Tag: มีคู่

เป็นไปได้ไหมที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งทางโลกทางธรรม

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 698 views 0

ก็มีคำถามเข้ามาว่า ” เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม เพราะเท่าที่อ่านมาดูเหมือนจะยากมากๆ ที่จะมีความรักไปพร้อมกับการมีอิสระทางจิตวิญญาณ

ตอบ : เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคู่แล้วจะเจริญ แต่ความเจริญจะเกิดจากการพบสัตบุรุษ ยิ่งอิสระทางใจยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่นี่แหละคือห่วงที่ผูกไว้ให้ขาดอิสระ


คนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับตั้งแต่จิตอบายภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เกิดมาเป็นคนใหม่ ๆ ก็จะไม่มีปัญญานัก ถึงจะมีคู่ ก็จะผิดศีลเป็นปกติ นอกใจ นอกกาย อันนี้เป็นฐานของปุถุชน

เมื่อวนเกิดวนตายเรียนรู้โลกหลายต่อหลายล้านชาติ ได้เรียนธรรมะ จนจิตพัฒนาขึ้นมา เป็นคนดีขึ้นมาได้มากขึ้น ก็จะสามารถพอใจในการมีคู่เดียว ไม่นอกกายนอกใจ ปฏิบัติตนในกรอบของศีล ๕

คนจะต้องวนฝึกอยู่ในด่านนี้กันนาน กว่าจะเรียนรู้ทุกข์โทษภัยของการนอกใจ จนพัฒนาจิตให้มั่นคงในคู่ของตนได้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่การพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำแนะนำของสัตบุรุษ ที่แนะนำไปสู่ความเจริญและการมีศีล อย่างในกรณีของสมชีวิตสูตร(21,55) ก็มีสามีภรรยาสองคนมาถามวิธีที่จะได้เกิดมาพบกันอีกในชาติต่อ ๆ ไป พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าจะมาเจอกันอีกจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกัน และท่านยังสอนต่อไปว่าให้หมั่นดูแลภิกษุ สำรวมอยู่โดยธรรม พูดจาด้วยคำที่ดีต่อกัน รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์อยู่ในเทวโลก

คือกว่าคนจะมาถึงฐานศีล ๕ แบบเต็มใจนี่มันยากแสนยาก ยากแสนสาหัสที่จะไม่นอกกายนอกใจ คือต้องมีคุณธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใว้ จะต้องพัฒนากันมาช่วงหนึ่งก่อน เป็นเบื้องต้น คือมีผัวเดียวเมียเดียวให้ได้

คนส่วนใหญ่ที่เขาว่ารักพากันเจริญ เขาก็มุ่งเป้าหมายตรงนี้นี่แหละ จะเป็นผู้เสพกามอยู่ในสวรรค์ อยากจะมีสุขเจอกันนาน ๆ เจอกันตลอดไป

จะสรุปเบื้องต้นก่อนว่า คู่นี่พากันเจริญไม่ได้หรอก มีแต่พาเสพกัน เสพกามเสพอัตตา พากันดึงลงต่ำ แต่ความเจริญของคนคู่ จะเกิดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของสัตบุรุษแล้วปฏิบัติตาม จึงจะเจริญได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคู่แล้วพากันเจริญโดยไม่มีสัตบุรุษ เป็นไปไม่ได้

แต่…มันก็เป็นเพียงสถานีแรก คุณธรรมที่สูงกว่ายังมี ศีลที่สูงกว่ายังมี การมีคู่เดียว รักดี มีศีล รักกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช่ความเจริญสูงสุดของหลักศาสนาพุทธ แต่ก็ถือว่าเป็นความเจริญในเบื้องต้นที่มนุษย์ควรกระทำ

การแช่หรือจมอยู่ ไม่ใช่ลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การไม่มีอธิศีลหรือการไม่ตั้งจิตที่จะปฏิบัติไปสู่ความเจริญที่สูงกว่านั้น คือรูปรอยของความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร)

แม้สามีภรรยาคู่นั้นจะถามเพียงแค่ทำอย่างไรให้ได้เจอกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ได้แถมแผนที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นคือการหมั่นไปพบปะดูแลภิกษุหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (พระหรือฆราวาสที่มีอริยะธรรม) ถ้าหมั่นไปพบสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนทางเจริญให้เป็นลำดับ

ซึ่งต่อจากศีล ๕ ก็คือศีล ๘ ทางแยกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพราะจากศีล ๘ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นฐานที่ลดการเสพกามารมณ์ รวมถึงการลดความหลงในเรื่องคู่ด้วย

ถ้าจะสรุปเป็นภาพรวมตั้งแต่ต้นสายจนจบ การมีคู่แล้วพากันเจริญเพราะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเก่งก็จะมาส่งแค่หน้าประตูบ้าน ยังมีเส้นทางอีกไกลแสนไกลในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

เมื่อคนเจริญมากขึ้น ก็จะเริ่มละเรื่องคู่ ปฏิบัติตนเป็นโสด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนก่อนหน้านี้แม้การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียวได้จะเป็นความเจริญ แต่พอพัฒนาจิตต่อไป กลายเป็นว่าการมีคู่นั่นแหละคือความเสื่อม

อันนี้เป็นลำดับของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ควรส่งเสริมการมีคู่ เพราะในความจริงคือมันเป็นบาป ในสำหรับคนในฐานอบายภูมิ คนที่เกิดมาจากเดรัจฉาน การที่เขาสามารถที่จะพัฒนาจิตให้ตนไม่นอกใจคู่ได้นั้น มันเป็นบุญ

แต่บุญเป็นของที่ชำระกิเลสแล้วก็จบงานไป เหมือนทิชชู่เอาไปเช็ดสิ่งสกปรกแล้วก็ต้องทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งสะสม ทีนี้พอเช็ดการนอกใจออกไปแล้วก็จบงานนั้นแล้ว การนอกใจไม่มี ก็มาเห็นคราบสกปรกที่ละเอียดขึ้นคือการหลงในกามารมณ์ ก็ต้องเช็ดออกอีก การทำบุญในรอบที่เจริญขึ้นคือการพรากออกจากคู่

ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอิสระ อยากมีอิสระในชีวิต ต้องการมีอิสระทางจิตวิญญาณ การมีคู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะอาศัยไว้เลย เพราะสุดท้าย การมีคู่นั่นแหละที่จะมัดอิสระเอาไว้ เป็นบ่วง เป็นทุกข์ เป็นลาภเลวที่จะสร้างโทษ ภัย ผลเสียเมื่อได้มาครอบครอง

ศาสนาพุทธนั้น ถ้าจะบอกเป้าหมายให้ถูกตรง หรือตั้งจิตให้ถูกตรง ก็คือการปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งจิตว่าจะไปแช่อยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือไปแช่อยู่ในพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ จะมีประตูเดียวเลยคือบรรลุอรหันต์เป็นเป้าหมาย การตั้งจิตอย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งจิตเพื่อความไม่เสื่อม แต่การตั้งจิตว่าจะไปแช่ ไปพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นแหละคือสัญญาณแห่งความเสื่อม

จะสรุปไว้ว่า คนเราในโลกนั้นมีหลายฐานหลายภูมิธรรม อย่าเอาเสียงส่วนมาก อย่าเอาความเห็นคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไปทางเสื่อมอยู่แล้ว ให้เราเอาใจตัวเองเป็นหลัก เอากำลังตัวเองเป็นหลัก

หลายคนมีปัญญาและกำลังใจพอที่จะก้าวไปสู่ฐานศีล ๘ หรือฐานอื่น ๆ ที่เจริญกว่าศีล ๕ แต่กลับไม่มีผู้ที่พานำไป คือไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาธรรมที่สูงกว่า ก็เกิดมาใช้กรรมไปชาติหนึ่ง ทำกุศลกินใช้ ทนอยู่แล้วตายไปชาติหนึ่ง

เพราะชีวิตจะพัฒนาได้เมื่อศึกษาในธรรมที่สูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรพยายาม ไม่ให้เสียชาติเกิด ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว แล้วมันจะร่วง มันต้องถอยเพราะมันทุกข์มาก เขาเหล่านั้นย่อมไม่ถูกติ เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า เจริญกว่า แล้วไม่ทำ ไม่ใส่ใจ อันนี้แหละ คือการประมาท ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง

เพราะพอใจอยู่ในโลกสวรรค์ มีกามารมณ์เป็นสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ หลงติดอยู่ในภพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

จะบอกใบ้เผื่อให้ ว่าจริง ๆ แล้วคนเราไม่มีวันมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันไปได้ตลอดหรอก พอถึงจุดเปลี่ยนมันจะมีโอกาสที่คนหนึ่งจะร่วงคนหนึ่งจะรอด การเป็นคู่กันนั้นจริง ๆ มันมีวิบากบาปอยู่ในตัวของมันอยู่ อกุศลกรรมจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้ดั่งใจ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอกัน นั่นคือสัจจะของความไม่เที่ยงนั่นเอง สุดท้ายสภาพเสมอกันจะตั้งอยู่ได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และท้ายที่สุดมันก็จะสลายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ดังนั้นไม่ต้องไปตั้งจิตอยากจะเจอใครหรือคบกับใครไปตลอดหรอก เพราะเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักแน่นอนอยู่แล้ว ตั้งใจทำลายความรักและความหลงจะดีกว่า ผาสุกกว่าเยอะจนเทียบไม่ได้เชียวล่ะ ตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎกมา ก็ไม่เห็นพระอรหันต์ท่านไหนกลับไปยินดีในการมีคู่เลยนะ แสดงว่าการมีคู่นี่มันไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พวกโมฆะบุรุษนั่นแหละ ที่เวียนกลับไปเสพสุขในนรก

จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 728 views 0

ถาม จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

ตอบ ไม่จริง

ในสมัยพุทธกาล เคยมีชาวบ้านมาเถียงพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกันในประเด็นนี้ ชาวบ้านมาอวดภูมิว่า ถึงแม้การมีความรักจะเป็นทุกข์ แต่ก็มีสุขอยู่

พระพุทธเจ้าท่านตอบเพียงว่า ความรักนั้นมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขอยู่เลย ชาวบ้านก็ยังเถียงอยู่เช่นนั้น สุดท้ายก็เดินหนีจากพระพุทธเจ้าไปถามความเห็นกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น คนกลุ่มนั้นก็เห็นด้วยกับชาวบ้านคนนั้น ก็เออออกันไปว่ารักนั้นมีทั้งสุขและทุกข์ซิ ถึงจะถูกต้อง

นั่นคือความเห็นผิดของผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ จะเห็นสภาพสองสภาพเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่มันไม่เหมือนกันเลย แต่เขาจะพยายามทำให้เหมือนกัน จะได้เป็นข้ออ้างว่า จะเป็นอะไรก็เหมือนกันนั่นแหละ ทำให้มันดูธรรมดา ให้มันดูเป็นธรรมชาติไป กลบเกลื่อน ๆ ไป ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา

ความรู้โลกีย์ก็แบบนี้ โสดก็ทุกข์แบบหนึ่ง มีคู่ก็ทุกข์แบบหนึ่ง แต่เขาไม่เข้าใจดีกรี หรือระดับของความทุกข์ที่แตกต่างกัน ก็เลยตีขลุมไปว่ามันคล้าย ๆ กัน

เพราะจริง ๆ มันไม่เหมือนกันเลย ในบทธรรมที่รู้กันโดยทั่วไปเช่น มีรัก 100 ก็ทุกข์ 100 มีรัก 1 ก็ทุกข์ 1 ไม่มีรักไม่ทุกข์เลย คนเขาจะไม่เข้าใจว่าถ้าไม่มีรัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มันจะไม่ทุกข์อย่างไร

นี่คือสภาพของความลึกซึ้งของพุทธ ที่เดาเอาไม่ได้ รู้ตามได้ยาก เข้าถึงได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้น จะเอาความรู้โลก ๆ มาเถียง มันก็เหมือนชาวบ้านมาเถียงกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ แม้ตัวเองจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองถูก แต่สุดท้ายมันจะไม่พ้นทุกข์ เพราะมีความคิดเห็นและปฏิบัติไปคนละทางกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

ในความเป็นจริงแล้ว การมีคู่นั้น จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมายมหาศาลยิ่งนัก มีเหตุให้กังวลระแวงหวั่นไหวมากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมาย

จะยกตัวอย่างเช่น เอาแค่คู่ไม่พูดด้วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่มองหน้า ระหว่างคนที่มีคู่ กับคนโสดใครจะทุกข์กว่ากัน

หรือมีคนมาพูดไม่ถูกใจ ระหว่างคนคนนั้นเป็นเพื่อนทั่วไป กับคนนั้นเป็นคู่ครอง อันไหนเราจะมีอาการขุ่นเคืองใจมากกว่ากัน

จะสังเกตว่าคนคู่มักจะทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่คนอื่นเขาก็งงกันว่าเรื่องแค่นี้ต้องทะเลาะ ต้องงอน ต้องโกรธกัน นี่แหละคือความโง่ของคนคู่ที่มองไม่เห็นทุกข์ที่มากกว่าการอยู่เป็นโสด เพราะในความจริงมันทุกข์มากกว่า ส่วนความสุขนั้นไม่มีเลย

เพราะความสุขเหล่านั้นเกิดจากกิเลสปั้นขึ้นมาเมื่อได้เสพสมใจ เช่นเขาสวย เขาเอาใจ เขาดีกับเราแล้วสุขใจ ถ้าคนเสพติดตรงนี้เขาจะเป็นสุข แต่ถ้าคนไม่เสพติด ไม่มีตัณหา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่หลง เขาจะไม่เป็นสุข เพราะจริง ๆ มันไม่มีรสสุข แต่คนเขลาปั้นรสสุขขึ้นมาหลอกตัวเองและผู้อื่น คือกิเลสมันหลอกอยู่ ก็เหมือนที่ชาวบ้านเถียงพระพุทธเจ้านั่นแหละ ที่เขาเห็นว่าสุขเพราะเขาหลง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีแต่ทุกข์ เพราะท่านเห็นความจริงตามความเป็นจริง

มันก็ต่างกันแบบนี้นี่เอง ต่างกันที่ปัญญาในการมองเห็นทุกข์ สุข ในเหตุปัจจัยที่ต่างกัน

จะหลีกเลี่ยงผู้ชายที่ไม่ดี ป้องกันไม่ให้เขาเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร?

July 22, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,323 views 0

หลีกเลี่ยงผู้ชายที่ไม่ดี

คำถาม : จะหลีกเลี่ยงผู้ชายที่ไม่ดี ป้องกันไม่ให้เขาเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร?

คำตอบ : ผู้ชายที่เข้ามาหวังจะมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เข้ามาคบหาเป็นแฟน หวังจะเป็นคู่ชีวิต ไม่ดีทุกคนนั่นแหละ ถ้าจะป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาในชีวิตก็ให้อยู่เป็นโสด

ขยายคำตอบ : ผู้ชายดีที่จะพาไปสู่ความผาสุก ผู้ชายที่ไม่ดีจะพาไปสู่ความเป็นทุกข์ ตามหลักศาสนาพุทธ การเข้าไปรักสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การมีคู่ การแต่งงาน ไม่ใช่เรื่องน่าสรรเสริญของบัณฑิต เพราะการที่ใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตแล้วพาให้เกิดความรัก นั้นก็ว่าเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่รวมสิ่งที่พากันหลงมัวเมาทำสิ่งที่เบียดเบียน ทำสิ่งที่ไร้สาระ ทำสิ่งที่ชั่วกันโดยไม่รู้ตัวอีกมากมาย

กิเลสจะหลอกให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราหรือเขาทำนั้น เกิดผลเป็นสุขในเบื้องต้น และหลอกเราว่าสิ่งชั่วที่เราทำนั้นเป็นสุขตลอดไปตราบเท่าที่เรายังไม่มีปัญญา แต่เมื่อเราได้เห็นทุกข์จนเกินจน เราจึงจะสามารถเห็นธรรมได้ชัดขึ้นเช่น คนที่เคยรักกันเปลี่ยนไปจากเดิม คนที่เคยรักกันนอกใจกัน คนที่เคยรักกันทำร้ายกัน คนที่เคยรักกันฆ่ากัน ฯลฯ เราก็จะเห็นความจริงได้เองว่า แท้จริงแล้ว เขาเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ให้กับเรา ทีนี้หลายคนผูกพันไปแล้วมันออกไม่ได้ บางคนมีลูกเป็นบ่วงเวรบ่วงกรรมยิ่งแล้วใหญ่ ก็ทั้งรักทั้งเกลียดต้องทนอยู่ในสภาพทุกข์ที่ต้องยอมจำนน

การที่เราจะหวังว่าจะคัดผู้ชายที่ดีที่สุดไม่ทำให้เราทุกข์ เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แม้ว่าเราจะพยายามหลอกตัวเองว่าที่เราเลือก จะเป็นทุกข์น้อย เป็นสุขมากกว่า มันก็ไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วเมื่อเทียบทุกข์น้อยกับไม่ทุกข์เลย ความไม่ทุกข์ย่อมเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามีกว่า นั่นหมายถึงอยู่เป็นโสดจะไม่ต้องทุกข์เพราะคู่ที่ไม่ดีเลย

แต่ถึงกระนั้นก็ยากที่คนจะยอมทิ้งสุขลวงที่โลกหลอก เพราะตนเองหลงสุขในการมีคู่ จึงอยากได้คู่มาบำเรอตนในมุมต่าง ๆ ที่ตนเองหลงติดหลงยึด และหลงว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นโทษน้อย เป็นคุณประโยชน์มาก ซึ่งการอยากมีคู่นี้เองคือสภาพของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัวโดยสมบูรณ์ คือเห็นสิ่งที่เป็นโทษภัยเป็นประโยชน์สุข เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสาระ เป็นความกลับหัวกลับหางในความถูกต้อง หรือที่เรียกว่ามิจฉาทิฎฐิ

ดังนั้นเมื่อเรายังเห็นผิดว่าการมีคู่นั้นดี เห็นว่าเป็นประโยชน์อยู่ เราก็จะแสวงหาสิ่งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งดึงใครสักคนเข้ามาในชีวิต นั่นคือเราเลือกเราว่าจะให้เขาคนนั้นเข้ามาทำร้ายเรา เข้ามาทำให้เรารักเราหลงจนงมงาย ให้เราเป็นทุกข์แสนสาหัสเพราะคนคนนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าเราอยากจะพ้นไปจากคนไม่ดีที่จะเข้ามาเป็นคู่ เราก็จะต้องทำลายความอยากมีคู่ ซึ่งเป็นพลังหลักที่ผลักดันให้เราไปมีคู่นั่นเอง

22.7.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,064 views 0

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน

ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา

เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน

ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย

. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ

จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)