Tag: สติ
อาการดูดดึง (เรื่องความรัก)
ก็มีคนเขามาเล่าว่า เจอคนที่มีอาการดูดดึง แต่จากที่เล่า เขาก็ไม่ชัดในอาการของตนเองสักเท่าไหร่นัก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดได้กับผู้ประพฤติตนเป็นโสดมือใหม่ทุกคน
เมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนเริ่มเกมตำรวจจับผู้ร้าย ทีนี้เราก็ต้องจับโจรให้ได้ จะจับได้ก็ต้องใช้สติ เพราะโจรมันทั้งไว ทั้งพรางตัว ถ้าสติเราไม่แกร่ง ไม่แม่น เราจะจับโจรหรืออาการเหล่านั้นได้ไม่ชัด
จะย่อสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นเครื่องมือปฏฺิบัติในการตรวจจับกิเลสสั้น ๆ ให้พอเข้าใจกัน
กายในกาย – มีสติรู้อาการที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง , หันไปมองบ่อย , ประหม่า ฯลฯ
เวทนาในเวทนา – มีสติจับอาการสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มันจะมีไป 3 ทาง ถ้าเราเจอคนที่ชอบ มันก็จะสุข ก็ต้องจับทางให้ได้
จิตในจิต – มีสติจับตัวตนของกิเลส ว่าที่เกิดสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ๆ เกิดเพราะเรามีความเห็นอย่างไร เราเห็นผิดอย่างไร (มิจฉาทิฏฐิ) ประเด็นไหน มุมไหน
ธรรมในธรรม – มีสติรู้ว่าจะต้องใช้ธรรมหมวดไหน ข้อไหน ประโยคไหน มาแก้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น เมื่อเห็นว่าคนคนนั้นดี เป็นของน่าได้น่ามี เราก็ใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าว่า เป็นลาภเลว ไม่น่าได้ ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ประเสริฐ เป็นต้น
ธรรมในธรรมนี้จะเป็นลักษณะของการสอนใจ หรือการดัดจริต จากมิจฉา(ผิด) ให้เป็นสัมมา(ถูก) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีครูบาอาจารย์และมิตรดีสหายดีที่มีธรรมในเรื่องนั้น ๆ ช่วยเป็นมาตรฐาน หรือกรอบของความดีให้ปฏิบัติตามได้
… เมื่อเราจับอาการได้ บางครั้งเราอาจจะประมาณตัวเองไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ไขเหตุการณ์ตรงหน้ายังไง ก็ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่า “สู้ไปก็แพ้แน่นอน” ดังนั้นการหนีจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
หนี แล้วห่างไว้ คือห่างจากสิ่งที่ทำให้ต้องกังวลและหวั่นไหว ในเมื่อเรายังไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับโจทย์นั้น เราก็ควรจะเลี่ยงออกมาก่อน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมในเรื่องที่พอจะทำไหว สะสมกำลัง สะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ จะแกร่งขึ้น อินทรีย์พละจะสูงขึ้นจากการล้างกิเลสได้เป็นเรื่อง ๆ โดยลำดับ
ถ้ากำลังสติแกร่ง ๆ จะจับอาการได้ก่อนที่คอจะหันไปมอง ก่อนจะกลอกลูกตาไปดู จะจับความรู้สึกอยากจะเสพในใจได้ รู้ว่าอยากเป็นสุข ได้มองแล้วจะเป็นสุข เพราะหลงใน ? ของเขา แล้วใช้ธรรมมากำราบความกำเริบของกิเลสได้ทันที สู้วนไปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตัดกำลังกิเลสไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ความเด็ดขาดจะขึ้นอยู่กับปัญญา (ความรู้จริงในโทษภัยของกิเลส) ไม่ใช่ความรู้ (ความจำตามที่เรียนมา) บางทีรู้มากแต่รู้ไม่ทันกิเลสก็มี ถึงเวลาที่กระทบควักความรู้ออกมาแทบไม่ทัน เผลอ ๆ เจอเขายิ้มให้ ความรู้หล่นกระจายหมด สติแตกกระเจิง แพ้ไปได้อีก
สภาวะดูดดึง รู้สึกแปลก รู้สึกพิเศษเหล่านี้ จริง ๆ มันก็ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก รู้แค่ว่าให้ระวังไว้ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “เจอปุ๊ปรักปั๊บนั่นแหละตัวเวร”
คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ ไปล่อลวงใครมาก็หลายคนและซ้ำซากมาหลายต่อหลายชาติ ดังนั้น ถ้ามันจะมีสัญญาณว่า “เริ่มต้นยกที่ 1” มันก็ไม่แปลกอะไร อย่าไปให้ความสำคัญ มันเป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าไปติดในใจ อย่าไปยึดไว้ ปล่อยเขาไปตามเวรตามกรรมของเขา เหมือนที่โบราณเขาว่า ได้ยินเสียงเรียกอะไรกลางค่ำกลางคืน อยากไปทักกลับ อาการพวกนี้ก็เช่นกัน อย่าไปหาสาระอะไรกับมันมาก ไปสนใจ ไปใส่ใจ เดี๋ยวของจะเข้าตัว เดี๋ยวไปรับเขาเข้ามาในชีวิตแล้วมันจะยุ่ง
ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าจะรับมือไหว ทำเฉย ๆ ห่าง ๆ ไว้จะดีกว่า ที่เหลือคือจะเผลอเอาตัวเองไปคลุกกับเขาเหมือนก่อนรึเปล่าเท่านั้นเอง ไปหลงงมงายอีกชาติรึเปล่า มันก็ต้องใช้ความอดทนเหมือนกัน เพราะบางคนเขาก็ตามจีบเป็นสิบ ๆ ปี การประพฤติตนเป็นโสดก็ยากตรงนี้แหละ ตรงที่เจ้ากรรมนายเวรเขาขยันมาคอยทวงหนี้บาปที่เราได้ก่อไว้
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบ กามราคะเหมือนเป็นหนี้ ถ้าเรายังมีความอยากมีคู่ เราก็จะต้องจ่ายหนี้เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เพราะเราต้องเอาเขามาเป็นของเรา เอามาเสพ เป็นตัวเป็นตน เราก็ต้องจ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกข์ไปเรื่อย ๆ เจ็บช้ำไปเรื่อย ๆ
ถ้าใครปลดหนี้ก้อน “คู่ครอง” ได้ ชีวิตก็สบายไปเยอะ จะเหลือหนี้ เหลือกามเรื่องอื่น ๆ มันจะเบาลงมา ก็ใช่ว่าไม่เป็นภัย เพียงแต่หนี้มันน้อยลง ก็จ่ายดอกเบาลง มันก็คล่องตัวขึ้น
ใครอยากมีชีวิตหนี้ จ่ายไม่จบไม่สิ้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตนเป็นโสด ปล่อยไหลไปตามโลก ไปตามกิเลส เดี๋ยวก็มีเจ้าหนี้มาทวงในวันใดวันหนึ่งเอง แล้วเขาก็ไม่ได้ทวงอย่างสุภาพหรอกนะ เขาทวงกันอย่างมาเฟีย อย่างอันธพาล ไปดูเถอะ ความทุกข์ในชีวิตคู่หนักขนาดไหน เจ็บ แค้น อาฆาต ทำร้าย ฆ่ากันตาย ก็เริ่มต้นจากเหตุแห่งความหลงในรสรักทั้งสิ้น
กี่การเคลื่อนไหว ที่ขยับเคลื่อนไปเพราะกิเลส
กี่การเคลื่อนไหว ที่ขยับเคลื่อนไปเพราะกิเลส
ในชีวิตที่ดำเนินไปในทุกวันนี้ เราเสียเวลา เสียทรัพย์สิน เสียพลังงานให้กับกิเลสกันไปเท่าไหร่ เราขยับจากความปกติสุขออกไปนำทุกข์มาใส่ตนเพราะกิเลสกันขนาดไหน
เรารู้หรือไม่ว่า การที่เราก้าวเดินออกไปหาสิ่งของบางอย่างมาบำเรอกามและอัตตาเหล่านั้น เป็นสภาพที่ตกอยู่ใต้คำสั่งของกิเลส เช่น ไปหากาแฟมากิน หาบุหรี่มาสูบ หาขนมมาขบเคี้ยว ไปเที่ยว ซื้อสิ่งของ ฯลฯ หลายสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต กิเลสก็สามารถสร้างเหตุผลให้มันจำเป็นได้
การมีสมาธิคือเราจดจ่อในสิ่งที่เป็นกุศลไม่เดินไปตามคำสั่งกิเลสที่เป็นอกุศล การมีสติหมายถึงเรารู้ทันลีลาอาการของกิเลส การมีปัญญาคือเราสามารถรู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสอย่างชัดเจนทุกเหลี่ยมทุกมุม จนกิเลสยอมแพ้เพราะไม่สามารถทำให้เราคล้อยตามได้อีกต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558
มารมาทำอย่างไร?
มีคนถามว่า เมื่อมีจิตคิดไม่ดี จนกระทั่งพูดไม่ดีออกไป กลายเป็นมารร้ายต้องทำอย่างไร? ต้องเพิ่มสติใช่ไหม?
ผมก็ตอบว่า : ศีลเอาไว้กำหนดขอบเขตในการละเว้นสิ่งชั่ว สติเอาไว้ให้รู้ตัวไม่หลุดไปทำชั่ว ปัญญาเอาไว้ทำลายมาร
1).ต้องกำหนดศีลก่อนว่าเราจะละเว้นเท่าไหร่ ถ้าแค่ไม่หลุดปากก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่คิดชั่วเลยก็อีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีความยากง่ายต่างกัน
2).เช่นเดียวกันเมื่อตั้งศีลต่าง ระดับสติที่ต้องใช้ก็ต้องต่างกัน ถ้าแค่ไม่หลุดปากก็ใช้สติประมาณหนึ่ง แต่ถ้าไม่คิดชั่วเลยต้องมีกำลังสติมากกว่านั้นมาก
3).ส่วนปัญญานั้นก็ต้องสร้างขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราจึงต้องเพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โทษภัยผลเสียของมารนั้น ข้อดีของการหลุดพ้นจากมารนั้น กรรมทั้งหลายของการเป็นทาสมารนั้น และความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของสิ่งนั้น หลักพิจารณาเหล่านี้เป็นข้อพิจารณาให้เกิดปัญญา
นี้คือการปฏิบัติไตรสิกขาที่จะเจริญไปเป็นรอบๆ เพิ่มศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่เพื่อการหลุดพ้นในทันที (การปฏิบัติอย่างพุทธไม่มีบังเอิญ ต้องสร้างเหตุเอาเอง ไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล)
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ
ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)
หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา
ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ
ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ
ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้
การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง
ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด
เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา
ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร
สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร
ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ
ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย
ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น
ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง
การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ
ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)
การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
27.7.2558