คู่ครองถ่วงธรรม

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,998 views 0

คู่ครองถ่วงธรรม

คู่ครองถ่วงธรรม

หากจะนึกถึงสิ่งใดที่เป็นบ่วงซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดและถ่วงความเจริญ หนึ่งในนั้นก็คือการมีคู่ครอง แม้ในโลกจะสรรเสริญการมีคู่ แต่ในทางธรรมการมีคู่นั้นกลับกลายเป็นขวากหนามขวางกั้นคนให้ห่างจากความผาสุกที่แท้จริง

ถ้าเราเอาเหตุผลทางโลก ก็คงจะมีหลายคนที่ให้เหตุผลที่ฟังแล้วดูดี สมควรแก่การมีคู่ ถึงแม้เขาจะพยายามขยับขามาทางธรรม ความเห็นผิดที่หลงในสุขลวงเหล่านั้นก็จะยังติดตามมาเสมอ เช่น หาคู่มาคอยเกื้อกูลกัน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน เป็นกัลยาณมิตรกัน อะไรก็ว่ากันไปตามเหตุผลของคนอยากมีคู่

ถ้าเขาไม่คิดจะเจริญทางธรรม อยากมีชีวิตไปแบบโลกๆ กิน เที่ยว เสพสุขไปตามเวรตามกรรม การมีคู่ครองก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถ่วงความเจริญของชีวิตในความเห็นของเขา เพราะเขาไม่ได้แสวงหาความเจริญในธรรม ไม่ต้องการความเจริญแบบโลกุตระ(เหนือโลก) ต้องการเพียงแค่ความเจริญแบบโลกีย์ (วนเวียนอยู่ในโลกของกิเลสตัณหา) การมีคู่ก็คงจะเป็นเหตุที่สมควรแก่ความเห็นของเขา แต่ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันในบริบทของผู้ที่ต้องการแสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการความเจริญในทางธรรม ต้องการหลุดพ้นจากการตามกระแสโลกไปวันๆ

ถ้าคิดแบบทางโลกทั่วไป การมีคู่ครองแล้วปฏิบัติธรรมไปด้วยกันก็เหมือนกับการมีจักรยานสักคัน มีแล้วปั่นไปได้เร็วกว่าเดิน ตามที่หลายคนอ้างว่า พอมีคู่แล้วพากันทำดี ชวนกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เข้าวัดฟังธรรม เป็นคนดีมากขึ้น ถ้าไม่มีคู่ก็คงจะไม่มีใครพาเข้าหาธรรม ได้เรียนรู้ศึกษา ปรับนิสัยให้เป็นคนดีขึ้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีใช่ไหม? การมีจักรยานแบบนี้เหมือนจะดูดีกว่าไม่มีใช่ไหม?

แต่ถ้าเราลองมาคิดอีกที การจะมีจักรยานนี่มันทุกข์ตั้งแต่อยากมีแล้ว ต้องเลือกหาจักรยานคันที่ถูกใจ ก็เหมือนกับคนเลือกหาคู่ ซึ่งกว่าจะมีกันก็ใช่ว่าง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์เพราะเลือกยากก็ทุกข์เพราะไม่มีให้เลือก มีมากมายหลายเหตุให้ทุกข์เพราะความอยากมีคู่นั้นเอง

พอมีคู่ครองแล้วก็เหมือนได้จักรยานมาคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนดีจริงๆ ก็อาจจะพากันไปทำดีได้อยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกนัก มีจักรยานแล้วก็ต้องคอยหาที่จอด ต้องคอยเช็ดคอยล้าง คอยดูแลเปลี่ยนอะไหล่ เอาไปจอดที่ไหนก็ต้องล็อคไว้ ไม่อย่างนั้นคนจะมาขโมยไป เป็นห่วงเป็นกังวล จะไปไหนไกลมากก็ไม่ได้ มันก็มีขอบเขตที่มันจะพาเดินทางไปได้อยู่ ก็เหมือนกับการมีคู่ มีแล้วก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่กัน เสียเงินเสียเวลาเสียแรงในการบำเรอกัน ปล่อยไปนานๆ โดยไม่ดูแลก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีคนใหม่เข้ามาเขาจะนอกใจไปได้อีก และที่สำคัญมีแล้วก็เป็นภาระ จะปฏิบัติธรรมอะไรก็ไม่สะดวก ต้องเกรงใจอีกคน ต้องคอยอนุโลม จนบางทีต้องลงยอมลงนรกไปด้วยกันก็มี

ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอยากไปศึกษาธรรม แต่อีกคนหนึ่งอยากไปกิน ไปเที่ยว มันก็ทำดีไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องเกรงใจคู่ ถึงเราจะไม่เกรงใจแล้วเลือกออกไปทำสิ่งดี แต่เขาก็ไปลากกลับมาได้ ไม่ยอมให้ทำดี หรือไม่เราก็ทิ้งการทำดีไปเสพสุขด้วยกันกับคู่เสียเอง สรุปแล้วสิ่งดีๆ ก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร คือทำความดีไม่ถึงพร้อม แต่มักพากันไปมัวเมากับกิเลสสะสมนรกกันไปเรื่อยๆ

หรือคนหนึ่งอยากเลิกกินเนื้อสัตว์ พอไปคบหาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการไม่กินเนื้อสัตว์ ถึงแม้เขาจะไม่ก้าวก่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นดีด้วย บางทีเขาไม่ได้แสดงอาการลำบากใจอะไร แต่เราก็ดันไปลำบากใจแทนเขา กลัวเขาจะอึดอัดที่เรามีวิถีชีวิตที่แตกต่าง คิดดูว่าการจะทำสิ่งดียังต้องมาเกรงใจกันอีก แล้วการจะพาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการทำสิ่งดีนั้นๆ ให้ทำตามมันไม่ง่ายนะ เช่นเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์แบบเรา เพียงเพราะเป็นคู่ครอง เขาไม่ยอมง่ายๆนะ ให้เขาหยุดเสพกามในเนื้อสัตว์นี้มันก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไป มันปากเขาไม่ใช่ปากเรา ทีนี้มันจะทนกันได้ไม่นานหรอก คนไม่กินเนื้อสัตว์ถ้าไม่ติดดียึดดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนทะเลาะกัน ก็หย่อนยานจนกลับไปกินเนื้อสัตว์กับเขานั่นแหละ ส่วนที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้จริงนี่ก็รอดไป

มาถึงเรื่องสมสู่ ถ้าคนหนึ่งอยากทำดี อยากพ้นไปจากวิสัยคนคู่ที่ต้องคอยสมสู่กันเพื่อบำเรอสุข อยากจะทำให้ชัดเจนว่าเป็นคู่กันเพราะความรักจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัตถุบำเรอกาม ก็เลยอยากจะชวนกันถือศีล ๘ เพื่อให้ชีวิตเจริญขึ้น แต่เรื่องนี้มันคิดคนเดียว ทำคนเดียวไม่ได้นะ บางทีเราอยากออก แต่คู่เขาไม่ยอมออกตาม เขาก็จะสมสู่เราอยู่นั่นแหละ หรือไม่เราก็ทนไม่ไหวเวียนกลับไปเสพเขาเสียเอง มันก็คอยฉุดกันกลับไปนรกคนคู่อยู่นั่นแหละ ไม่ปล่อยให้เจริญกันได้ง่ายๆหรอก ถ้าใครไม่เชื่อลองตั้งตบะดูเลยก็ได้ ว่าจะไม่มีเรื่องสมสู่กันแม้ว่าจะครองคู่กันนานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีบารมีเก่าไม่มีทางรอดหรอก สุดท้ายเดี๋ยวก็หาเหตุผลให้ไปเสพกันจนได้

ทีนี้ยกตัวอย่างกันให้สุดๆ แบบพ่อพระแม่พระกันไปเลย คือไม่สมสู่กันเลย ไม่บำเรอกันด้วยกิเลสใดๆเลย คบหากันอย่างเพื่อนเลยก็ว่าได้ พากันเข้าวัด เสียสละชีวิตตนเองให้ศาสนา เป็นคนวัดทั้งคู่เลย แต่มันไม่พ้นภาระนะ มันต้องดูแลกันเป็นพิเศษ พอขึ้นชื่อว่า “คู่ครอง” แล้วนี่มันเป็นสัญญาที่คนเขารู้กันว่าต้องดูแลกัน มันจะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้ยึดกันมากกว่าเพื่อน ห่วงหากันมากกว่าเพื่อน สุดท้ายก็ติดอยู่ในสัญญานั้นแหละ หลงว่าเป็นสิ่งดี สิ่งเยี่ยม เป็นศักดิ์ศรี เป็นหน้าที่ ไม่พ้นจากสภาพของคู่ครองสักที

หากเราดูเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าการมีจักรยานนั้นดีกว่าเดิน แต่จริงๆมันมีความลำบากซ่อนอยู่ เอาเข้าจริงคนไม่มีจักรยานนี่อาจจะสบายกว่าก็ได้ จะเดินไปไหนก็ไม่ต้องกังวล จะขึ้นรถคันไหนก็ได้ จะเดินทางด้วยวิธีไหนก็ได้ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นวิธีใดวิธีหนึ่ง ดีไม่ดีถ้าทำดีเข้ามากๆ จะมีคนคอยรับส่งด้วยซ้ำ สรุปคือจักรยานนี่มันไม่ต้องมีก็ได้ มันก็เดินทางไปของมันได้อยู่ดี เหมือนกับคู่ครองนี่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเช่นกัน

เราอาจจะอ้างเหตุผลว่า มีเพื่อเกื้อกูลกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน คอยดูแลเอาใจใส่ตอนแก่เฒ่า เป็นกัลยาณมิตรกัน ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครองก็ได้ แค่เราหาเพื่อนที่สนใจธรรมะในแนวทางเดียวกัน จริงจังเหมือนกัน ถ้าให้ดีก็เลือกเพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องเสี่ยงมารักใคร่ชอบพอกันเชิงชู้สาว มีเพื่อนนี่ก็เกื้อกูลกันได้ เป็นผัสสะแก่กันได้ คอยดูแลเอาใจใส่กันได้ และแน่นอนว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกว่าคู่ครองแน่ๆ เพราะอย่างน้อยก็ไม่สมสู่กัน ไม่เบียดเบียนกันเพียงเพราะความเป็นคู่ครองใดๆเลย ทีนี้พอเป็นมิตรดีแก่กันแต่ไม่ได้ครองคู่กัน พากันทำดีอย่างเดียว ไม่ทำชั่ว มันก็พากันเจริญได้เร็วกว่าคนที่ครองคู่สิ เพราะบาปไม่ได้ทำ อกุศลก็ไม่ได้ทำ แล้วจะมีอะไรมาคอยถ่วงความเจริญ

มีคนปฏิบัติธรรมมากมายที่ตั้งใจจะเป็นโสด แสวงหาความเจริญทางธรรม ยินดีที่จะเป็นมิตรดีเกื้อกูลกันและพากันดำเนินชีวิตไปในเส้นทางธรรม แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่านักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกหลายคนกลับเมินหน้าหนีมิตรดีเหล่านั้น แล้วไปแสวงหาศัตรูคู่อาฆาตที่คอยจองเวรจองกรรมกันมาแล้วหลายภพหลายชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหวังว่าจะแสวงหาความเจริญจากการมีคู่

คนที่แสวงหาความเจริญทางธรรมจากการมีคู่ ก็เหมือนกับคนที่หยิบขี้ขึ้นมากำไว้แล้วหวังว่ามันจะกลายเป็นทอง ซึ่งแท้จริงแล้วขี้มันก็เป็นขี้นั่นแหละ มันไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทองได้หรอก แต่ด้วยความหลงผิดจึงหยิบเอาขี้นั้นเข้ามากอดเก็บไว้

พอวันหนึ่งก็พบว่าการกำขี้นั้นเหม็นจนเป็นทุกข์ ก็ขว้างขี้นั้นทิ้งไป จะขว้างด้วยลีลาท่าทางอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องมาลำบากเช็ดคราบขี้และทรมานกับกลิ่นเหม็นที่ติดมือ แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้ชัดว่าขี้นั้นไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทอง ไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่านั่นคือขี้ เดี๋ยวก็วนกลับไปแสวงหาขี้ก้อนใหม่ขึ้นมากำไว้เหมือนเดิมอีก แล้วก็เข้าใจว่าขี้ก้อนนี้นั้นดีกว่าก้อนเก่า บางคนก็หยิบขี้ก้อนเดิมมานั่นแหละ ขว้างทิ้งไปแล้วก็ไปหยิบขึ้นมากำใหม่ เพราะคิดไปว่าครั้งนี้ฉันจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ขี้ก้อนนี้แหละที่จะเปลี่ยนเป็นทอง อะไรแนวๆนี้

สุดท้ายก็วนเวียนทุกข์เพราะขี้ไปแบบนั้นจนกว่าจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วจึงปล่อยวางขี้นั้นด้วยปัญญารู้โทษชั่วของการเอาขี้ขึ้นมากำไว้ ดังนั้นความเจริญสูงสุดที่หวังได้ก็คือการเห็นขี้เป็นขี้ เห็นการมีคู่ครองเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญทางธรรม คือสุดท้ายก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ก็สามารถหาความเจริญได้และเจริญได้มากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องมาวนเวียนเสียเวลาอยู่กับเรื่องคู่ เหมือนคนที่เสียเวลามัวเมาอยู่กับขี้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

February 22, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,411 views 0

โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู

ไม่ทำบาปทั้งปวง

การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ

มุ่งทำแต่ความดี

ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ

ทำจิตใจให้ผ่องใส

หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน

การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก

ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส

….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา

การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)

– – – – – – – – – – – – – – –

21.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักแท้ ข้ามกาลเวลา : การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

February 16, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,360 views 0

รักแท้ ข้ามกาลเวลา

รักแท้ ข้ามกาลเวลา: การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

ในโลกใบนี้มีหลากหลายนิยามที่ใครๆ ต่างก็ให้ไว้เพื่ออธิบายความรัก และในบทความนี้จะมาอธิบายนิยามของคำว่า “รักแท้” อีกมุมหนึ่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นความรักทำความเข้าใจได้ยากที่สุดในโลก

ความรักทั่วไปนั้นจะต้องเสพเพื่อให้เกิดความสุข เป็นรักตามวิถีของ “โลกียะ” (ผู้หมุนวนไปตามโลก) เรียกว่าความรักได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นรักที่เบียดเบียน ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “รักไม่แท้” แต่ความรักที่จะกล่าวถึงกันในบทความนี้ มั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ข้ามกาลเวลา ข้ามภพข้ามชาติ เราจะมาศึกษา “รักแท้” เช่นนี้กัน

ความรักแท้ในที่นี้หมายเพียงแค่รักในรูปแบบของ “โลกุตระ” (ผู้อยู่เหนือโลก) ที่อบอุ่น สว่าง เบิกบาน เหมือนกับแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก แม้ว่าจะเป็นกลางคืนดวงอาทิตย์ก็ยังส่องแสงอยู่ ถึงเราจะมองไม่เห็นมันก็ตามที แต่มันก็จะกลับมาในตอนเช้าของอีกวัน ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและมั่นคง ซึ่งจะต่างกันกับรักแบบ “โลกียะ” ที่ร้อนแรง เผาทำลาย เหมือนกับกองไฟที่ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลาจึงจะสร้างความอบอุ่นและแสงสว่างได้ ถ้าห่างไปก็ไม่ได้รับไออุ่น ถ้าใกล้ไปก็จะร้อนจนทรมาน และไฟเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายได้ ซ้ำร้ายไฟนี้ยังสามารถเผาไหม้ลุกลามไปได้ เป็นอันตรายต่อตนเองผู้อื่น ไฟที่ว่านี้เปรียบได้กับไฟราคะเราจะมาขยายรักโลกียะและรักโลกุตระกันให้ชัดขึ้น

รักโลกียะ จองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ

รักโลกียะ นั้นจะรักกันเพื่อบำเรอกัน ส่งเสริมและสนองกิเลสกัน เป็นไปเพื่อเพิ่มความโลภ โกรธ หลง เบียดเบียนกันและกันด้วยความอยากและความยึดเพราะ “ให้คุณค่ากับความสุข” และมักจะเสพติดความสุขนั้น จนกระทั่งเกิดความไม่ได้ดั่งใจ ไม่พอใจ ไม่สาสมใจ โกรธเกลียดอาฆาตกันในที่สุด ทำให้เกิดการจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

รักโลกุตระเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

รักโลกุตระ นั้นจะเป็นเพียงความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย มีแต่ความเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนกัน “ให้คุณค่ากับการพ้นทุกข์” จึงพากันลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลงอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีระยะความสัมพันธ์ที่เท่าเดิมคือเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ใช่เพื่อให้เขามาเห็นค่าหรือคุณงามความดีหรือความซื่อสัตย์ของเรา แต่เป็นไปเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าและความดีงามของธรรมะที่เราได้ปฏิบัติ

ความรักที่จะยาวนานข้ามผ่านกาลเวลา นั้นจะต้องตั้งอยู่บนความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยสามารถอดทน รอคอย ให้อภัยได้

ความรักที่แท้นั้นไม่หยาบและฉาบฉวยเหมือนความรักเชิงชู้สาว ไม่คับแคบเหมือนรักในครอบครัว ไม่หลงอยู่แค่ในชุมชน สังคม เชื้อชาติ ประเทศ หรือว่าเผ่าพันธุ์ของตน แต่เป็นรักที่กระจายออกไปให้ทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกโดยไม่มีอคติลำเอียง และที่สำคัญ รักนั้นยังยาวนานจนเลยขอบเขตของกาลเวลาที่เรารู้จักกันไป ข้ามภพข้ามชาติ ทั้งในภพชาติที่เข้าใจกันโดยสามัญว่าเป็นการเกิดอีกครั้งของชีวิต และโดยธรรม คือการข้ามภพของกิเลสทั้งหลายและข้ามชาติคือไม่มีการเกิดของกิเลสนั้นอีก สรุปรวมลงตรงที่ว่า “ผู้ที่มีรักแท้นั้นเป็นผู้ทำลายกิเลสของตนจนสิ้นซากและทำหน้าที่ช่วยผู้อื่นไปเรื่อยๆ ตราบปรินิพพาน

บทความนี้อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายและยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็จำเป็นต้องขยายกันไว้เพื่อให้ศึกษา ความรักเช่นนี้ โลกจะไม่ยอมรับ ไม่เอา ไม่สนใจ เพราะไม่ได้เสพ ไม่ได้ครอบครอง มองว่ามันเป็นเพียงอุดมคติ ไม่ได้มีอยู่จริง เข้าใจว่าความสุขที่มากกว่าเสพนั้นไม่มีอยู่จริง ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตรรกะที่สวยหรูเท่านั้น

แต่ความจริง “รักแท้” เช่นนี้มีอยู่จริง และมีมานานแล้วในโลกนี้ยกตัวอย่างที่สุดของผู้มีรักแท้ข้ามกาลเวลาของคือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่เป็นผู้เมตตาเหนือใครในโลก อดทนศึกษาจนรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง รอคอยและให้โอกาสทุกคนตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ให้อภัยได้แม้แต่ผู้ที่คิดจะปลงชีวิตท่าน กล่าวกันเพียงแค่นี้ก็คงจะไม่พอสาธยายถึงรักแท้ที่ท่านได้มอบไว้ให้กับโลก…

เราจะมาขยายความหมายของการเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัยกันให้ละเอียดขึ้นดังนี้

ความเมตตา เกื้อกูลและหวังให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น หมายถึงการคิด พูด ทำ แต่สิ่งดีให้กันและกัน สิ่งชั่วไม่พากันทำ ไม่ส่งเสริมให้ทำชั่ว ทั้งยังขัดเกลากันให้ไปสู่ความดี ความเจริญ และความผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

การอดทน หมายถึง การทนต่อสิ่งที่กระทบเข้ามาทางภายนอก ไม่ว่าจะคำหวาน หรือคำกล่าวหา เขามาพูดชมเชย จีบ ยั่วเย้า หรือคำติเตียน คำด่า นินทา เย้ยหยัน เราก็จะต้องอดทนไม่หลงไปตามสิ่งเร้าเหล่านั้น ไม่หลงไปรักหรือชังตามที่โลกได้เชื้อเชิญให้เราหมุนวนตามไปอย่างนั้น

และการเสียสละอดทนทำหน้าที่แสดงให้เขาเห็นว่าความรักที่มากกว่าการได้เสพได้ครอบครองกันนั้นยังมีอยู่ ให้เขาได้เห็นถึงความสุขที่มากกว่าการเสพ อดทนทำไปแม้ว่าจะเป็นงานที่หนักหนา ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการขยาย อธิบาย แสดงให้เห็น ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ฯลฯ

การรอคอยหมายถึง สามารถรอให้เขาได้เรียนรู้จักความรักที่แท้จริงได้โดยไม่เร่งรัดหวังผลหรือไปบีบบังคับให้เขาเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่ให้อิสระเขาในการเข้าถึงความรักนี้ จะต้องการขนาดเรียนรู้ขนาดไหน หรือจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ จะพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรือชาติหน้าก็ได้ สนใจเมื่อไหร่ก็มาศึกษาเมื่อนั้น เพราะความรักแท้นั้น ไม่มีวันเน่าบูด ไม่มีวันเสื่อมสลาย และเป็นสิ่งดี เป็นคุณค่าสูงสุดที่ควรมอบให้แก่กัน จึงรอคอยที่จะมอบให้ได้โดยไม่มีเวลามาเป็นข้อจำกัด ดังนั้นความรักและความหวังดีนี้จึงข้ามกาลเวลาได้

การรอคอยนี้ไม่ใช่การรอที่จะเสพ ไม่ใช่รอว่าฉันทำดีไปเรื่อยๆ แล้วชาติใดชาติหนึ่งเธอจะมารัก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นการรอคอยเหมือนกัน แต่เป็นการรอที่จะเสพตามธรรมชาติทั่วไปของความรักในแบบโลกีย์ ที่หลายคนอาจจะศรัทธา เช่น รอเป็นสิบยี่สิบปีเพื่อที่จะให้ได้มาคู่กัน แต่ในมุมของโลกุตระนั้น สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เสียเวลา เบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ รอคอยด้วยความทุกข์เพื่อที่จะสร้างทุกข์ให้แก่กันและกัน จึงไม่ใช่รักแท้ แต่เป็นเพียงรักลวงเท่านั้น

การให้อภัย หมายถึงการให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูกตามที่เขาเข้าใจ โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองเขา เขาจะไม่มาเอาความรักดีๆ ที่เรามอบให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะเข้าใจเราผิดก็ยังยอมได้ เขาจะกลับไปเลือกรักที่ต้องเสพเพื่อสุขอย่างโลกๆ เราก็พร้อมจะเข้าใจและให้อภัยได้ แม้เขาจะไม่เห็นว่า สิ่งที่เรามีเป็นคุณค่าที่เขาควรจะได้ แม้ว่าเขาจะโยนเพชรที่เราพยายามเจียระไนอย่างยากลำบากทิ้งไปดังขยะที่ไร้ค่า …ก็ไม่เป็นไร เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความพร่อง ความไม่สมบูรณ์แบบ ก้าวข้ามความไม่พอใจและความยึดดี ติดดี ที่เป็นสิ่งที่จะทำร้าย เบียดเบียน จนถึงกีดกันไม่ให้เขาเข้าถึงรักแท้นี้ได้

ให้โอกาสกันไปอีกหลายปีหลายชาติ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ความรักจากเรา ให้โอกาสเขาได้ทำความเข้าใจ ได้มั่นใจว่าสิ่งที่เรามอบให้ไปนั้นดีจริง ด้วยความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย หวังประโยชน์แก่เขาเสมอ คอยเกื้อกูล ให้เขาได้ศึกษาความจริงจากเราว่ารักที่แท้จริงมันดีแบบนี้ มันสงบเย็นแบบนี้ มันเป็นสุขแบบนี้ มันยาวนานแบบนี้ มันมั่นคงแบบนี้ …

…กับการเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาที่แสนจะยาวนานเสียจนนับไม่ได้ เพียงเพราะว่ารักจึงยังทำหน้าที่ต่อไป และนี่เองคือ ”รักแท้

– – – – – – – – – – – – – – –

11.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักและความคาดหวัง

February 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,959 views 0

14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักและความคาดหวัง

เมื่อความรักนั้นหมายถึงการบำเรอด้วยวัตถุสิ่งของจนถึงการกระทำใดๆ ก็ตามจนกว่าอีกฝ่ายจะสาสมใจและจะต้องมากเป็นพิเศษในวันแห่งความรัก (สมมุติ) … แด่ความรักโลกีย์

ผ่านไปอีกวัน กับวันแห่งความรักและความคาดหวังแห่งปี

ผมมาอ่านย้อนดูเรื่องราวในหลายๆสื่อ ก็พบแต่ความคาดหวัง การบำเรอกันด้วยวัตถุสิ่งของ ซึ่งผมคิดว่าการแสดงออกถึงความรักด้วยวัตถุสิ่งของนี่มันเป็นอะไรที่หยาบและฉาบฉวยนะ (แต่คนเขาก็ชอบกัน)

แต่มันก็เป็นไปตามที่แต่ละคนยึดมั่นถือมั่นละนะ คนที่ต้องใช้วัตถุมาสร้างความสุขก็ลำบากหน่อย แม้จะเป็นคนที่ใช้การดูแลเอาใจใส่มาสร้างความสุขนี่มันก็ลำบากอยู่ดี

ผมคิดว่ารักที่ต้องคอยเสพสุขจากอีกฝ่าย หรือต้องมีอีกฝ่ายเป็นเหตุปัจจัยในการสร้างสุขนั้น มันเป็นความลำบาก เป็นทุกข์ ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกเรากับไว้กับเขาเสมอ

แต่เราก็ไม่ไปค้านอะไรกับเขาหรอกนะ เราค้านแต่กิเลสในตัวเราก็พอ กิเลสเขาก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปแหย่ ไปเหน็บ หรือไปยุ่งอะไรกับเขาหรอก ก็ปล่อยเขาเรียนรู้ไปนั่นแหละ

ส่วนคนโสดที่ทุกข์เพราะอยากมีคู่แล้วไม่มีสักที ถ้าไปอิจฉาคนอื่นที่เขามีคู่ มันก็จะทุกข์มากขึ้นไปอีก เพราะไปดูเขารักกัน มอบคำหวานให้กัน มอบสิ่งของให้กัน ให้คำมั่นสัญญากัน ประกาศว่าคบหากัน จดทะเบียนสมรสกัน ฯลฯ แล้วก็หลงว่าอย่างเขาเป็นสุข …มันไม่เป็นอย่างนั้นจริงๆหรอก ธรรมชาติของกิเลสมักจะขี้อวด ก็อวดความเห็นผิดกันนั่นแหละ ที่นี้คนไม่รู้ก็หลงว่ามันเป็นสิ่งดีเลยอยากได้บ้าง … แต่หารู้ไม่ว่า ตอนที่เขาลำบากทุกข์ทรมานกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน จนถึงฆ่ากันนี่ เขาไม่เอาเรื่องราวมาอวดมาบรรยายให้เรารู้หรอกนะ

อย่าไปมองแต่ด้านสุข ลองศึกษาด้านทุกข์ด้วย มีคนแต่งงานกันมากมายก็จริง แต่ก็มีคนมากมายที่เลิกรากันหลังจากคบหาแต่งงานแล้วเช่นกัน แล้วคนที่เลิกกันนั้นเอง ก็คือคนที่เคยมั่นหมายว่าจะรักกันไปจนตายทั้งนั้นแหละ

คนเรามีปากก็พูดกันไปตามที่คิด มันก็เป็นเพียงสิ่งที่คิดละนะ ไม่จำเป็นว่าเรื่องนั้นจะต้องเป็นจริง เกิดขึ้นจริง หรือมีจริงสักหน่อย ส่วนใครจะหลงเชื่อก็เรียนรู้กันไป ว่าสิ่งนั้นมันจริงหรือลวง เป็นสุขหรือทุกข์ พาให้เจริญหรือเสื่อมลง