มังสวิรัติง่ายๆ
มังสวิรัติง่ายๆ
…วิธีกินมังสวิรัติแบบง่ายๆด้วยการใช้หลักการของอิทธิบาท ๔
ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีกินมังสวิรัติที่ง่ายสุดง่ายโดยใช้ธรรมในบทของอิทธิบาท ๔ หรือธรรมที่นำมาซึ่งความสำเร็จ ใครที่ได้ลองทำตามกระบวนการของอิทธิบาท ๔ ก็จะสามารถสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จได้โดยไม่หลงทาง มาเริ่มกันเลย
1). ฉันทะ
คือความยินดี เต็มใจ พอใจที่จะกินมังสวิรัติ เมื่อเราอยากจะกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ เราก็ต้องขยันพิจารณาประโยชน์ เมื่อเราเห็นประโยชน์เราก็จะพอใจที่จะทำสิ่งนั้น คือการหาข้อดีต่างๆของมังสวิรัติเช่น ดีต่อสุขภาพ ไม่เบียดเบียน ประหยัด ได้กุศล ฯลฯ เมื่อพิจารณาประโยชน์ดังนี้ซ้ำๆจะทำให้เข้าถึงมังสวิรัติได้ง่ายขึ้น
2). วิริยะ
คือความเพียรพยายามที่จะกินมังสวิรัติ ลดเนื้อกินผักให้ได้ตามที่จะทำไหว แม้จะหากินได้ยากและลำบากก็จะพยายามลองหาเมนูที่ผักเยอะเนื้อสัตว์น้อยดูก่อน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือรู้สึกว่าการกินแต่ผัก แป้ง ฯลฯ โดยไม่มีเนื้อสัตว์นี่มันยากและลำบาก แต่ก็ให้อดทนฝืนกล้ำกลืนกินไปก่อน พยายามสร้างนิสัยแห่งความเพียรไปก่อน
3). จิตตะ
คือความตั้งมั่นในเรื่องที่จะทำ มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ทุ่มเทใจทั้งหมดในสิ่งนั้น เมื่อเราสร้างความชอบ และรักษาความเพียร และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเช่น เรากินมังสวิรัติเราก็ต้องหาเมนูมังสวิรัติ ร้านขายวัตถุดิบมังสวิรัติ หาความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติ หรือวิธีการกินมังสวิรัติต่างๆ จดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก เพื่อที่จะลดเนื้อสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น กินผักได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
การที่เรามีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำนี้เอง จะทำให้เราเกิดปัญญาแก้ปัญหาที่เจอได้ เช่นการประยุกต์เมนูอาหารขึ้นใหม่ ในร้านอาหารตามสั่งที่ไม่มีแม้แต่ผัดผัก เพราะเราจดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก ไม่เผื่อใจเหยาะแหยะกลับไปกินเนื้อ เราจึงสามารถหาทางออกเพื่อที่จะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดได้ โดยไม่ทำให้ตนเองลำบากจนถึงขั้นทุกข์ทรมาน
4). วิมังสา
คือการพิจารณาทบทวน เนื้อหาสาระและผลในสิ่งที่ทำ เช่นกินมังสวิรัติแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร สุขภาพดีขึ้นอย่างไร จิตใจดีขึ้นอย่างไร การพิจารณาทบทวนผลที่ได้มาจากการปฏิบัติ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ซึ่งการมีวิมังสานั้นจะเพิ่มกำลังของกระบวนการทั้งหมดให้มากขึ้น หากเรากินลดเนื้อกินผักและพิจารณาผลที่ได้บ่อยๆและละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีปัญญามากขึ้น ซึ่งจะต่างกับการที่เรากินมังสวิรัติเฉยๆ กินผักกินหญ้าเฉยๆ เพื่อดำรงชีวิตโดยไม่พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ทำ ไม่หาสาระประโยชน์ใดๆ ถือว่าไม่ครบองค์แห่งอิทธิบาท
สรุป
…ด้วยหลักสั้นๆเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถลดเนื้อกินผัก หรือกินมังสวิรัติได้ตลอดชีวิตแล้ว เพราะใช้การเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการใช้ธรรมะมานำชีวิตไปสู่จุดที่ต้องการแบบโลกๆ เป็นรูปแบบของโลกียะ เป็นแบบทั่วไป ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็ถูกดัดแปลงไปใช้ในตำราเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จมากมาย
การกินมังสวิรัติได้ ลดเนื้อกินผักได้ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นจากความอยาก ไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น ไม่ได้เกี่ยวกับการทวนกระแสหรือโลกุตระใดๆเลยด้วยซ้ำ การกินมังสวิรัตินั้นยังเป็นการทำความดีแบบโลกๆ เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่านี่คือความดี ไม่ต้องเป็นพุทธ ไม่ต้องมีศาสนาก็กินมังสวิรัติได้
แต่ความดีโลกุตระนั้นจะต่างออกไป ซึ่งโจทย์ในการเริ่มต้นจะไม่เหมือนกันเลย การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจทั่วไปนั้นคือการเอาเหตุผลภายนอกเข้ามาเป็นฉันทะ แต่การที่เราจะสวนกระแสโลกได้นั้นเราต้องมีฉันทะในการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดและเข้าใจยากกว่าการเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติอย่างมาก
ดังนั้นใครที่พอใจจะเข้าถึงเพียงมังสวิรัติ อยากกินมังสวิรัติ ไม่อยากเบียดเบียน อยากมีสุขภาพดี ฯลฯ ก็ทำตามอิทธิบาท ๔ ดังที่ยกตัวอย่างในตอนต้นเรื่อง ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสของตนเองในเรื่องมังสวิรัติก็จะมีทางเลือกให้ศึกษากันในกลุ่ม Buddhism Vegetarian เป็นกลุ่มที่ตั้งไว้เพื่อปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการฝึกและปฏิบัติ
– – – – – – – – – – – – – – –
3.1.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)