Tag: ทุกขัง

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,064 views 0

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน

ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา

เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน

ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย

. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ

จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

July 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,801 views 0

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

เวลากับใจคน (https://www.youtube.com/watch?v=zzcv706q54I)

นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นความเชื่อกันนานๆ ก็มักจะหัวร้อน เลยเปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ จนยูทูบสุ่มมาเจอเพลงนี้ ถ้าฟังผ่านๆก็เป็นเพลงตามสมัยธรรมดาละนะ แต่ผมฟังแล้วสะดุดประโยคที่ว่า “ เหตุและผลของเวลา เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไป แล้วนับประสาอะไรกับใจคน

ได้ยินดังนั้นก็คิดทันทีว่าถ้าอธิบายให้คนเมืองที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงแห่งความรักด้วยวิธีนี้น่าจะเหมาะ แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังดูแล้วให้อารมณ์ผิดหวังช้ำรักอย่างโหยหวน แต่ก็มีความเข้าใจโลกอยู่บ้าง จึงลองหยิบมาอธิบายประยุกต์กับธรรมะกันดู

…………………………………………………..

เนื้อหาในเพลงนี้แสดงสภาวะของ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผลของกรรมที่ส่งผลผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้เสพสุข หมายถึงเรากำลังได้รับผลของกรรมดีที่เราทำมา ผ่านไปวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งผลของกรรมดีชุดนั้นหมดลง ก็จะไม่ได้รับสุขเหมือนเคย และเมื่อหลงติดในสุขนั้นก็จะทำให้เกิดทุกข์

เมื่อเกิดทุกข์จากการไม่ได้เสพสิ่งดี ก็มักจะโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรมบนความเข้าใจที่หลงผิด เพราะทุกอย่างที่ได้รับนั้นก็เกิดจากสิ่งที่เราทำมา สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เพราะไม่ได้ทำมา สิ่งเหล่านั้นยุติธรรมสมเหตุสมผลในตัวมันอยู่แล้ว มีเพียงผู้ที่หลงผิดเท่านั้นที่มักจะบอกว่ากฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม นั่นเพราะมีความโลภอยากได้มากกว่าตนทำมา

ต่อมากเมื่อเข้าใจเรื่องของกรรมมากขึ้นก็พยายามทำดีสร้างกุศลเพื่อจะได้เสพผลใหม่ พอผลของกรรมดีส่งผลก็มักจะหลงสุข ยึดติดในสุขนั้นแล้วประมาทต่อกิเลสจนสร้างเชื้อทุกข์ สร้างบาปสร้างอกุศลกลายเป็นกรรมชั่วใหม่ที่จะรอให้ผลชั่วต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเกิดสภาพของความไม่เที่ยงเพราะผลของกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของกรรมใดที่จะไม่มีวันหมดผล ได้รับแล้วก็หมด หมดแล้วก็ต้องมาสร้างใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้

เมื่อเวลาหมุนไปเรื่อยๆ ผลของกรรมที่ได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และในแต่ละวันเราก็สร้างกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ แม้เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน แต่ผลที่ได้รับมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตของเรามีเหตุและปัจจัยหลายอย่างให้เกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ทั้งกรรมเก่าของเรา กรรมในปัจจุบันของเรา กรรมของผู้อื่น กรรมของโลก สังเคราะห์รวมกันเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ต่างๆ มีฉาก มีนักแสดง มีบทพูด ฯลฯ ดังที่เราได้เห็นนั่นเอง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นและพยายามทำดีเพื่อให้ตนได้รับแต่ผลของกรรมดีมาเสพ เพราะกลัวความทุกข์จากผลกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีของตนนั้น จึงมักจะต้องเป็นทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในผลดีที่จะต้องเกิดกับตน อกหักอกพังเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดีมาเสพสมใจ บางครั้งทำดีแต่กลับได้รับกรรมชั่ว และจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพราะความไม่แจ่มแจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

ไม่ว่าดีและร้ายที่เกิดขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในโลก น้ำทะเลระเหยไปเป็นเมฆ เมฆกลั่นตัวเป็นฝน ตกลงดินไหลลงแม่น้ำจนถึงทะเล ระเหยไปเป็นเมฆ มันเป็นน้ำเหมือนเดิมแต่สถานะของมันไม่เที่ยง แปรผันอยู่ตลอดเวลา กรรมดีกรรมชั่วก็เช่นกัน มันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน ถูกสร้างขึ้นมาและรับผลให้จบลงไป สลับไปมาทั้งดีและร้าย ดังนั้นวิถีแห่งโลกียะจึงยึดเอาเป็นสาระไม่ได้

และการคงอยู่เช่นนี้แหละคือความทุกข์ มีทั้งทุกข์ที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ยังไงก็ต้องทนทุกข์ ยิ่งมีกิเลสก็ยิ่งทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อเสียของรัก เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างเดิม

เพราะความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย กิเลสไม่ใช่ตัวตนของเรา ความอยากและรสสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราหลงสร้างขึ้นมาเอง จึงไม่มีอะไรที่ควรยึดและหลงเอามาเป็นตัวเป็นตนเลย

. . . เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาว่ามันเป็นความสุขของเรา เป็นความภูมิใจของเรา เป็นคุณค่าของเรา และที่แย่ที่สุดคือเรายึดสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะมาเป็นตัวตนของเรา

จึงเห็นได้ว่าการอยากครอบครองความรัก ความหลงผิดที่เข้าใจว่าหากมีคู่ที่ดีจะได้เสพสุขได้เท่าที่ใจต้องการ หรือแม้แต่ความอยากในการมีคู่ครองก็ตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์ และเป็นเพียงภาพลวงของกิเลสที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นจนสิ่งลวงเหล่านั้นเป็นกลายเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง

. . . คนที่คิดว่าตนเองนั้นหลุดพ้น ลองสังเกตกรรมของตัวเราดีๆ เช่นชาตินี้ต้องรับกรรมอะไรจากเรื่องคู่บ้าง ต้องทุกข์ขนาดไหนจากเรื่องคู่บ้าง นั่นแหละคือส่วนกรรมที่เราอาจจะต้องรับต่อไป หากเชื้อทุกข์หรือกิเลสยังไม่ดับไป การที่ไม่มีคู่ หรือยังโสดไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส

หากกิเลสยังอยู่ ก็ยังเป็นเชื้อให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปอีก ถึงแม้จะเข้าใจว่าตนเองกำจัดกิเลสไปได้แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาเพื่อเพิ่มเติมปัญญาเข้าไปได้อีก เผากิเลสที่หลงเหลือเศษไปอีก เผาไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งสร้างปัญญาที่เห็นโทษในการมีคู่ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น สะสมปัญญานี้เป็นอริยทรัพย์เก็บไว้ป้องกันตัวเองจากความทุกข์ในชาติหน้าภพหน้า

. . . จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์แบบในชาตินี้อีก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)