Tag: ทางสายกู

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

August 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,899 views 0

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

คำว่า “ทางสายกลาง” เป็นคำที่คนมักจะยกกันขึ้นมาพูด เมื่อต้องการแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ตนเองรู้สึกว่า ตึงหรือหย่อนเกินไป

ทางสายกลาง เป็นคำที่มักจะได้ยินกันโดยทั่วไป ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงคนเคร่งศาสนาเลยก็ว่าได้ เมื่อมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันยกคำว่า “ทางสายกลาง” ขึ้นมาพูด แล้วจริงๆ ทางสายกลางนี่มันคือตรงไหน? มันเป็นอย่างไร? ในเมื่อจุดยืนของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนไม่นับถือศาสนาเขาก็พูดถึงทางสายกลาง คนเคร่งศาสนาก็พูดถึงทางสายกลาง แล้วมุมมองที่เขามองเห็นทางสายกลางนั้นจะเป็นทางเดียวกันจริงหรือ?

ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ แล้ว ทางสายกลางนั้นคือวิถีปฏิบัติของพุทธ ไม่ใช่เพียงแค่มุมมอง แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้ เพราะบางทีมุมที่มองนั้น ก็มองออกมาจากมุมของตัวเอง มุมที่ตนเองพอใจ สบายใจ กลายเป็นทางสายกลางของฉัน ฉันก็กลางของฉัน ฉันก็พ้นทุกข์ของฉัน กลางของเราไม่เหมือนกัน แบบนี้มันก็เลยกลางเป็น “ทางสายกู” เป็นมาตรฐานกู เอาตามใจกู ซึ่งก็คือ “อัตตา” นั่นเอง

คนเราจะสร้างภาพให้ดูดี ยกธรรมะให้ดูขลังแค่ไหน สร้างบริวารมากมายเท่าไหร่ หรือมีคนเคารพศรัทธาสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอา “ทางสายกู” มาเป็นมาตรฐานของพุทธได้ เพราะทางสายกูนี่มันรู้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย ว่าตกลงหลุดพ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ยกวาทกรรมที่ดูดีขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ได้เสพสมใจโดยไม่มีคนกล้าติติง

ศาสนาพุทธนั้นมีมาตรฐานอยู่แล้วโดยลำดับ ตั้งแต่ ศีล ๕ ๘ ๑๐ จนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลและพระวินัยอีกกว่า ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อ ที่เป็นส่วนของนักบวช ซึ่งจะรู้กันดีว่า ศีล ๑๐ นั้นสูงกว่าศีล ๘ และศีล ๘ นั้นสูงกว่าศีล ๕ ไปตามลำดับ

ผู้ที่เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริงในเบื้องต้น จะมีศีล ๕ เป็นปกติทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาขึ้นไปอีกเป็นมีศีล ๘ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องคอยตั้งสติ เพราะมันไม่มีเหตุคือกิเลสเกิดขึ้นมาให้ศีลขาด ความเป็นปกติของผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นเช่นนี้ นี่คือทางสายกลางในระดับของศีล ๘

แต่แน่นอนว่าศีล ๘ ก็ยังไม่ใช่กลางที่สุดของศาสนาพุทธ แต่ก็มีส่วนที่กลางแล้ว ถูกต้องแล้ว พัฒนามาโดยลำดับ และศึกษาต่อไปจนมีศีลหรือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกข้อได้โดยไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานตน เพราะรู้ดีในตนว่า ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ดีที่สุด รู้ว่าการปฏิบัติตามศีลนี้เป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยความสุข โภคทรัพย์ วรรณะ และเป็นประตูสู่การเข้าถึงนิพพาน มาตรฐานทางสายกลางของพุทธจึงวัดในเบื้องต้น สังเกตได้ในเบื้องต้นด้วยศีล ถ้ามีศีลแล้วชีวิตมันทุกข์ มันลำบาก ยังไม่เห็นดีเห็นควรตามศีลนั้นๆ ยังมีข้อขัดแย้งที่เป็นไปในทางอกุศล แสดงว่ามันยังไม่กลาง มันยังจมกิเลสอยู่ ยังโดนกิเลสดึงไว้อยู่ ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาถือศีลเพื่อศึกษาและปฏิบัติได้

นี่คือมาตรฐานที่รู้กัน เข้าใจกัน มองเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ในพุทธบริษัทว่านี่แหละ คือมาตรฐานร่วมที่จะใช้บ่งบอกว่าสิ่งใดที่เป็นลักษณะของความเจริญ เป็นไปเพื่อกุศล ยับยั้งอกุศล ก็คงจะมีแต่ศีลนี่แหละที่พอจะเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะสภาวะที่ลึกๆ หลังจากนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งคนที่ต่ำกว่าจะไม่เข้าใจคนที่สูงกว่า ซึ่งบางคนก็ถือโอกาสมั่วนิ่ม โมเมว่าตนเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์ซะเลย จะได้ไม่มีใครกล้าตำหนิหรือกล้าแย้ง หรือในพวกคนที่หลงผิดด้วยใจซื่อๆ ว่าตนเองบรรลุธรรมก็มี พอไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบสภาวธรรมกันจริงๆ ก็เลยมีอรหันต์เก๊ พระอริเยอะกันเต็มบ้านเต็มเมือง

ศีลนี้เองจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใดที่เจริญแล้ว อยากตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองเอาศีล ๕ ไปปฏิบัติดู ถ้าไหวก็ ๘, ๑๐ ต่อไปจนถึงพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ทำหมดนั่นแหละ ถ้าอยู่บนทางสายกลางจริง มันจะไม่มีทุกข์เลย มันจะมีปัญญาเห็นตามด้วยว่า “อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีอย่างนี้นี่เอง ทำแล้วมันดีแบบนี้นี่เอง” จะมีความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ และถ้ามีความเห็นถูกตรงในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ มันจะไม่ตีกลับ ไม่เบือนหน้าหนีสิ่งดีงามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะพยายามปฏิบัติตนเองให้พัฒนาจนเข้าถึงธรรมนั้นๆ มันจะไม่หาช่องไว้เสพสุข ไม่หาจุดบอด ไม่เบี้ยวบาลี มีแต่จะทำไปเพื่อเป็นกุศลอย่างเดียว ถ้าจะปรับก็ปรับเพื่อกุศลมากกว่า อนุโลมในบางกรณีที่เกิดประโยชน์มากกว่าเท่านั้น

ผู้ที่อยู่ในทางสายกลางอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีวันเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ส่วนพระเสขะอื่นๆ ท่านก็เอียงไปในส่วนที่ท่านยังหลงอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นก็รู้แล้วว่าตรงไหนที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” ไม่ใช่เอา “ทางสายกู” ขึ้นมาอ้าง เหมือนกับคนที่หลงทางในทางธรรม…

14.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)