Tag: ศีลข้อ ๑
บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑
บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑
มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน
เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง
แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี
ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก
และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา
ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย
นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม
เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น
การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์
ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย
– – – – – – – – – – – – – – –
7.10.2558