Dinh (Author's Website)
ความรักกับการปฏิบัติธรรม
เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่าการปฏิบัติธรรมกับการครองคู่มันไปด้วยกันได้
แม้จะได้ฟังสัจธรรมมาว่าการมีคู่นั้นเป็นทุกข์ เท่าที่ได้เรียนรู้จากพระไตรปิฎกมานี่ก็ไม่เห็นสุขเลย
แต่กิเลสข้างในมันก็ยังสั่งให้พยายามคิดหาทางจะมีคู่ไปด้วยเจริญในธรรมไป ด้วย …ดูสิกิเลสมันเก่งขนาดไหน เราว่าเราเก่งแล้ว กิเลสมันเก่งกว่าเราอีก มันหลอกเราไปอีกชั้นหนึ่ง
มาตอนนี้ก็บอกกันตรงๆอย่างไม่อายเลยว่า แต่ก่อนนี่มันหลงไปจริงๆ หลงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข เข้าใจว่าสิ่งนั้นสุดยอด หาเหตุผลมากมายให้การได้มีคู่นั้นดูมีประโยชน์และไม่ต้องรู้สึกผิดบาปใดๆ มันหลงไปไกลมาก
เรามุ่งมาศึกษาธรรมแล้วเรายังแสดงกิเลสของเราออกไปโดยที่เห็นว่ามันเป็นสิ่ง ดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แสดงมิจฉาทิฏฐิเราออกมาได้แบบหน้าไม่อาย ทั้งที่จริงๆมันน่าอายมากเลยนะ
ดังนั้นจึงได้นำความรู้ที่ได้มา พิมพ์ลงในบทความ “ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์” เพื่อให้ทุกท่านๆได้ร่วมเรียนรู้กัน
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ
ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่
การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก”
ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน
ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่
จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น
แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้
วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้
1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก
ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง
มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ
หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด
ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก
แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน
เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย
ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก
และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส
สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก
ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้
และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง
2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว
คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก
สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้
แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง
3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก
เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง
แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้
คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้
โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น
คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง
ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ
4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว
คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก
ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้
…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
12.5.2558
เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่
เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่
ความรักและความผิดหวังที่เข้ามานั้น เป็นเพียงบทเรียนในชีวิตที่เราจะต้องนำมาเรียนรู้กิเลสของตน เราจึงใช้วิบากกรรมที่มากระทบครั้งแล้วครั้งเล่าในการจะหาทางออก ไม่ใช่หาทางเข้า
คนที่หลงในความรัก มักจะเข้าใจผิดว่าความผิดหวังจากความรักนั้น เกิดมาเพียงเพื่อให้เราเรียนรู้จักรัก ระวังตัวมากขึ้น ได้เจอคนที่ดีกว่า ถ้าในความเห็นของความรักที่ไม่ครอบครองนั้นก็ใช่ แต่ถ้ายังเป็นรักที่ครอบครองนั้นไม่ใช่
ความผิดหวังไม่ได้เข้ามาเพียงแค่ทำให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดของเราเพื่อไปใช้กับคนอื่นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นบทพิจารณาธรรมว่าเราได้ทำกรรมอะไรมาบ้าง แล้วเรายังต้องการเสพอะไรจากความรักนั้นอีก ดังนั้นความผิดหวังเกิดขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อให้วนอยู่ในห้วงแห่งความรัก แต่มีขึ้นมาเพื่อให้ออกจากนรกของผู้หลับใหลหลงเฝ้าฝันเฝ้าละเมอถึงความรักในอุดมคติด้วย
เมื่อคนที่หลงในความรักผิดหวัง ก็จะหาวิธีที่ตนจะยังสามารถอยู่ในความรักได้อย่างเป็นสุข จะพัฒนาตนเป็นคนดีขึ้น ระมัดระวังตัวมากขึ้น การคัดกรองดีขึ้น คาดหวังมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รักครั้งใหม่ต้องผิดหวังอย่างครั้งเก่า แต่สุดท้ายก็ยังต้องประสบทุกข์จากกรรมกิเลสของตนเองอยู่เนืองๆ เพราะยังเป็นผู้มัวเมาในความรัก เป็นคนดีที่ตาบอด เป็นคนดีที่เป็นทาสกิเลส
ส่วนคนที่มีปัญญาจะใช้โอกาสแห่งความผิดหวังแต่ละครั้งในการสำรวจใจตนเอง ว่าเราไปหลงอะไรในรักนั้น? เรายังอยากจะทุกข์อีกไหม? เรายังอยากได้อยากเสพอะไรอีกหรือ? ชีวิตเรามีสิ่งสำคัญเพียงเท่านี้เองหรือ? เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทียังต้องเป็นทาสกิเลสให้ต้องเล่นบทเป็นขอทานขอความรักขอความเห็นใจจากคนอื่นอีกหรือ? ไม่มีเขาแล้วเราจะไม่สามารถมีความสุขได้จริงหรือ?
คนที่หลงในความรัก เมื่อผิดหวังก็จะไม่ตรวจสอบให้ถึงกิเลสในใจตน แต่จะแก้ปัญหาเพียงปลายเหตุ สุดท้ายเมื่อวิบากกรรมชุดเก่าผ่านพ้นไป ได้เจอคนใหม่ที่ถูกใจ หรือคนรักเก่ามาตามง้อ ก็จะหลงวนเวียนกลับไปเสพสุขในความรักเช่นเคย แล้วเข้าใจว่าตนนั้นน่าจะเก่งขึ้น น่าจะฉลาดขึ้น น่าจะรับมือกับความเอาแต่ใจของตนและผู้อื่นได้บ้าง ตนจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมบ้าง
นี่คือการสะสมความยึดมั่นถือมั่นของคนดีที่ล้างกิเลสไม่เป็น แม้ในตอนแรกมันจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีไปตลอด วิบากกรรมนั้นมีทั้งชั่วทั้งดี เช่นที่เขาว่า ชั่ว 7 ที ดี 7 หน แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เราจะได้รับชั่วหรือสิ่งเลวร้ายตามกรรมที่เราทำมา และได้รับดีตามที่ทำมาเช่นกัน ซึ่งเราไม่สามารถรู้ชัดได้เลยว่าเราทำกรรมอย่างไรสะสมมามากเท่าไหร่ อย่างเก่งก็คงพอจะรู้ได้จากกรรมในชาตินี้ ดังนั้นคนดีที่หลงในความรักคือคนที่ประมาทต่อความไม่เที่ยง เหมือนนักโทษที่รอคอยวันประหารที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่
สุดท้ายฉากความผิดหวังเก่าๆก็จะกลับมาซ้ำรอยที่เดิม วนมาให้เรียนรู้เช่นเดิม ให้เข้าใจว่าโลกนี้มีความพร่อง มีความไม่แน่นอน มีความพลัดพรากอยู่เสมอ ดังนั้นความผิดหวัง ความไม่ถูกใจเรา จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะเตรียมใจมาดีแค่ไหน จะเป็นคนดีแสนดีมากเท่าไหร่ และถึงวันนั้นคนดีที่เอาแต่ทำดีเพื่อให้ได้รักที่ดีก็จะต้องทุกข์ระทมด้วยความผิดหวังเช่นเคย
ส่วนคนที่มีปัญญานั้น เมื่อความผิดหวังมาถึง เขาจะใช้ความผิดหวังนั้นเป็นพลังในการศึกษาทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ หาการดับทุกข์ หาวิถีทางสู่การดับทุกข์ แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยปัญญาที่เห็นแล้วว่าการมีความรักที่อยากจะครอบครองนั้นเป็นทุกข์ เขาจึงเริ่มที่จะผลักกิเลสออกจากตัวเองตามกำลังที่เขามี
สุดท้ายและท้ายที่สุด นับตั้งแต่วันที่เขาได้เรียนรู้ความผิดหวัง แล้วใช้ความผิดหวังนั้นมาเป็นอาหารที่ทำให้เขาเจริญเติบโต จนกระทั่งเขามีปัญญามากพอจะรู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสและเห็นความจริงตามความเป็นจริง
ว่าความรักแบบต้องมีคู่ ความอยากครอบครอง ความอยากได้อยากมี เหล่านี้ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เราเห็นกิเลสแล้ว เรารู้ทันกิเลสแล้ว กิเลสไม่สามารถทำอะไรกับเราได้อีกแล้ว อย่าหลอกเราอีกต่อไปเลย เรารู้แล้วว่าความอยากเหล่านี้เป็นเพียงความโง่ที่เราเคยมี บัดนี้เรามีปัญญาแล้ว เราหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว
สุดท้ายเมื่อกิเลสถูกรู้จนสิ้นสงสัย จึงสลายตัวไปตามธรรม หลังจากนั้นความผิดหวังที่เคยมีกลับไม่มี ความหวังที่เคยมีก็ไม่ปรากฏ แม้จะมีคนที่เคยรักแสนรัก เคยหลงใหลหัวปักหัวปำ เคยเป็นสุข เคยเป็นทุกข์จากเขามามากเท่าไหร่ เคยหัวเราะร้องไห้ให้กับเขามาแล้วสักกี่ครั้ง บัดนี้ทุกอย่างก็หมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อใจนั้นไม่มีกิเลส จึงมองความจริงตามความเป็นจริง โดยปราศจากความลำเอียงใดๆ คนที่เคยรักก็เป็นคนที่เคยรัก แต่ก็กลายเป็นเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก ไม่มีทั้งความรัก ไม่มีทั้งความชัง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส ถึงจะมีอยู่ก็จะอยู่ไปแบบนั้น ถึงจะไม่มีอยู่ก็ไม่ได้สำคัญว่าไม่มี
หลังจากนี้จะมีแต่กุศลและอกุศล มีแต่การประมาณว่าทำเรื่องใดแล้วผลจะออกมาดีหรือร้าย ไม่มีเรื่องของกิเลสเข้ามาปน ไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นทุกข์จากความรักและความผิดหวังอีกเลย เพราะพ้นแล้วซึ่งอำนาจของความไม่รู้
และนี่คือความแตกต่างของการเรียนรักเพื่อที่จะผ่านพ้น กับคนที่เรียนรักเพื่อวนไปมีความรักใหม่ ทางแรกนั้นมีจุดจบที่แน่นอน ส่วนทางที่สองไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้จะต้องวนไปถึงชาติไหน ไม่รู้จะต้องทนทุกข์ไปอีกกี่กัปกี่กัลป์ ถึงจะเห็นว่าความอยากได้อยากมีของตนเองนั่นแหละคือที่มาของความผิดหวัง
– – – – – – – – – – – – – – –
9.5.2558
7-11 ?
7-11 ?
เห็นช่วงนี้หลายคนดูจริงจังกันนะ เลยจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหน่อย
จริงๆแล้วชีวิตเรานี่มันไม่ได้จำเป็นต้องไปซื้ออะไรให้มันมากมายหรอก ที่มันอยากกินมันก็กิเลสสั่งทั้งนั้นแหละ
- กิเลสพาให้น้ำลายไหล
- กิเลสพาขาเดินไป
- กิเลสพาให้เลือกของ
- กิเลสพาไปจ่ายตัง
- กิเลสพาให้หยิบมากิน
- กิเลสสร้างรสสุขให้
- กิเลสทำให้อยากกินอีก
- ฯลฯ
คือถ้าเราลดกิเลสได้เนี่ย มันจะมีแนวโน้มที่กินน้อยใช้น้อยอยู่แล้ว เรียกว่าไม่ต้องไปร้านสะดวกซื้อให้มันลำบาก
อย่างผมนี่เดินในร้านสะดวกซื้อก็ไม่รู้จะกินอะไร ส่วนมากก็ซื้อน้ำเปล่า ลองคิดดูว่าถ้าทั้งปีไปซื้อแค่น้ำเปล่ากับจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ มันจะเป็นอย่างไร
สินค้าที่เขาเอามาขายส่วนมากก็เป็นสินค้ายั่วกิเลสเราทั้งนั้นแหละ บอกว่าอร่อย บอกว่าถูก บอกว่ามีคุณค่า ก็ให้เราหลงเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเรามีปัญญาเราจะไม่หลงนะ เขาว่าอร่อยเราก็ไม่กิน เขาแจกฟรีเรายังไม่เอาเลย มีคุณค่าแค่ไหนเราก็ไม่สน เพราะเราสนใจเรื่องกิเลสเรามากกว่า การไม่สนองกิเลสตัวเองนั้นสำคัญกว่า
พอลดกิเลสไปเรื่อยๆมันจะเริ่มชัดว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วเราจะไปเอาสิ่งที่เป็นโทษมาใส่ตัวทำไม ก็มีแต่คนที่เป็นทาสกิเลสเท่านั้นแหละ ที่จะหลงในสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นประโยชน์
ดังนั้นเมื่อเรียนวิชาลดกิเลสและปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะมีแนวโน้มที่จะลดความเป็นทาสลง จนเหลือสภาพไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง แบบสบายๆ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องพยายาม
ในส่วนสินค้าจำเป็นถ้ามันจะซื้อก็ต้องซื้อไป ตรงนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างอันไหนความอยาก อันไหนความจำเป็น ถ้าเราซื้อตามความจำเป็นก็เป็นกุศลของเรา แต่ถ้าเราซื้อตามความอยากก็เป็นบาปของเรา
สรุปคือ หากเรารบศึกในชนะ ศึกข้างนอกก็ไม่จำเป็นต้องสนใจอีก เพราะผลที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับพลังมวลรวมของสังคมแล้ว