เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

August 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,994 views 0

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

ชีวิตที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง นิสัย ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคาดหวัง แม้แต่ฝันในวัยเด็ก หรือสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรทำให้เราเปลี่ยน…

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้จากแรงกระตุ้นทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือครอบครัว มิตรสหาย คนรัก สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนภายในก็คือ ความตั้งใจของตัวเอง

เปลี่ยนเพราะกิเลส….

การเปลี่ยนแปลงในบางครั้งเกิดจากแรงผลักดันของกิเลส ความอยากได้อยากมีอยากเป็น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดันนั้น ผลย่อมออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน

เช่น บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี ด้วยการออกกำลังกาย แต่งตัวสวย กินอาหารดี กินผักผลไม้ เปลี่ยนบุคลิก โดยมีความตั้งใจของตัวเองอันเกิดจากความอยากจะพ้นสภาพทุกข์ใจของความไม่สวย ไม่งาม ไม่แข็งแรง ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ ฯลฯ บวกกับแรงของกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ดูดี ในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น สังคมบอกว่าผอมจึงจะสวย แต่งหน้าจึงสวย ต้องมีรูปร่างแบบนี้จึงจะดูดี เพื่อนทักว่าโทรม ครอบครัวทักว่าดูแลตัวเองหน่อย แฟนชอบแซวว่าอ้วน… ดูเผินๆอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากภายในและภายนอก แต่ความจริงมันคือแรงกระตุ้นของกิเลส

เพราะมีกิเลสจึงมีทุกข์ เก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนเพื่อหนีจากทุกข์แบบหนึ่งไปเจอทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ทุกข์ใหม่ที่จะเจอหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีกิเลสนี้จะมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องเสียเวลาแต่งหน้า ต้องลำบากออกกำลังกายเกินความจำเป็น ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางใหม่ โดยไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อกิเลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะการหนีจากทุกข์หนึ่งไปเจออีกทุกข์หนึ่งก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้

กิเลสมักจะหลอกให้เราหลงทางว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจริงหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสหรือลดกิเลส แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ลองปรึกษาเพื่อนหรือถามผู้รู้เพิ่มเติมก็ได้

เปลี่ยนเพราะเข้าใจในกิเลส….

๑…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของตัวเอง

เมื่อคนเราเจอทุกข์เข้ามากๆ และทนกับทุกข์นั้นๆไม่ไหว ก็จะเป็นไปดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เมื่อถึงจุดที่เราได้เข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ วิธีดับทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เช่น วิธีคิด วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมไปจากเดิม เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งเดิมที่เคยคิด เคยมี เคยเป็นนั้นเป็นทุกข์ และก็จะไม่ยินดีที่จะไปสร้างทุกข์ใหม่อีกด้วย เป็นการดับทุกข์ที่เหตุ คือการดับกิเลสของตัวเองแทนที่จะไปหาสุขลวงมาแก้ทุกข์ที่มี หรือจะเรียกได้ว่าไม่ไปหาทุกข์ใหม่มากลบทุกข์เก่า

การออกจากทุกข์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคิดแล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้ทันทีเสมอไป ต้องปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นจนกระทั่งเกิดผล คือเข้าใจเหตุปัจจัยในการเกิดทุกข์ จนกระทั่งถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้ เมื่อเราไม่ได้ยึดสิ่งเดิมไว้ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยความเต็มใจ พอใจ และเป็นสุขจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

๒…เปลี่ยนตัวเองจากการเห็นทุกข์ของผู้อื่น

สำหรับบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเจอทุกข์เอง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถใช้ทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณา จนตัวเองเลิกกินเหล้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่กินเหล้าได้ โดยไม่ต้องรอให้เจออุบัติเหตุแบบนั้น

เห็นคนชิงดีชิงเด่นในที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าพวกเขาทุกข์และชีวิตวุ่นวาย เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์ ก็สามารถออกจากความอยากเด่น อยากดัง อย่างแย่งชิงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลงสนามไปเล่นกับเขาให้ตัวเองทุกข์

คนที่เห็นความโหดร้ายของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าถ้าเรายังกินเขาอยู่ ต่อไปชาติใดชาติหนึ่งเราก็ต้องโดนแบบนั้นบ้าง ก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ ออกจากกิเลสนั้นๆได้โดยไม่ต้อง เสียเวลาทุกข์เพราะวิบากกรรมที่ไม่อยากจะทำ

บางคนเห็นคนอื่นเป็นมะเร็งจากสาเหตุที่กินเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะการปิ้งย่าง เมื่อรับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินผักได้

หรือคนที่ติดบุหรี่ แต่ไปเห็นอาการป่วยของคนที่ติดบุหรี่เหมือนกัน เห็นความทุกข์ ทรมาน อันเกิดจากบุหรี่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตัดบุหรี่ออกจากชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองป่วย

หรือกระทั่งคนที่เคยอยากมีคู่ พอเห็นคนอื่นเขาทุกข์จากเรื่องคู่ เรื่องครอบครัว ก็ไม่อยากมีเอาเฉยๆ ยอมเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนโสดอย่างเต็มใจ

ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม แต่ดีตรงที่ไม่ต้องเจอทุกข์หนักกับตัวเอง คือผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมา เป็นสิ่งที่เคยบำเพ็ญเพียรกับเรื่องเหล่านั้นมานาน แค่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นให้ระลึกได้ ก็เพียงพอที่จะสามารถเห็นและเข้าใจความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์ เพียงแค่เห็นคนอื่นทุกข์ก็สามารถเข้าใจและละเหตุแห่งทุกข์ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดตัวเองได้

และผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่านั้นคือไม่มีอาการติดสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ว่าใครจะพาทำ เติม เสริมแต่ง ยั่วเย้า จะมอมเมาอย่างไรก็ไม่ไปติดเหมือนคนอื่นเขา ถึงจะติดก็ติดแค่เปลือก ใช้เวลาสักพักก็หลุดจากกิเลสเหล่านั้นได้ไม่ยาก ต่างจากคนทั่วไปที่เวลามีกิเลสแล้วก็ยิ่งจะยึดมั่นถือมั่น ยิ่งพอกพูนสะสมกิเลสเข้าไปเรื่อยๆ

๓…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของผู้อื่น

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือความคิดที่อยากทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเป็นตัวผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในให้เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นประโยชน์ภายนอกอีกที

เช่น เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่น เราอยากจะเป็นคนดีให้พ่อแม่ภูมิใจ เราอยากเก่งขึ้นเพื่อผู้อื่น เราอยากจะเสียสละเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของเราให้อยากจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น

และเมื่อเรามีปัญญาที่เห็นปัญหา เห็นทุกข์ของผู้อื่น มีเมตตามากเพียงพอที่จะเห็นใจผู้อื่น มีความตั้งใจมากพอที่จะกรุณา เราจะยอมเสียสละ ยอมลดอัตตาตัวตนของตัวเอง ยอมลดกิเลสที่ตัวเองมีเพื่อคนอื่น เพื่อที่จะขยายขอบเขตที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มากกว่าเดิม เหมือนการลอกคราบเก่าทิ้งไป ให้ตัวเองเติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

เช่น เด็กที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมาเป็นเด็กขยัน ทั้งเรียนหนังสือและดูแลพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย

คนทั่วไปที่ยอมสละเงิน ไปช่วยคนอื่นที่ตกยากลำบาก ยอมเปลี่ยนตัวเองจากคนตระหนี่ถี่เหนียว หรือใช้เงินเหล่านั้นเพื่อสนองกิเลสตัวเอง มาเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละของตนให้กับผู้อื่น เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหตุ

ผู้ทำงานจิตอาสา เสียสละเวลา ทุน สุขภาพ ฯลฯ ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็เกิดจากคนธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจปัญหาของสังคมจนเปลี่ยนแปลง ปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ผู้นำทางการเมืองหลายคนก็เคยเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน ดังคำที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เสียสละประโยชน์คือความสงบของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองออกจากฐานที่มั่น มาช่วยเหลือคนและโลก โดยการเผยแพร่ธรรม บางท่านมีเวลาอิสระ ส่วนตัว พักผ่อน น้อยกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศทั่วไปเสียอีก หรือแม้แต่ท่านที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับศาสนา ให้กับสังคมและโลกก็มีให้เห็นเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนเหล่านี้เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อให้โลกได้ประโยชน์แล้ว ตัวของเขาเองก็ได้รับคุณค่า ได้บุญกุศลไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกอีกด้วย

…สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดนั้นก็คงไม่ได้สำคัญเท่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีปลายทางไปทางไหน ไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือจะตกต่ำลงไปอีก การรู้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Related Posts

  • ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง   ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น […]
  • ชาตินี้ ชาติหน้า ชาตินี้ ชาติหน้า คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย […]
  • เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่ เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่ เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม […]
  • ศรัทธาของคนใกล้ตัว ศรัทธาของคนใกล้ตัว เราคงจะเคยสงสัยกันว่า ทำไมความรัก ความเคารพ ความเอื้ออาทรต่อกัน น้ำใจ สิ่งดีต่างๆ กลับมีให้กันน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเริ่มแรกก็มักจะดึงดูดเข้ามาด้วยความชอบ ความรัก […]
  • นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply