Tag: สวรรค์
เป็นไปได้ไหมที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งทางโลกทางธรรม
ก็มีคำถามเข้ามาว่า ” เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม เพราะเท่าที่อ่านมาดูเหมือนจะยากมากๆ ที่จะมีความรักไปพร้อมกับการมีอิสระทางจิตวิญญาณ”
ตอบ : เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคู่แล้วจะเจริญ แต่ความเจริญจะเกิดจากการพบสัตบุรุษ ยิ่งอิสระทางใจยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่นี่แหละคือห่วงที่ผูกไว้ให้ขาดอิสระ
คนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับตั้งแต่จิตอบายภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เกิดมาเป็นคนใหม่ ๆ ก็จะไม่มีปัญญานัก ถึงจะมีคู่ ก็จะผิดศีลเป็นปกติ นอกใจ นอกกาย อันนี้เป็นฐานของปุถุชน
เมื่อวนเกิดวนตายเรียนรู้โลกหลายต่อหลายล้านชาติ ได้เรียนธรรมะ จนจิตพัฒนาขึ้นมา เป็นคนดีขึ้นมาได้มากขึ้น ก็จะสามารถพอใจในการมีคู่เดียว ไม่นอกกายนอกใจ ปฏิบัติตนในกรอบของศีล ๕
คนจะต้องวนฝึกอยู่ในด่านนี้กันนาน กว่าจะเรียนรู้ทุกข์โทษภัยของการนอกใจ จนพัฒนาจิตให้มั่นคงในคู่ของตนได้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่การพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำแนะนำของสัตบุรุษ ที่แนะนำไปสู่ความเจริญและการมีศีล อย่างในกรณีของสมชีวิตสูตร(21,55) ก็มีสามีภรรยาสองคนมาถามวิธีที่จะได้เกิดมาพบกันอีกในชาติต่อ ๆ ไป พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าจะมาเจอกันอีกจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกัน และท่านยังสอนต่อไปว่าให้หมั่นดูแลภิกษุ สำรวมอยู่โดยธรรม พูดจาด้วยคำที่ดีต่อกัน รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์อยู่ในเทวโลก
คือกว่าคนจะมาถึงฐานศีล ๕ แบบเต็มใจนี่มันยากแสนยาก ยากแสนสาหัสที่จะไม่นอกกายนอกใจ คือต้องมีคุณธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใว้ จะต้องพัฒนากันมาช่วงหนึ่งก่อน เป็นเบื้องต้น คือมีผัวเดียวเมียเดียวให้ได้
คนส่วนใหญ่ที่เขาว่ารักพากันเจริญ เขาก็มุ่งเป้าหมายตรงนี้นี่แหละ จะเป็นผู้เสพกามอยู่ในสวรรค์ อยากจะมีสุขเจอกันนาน ๆ เจอกันตลอดไป
จะสรุปเบื้องต้นก่อนว่า คู่นี่พากันเจริญไม่ได้หรอก มีแต่พาเสพกัน เสพกามเสพอัตตา พากันดึงลงต่ำ แต่ความเจริญของคนคู่ จะเกิดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของสัตบุรุษแล้วปฏิบัติตาม จึงจะเจริญได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคู่แล้วพากันเจริญโดยไม่มีสัตบุรุษ เป็นไปไม่ได้
แต่…มันก็เป็นเพียงสถานีแรก คุณธรรมที่สูงกว่ายังมี ศีลที่สูงกว่ายังมี การมีคู่เดียว รักดี มีศีล รักกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช่ความเจริญสูงสุดของหลักศาสนาพุทธ แต่ก็ถือว่าเป็นความเจริญในเบื้องต้นที่มนุษย์ควรกระทำ
การแช่หรือจมอยู่ ไม่ใช่ลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การไม่มีอธิศีลหรือการไม่ตั้งจิตที่จะปฏิบัติไปสู่ความเจริญที่สูงกว่านั้น คือรูปรอยของความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร)
แม้สามีภรรยาคู่นั้นจะถามเพียงแค่ทำอย่างไรให้ได้เจอกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ได้แถมแผนที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นคือการหมั่นไปพบปะดูแลภิกษุหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (พระหรือฆราวาสที่มีอริยะธรรม) ถ้าหมั่นไปพบสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนทางเจริญให้เป็นลำดับ
ซึ่งต่อจากศีล ๕ ก็คือศีล ๘ ทางแยกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพราะจากศีล ๘ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นฐานที่ลดการเสพกามารมณ์ รวมถึงการลดความหลงในเรื่องคู่ด้วย
ถ้าจะสรุปเป็นภาพรวมตั้งแต่ต้นสายจนจบ การมีคู่แล้วพากันเจริญเพราะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเก่งก็จะมาส่งแค่หน้าประตูบ้าน ยังมีเส้นทางอีกไกลแสนไกลในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
เมื่อคนเจริญมากขึ้น ก็จะเริ่มละเรื่องคู่ ปฏิบัติตนเป็นโสด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนก่อนหน้านี้แม้การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียวได้จะเป็นความเจริญ แต่พอพัฒนาจิตต่อไป กลายเป็นว่าการมีคู่นั่นแหละคือความเสื่อม
อันนี้เป็นลำดับของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ควรส่งเสริมการมีคู่ เพราะในความจริงคือมันเป็นบาป ในสำหรับคนในฐานอบายภูมิ คนที่เกิดมาจากเดรัจฉาน การที่เขาสามารถที่จะพัฒนาจิตให้ตนไม่นอกใจคู่ได้นั้น มันเป็นบุญ
แต่บุญเป็นของที่ชำระกิเลสแล้วก็จบงานไป เหมือนทิชชู่เอาไปเช็ดสิ่งสกปรกแล้วก็ต้องทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งสะสม ทีนี้พอเช็ดการนอกใจออกไปแล้วก็จบงานนั้นแล้ว การนอกใจไม่มี ก็มาเห็นคราบสกปรกที่ละเอียดขึ้นคือการหลงในกามารมณ์ ก็ต้องเช็ดออกอีก การทำบุญในรอบที่เจริญขึ้นคือการพรากออกจากคู่
ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอิสระ อยากมีอิสระในชีวิต ต้องการมีอิสระทางจิตวิญญาณ การมีคู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะอาศัยไว้เลย เพราะสุดท้าย การมีคู่นั่นแหละที่จะมัดอิสระเอาไว้ เป็นบ่วง เป็นทุกข์ เป็นลาภเลวที่จะสร้างโทษ ภัย ผลเสียเมื่อได้มาครอบครอง
ศาสนาพุทธนั้น ถ้าจะบอกเป้าหมายให้ถูกตรง หรือตั้งจิตให้ถูกตรง ก็คือการปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งจิตว่าจะไปแช่อยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือไปแช่อยู่ในพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ จะมีประตูเดียวเลยคือบรรลุอรหันต์เป็นเป้าหมาย การตั้งจิตอย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งจิตเพื่อความไม่เสื่อม แต่การตั้งจิตว่าจะไปแช่ ไปพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นแหละคือสัญญาณแห่งความเสื่อม
จะสรุปไว้ว่า คนเราในโลกนั้นมีหลายฐานหลายภูมิธรรม อย่าเอาเสียงส่วนมาก อย่าเอาความเห็นคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไปทางเสื่อมอยู่แล้ว ให้เราเอาใจตัวเองเป็นหลัก เอากำลังตัวเองเป็นหลัก
หลายคนมีปัญญาและกำลังใจพอที่จะก้าวไปสู่ฐานศีล ๘ หรือฐานอื่น ๆ ที่เจริญกว่าศีล ๕ แต่กลับไม่มีผู้ที่พานำไป คือไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาธรรมที่สูงกว่า ก็เกิดมาใช้กรรมไปชาติหนึ่ง ทำกุศลกินใช้ ทนอยู่แล้วตายไปชาติหนึ่ง
เพราะชีวิตจะพัฒนาได้เมื่อศึกษาในธรรมที่สูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรพยายาม ไม่ให้เสียชาติเกิด ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว แล้วมันจะร่วง มันต้องถอยเพราะมันทุกข์มาก เขาเหล่านั้นย่อมไม่ถูกติ เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า เจริญกว่า แล้วไม่ทำ ไม่ใส่ใจ อันนี้แหละ คือการประมาท ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง
เพราะพอใจอยู่ในโลกสวรรค์ มีกามารมณ์เป็นสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ หลงติดอยู่ในภพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
จะบอกใบ้เผื่อให้ ว่าจริง ๆ แล้วคนเราไม่มีวันมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันไปได้ตลอดหรอก พอถึงจุดเปลี่ยนมันจะมีโอกาสที่คนหนึ่งจะร่วงคนหนึ่งจะรอด การเป็นคู่กันนั้นจริง ๆ มันมีวิบากบาปอยู่ในตัวของมันอยู่ อกุศลกรรมจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้ดั่งใจ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอกัน นั่นคือสัจจะของความไม่เที่ยงนั่นเอง สุดท้ายสภาพเสมอกันจะตั้งอยู่ได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และท้ายที่สุดมันก็จะสลายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
ดังนั้นไม่ต้องไปตั้งจิตอยากจะเจอใครหรือคบกับใครไปตลอดหรอก เพราะเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักแน่นอนอยู่แล้ว ตั้งใจทำลายความรักและความหลงจะดีกว่า ผาสุกกว่าเยอะจนเทียบไม่ได้เชียวล่ะ ตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎกมา ก็ไม่เห็นพระอรหันต์ท่านไหนกลับไปยินดีในการมีคู่เลยนะ แสดงว่าการมีคู่นี่มันไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พวกโมฆะบุรุษนั่นแหละ ที่เวียนกลับไปเสพสุขในนรก
ชาตินี้ ชาติหน้า
ชาตินี้ ชาติหน้า
คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน
อดีต…จนถึงปัจจุบัน
ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้
ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น
กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน
คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน
มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต
คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่
การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ
หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล
แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ
บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต
เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ
ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต
การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง
ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ
ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ
ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี
ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ
ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้
….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง
ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง
จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย
– – – – – – – – – – – – – – –
17.9.2557