Tag: ทาสกิเลส

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

July 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,531 views 1

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

ความรักข้างเดียว คือความอยากเสพที่ไม่มีวันสมหวัง เหมือนการเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล พยายามเข้าใกล้ก็ยิ่งห่างออกไป กับความหวังที่ค่อยๆ เลือนราง จางหาย และสลายไป

แต่หลังจากที่ความหวังเดิมถูกทำลายไปด้วยความจริงจนหมดสิ้น ความหวังใหม่ก็มักจะเริ่มต้นอีกครั้งกับใครอีกคนหนึ่ง เป็นวงจร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น ดับแล้วก็เกิดใหม่ เกิดแล้วก็ดับ แล้วเราจะสามารถหลุดจากวงจรแห่งทุกข์นี้ได้อย่างไร ต้องได้รับรักดังใจหวังอย่างนั้นหรือจึงจะเรียกว่าพ้นทุกข์ หรือมีทางอื่นที่ดีกว่านั้น?

รักข้างเดียว คือสภาพที่มีแต่ผู้เสนอ แต่ไม่มีผู้สนอง มีแต่ผู้หยิบยื่นให้ แต่ผู้รับไม่ยินดีรับ เพราะสิ่งที่ให้นั้นอาจจะไม่ดีพอ ไม่มากพอ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ตามที่หวัง ไม่เป็นไปตามศีลธรรม แม้ผู้เสนอจะเป็นคนที่ดีแสนดี คิดดี พูดดี ทำดี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่ผู้รับต้องการก็จะยังเป็นรักข้างเดียวไปตลอดกาล

เพราะการรับรักนั้นมีปัจจัยหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้รับว่าต้องการอะไร นั่นหมายถึงเขามีความอยากอะไร เขาอยากได้อยากเสพอะไร เรามีพอบำเรอกิเลสของเขาหรือไม่ เราจะต้องพยายามอีกแค่ไหนที่จะแสดงตัวว่าสามารถสนองกิเลสเขาได้ เราต้องมีหน้าตารูปร่างที่งามแค่ไหนที่พอจะกระตุ้นกิเลสให้เขาหันมาอยากได้อยากเสพเรา เราต้องขยันทำงานสร้างตัวเองให้พัฒนาอีกเท่าไหร่ถึงจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไปพอบำเรอกิเลสของเขา จนเขายอมรับการสนองกิเลสจากเรา แล้วเราต้องทำอีกเท่าไหร่กว่าจะถมห้วงเหวแห่งความอยากนี้จนเต็ม

แม้จะประสบความสำเร็จในการล่อลวงให้เขาเห็นค่าของเรา จนเขาหันมาคบหาเรา เป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นสามีภรรยา แล้วมันเป็นยังไง? เขาจะอยู่กับเราตลอดไปไหม? เราจะยังคงต้องพยายามทำอย่างเดิมไปอีกใช่ไหม? ต้องเอาใจมากกว่าเดิม ต้องบำเรอมากกว่าเดิม ต้องระวังมากกว่าเดิม ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคอยบำเรอกิเลสเขาเพียงเพื่อจะได้เสพสมใจในรสสุขบางอย่างที่ได้จากเขา

เราต้องคอยเป็นทาสสนองกิเลสเขาไปอีกนานเท่าไหร่ ต้องทำต่อไปแบบนี้อีกกี่ชาติ เขาไม่รับรักก็เป็นทุกข์ แม้เขาจะรับรักก็ใช่ว่าจะเป็นสุขเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีวิบากกรรมและทุกข์ซ้อนเข้าไปในความสุขที่แสนหลอกลวงนั้นด้วย ทำไมเราจึงเฝ้าพยายามเติมเต็มสิ่งที่ไม่มีวันเต็ม กิเลสเป็นสิ่งที่เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันที่จะสาสมใจ ต้องการไปเรื่อยๆ อยากไปเรื่อยๆ ทำไมเราจึงขยันทำในสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและสร้างทุกข์ให้กับตนเองอยู่ เพียงเพื่ออยากได้ใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย

แม้จะดูเหมือนว่าเราต้องคอยบำเรอกิเลสเขาจนกว่าเขาจะรับรัก ดูเหมือนเขาเป็นผู้ร้าย ดูเหมือนเขาเป็นคนกิเลสหนา แต่ถ้ามองให้ชัด เรานี่เองที่เป็น “ทาสกิเลส” เราโดนกิเลสตัวเองหลอกให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ให้ไปทำทุกข์ทำชั่ว ไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตของผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้นำเขามาเสพสมตามใจตนเอง

ผู้ร้ายตัวจริงของความผิดหวังช้ำรักไม่สมหวังก็คือตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น ต้นเหตุแห่งทุกข์คือความอยากได้อยากเสพของเราเอง เป็นกิเลสของเราเอง เรามัวแต่ไปหาสิ่งนอกกายมาบำเรอกิเลสตน ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสนองความใคร่อยากของตน โดยเอาปัจจัยที่เรามีไปล่อลวงเขา ให้เขาหลง ให้เขาอยากเสพเรา เพื่อที่เราจะได้เสพสุขจากเขาอีกที เป็นความเห็นแก่ตัวที่แนบเนียนที่สุด เพราะมาในคราบของคนรักที่แสนดี คนที่เสียสละ คนที่ยอมเสมอเพียงเพื่อให้ได้รับความรัก

ความอยากของเราทำให้เราเห็นแก่ตัว ทำให้เราทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนอื่นเห็นคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะไปเพิ่มกิเลส สร้างทุกข์ให้กับเขาหรือไม่ แม้ความรักจะเป็นความสุขตามที่หลายคนเข้าใจ แต่มันก็เป็นเพียงรักที่เห็นแก่ตัว เป็นเหมือนยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำตาล แม้จะหวานในตอนแรกแต่สุดท้ายก็ต้องทุกข์กันทุกรายไป

ความรักข้างเดียวนั้นดีแล้ว ดีกว่าที่เขาจะยอมมาคู่กับเราเพราะเราบำเรอกิเลสเขาได้ หรือเพราะเราสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้เข้าได้ หรือด้วยเหตุผลที่แสนดีต่างๆนาๆที่ทำให้เขายอมหันมาคบเรา เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เขาหลง ทำให้เขาเสียเวลา แทนที่เขาจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นกุศล แต่กลับต้องมาเมามายในสุขลวงกับคนกิเลสหนาอย่างเรา

ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำที่เขาขัดใจเรา ไม่ยอมตามใจเรา ให้เราได้เรียนรู้ความผิดหวังจากความอยากของเรา เพราะถ้าเราสมหวังไปเรื่อยๆ เราก็จะเป็นคนที่หลงมัวเมา หลงติดหลงยึดในสุขลวง สร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นอย่างไม่จบไม่สิ้น คนที่เข้ามาขัดใจเรา สร้างกำแพงแห่งความสิ้นหวังให้เรา คือผู้ที่จะมาเปิดตาเราให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ส่วนเราจะยอมเห็นความจริงนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรา หากกิเลสของเราหนาเราก็จะแสวงหาช่องทางที่จะได้เสพผู้อื่นต่อไป แต่หากเรามีปัญญาก็จะหยุดคิดว่าเราควรจะทำสิ่งใดต่อไป จะหาทางสนองกิเลสจนใครสักคนจนกระทั่งเขายอม หรือจะทำลายกิเลสในตนเองให้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น

ความสุขจากการได้เสพกับความสุขที่ไม่จำเป็นต้องเสพนั้นต่างกันคนละโลก จินตนาการเอาไม่ได้ ให้คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เดาไม่ได้เลย คนทั่วไปก็เข้าใจว่าจะมีความสุขก็ต้องได้เสพสิ่งนั้น ต้องสมหวัง เขาต้องรับรัก ต้องได้เป็นคู่กัน แต่ความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงของลวง ไม่ยั่งยืน จางหาย เปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ใช่แก่นสารสาระที่ควรยึดไว้

ส่วนความสุขที่ไม่ต้องเสพนั้นเกิดจากการทำลายความอยากในจิตวิญญาณจนสิ้นเกลี้ยง เกิดเป็นความสุข สงบจากกิเลส ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องไขว่คว้า ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้มา เป็นสุขที่เกิดเพราะไม่ต้องมีทุกข์จากความอยากมากัดกร่อนใจ

ดังนั้น รักข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย แต่เป็นประตูสู่การเรียนรู้ให้เห็นทุกข์จากความอยากของตัวเอง เป็นก้าวแรกสู่การพ้นทุกข์

ดีแล้วที่เรารักข้างเดียว ไม่ต้องชวนใครเข้ามาทำบาป ไม่ต้องดึงใครเข้ามาร่วมวงกิเลสเป็นบ่วงเวรบ่วงกรรมของกันและกัน ไม่ต้องสร้างความลำบากให้ใครมากกว่านี้ ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความรักและความหวังดี ไม่ต้องให้เขามาทุกข์ทนเพราะความอยากที่แสนจะเห็นแก่ตัวของเรา ไม่ต้องให้เขามาหลงในคำลวงที่เราถูกลวงจากกิเลสมาอีกที

ดีแล้วที่เขาไม่รับรักเรา ดีแล้วที่ไม่ต้องผูกพันกันมากกว่านี้ ดีแล้วที่เป็นแค่เพื่อนกัน. . . ดีแล้วที่เราไม่ต้องคบกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

14.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดสิ้นสงคราม

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,429 views 1

โสดสิ้นสงคราม

โสดสิ้นสงคราม

สิ้นสุดการต่อสู้ ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานแสนนาน

ปิดภพจบชาติ ที่ต้องมาคอยทะเลาะเบาะแว้งกัน

ไม่ยินดี ในการเสพสุขจากการมีคู่ใดๆอีกต่อไป

ไม่ยินร้าย หากว่าใครอื่นยังหลงสุขกับเรื่องคนคู่

ไม่ต้องเป็นทาสกิเลส คอยเสพแต่สุขน้อยทุกข์มาก

เพราะสุขจากการไม่ทุกข์นั้น ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว

สุขจากการไม่ต้องอยาก ไม่ต้องหา ไม่ต้องพยายาม

ไม่ต้องทะเลาะ ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องต่อสู่ ไม่ต้องชนะ

ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็น ไม่ต้องได้ ไม่ต้องเสียสิ่งใดเลย

เป็นสุขแท้ ที่ยิ่งกว่าสุขใดๆ สำหรับผู้สิ้นแล้วซึ่งสงคราม

– – – – – – – – – – – – – – –

27.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่

May 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,405 views 0

เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่

เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่

ความรักและความผิดหวังที่เข้ามานั้น เป็นเพียงบทเรียนในชีวิตที่เราจะต้องนำมาเรียนรู้กิเลสของตน เราจึงใช้วิบากกรรมที่มากระทบครั้งแล้วครั้งเล่าในการจะหาทางออก ไม่ใช่หาทางเข้า

คนที่หลงในความรัก มักจะเข้าใจผิดว่าความผิดหวังจากความรักนั้น เกิดมาเพียงเพื่อให้เราเรียนรู้จักรัก ระวังตัวมากขึ้น ได้เจอคนที่ดีกว่า ถ้าในความเห็นของความรักที่ไม่ครอบครองนั้นก็ใช่ แต่ถ้ายังเป็นรักที่ครอบครองนั้นไม่ใช่

ความผิดหวังไม่ได้เข้ามาเพียงแค่ทำให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดของเราเพื่อไปใช้กับคนอื่นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นบทพิจารณาธรรมว่าเราได้ทำกรรมอะไรมาบ้าง แล้วเรายังต้องการเสพอะไรจากความรักนั้นอีก ดังนั้นความผิดหวังเกิดขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อให้วนอยู่ในห้วงแห่งความรัก แต่มีขึ้นมาเพื่อให้ออกจากนรกของผู้หลับใหลหลงเฝ้าฝันเฝ้าละเมอถึงความรักในอุดมคติด้วย

เมื่อคนที่หลงในความรักผิดหวัง ก็จะหาวิธีที่ตนจะยังสามารถอยู่ในความรักได้อย่างเป็นสุข จะพัฒนาตนเป็นคนดีขึ้น ระมัดระวังตัวมากขึ้น การคัดกรองดีขึ้น คาดหวังมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รักครั้งใหม่ต้องผิดหวังอย่างครั้งเก่า แต่สุดท้ายก็ยังต้องประสบทุกข์จากกรรมกิเลสของตนเองอยู่เนืองๆ เพราะยังเป็นผู้มัวเมาในความรัก เป็นคนดีที่ตาบอด เป็นคนดีที่เป็นทาสกิเลส

ส่วนคนที่มีปัญญาจะใช้โอกาสแห่งความผิดหวังแต่ละครั้งในการสำรวจใจตนเอง ว่าเราไปหลงอะไรในรักนั้น? เรายังอยากจะทุกข์อีกไหม? เรายังอยากได้อยากเสพอะไรอีกหรือ? ชีวิตเรามีสิ่งสำคัญเพียงเท่านี้เองหรือ? เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทียังต้องเป็นทาสกิเลสให้ต้องเล่นบทเป็นขอทานขอความรักขอความเห็นใจจากคนอื่นอีกหรือ? ไม่มีเขาแล้วเราจะไม่สามารถมีความสุขได้จริงหรือ?

คนที่หลงในความรัก เมื่อผิดหวังก็จะไม่ตรวจสอบให้ถึงกิเลสในใจตน แต่จะแก้ปัญหาเพียงปลายเหตุ สุดท้ายเมื่อวิบากกรรมชุดเก่าผ่านพ้นไป ได้เจอคนใหม่ที่ถูกใจ หรือคนรักเก่ามาตามง้อ ก็จะหลงวนเวียนกลับไปเสพสุขในความรักเช่นเคย แล้วเข้าใจว่าตนนั้นน่าจะเก่งขึ้น น่าจะฉลาดขึ้น น่าจะรับมือกับความเอาแต่ใจของตนและผู้อื่นได้บ้าง ตนจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมบ้าง

นี่คือการสะสมความยึดมั่นถือมั่นของคนดีที่ล้างกิเลสไม่เป็น แม้ในตอนแรกมันจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีไปตลอด วิบากกรรมนั้นมีทั้งชั่วทั้งดี เช่นที่เขาว่า ชั่ว 7 ที ดี 7 หน แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เราจะได้รับชั่วหรือสิ่งเลวร้ายตามกรรมที่เราทำมา และได้รับดีตามที่ทำมาเช่นกัน ซึ่งเราไม่สามารถรู้ชัดได้เลยว่าเราทำกรรมอย่างไรสะสมมามากเท่าไหร่ อย่างเก่งก็คงพอจะรู้ได้จากกรรมในชาตินี้ ดังนั้นคนดีที่หลงในความรักคือคนที่ประมาทต่อความไม่เที่ยง เหมือนนักโทษที่รอคอยวันประหารที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่

สุดท้ายฉากความผิดหวังเก่าๆก็จะกลับมาซ้ำรอยที่เดิม วนมาให้เรียนรู้เช่นเดิม ให้เข้าใจว่าโลกนี้มีความพร่อง มีความไม่แน่นอน มีความพลัดพรากอยู่เสมอ ดังนั้นความผิดหวัง ความไม่ถูกใจเรา จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะเตรียมใจมาดีแค่ไหน จะเป็นคนดีแสนดีมากเท่าไหร่ และถึงวันนั้นคนดีที่เอาแต่ทำดีเพื่อให้ได้รักที่ดีก็จะต้องทุกข์ระทมด้วยความผิดหวังเช่นเคย

ส่วนคนที่มีปัญญานั้น เมื่อความผิดหวังมาถึง เขาจะใช้ความผิดหวังนั้นเป็นพลังในการศึกษาทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ หาการดับทุกข์ หาวิถีทางสู่การดับทุกข์ แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยปัญญาที่เห็นแล้วว่าการมีความรักที่อยากจะครอบครองนั้นเป็นทุกข์ เขาจึงเริ่มที่จะผลักกิเลสออกจากตัวเองตามกำลังที่เขามี

สุดท้ายและท้ายที่สุด นับตั้งแต่วันที่เขาได้เรียนรู้ความผิดหวัง แล้วใช้ความผิดหวังนั้นมาเป็นอาหารที่ทำให้เขาเจริญเติบโต จนกระทั่งเขามีปัญญามากพอจะรู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสและเห็นความจริงตามความเป็นจริง

ว่าความรักแบบต้องมีคู่ ความอยากครอบครอง ความอยากได้อยากมี เหล่านี้ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เราเห็นกิเลสแล้ว เรารู้ทันกิเลสแล้ว กิเลสไม่สามารถทำอะไรกับเราได้อีกแล้ว อย่าหลอกเราอีกต่อไปเลย เรารู้แล้วว่าความอยากเหล่านี้เป็นเพียงความโง่ที่เราเคยมี บัดนี้เรามีปัญญาแล้ว เราหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว

สุดท้ายเมื่อกิเลสถูกรู้จนสิ้นสงสัย จึงสลายตัวไปตามธรรม หลังจากนั้นความผิดหวังที่เคยมีกลับไม่มี ความหวังที่เคยมีก็ไม่ปรากฏ แม้จะมีคนที่เคยรักแสนรัก เคยหลงใหลหัวปักหัวปำ เคยเป็นสุข เคยเป็นทุกข์จากเขามามากเท่าไหร่ เคยหัวเราะร้องไห้ให้กับเขามาแล้วสักกี่ครั้ง บัดนี้ทุกอย่างก็หมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง

เมื่อใจนั้นไม่มีกิเลส จึงมองความจริงตามความเป็นจริง โดยปราศจากความลำเอียงใดๆ คนที่เคยรักก็เป็นคนที่เคยรัก แต่ก็กลายเป็นเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก ไม่มีทั้งความรัก ไม่มีทั้งความชัง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส ถึงจะมีอยู่ก็จะอยู่ไปแบบนั้น ถึงจะไม่มีอยู่ก็ไม่ได้สำคัญว่าไม่มี

หลังจากนี้จะมีแต่กุศลและอกุศล มีแต่การประมาณว่าทำเรื่องใดแล้วผลจะออกมาดีหรือร้าย ไม่มีเรื่องของกิเลสเข้ามาปน ไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นทุกข์จากความรักและความผิดหวังอีกเลย เพราะพ้นแล้วซึ่งอำนาจของความไม่รู้

และนี่คือความแตกต่างของการเรียนรักเพื่อที่จะผ่านพ้น กับคนที่เรียนรักเพื่อวนไปมีความรักใหม่ ทางแรกนั้นมีจุดจบที่แน่นอน ส่วนทางที่สองไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้จะต้องวนไปถึงชาติไหน ไม่รู้จะต้องทนทุกข์ไปอีกกี่กัปกี่กัลป์ ถึงจะเห็นว่าความอยากได้อยากมีของตนเองนั่นแหละคือที่มาของความผิดหวัง

– – – – – – – – – – – – – – –

9.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,485 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)