไปโกรธเขาที่เขาพยายามที่จะเข้ามาจีบ มาหว่านล้อมเรา เพราะเขาไม่เข้าใจว่าความสุขแท้คืออะไร เขาก็แค่เล่นตามบทบาทของเขา เพื่อที่จะเอาชนะใจเรา เขามีความหลงผิดของเขา เราควรทำใจให้เมตตาเขา อย่าไปโกรธ อึดอัน ขุ่นเคืองใจในความไร้เดียงสาของเขา เมื่อเราล้างกิเลสไปโดยลำดับ เราจะยิ่งเห็นความจริงไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นการจีบ การดูแลเอาใจ จะเห็นความจริง คือกิเลสต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในลีลา อาการ คำพูด มารยาเหล่านั้นที่เขาแสดงออกมา ในเบื้องต้นเราจะชัง ซึ่งเป็นธรรมชาติของลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติธรรม มันจะต้องชังความชั่วก่อน ถึงจะล้างความชั่วได้ พอล้างความชั่วได้ ที่เหลือคือล้างความยึดดี ซึ่งก็ต้องจับความชัง แล้วล้างไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกหวั่นไหว ไม่เป็นสุขอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่าโกรธใครเขาที่ไม่เข้าใจเรา ในการปฏิบัติตนเป็นโสด ถ้าเขาจะไม่เข้าใจ ก็ถูกของเขา พอมาถึงจุดหนึ่งมันจะเหนือการรับรู้อย่างสามัญของโลกไปแล้ว แม้เขาจะเข้าใจอยู่บ้างว่า ศาสนาพุทธก็พากันยินดีในความเป็นโสด แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่าความเป็นโสดนั่นแหละคือความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ ถ้าเขาคิดเอาเอง ถ้าเป็นเขา เขาก็เป็นทุกข์ เขาจะไม่เข้าใจหรอกว่าการตั้งตนอยู่บนความโสดนั้นผาสุกอย่างไร มันเป็นเหมือนดินแดนอันเป็นทิพย์ที่เข้าไปได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรแล้วเท่านั้น ดังนั้นก็เป็นธรรมดาที่คนรอบข้างจะไม่เข้าใจ ให้เมตตาเขา อย่าไปถือสาเขา

  1. ปล่อยวางอย่างลูกหลานพระโพธิสัตว์

เมื่อเราทำงานของเราเสร็จ เราล้างความอยากมีคู่ของเราได้สำเร็จจนไม่เหลือแม้เศษฝุ่น หรือเศษเสี้ยวแห่งความหวั่นไหวใด ๆ ในใจเลย เราก็จะเหลือแต่งานนอก คือช่วยเหลือผู้อื่น

ด้วยกำลังของปัญญาที่เราสะสมมา จะทำให้เราเห็นมากกว่าที่เคยเห็น คือมีตาทิพย์ หูทิพย์ จะได้เห็นได้ยินความจริงตามความเป็นจริง นี่กิเลส นี่มารยา นี่ทุกข์ ปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็นก่อนหน้านี้ จะสามารถเป็นผู้จำแนกอาการกิเลสและรู้วิธีแก้ตามประสบการณ์เท่าที่เราเคยได้ทำมา เราทำมาเท่าไหร่เราก็เก่งเท่านั้น แม้เราจะเก่งน้อยที่สุดของผู้มีปัญญาพ้นความอยากมีคู่ แต่ก็ความเก่งนั้นก็ยังห่างไกลกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างมากจนเทียบกันไม่ได้ นั่นหมายถึงเราจะสามารถเริ่มนำมาความรู้มาช่วยคนได้

คนที่เราช่วยแบบผ่านมาผ่านไปก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่คนที่เข้ามาจีบเรานี่แหละ เราจะช่วยอย่างไร กรรมเป็นของของเรา เราทำมา เราก็ต้องรับ ชาติใดชาติหนึ่งก็ไปหลับหูหลับตาจีบคนที่ไม่สมควรจีบแบบนี้แหละ ก็ทำความเข้าใจตรงนี้ ว่าแล้วก็ช่วยแนะนำเขาเท่าที่ปัญญาตัวเองมี หรือไม่ก็แนะนำคำสอนของครูบาอาจารย์ ก็ช่วยไปโดยสังเกตไปโดยลำดับว่าพาเขาลดกิเลสได้ไหม พาเขาคลายความอยากจะเข้าหาเราได้ไหม

ถ้าทำสำเร็จ นั่นก็เพราะความดีมันสังเคราะห์กันพอดี เขาก็ทำดีมามาก เราก็มีปัญญาพอจะช่วยเขา และที่สำคัญเขายอมให้เราช่วย มันจึงสำเร็จ

แต่โดยมากมันจะไม่สำเร็จ พอเมตตาไปแล้ว ลงมือช่วยไปแล้ว มันไม่สำเร็จ จะทำอย่างไร? ขั้นตอนนี้คือตอนจบของการปฏิบัติธรรม คือปล่อยวางให้ได้ ทำดีเต็มที่ สุดความสามารถแล้ว มันไม่ได้ผล งานที่ต้องทำมันก็เหลือแค่เลิกทำงานเท่านั้นเอง การปล่อยวางเป็นองค์ประกอบของหนึ่งที่สำคัญของนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การผลักดันช่วยเขาไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่พร้อม เขายังไม่ถึงวาระที่จะเข้าใจธรรมะจากเรา เขายังไม่ถึงเวลาที่เขาควรจะพ้นทุกข์ เขายังมีอกุศลวิบากที่ต้องใช้ เขายังมีบาปที่ต้องหลงต่อไป ให้เราทำความเข้าใจแล้วปล่อยวาง

ซึ่งก็ไม่ต้องกังวลอะไร ไม่ต้องห่วงใคร เพราะแม้ว่าเราจะไม่สามารถที่จะช่วยเขาไว้ได้ แต่เขาจะจำสิ่งที่เราสอน สิ่งที่เราทำให้ดู สิ่งที่เราอยู่ให้เป็นตัวอย่าง แล้วพอเขาทุกข์มาก ๆ จากบาป จากอกุศลกรรมของเขา เขาจะระลึกได้ แล้วเขาจะหันมาทำตาม การที่เขาได้ให้โอกาสเราได้ช่วยเขา มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้กันได้แล้ว เราจะได้ทำหน้าที่เท่าที่ฟ้าให้เราทำ ความสำเร็จไม่ใช่สมบัติของเรา สมบัติของเรามีเพียงความผาสุก สงบเย็น แม้จะไม่สามารถช่วยใครได้ก็ตามที แท้ที่จริงเราก็ได้ช่วยไปแล้วนั่นแหละ เราได้ลงมือไปแล้ว เราได้ทำมันก็สำเร็จเท่าที่เราทำ แต่ผลสำเร็จที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นของเขา ของโลก เป็นส่วนของคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมบัติของเรา เราจึงไม่ได้สิ่งนั้น ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมมาเพื่อจะเอาอะไร แม้จะเอาการได้ช่วยเราก็ไม่เอา เราก็ทำหน้าที่ไปตามธรรม เขาให้ทำ เราก็ทำเต็มที่ เราไม่ให้ทำ เราก็ปล่อยวางให้เต็มที่ แค่นี้ก็สุขที่สุดหาอะไรเปรียบได้แล้ว

สรุป… ความดีงามที่สุดคือทำตนเองให้พ้นความอยากมีคู่ให้ได้นั่นแหละ ดีที่สุด สมบูรณ์และเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนเรื่องที่ปฏิบัติต่อคนอื่นให้เกิดกุศล ก็ทำไปตามความรู้ของตนตามที่ได้ศึกษามาจากพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ท่านต่าง ๆ และพร้อมวางใจ เพราะโลกนี้ พร่องอยู่เป็นนิจ จะหาความสำเร็จที่สมบูรณ์ไม่ได้เลย

30.11.62

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

July 25, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,661 views 1

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

การจะเป็นคนโสดที่มั่นคงกับความโสดได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีคนที่ถูกใจเข้ามาก็ยังยินดีในความเป็นโสดได้อย่างผาสุกนั้น เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักหากเรามีการศึกษาที่ถูกหลัก

ศาสนาพุทธกับการมีคู่

ศาสนาพุทธไม่ได้มีกฎห้ามฆราวาสมีคู่ การมีคู่ครองนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การเป็นโสดก็เป็นสิทธิที่พึงได้เช่นเดียวกัน

ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับความรักดังเช่นว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ การมีคู่นั้นเป็นดั่งบ่วงที่คล้องเราไว้กับความทุกข์ แต่ผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้นมีอยู่ เช่น การมีคู่รักนั้นคือความสุขคือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือเขาจะเข้าใจว่ารักนั้นมีทุกข์จริง แต่ก็มีสุขร่วมด้วย หรือการมีคู่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้ โดยรวมๆ แล้วคือพยายามสรรหาข้อดีของการมีคู่ ซึ่งหมายความว่ามีทิศทางไปทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ผู้ที่หลงผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ก็จะไปในทิศทางที่เป็นทุกข์

ตามหาแนวทางปฏิบัติ

เมื่อเราต้องการจะพัฒนาตนเองไปสู่ความโสดที่ผาสุกและยั่งยืน ไม่ใช่โสดรอเสพ ไม่ใช่โสดเพราะหาไม่ได้ แต่เป็นความโสดที่มั่นใจแล้วว่านี่แหละคือทางแห่งการพ้นทุกข์ ทางอื่นไม่ใช่ แม้เรามีความเห็นที่ตรงไปสู่ทางพ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ส่วนเป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ และการจะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ง่าย มารมักจะแปลงร่างมาลวงให้หลงได้เสมอ มาในคราบเทพบุตรบ้าง มาในคราบเทพธิดาบ้าง

เมื่อทางปฏิบัตินั้นดูไม่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับคุณค่าของความโสด ผู้ที่มีความเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือความผาสุกที่สุดแล้ว การมีคู่ครองนั้นเป็นทางแห่งทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพที่ทุกข์ดับ และรู้วิธีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ ซึ่งเข้าใจภาวะนั้นจริงในตนเอง เป็นในตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องกันตามตำรา มีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่เวียนกลับไปโสด หรือเหลาะแหละโลเล เป็นไม้ปักเลน

เมื่อได้เจอกับผู้รู้แล้วก็ศึกษาตามที่ท่านเหล่านั้นเป็น เพื่อที่เราจะได้มีหลักยึดในการปฏิบัติว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริงเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตาม เราก็จะได้ผลเหล่านี้เช่นกัน

คัมภีร์คนโสด

คู่มือคนโสดที่ตกทอดกันมาหลายพันปีนั้น เป็นสมบัติที่ชาวพุทธรู้จักกันดี นั่นคือพระไตรปิฎก แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาหลากหลาย แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “โทษภัย” ของการมีคู่อยู่ไม่น้อย เช่นในอนุตตริยสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้ภรรยานั้นเป็นลาภก็จริง แต่ก็ถือเป็นลาภเลว หรือ “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด   เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต,   ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ยิ่งถ้าอ่านเกี่ยวกับพระวินัยของผู้บวชเพื่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีเลยว่า ศัตรูชีวิตก็คือสตรี…

หนีรอตาย หนีรอโต

โดยพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจอกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบใจ ก็ควรจะหลีกหนีหรือรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดจนเกินไป จนจิตไปสะสมความรักใคร่ที่มากขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปนั้นทำตรงกันข้าม คือมุ่งหน้าหาสิ่งที่ตนเองชอบใจ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มากขึ้น

การหนีห่างออกมานั้น แม้จะช่วยไม่ให้เกิดการปะทะที่มากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะหนีได้ตลอดไป ผู้ที่เอาแต่หนี ไม่ยอมศึกษาเพื่อให้ความอยากมีคู่นั้นจางคลายลงไป ก็ทำได้เพียงแค่ “หนีรอตาย” เท่านั้น ไม่พลาดชาตินี้ ก็ไปพลาดชาติหน้า การหนีนั้นแท้จริงแล้ว ก็เพื่อใช้เวลาในช่วงที่ห่างออกมาเร่งศึกษาและปฏิบัติตนให้พ้นจากความอยากมีคู่ ให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นในความโสด ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่นั้น การหนีนี้คือ หนีเพื่อรอการเติบโต หรือ “หนีรอโต

ศึกษาเพื่อก้าวข้ามความอยากมีคู่

การศึกษาของพุทธนั้น มีไว้เพื่อความเจริญโดยลำดับ มิใช่เพื่อดับสิ้นเกลี้ยงในทันที ซึ่งจะมีความเจริญพัฒนาไปตั้งแต่ คนโสดที่อยากมีคู่ (กามภพ) ไปเป็นคนโสดที่ยังอยากมีคู่แต่เห็นโทษก็เลยไม่มีคู่ (รูปภพ) ไปเป็นคนโสดที่ไม่ยินดีในการครองคู่แต่ลึกๆ แล้วยังคงเหลือความอยากมีคู่ ยังมีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ยินดีในความโสดอย่างเต็มที่ (อรูปภพ) ไปจนถึงขั้นดับความอยากมีคู่จนสิ้นเกลี้ยง

การที่เราจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อข้ามความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องเริ่มจากศีล คือมีเจตนาละเว้นการครองคู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ เมื่อมีเป้าหมายที่จะขัดเกลากิเลสนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาจิตของตนด้วยสมถะ เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดลมหายใจ หรือจะเป็นสมถะในการงานต่างๆ เช่น ขุนดิน ตัดกระดาษ เย็บผ้า ออกกำลังกาย โยคะ ฯลฯ ฝึกจิตให้เกิดความสงบบ่อยๆ ก็จะสะสมเป็นกำลังของจิต ที่จะช่วยเพิ่มพลังไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อต้องเผชิญกับเนื้อคู่ ( ตัวเวรตัวกรรม )

ในส่วนของปัญญานั้น เกิดจากการรู้แจ้งโทษภัยของการมีคู่ได้ครบทุกเหลี่ยมทุกมุมตามที่ตนเองเคยหลงติดหลงยึด ซึ่งการจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องแก้ไขความเห็นผิดต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ด้วยประสบการณ์ของผู้รู้ และทำความรู้นั้นให้มีในตน

เดิมทีนั้นเรามีแต่อธรรม แม้จะอยากเป็นโสด แต่ก็ยังเป็นเพียงความใฝ่ดี ยังไม่เกิดผลดีนั้นจริง เราก็ต้องเอาธรรมที่ตรงกันมาล้างอธรรม เราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเราก็เอาธรรมะนั้นมาล้าง กิเลสจะบอกแต่ประโยชน์ของการมีคู่ เราต้องใช้ปัญญาเอาโทษของการมีคู่นั้นมาหักล้าง ซึ่งในช่วงแรกของผู้ปฏิบัติใหม่นั้น กิเลสมักจะมีแรงมากกว่า เรียกว่าเถียงไม่ทันกิเลส แต่พอเรียนรู้ไป ขยันฝึกไป จะเริ่มรู้ทางกิเลสและเถียงกิเลสเก่งขึ้น อันนี้เรียกว่าปัญญาที่จะมาชำระกิเลส มีทั้งแบบจำมา และรู้จริงในตน แบบที่จำหรือเรียนรู้มาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้ แบบที่รู้จริงในตนก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง ถ้ามันไม่เกิด เอาแต่จำเขามา มันก็จะไม่ไปไหน เพราะยังไม่สามารถสร้างความเจริญขึ้นในตนได้ ยังไม่สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้

ลงสนามสอบเมื่อจำเป็น

สำหรับเรื่องคู่นั้นเป็นเรื่องที่อันตราย พลาดแล้วพลาดเลย แก้ไขยาก เช่น คบหากันไปแล้ว แต่งงานกันไปแล้ว มีบุตรร่วมกันไปแล้ว พอเข้าไปแล้วมันไม่ได้ออกกันง่ายๆ ดังนั้นพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมก็คือหนีห่างไว้เป็นหลัก ปะทะเมื่อจำเป็น นั่นหมายถึงในเรื่องคู่ไม่ต้องขยันไปหาสนามสอบที่ไหน ไม่ต้องไปสมัครเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง เพราะถ้าหลงแล้วมันหลงเลย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีลูกไปแล้วก็ได้

เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้สอบ ฝึกปฏิบัติมาอย่างเต็มที่แล้วกลัวจะไม่เจอโจทย์ (ร้อนวิชา) เพราะหลายชาติที่ผ่านมาของเรา กว่าจะถึงวันที่อยากออกจากนรกคนคู่ ส่วนมากแล้วก็ต้องมีคู่มามากมายจนเห็นทุกข์โทษภัยกันมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงเราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับใครต่อใครไว้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโจทย์ เนื้อคู่(ตัวเวรตัวกรรม) ที่จะเข้ามาพิชิตใจเรานั้น มีอยู่ไม่ใช่น้อยอย่างแน่นอน

แต่เราก็จะไม่ประมาท ถึงแม้ว่าวันสอบยังไม่มาถึง เราก็ซ้อมทำโจทย์กันไปก่อน เห็นคนนั้นคนนี้เขารักกัน เราก็ตรวจใจเราไป ว่าเรายังอยากเป็นอย่างเขาอยู่ไหม เรายังมีจิตยินดีในแบบของเขาอยู่ไหม เรายินดีในการเป็นโสดของเราอยู่ไหม หรือมีอาการน้อยใจ หดหู่ใจ ขุ่นใจ แอบอิจฉาเขาอยู่ลึกๆ เราก็ขยันตรวจใจ หากิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ

โสดอย่างเป็นสุข

การผ่านโจทย์จากโสดรอเสพไปสู่โสดอย่างเป็นสุขนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเพียงแค่ครั้งเดียวผ่าน เราอาจจะต้องลงสนามสอบหลายครั้ง สอบตกกันหลายครั้ง ต้องมาสอบซ่อมกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้จิตใจเราจะหวั่นไหว รู้สึกอยากมีคู่ แต่ถ้าเราอดกลั้นฝืนทนข่มใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลส แล้วกลับมาฝึกใจใส่ปัญญาใหม่ เราก็จะมีโอกาสได้สู้เรื่อยๆ และปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนี้ สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ เพราะชนะจริงๆ นั้นมีครั้งเดียว แต่ในระหว่างที่เราศึกษา เราก็เก็บปัญญาตามทางมาว่าเราแพ้เพราะอะไร พลาดไปโดนเหลี่ยมไหน มันมีรูรั่วตรงไหน เราก็กลับมาอุดรูรั่วนั้นแล้วค่อยไปสู้ใหม่

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องมีผัสสะเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงจะนั่งนึกคิดเอาเองไม่ได้ว่าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่แล้ว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับสิ่งที่เราเคยชอบใจ แล้วไม่มีอาการสั่นไหวใดในจิตใจเลย มีเพียงการรับรู้ตามจริง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส คือไม่มีความรู้สึกลำเอียงใดๆ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น และไม่มีอคติใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน จึงเป็นสภาพไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด เป็นสภาพไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ใช่ว่ายังเห็นว่าการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสุขอยู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นยังไม่พ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะต้องกระทบ เผชิญหน้า พูดคุย ทำอะไรต่อมิอะไร เขาทำสิ่งดีให้เรา เขาทำเป็นง้องอนเรา เขายั่วเรา เขาบอกรักเรา เขาอ้อนวอนขอให้เราเป็นคู่ เราก็จะไม่มีอาการหวั่นไหว จิตใจไม่เคลื่อนไปจากความเห็นที่ว่าความโสดคือความผาสุกในชีวิตเลย สุดท้ายไม่ว่าจะกระทบสักแค่ไหนในปัจจุบัน ตรวจใจไปถึงเหตุการณ์ในอดีต จินตนาการไปถึงอนาคต ก็ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะทำให้เราหวั่นไหวเผลอตัวห่างจากความโสดได้เลย แล้วก็ตรวจใจซ้ำลงไปให้ละเอียดว่าแม้ธุลีของความลังเลแม้น้อยเดียวก็ไม่มีในจิต ก็จะเข้าถึงสภาวะของความโสดอย่างเป็นสุขได้นั่นเอง

….การอยู่เป็นโสดนั้นถือเป็นโจทย์ปราบเซียนโจทย์หนึ่ง เพราะไม่ง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ แม้ผู้มีศีล ๕ อย่างตั้งมั่นในจิตก็ยากจะต้านทานความอยากมีคู่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท ควรระลึกไว้เสมอว่าก่อนวันสอบจะมาถึง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังจิตและกำลังปัญญา เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากโจทย์นรกคนคู่นี้ให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้สามารถคงสถานะโสดไว้ได้ แม้จิตใจจะยังหวั่นไหวก็ตามที

24.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อถูกกล่าวหา ชาวพุทธควรทำอย่างไร?

May 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,256 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราพึงตั้งตนอยู่ในคุณธรรมสองประการคือ ๑. ความจริง ๒. ความไม่ขุ่นเคือง (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๑)

เมื่อเราถูกกล่าวหาแล้วเราก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความจริง ถ้าเขาให้โอกาสเราพูด ให้โอกาสเราพิสูจน์ความจริงเราก็พิสูจน์ การพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจความจริงให้ตรงกันนั้นเป็นสัมมาวาจา แต่ถ้าเขาไม่ให้โอกาสเราก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ยอมให้เขาเข้าใจผิด ทั้งนี้การตั้งตนอยู่ในความจริงก็คือ ผิดก็ยอมรับว่าผิดจริง ไม่ใช่รู้ตัวว่าผิดแล้วทำเฉไฉ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มีมารยา แต่ถ้าคิดว่าถูกก็ควรรับฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง เพราะเราอาจจะไม่ได้ถูกไปทั้งหมด

และไม่ว่าเขาจะกล่าวหาอย่างไร สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรแสดงความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าจะออกไปทางโกรธหรือน้อยใจ ประชดประชัน ฯลฯ หรือกระทั่งการโจมตีกลับ ชวนทะเลาะ แข่งดีเอาชนะ การกระทำเหล่านี้นอกจากไม่เป็นไปเพื่อความสุขแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตได้

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก

February 10, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,807 views 0

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก : อย่าเพิ่งบอกว่ารัก ช้าไว้ก่อน ยั้งไว้ก่อน รอไปก่อน ให้โอกาสกันเรียนรู้จักรักให้ดีเสียก่อน

ก่อนที่ความสัมพันธ์จะผูกมัดกันมากขึ้นด้วยสัญญาใดๆ ก็ตาม และก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นคุณค่าที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทิศทางที่จะเปลี่ยนไปนั้นคือนรกหรือสวรรค์ลวงกันแน่ เรามาเรียนรู้จัก “ความรัก” กันให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะสายเกินไป จนยากจะแก้ไข

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักนั้น มันเป็นความรักจริงๆ มันเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่มารยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากเสพ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ปนเปื้อนด้วยขยะคือกิเลส

มีหลายเหตุผลที่ทำให้คน “หลง” ไปว่านั่นคือ “ความรัก” เช่น ความใกล้ชิดกันที่มากเกินไป ความเหงาที่อยากหาใครสักคนเข้ามาคลายเหงา ความใคร่ที่อยากหาใครมาบำเรอ ความอยากมีคุณค่าที่จะหาใครสักคนมาสะท้อนคุณค่าของตน ความขี้เกียจที่อยากจะเกาะใครสักคนไปชั่วชีวิต และอีกหลายสาเหตุจนกระทั่งถึงความหลงที่เข้าใจว่าเราจำเป็นต้องมีคู่ก็ตาม

แล้ววันหนึ่งบังเอิญมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ซึ่งเขาจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ตรงตามสเปค(ตรงตามกิเลส) ของเราพอดิบพอดี เราก็เลยหลงเข้าใจว่าคนนั้นใช่แน่ๆ นี่คือความรักแน่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถมาแทนที่คนคนนี้ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือมากกว่า ถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน

และการปักมั่นว่าต้องเป็นคนนี้ “ต้องคนนี้เท่านั้นที่ฉันจะรักไปจนตาย แม้ความตายก็ยังพรากความรักของฉันไปจากเธอไม่ได้” แบบนี้ก็ไม่ใช่ความรักเช่นกัน แต่เรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” หรืออุปาทาน เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลส ที่หลงติดหลงยึดในการเสพสิ่งนั้นๆ อย่างไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งกิเลสไม่ใช่เรื่องดีที่พาเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้นการปักมั่นก็ไม่ใช่ความรักอีกเช่นกัน

แล้วอย่างไหนจึงจะเรียกว่าความรัก? ใครก็ได้ก็ไม่ใช่ความรัก… ใครก็ไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้นก็ไม่ใช่ความรัก…เรามาเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะไปเรียนรู้ “ความรักที่แท้จริง” กัน

เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็น “ความรัก” ได้ด้วยการ ”รอและให้โอกาส” …ถ้าเป็น ความใคร่อยากเสพ มันจะไม่รอ มันจะเพิ่มความสัมพันธ์ท่าเดียว มันต้องได้เสพมากขึ้น ต้องสุขมากขึ้น ความกระสันอยากให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปมากขึ้นนั่นแหละคือ “ความอยาก (ตัณหา)” แม้จะมีสารพัดข้ออ้างให้ความสัมพันธ์คืบหน้าที่น่าฟังและน่าเชื่อถือปานใดก็ตาม แต่ถ้ารอไม่ได้ ไม่ยอมรอ เอาสารพัดสวรรค์ลวงมาหลอก มันก็รีบไปนรกเท่านั้นแหละ

การให้โอกาสคืออะไร คือให้โอกาสทั้งตัวเราและเขาได้เรียนรู้ผู้อื่น การให้โอกาสเป็นอีกสิ่งที่จะทดสอบ “ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)” ความรักที่แท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” เราไม่ควรมีความทุกข์ใดๆ เพื่อจะมีความรักเลย ถ้าความรักนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก มันคือการเบียดเบียน,ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะไม่ยอมให้โอกาส ไม่ยอมพรากจากสิ่งที่ตนปักมั่น หากสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้นพรากออกไปเอง ก็จะพยายามดึงกลับมา ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกมัดกันอยู่เช่นนั้น แต่การให้โอกาสนี้ควรอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดศีลเท่านั้น

ผ่านเรื่องตัณหาและอุปาทานหรือความอยากและความยึดโดยย่อมาแล้ว ทีนี้เราก็จะมาทำความรู้จักความรักที่แท้จริงกัน…

ความรักที่แท้จริง นั้นคือรักที่ไม่มีความเบียดเบียนใดๆ เลย เป็นรักที่มีแต่การเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่กันและกันโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ขยายเพิ่มกันไปอีกคือรักที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่มักจะเกิดในความรักลวงๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความหลง

เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ “ความรัก” เพื่อแยกแยะ “ความหลง” ออกไปได้แล้ว เมื่อเรามั่นใจ แน่ใจว่าความรู้สึกที่เรามีนั้นคือรักที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราก็ค่อยมอบสิ่งที่มีคุณค่าแท้เหล่านั้นให้คนที่เรารักก็ยังไม่สาย เป็นเพชรเม็ดงามที่เรา พยายามเจียระไนให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุด เหมือนคนที่พยายามขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่เขานั้นรักและห่วงใย

มาถึงตรงนี้ยังมีใครยินดีที่จะรอและให้โอกาสอีกบ้าง… ตัณหาจะไม่รอ อุปาทานจะไม่ยอมพราก และมันจะไม่ยอมสยบต่อธรรมะ ไม่ยอมรับว่ามันคือศัตรูตัวร้าย ไม่ยอมรับว่ามันคือสิ่งสกปรกและความเลวทรามในจิตใจของเราหรอก มันพร้อมที่จะออกมาปฏิวัติเสมอ มันจะเสนอหน้าออกมาโกหกและบิดเบือนความจริงว่ามันต่างหากคือสิ่งดีงาม

ผู้ที่ศรัทธาในความรักที่แท้จริง จะต้องผ่านสงครามเพื่อปราบมารกิเลส เพื่อที่จะนำสันติสุขมาสู่คนที่ตนรัก ไม่ใช่ไปพากองทัพกิเลสมาถล่มคนที่ตนรัก

…มาจนถึงวันนี้ เรารู้จักความรักของเราดีจริงหรือยัง?

– – – – – – – – – – – – – – –

8.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)