Tag: นักมังสวิรัติ

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,935 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,753 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,617 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,651 views 0

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเป็นองค์รวมเพื่อตรวจสอบและฆ่ากิเลส หากท่านไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การตรวจสอบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ซ้ำยังเป็นโทษเพราะการที่ไม่มีความเข้าใจในกิเลส ไม่เข้าใจในการวิปัสสนา ไม่เข้าใจธรรมจะทำให้เข้าใจความหมายและตีความเนื้อหาในบทความนี้ผิดได้

ในบทความนี้เราจะตรวจสอบกันสองอย่าง 1. กาม หมายถึงกามภพ การที่เข้าไปเสพไปติดไปยึดเนื้อสัตว์อยู่ และตรวจไปถึงรูปภพ อรูปภพ 2.อัตตา หมายถึงสภาพยึดดีถือดี

การอ่านและทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้วนำไปทดสอบในชีวิตจริงหากยังเกิดสภาพของกามและอัตตาขึ้นอยู่ถือว่ายังไม่ผ่าน ให้เพียรพยายามฝึกฝนตัวเองล้างกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วค่อยกลับมาตรวจใจอีกครั้ง

ขั้นตอนที่1).กินร่วมโต๊ะ

เมื่อเราต้องไปกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตรสหาย หรือกระทั่งคนรัก เราซึ่งเป็นคนกินมังสวิรัตินั้นก็มักจะมองหาเมนูผักละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถสั่งเมนูผักมากินเป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมนูเนื้อสัตว์มากมายวางอยู่บนโต๊ะ เราไม่สามารถเบือนหน้าหนีสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ากลิ่น กลิ่นที่น่าดม รสที่เคยติด สัมผัสที่เคยคุ้น มันยังคงหลอกหลอนอยู่ข้างหน้า

ขั้นตอนที่2). ตรวจสอบกาม

ถ้าหากเรายังมีความอยากอยู่ อาการของเราก็จะออกชัด อย่างเช่นผู้ที่ยังอยู่ในกามภพ คือยังหยุดเสพไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่ทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ในวงอาหารนี้เอง บางคนนี่ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่กินแล้วนะ แต่ถ้ากินเป็นกลุ่มทีไรก็พลาดทุกที อันนี้คือยังไม่สามารถออกจากกามภพได้อย่างเด็ดขาด

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ คือมีความอยากเป็นรูปให้เห็นเช่นมีคำพูดในใจว่าอร่อย อยากกิน น่ากิน ฉันอยากกินแต่ก็อดกลั้นบังคับตัวเองไม่ให้ไปกินได้ อาการจะออกเป็นการมองไปที่เมนูเนื้อสัตว์บ่อยๆ น้ำลายสอ อยากกินแต่กดข่มไว้ ผู้ที่มีสติดีและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองจะรับรู้อาการได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในรูปภพจะดูดีเหมือนคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสมบูรณ์เพราะไม่กินแล้ว แต่จิตใจข้างในยังอยากกินอยู่ คนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกอยากก็คือคนมีอัตตามาก ยึดดีมาก เรียกภาษาชาวบ้านว่าเก๊กหรือทำเป็นเก่ง

แต่รูปภพก็ยังถือว่าดี เจริญขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องระวังอัตตาด้วยเพราะอัตตาที่หลงว่าตัวเองเก่งนี่เองคือตัวบังไม่ให้เราเจริญในธรรมขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรับรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องกดข่ม ยังไม่ต้องรีบหาเหตุผลมาบอกว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้เห็นปริมาณความอยากก่อน เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจึงจะสามารถเห็นความอยากได้ชัด เพราะถ้าเรามัวไปหมกมุ่นกับภาพลักษณ์หรือมัวแต่เก๊กก็ยากที่จะเห็นความอยากของตัวเอง

เมื่อไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ก็ปิดประตูในการล้างกิเลสของตัวเองไปเลย เพราะไม่เห็นแล้วมันก็ไม่รู้จะล้างอย่างไร นักมังสวิรัติจะมาติดอยู่ในรูปภพนี้กันมากเพราะจะใช้การกดข่ม ใช้ตรรกะ ใช้ความดีเข้ามากดไว้ ทำให้มีอัตตา ไม่ยอมมองไปที่ความอยาก มองเห็นแค่เพียงกินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ถ้าใครจะยินดีอยู่ในภพนี้ก็ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ใครจะเลือกกรรมแบบไหนให้ตัวเอง

ส่วนผู้ที่มาติดอยู่ในอรูปภพ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแม้ว่าจะเอามาวางล่อตรงหน้าก็ไม่รู้สึกว่าอยากกิน แต่อาจจะยังเหลือความรู้สึกเสียดาย เป็นความรู้สึกขุ่นมัวที่ไม่ใส ไม่ยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่จะไม่ออกอาการใดๆให้คนอื่นหรือตัวเองเห็นได้ชัด ต้องใช้สติที่ละเอียดจับความเปลี่ยนแปลงของกาย หมายถึงทั้งจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอาการที่สังเกตได้ยาก เล็กๆ เบาๆ สั้นๆ เหมือนกับฟ้าผ่า ฟ้าแล่บ เมฆฝนขมุกขมัว คนที่ไม่มีญาณปัญญาหรือตัวรู้กิเลสจะจับกิเลสใดๆในอรูปภพนี้ไม่ได้เลย เหมือนจะไม่มี มองไม่เห็น แต่จริงๆแล้วมันยังมีอยู่แต่จับมันไม่ได้ มันยังเป็นความอยากที่เหลืออยู่เล็กน้อยที่ทำให้ขุ่นมัวในใจ ในระยะเริ่มต้นต้องใช้อาการทางกายสะท้อนให้เห็นเอาเช่นน้ำลายไหล เสียงท้องร้อง แต่ถ้าเก่งๆจะรู้ได้เองว่ากิเลสยังเหลืออยู่หรือไม่คนที่ติดอยู่ในภพนี้จะดูดีมาก ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์แต่ถ้าไม่ยอมล้างกิเลส ก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้เหมือนที่เราเห็นนักมังสวิรัติหลายคนที่กลับไปกินเนื้อสัตว์แล้วไม่สามารถกินมังสวิรัติได้อีกเลย นั่นเพราะกิเลสมันแอบโต เพราะใช้วิธีกินมังสวิรัติโดยการกดข่มความอยากไว้สุดท้ายก็จะทนความอยากไม่ได้วันใดวันหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งก็จะเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์

การพ้นจากกิเลสสามภพ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพในโจทย์ข้อนี้นั้นเพียงแค่เหตุการณ์กินร่วมโต๊ะ หากผ่านไปได้โดยที่ไม่มีความอยากเกิดขึ้นให้ได้รับรู้ก็ถือว่าผ่าน รอไปทดสอบในด่านของอัตตา หรือในระดับต่อๆไปได้

ขั้นตอนที่3). ตรวจสอบอัตตา

หากว่าเราเป็นผู้ผ่านในระดับกามมาแล้ว คือยินดีที่จะไม่เสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีเนื้อสัตว์มาวางตรงหน้าก็ไม่อยากกิน ไม่กินโดยที่ยังมีความสุขใจอยู่ แต่กลับมีอาการของฝั่งอัตตาขึ้นมาแทนเช่นไม่ชอบใจที่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่ชอบที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนกินเนื้อสัตว์ ไม่ชอบใจที่ได้กลิ่นเนื้อสัตว์และเห็นคนกินเนื้อสัตว์แสดงท่าทีเอร็ดอร่อย มีอาการรังเกียจกลิ่นและรังเกียจผู้ร่วมโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากร่วมโต๊ะ อยากจะแยกๆกันกินจะดีกว่า

อาการเหล่านี้เรียกว่าความยึดดีถือดี มันจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่มันก็จะไม่มีความสุขที่ต้องกินร่วมโต๊ะกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คือไม่ยินดีร่วมใช้เวลาด้วยกัน รู้สึกขุ่นเคือง รังเกียจ ไม่ชอบใจอยู่ในใจลึกๆหรือกระทั่งแสดงอาการรังเกียจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นได้

การมีอัตตาหรือการยึดดีถือดีเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่ควรจะมี เพราะยังถือว่าเป็นความชั่วอยู่ ในส่วนที่กินมังสวิรัติได้นั้นดีแล้วแต่หากยังมีอาการเหล่านี้ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ดี เรียกว่า นรกคนดี คือหลงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่าคนอื่นก็เลยยกตนข่มท่าน ยกว่าตัวเองดีแล้วมักจะข่มผู้อื่นด้วยถ้อยคำ ท่าทาง ความคิด ฯลฯ

คนที่ติดดีเหล่านี้ยังไม่ผ่านด่านอัตตา จะเป็นลักษณะของมังสวิรัติทำลายโลก คือกินผักกินหญ้าไปก็ทำร้ายจิตใจคนอื่นไปด้วย ยังถือว่าหยาบอยู่ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมผู้ลดเนื้อกินผัก เป็นอัตตาระดับหยาบธรรมดาๆไม่ใช่สิ่งพิเศษแต่อย่างใด สามารถมีได้ในคนกินมังสวิรัติทั่วไปโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อัตตาตัวนี้มา เป็นกิเลสที่เห็นได้โดยทั่วไป ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ายกย่อง หยาบ มีโทษมาก เป็นภัยมาก สร้างบาปกรรมอย่างมาก

ขั้นตอนที่4). สรุปผล

เราจำเป็นต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆย้ำๆ มีโอกาสก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ตัวเองได้เห็นกิเลสชัดยิ่งขึ้น เพราะความไม่อยากนี่ก็เป็นกิเลสเช่นกัน ผู้ที่ผ่านด่านนี้คือผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายใดๆแม้จะต้องร่วมโต๊ะกับผู้อื่นซึ่งเขาเหล่านั้นยังกินเนื้อสัตว์อยู่

ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านที่ง่าย หากจิตใจของท่านยังวนเวียนอยู่ในกามและอัตตาก็อย่าเพิ่งรีบขยับไปตรวจขั้นต่อไปให้มันลำบากเพราะถ้าด่านง่ายแบบนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ด่านยากกว่านี้ก็ไม่มีวันที่จะผ่านได้ ดังจุดประสงค์ของเราคือการล้างกิเลส ซึ่งการกินมังสวิรัตินั้นเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะล้างกิเลสเป็น แต่คนล้างกิเลสเป็นจะกินมังสวิรัติได้ เป็นการกินในลักษณะรู้แจ้งโทษชั่วทุกประการทั้งในมุมกามและอัตตา สุดท้ายเนื้อสัตว์เราก็จะไม่กินและอัตตาเราก็จะไม่มี

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)