Tag: สติปัฏฐาน 4
อาการดูดดึง (เรื่องความรัก)
ก็มีคนเขามาเล่าว่า เจอคนที่มีอาการดูดดึง แต่จากที่เล่า เขาก็ไม่ชัดในอาการของตนเองสักเท่าไหร่นัก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดได้กับผู้ประพฤติตนเป็นโสดมือใหม่ทุกคน
เมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนเริ่มเกมตำรวจจับผู้ร้าย ทีนี้เราก็ต้องจับโจรให้ได้ จะจับได้ก็ต้องใช้สติ เพราะโจรมันทั้งไว ทั้งพรางตัว ถ้าสติเราไม่แกร่ง ไม่แม่น เราจะจับโจรหรืออาการเหล่านั้นได้ไม่ชัด
จะย่อสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นเครื่องมือปฏฺิบัติในการตรวจจับกิเลสสั้น ๆ ให้พอเข้าใจกัน
กายในกาย – มีสติรู้อาการที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง , หันไปมองบ่อย , ประหม่า ฯลฯ
เวทนาในเวทนา – มีสติจับอาการสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มันจะมีไป 3 ทาง ถ้าเราเจอคนที่ชอบ มันก็จะสุข ก็ต้องจับทางให้ได้
จิตในจิต – มีสติจับตัวตนของกิเลส ว่าที่เกิดสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ๆ เกิดเพราะเรามีความเห็นอย่างไร เราเห็นผิดอย่างไร (มิจฉาทิฏฐิ) ประเด็นไหน มุมไหน
ธรรมในธรรม – มีสติรู้ว่าจะต้องใช้ธรรมหมวดไหน ข้อไหน ประโยคไหน มาแก้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น เมื่อเห็นว่าคนคนนั้นดี เป็นของน่าได้น่ามี เราก็ใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าว่า เป็นลาภเลว ไม่น่าได้ ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ประเสริฐ เป็นต้น
ธรรมในธรรมนี้จะเป็นลักษณะของการสอนใจ หรือการดัดจริต จากมิจฉา(ผิด) ให้เป็นสัมมา(ถูก) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีครูบาอาจารย์และมิตรดีสหายดีที่มีธรรมในเรื่องนั้น ๆ ช่วยเป็นมาตรฐาน หรือกรอบของความดีให้ปฏิบัติตามได้
… เมื่อเราจับอาการได้ บางครั้งเราอาจจะประมาณตัวเองไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ไขเหตุการณ์ตรงหน้ายังไง ก็ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่า “สู้ไปก็แพ้แน่นอน” ดังนั้นการหนีจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
หนี แล้วห่างไว้ คือห่างจากสิ่งที่ทำให้ต้องกังวลและหวั่นไหว ในเมื่อเรายังไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับโจทย์นั้น เราก็ควรจะเลี่ยงออกมาก่อน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมในเรื่องที่พอจะทำไหว สะสมกำลัง สะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ จะแกร่งขึ้น อินทรีย์พละจะสูงขึ้นจากการล้างกิเลสได้เป็นเรื่อง ๆ โดยลำดับ
ถ้ากำลังสติแกร่ง ๆ จะจับอาการได้ก่อนที่คอจะหันไปมอง ก่อนจะกลอกลูกตาไปดู จะจับความรู้สึกอยากจะเสพในใจได้ รู้ว่าอยากเป็นสุข ได้มองแล้วจะเป็นสุข เพราะหลงใน ? ของเขา แล้วใช้ธรรมมากำราบความกำเริบของกิเลสได้ทันที สู้วนไปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตัดกำลังกิเลสไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ความเด็ดขาดจะขึ้นอยู่กับปัญญา (ความรู้จริงในโทษภัยของกิเลส) ไม่ใช่ความรู้ (ความจำตามที่เรียนมา) บางทีรู้มากแต่รู้ไม่ทันกิเลสก็มี ถึงเวลาที่กระทบควักความรู้ออกมาแทบไม่ทัน เผลอ ๆ เจอเขายิ้มให้ ความรู้หล่นกระจายหมด สติแตกกระเจิง แพ้ไปได้อีก
สภาวะดูดดึง รู้สึกแปลก รู้สึกพิเศษเหล่านี้ จริง ๆ มันก็ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก รู้แค่ว่าให้ระวังไว้ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “เจอปุ๊ปรักปั๊บนั่นแหละตัวเวร”
คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ ไปล่อลวงใครมาก็หลายคนและซ้ำซากมาหลายต่อหลายชาติ ดังนั้น ถ้ามันจะมีสัญญาณว่า “เริ่มต้นยกที่ 1” มันก็ไม่แปลกอะไร อย่าไปให้ความสำคัญ มันเป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าไปติดในใจ อย่าไปยึดไว้ ปล่อยเขาไปตามเวรตามกรรมของเขา เหมือนที่โบราณเขาว่า ได้ยินเสียงเรียกอะไรกลางค่ำกลางคืน อยากไปทักกลับ อาการพวกนี้ก็เช่นกัน อย่าไปหาสาระอะไรกับมันมาก ไปสนใจ ไปใส่ใจ เดี๋ยวของจะเข้าตัว เดี๋ยวไปรับเขาเข้ามาในชีวิตแล้วมันจะยุ่ง
ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าจะรับมือไหว ทำเฉย ๆ ห่าง ๆ ไว้จะดีกว่า ที่เหลือคือจะเผลอเอาตัวเองไปคลุกกับเขาเหมือนก่อนรึเปล่าเท่านั้นเอง ไปหลงงมงายอีกชาติรึเปล่า มันก็ต้องใช้ความอดทนเหมือนกัน เพราะบางคนเขาก็ตามจีบเป็นสิบ ๆ ปี การประพฤติตนเป็นโสดก็ยากตรงนี้แหละ ตรงที่เจ้ากรรมนายเวรเขาขยันมาคอยทวงหนี้บาปที่เราได้ก่อไว้
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบ กามราคะเหมือนเป็นหนี้ ถ้าเรายังมีความอยากมีคู่ เราก็จะต้องจ่ายหนี้เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เพราะเราต้องเอาเขามาเป็นของเรา เอามาเสพ เป็นตัวเป็นตน เราก็ต้องจ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกข์ไปเรื่อย ๆ เจ็บช้ำไปเรื่อย ๆ
ถ้าใครปลดหนี้ก้อน “คู่ครอง” ได้ ชีวิตก็สบายไปเยอะ จะเหลือหนี้ เหลือกามเรื่องอื่น ๆ มันจะเบาลงมา ก็ใช่ว่าไม่เป็นภัย เพียงแต่หนี้มันน้อยลง ก็จ่ายดอกเบาลง มันก็คล่องตัวขึ้น
ใครอยากมีชีวิตหนี้ จ่ายไม่จบไม่สิ้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตนเป็นโสด ปล่อยไหลไปตามโลก ไปตามกิเลส เดี๋ยวก็มีเจ้าหนี้มาทวงในวันใดวันหนึ่งเอง แล้วเขาก็ไม่ได้ทวงอย่างสุภาพหรอกนะ เขาทวงกันอย่างมาเฟีย อย่างอันธพาล ไปดูเถอะ ความทุกข์ในชีวิตคู่หนักขนาดไหน เจ็บ แค้น อาฆาต ทำร้าย ฆ่ากันตาย ก็เริ่มต้นจากเหตุแห่งความหลงในรสรักทั้งสิ้น
ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา
การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้
เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์
นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา
เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย
เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส
กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง
ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ
จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว