สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,597 views 0

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)

เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ

เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น

การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท

การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก

1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้

แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้

ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป

2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ

3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง

4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น

5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน

6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์

7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ

8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น

เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ

– – – – – – – – – – – – – – –

10.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Related Posts

  • สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) […]
  • สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ […]
  • วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ? วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป...จริงหรือ? ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป […]
  • การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา) การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา) การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ ศีล […]
  • นักเดินทาง …สายกลาง นักเดินทาง ...สายกลาง ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply