Tag: ไตรสิกขา

การเพิ่มศีล

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,792 views 0

มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น

การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ

ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่

การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้

การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา

เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น

ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา

แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ

การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้

อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย

เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี

สนทนาธรรมในสวน

May 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,331 views 0

สนทนาธรรมในสวน

วันนี้ผมได้จัดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมา เป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมะกัน ซึ่งในงานนี้เราก็จัดกันในสวน

ผมเลือกสวนสาธารณะ เพราะมันมีความเป็นสาธารณะ ใครมาใช้ก็ได้ จะไม่มาก็ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ แถมยังมีห้องน้ำ และร้านค้าไว้บริการอีก ที่สำคัญคือฟรี ผมเชื่อว่าเราควรศึกษาธรรมะด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่ทำให้ทุกข์จนเกินทน

ผมเลือกที่จะนั่งใต้โคนไม้ใหญ่ บนพื้นที่นั่งนั้นไม่มีหญ้า มีแต่เศษใบไม้ การนั่งของเรานั้นจึงไม่ได้สร้างความเสียหายให้ต้นหญ้า จนต้องลำบากคนดูแลอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เราได้ตรวจใจว่า เราติดความนุ่ม ความสบายรึเปล่า หญ้านี่มันนุ่มนะ นั่งไปแล้วมันสบาย แต่เราพามานั่งในที่ที่มันไม่ได้สบายขนาดนั้น เป็นแค่พื้นดินที่มีเศษใบไม้อยู่ แต่ถ้าปูเสื่อก็พอนั่งได้ ถึงจะไม่ปูก็นั่งได้อยู่ดี เอาแค่มันไม่เลอะเทอะไม่ชื้นแฉะก็พอแล้ว

ผมเลือกเวลาค่อนข้างเช้าในการสนทนา เพราะเหมาะสมทั้งสภาพอากาศและการขัดเกลาจิตใจ ผมเห็นคนที่เขารักษาสุขภาพตื่นมาวิ่งกันตั้งแต่ก่อนตีห้าครึ่ง แล้วคนรักธรรมะ รักษาจิตใจอย่างเรา จะนอนตื่นสาย มาทำกิจกรรมกันสายๆ ก็คงจะไม่ใช่แนวทางที่เจริญแน่ๆ ผมจึงเลือกเวลาเช้าตรู่ในการนัด ซึ่งครั้งนี้นัดเวลา 7.00 น. แต่ครั้งหน้าก็อาจจะปรับเป็นเช้ากว่านี้ เพราะ 7 โมงนี่คนมาวิ่งเต็มสวนแล้ว ถ้าคนรักสุขภาพเขามาออกกำลังกายได้ คนรักธรรมะก็ควรจะมาสนทนาธรรมแต่เช้าได้เหมือนกัน (จริงๆ เราควรจะแกร่งกว่าเขานะ แต่จะให้เช้ามากในกรุงเทพฯ มันก็จะเดินทางลำบากสำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว)

ในตอนแรกผมตั้งใจรับคนมากที่สุดไว้ที่ 15 คน แต่สมัครกันมาก็น้อยกว่านั้นเยอะ และมาจริงๆไม่กี่คน แต่เมื่อได้เริ่มกิจกรรม คุยธรรมะกัน ผมพบว่าคนเยอะก็ไม่ดีหรอก อย่างมาก 5 คน ก็พอแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นถ้าคนเยอะไปมันจะได้แต่น้ำ เนื้อไม่มีเวลาเจาะ เพราะผมเองก็คงจะไม่ได้บรรยายธรรมะเป็นหลัก แต่เป็นการถามตอบกันเป็นส่วนใหญ่ ถามมาเราก็ขยายธรรมะตามที่เราได้เรียนรู้มา แนะนำกันว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ โดยใช้ไตรสิกขาเป็นแกนในการสนทนากัน

ผมเชื่อเสมอว่าการสนทนาธรรมนั้นเป็นทางแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส เพราะผมก็ได้ประโยชน์กับการสนทนาธรรมนี้มาโดยตลอด และที่สำคัญผมไม่ได้คิดเอาเอง แต่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการฟังธรรมการสนทนาธรรมกันนี่แหละ ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลส (เหตุแห่งวิมุตติ ๕) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเชื่อว่า หากเราสร้างโอกาสในการสนทนาธรรมให้ผู้อื่น ก็จะเกิดกุศลทุกฝ่าย คนพูดก็ได้ประโยชน์ คนฟังก็ได้ประโยชน์ มีแต่คนได้ประโยชน์ ผมจึงคิดว่าผมก็คงจะทดลองจัดต่อไป และศึกษาปรับปรุงให้การสนทนาธรรมนี้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน เป็นไปเพื่อความดับกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง เป็นไปเพื่อนิพพาน ดังนั้นก็จะขอเชิญชวนผู้ที่สนใจศึกษามุ่งหวังมรรคผลอย่างแท้จริง ได้เข้ามาร่วมศึกษา มาลองพิสูจน์กันว่าทางนี้สามารถพ้นทุกข์ได้จริงไหม ทางนี้นั้นไม่ใช่ทางอื่นใด ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วยการคิด พูด ทำอย่างถูกตรง โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ให้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อการพราก ไม่สะสม เพื่อการละหน่ายคลาย เพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรสิกขา มันไม่ได้ปฏิบัติแบบนั้น!

November 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,312 views 0

ไม่ใช่ว่ารับศีลรับพร ถือศีล แล้วไปนั่งสมาธิกำหนดจิต แล้วหวังว่าจะเกิดปัญญาเองขึ้นมา อันนั้นมันไม่ใช่ไตรสิกขาของพุทธ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ไปปฏิบัติแยก ศีล สมาธิ ปัญญาออกจากกันมันจะเจริญได้อย่างไร

ศึกษากันดีๆเถอะ ถ้ายิ่งทำยิ่งทุกข์นี่ยิ่งผิดทางแล้ว ทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีแนวทางกำกับไว้แล้วคือ

1.เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
2.เป็นไปเพื่อความพราก
3.เป็นไปเพื่อความไม่สะสม
4.เป็นไปเพื่อความมักน้อยกล้าจน
5.เป็นไปเพื่อความสันโดษใจพอ
6.เป็นไปเพื่อความสงัดจากกิเลส
7.เป็นไปเพื่อปรารภความเพียรยอดขยัน
8.เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
(หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ เล่ม ๒๓ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๔๓)

ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปในแนวทาง 8 ข้อนี้แล้วจะทุกข์มากขึ้นนะ ถ้าผิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ถ้าถูกก็จะพ้นทุกข์โดยลำดับแล้วสามารถขยับฐานขึ้นไปให้ยิ่งขึ้นได้โดยไม่ลำบาก

ถึงจะปฏิบัติไปแล้วจะรู้สึกทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าหลักนี้ก็ให้พิจารณาตัวเองดีๆ เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าสุขในกามคือนิพพานเหมือนกัน

ไตรสิกขา

ไตรสิกขา

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,552 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)