Tag: ทางสายกลาง
โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข
โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข
ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่
ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย
โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)
คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส
คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี
โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)
คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก
แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่
เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง
โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)
คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด
ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก
ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย
การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล
ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป
แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก
ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก
….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
29.7.2558
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร
อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์
ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม
เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง
ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ
หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่
การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )
เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ
การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
15.7.2558
ทางสายกลางของพุทธ
ดูละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 35 เป็นบทที่แสดงการเทศนาครั้งแรก เนื้อหาที่สื่อมานั้นเข้าใจได้ง่าย ซึ่งผมจะหยิบยกในเรื่องของทางสายกลางในมุมทางโต่งสองด้านมาขยายกัน
“อย่าให้ร่างกายอดอยาก หรืออย่าสนองกิเลสของมัน จงแน่วแน่อยู่ตรงกลาง” คือบทแปลในละครตอนนี้ เป็นสภาวะของทางสายกลางที่ถูกปั้นแต่งให้ดูเป็นบทพูดที่เรียบง่าย แต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก
ทางสายกลางของพุทธไม่ใช่การอยู่ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม แต่เป็นกลางบนทางธรรม ไม่เข้าไปในส่วนสุดโต่งสองด้าน คือทางกามสุขัลลิกะ (อย่าสนองกิเลสของมัน) และ อัตตกิลิมถะ (อย่าให้ร่างกายอดอยาก)
นั่นคือไม่เสพทั้งกามและไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาที่ยึดดีถือดี นี่คือความโต่งที่ต้องเลี่ยง ซึ่งในทางปฏิบัติมันจะไม่ง่ายเพราะเดี๋ยวก็เซไปข้างหนึ่งที เซไปอีกข้างหนึ่งที หรือไม่ก็ไปติดอยู่ข้างใดข้างหนึ่งจนไปไหนไม่ได้
ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงควรไม่เอาตัวไปหมกกับการเสพสุขทั้งหลาย (กาม) และไม่ยึดดีถือดีจนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายและจิตใจของตน(อัตตา)
ผู้ที่ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หรือไตรสิกขานั้น จะสามารถเข้าใจสภาวะของทางโต่งสองด้านและทางสายกลางได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อถือศีลใดๆแล้ว จะได้เรียนรู้ขอบเขตของความโต่งและทางสายกลางว่าจุดใดคือโต่งไปทางกาม จุดใดคือโต่งไปทางอัตตา และจุดใดคือตรงกลาง ซึ่งเมื่อปฏิบัติศีลนั้นจนชำระกิเลสในใจได้แล้วก็จะเข้าใจสภาพของทางสายกลางในศีลนั้นๆอย่างถ่องแท้
– – – – – – – – – – – – – – –
4.7.2558
จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่
ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image
จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่
ก่อนที่เราจะตัดสินใจลิขิตชีวิตของตัวเองว่าจะให้เป็นไปทางไหน ก็ควรจะศึกษาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุนที่มีความเสี่ยงที่มากที่สุดในชีวิตกันก่อน
จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นจิตที่ยังไม่มี “ปัญญา” เมื่อได้รับรสสุข จึงยึดติดความสุขเหล่านั้น สะสมลงไปกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำให้กลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ โดยรวมเราจะเรียกสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ว่า “กิเลส”
1). สุขลวง
ตั้งแต่เราเกิดมาก็จะได้พบกับการชักชวนให้มีคู่แล้ว ไม่ว่าจะนิทาน การ์ตูน ละคร รวมถึงสังคมที่พากันแสวงหาคู่ เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดในสังคมที่พากันส่งเสริมให้มีคู่ มองว่าการมีคู่ครองเป็นเรื่องธรรมดา มองว่าการมีคู่เป็นสุข เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่า เป็นสิ่งสำคัญ
สภาพจิตใจของคนที่ยังหลงสุขลวงแม้ว่าจะยังไม่มีคู่ก็คือ อยากมีคู่ หมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีที่เห็นคนอื่นเขาคู่กัน ยินดีที่เขาแต่งงานกัน แม้แต่ความรู้สึกที่เข้าใจว่าตนอยู่เป็นโสดก็ได้ แต่ถ้ามีคู่จะสุขกว่า คือถ้าเลือกได้ก็ขอมีคู่ดีกว่า ก็ยังเรียกได้ว่าหลงสุขลวงอยู่โดยรวมก็คือถ้ามีคู่จะเป็นสุข ไม่มีคู่จะเป็นทุกข์
การหลงสุขลวงนั้นเป็นเรื่องทั่วไปของคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนที่หลงแล้วได้เสพสมใจ ได้มีแฟน มีคนรัก มีครอบครัว ก็จะยิ่งหลงขึ้นไปอีก แล้วก็มักจะชักชวนผู้อื่นให้หลงไปในสุขลวงเหล่านั้นด้วย นั่นเพราะตนหลงแล้วจึงไม่อยากจะออกจากความหลง จึงชักชวนให้คนอื่นเขาหลงตามเพื่อที่จะให้เห็นได้ว่า “ใครๆเขาก็ทำกัน”
แม้แต่คนที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมะ ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังหลงสุขลวง จึงใช้สิ่งที่ตนมีเหล่านั้นสร้างเหตุผลที่จะสามารถมีคู่ได้โดยที่ตนไม่รู้สึกผิด แต่ถึงกระนั้นก็ตามการมีคู่ก็ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ดี
แน่นอนว่าความหลงสุขลวงในการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสามัญในโลกไปแล้ว ใครที่บอกว่าการมีคู่ครองนั้นเป็นเรื่องทุกข์ ก็คงจะโดนหาว่าบ้า หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนอ่อนต่อโลก อิจฉาคนมีคู่ ขยาดในความรัก ผิดหวังในรัก ขี้ขลาดขี้กลัว ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ที่จะมาเป็นเหตุผลให้คนหลงสุขลวงได้ปักมั่นอยู่ในความเห็นที่ตนเข้าใจว่าถูก
ผู้ที่เลือกการมีคู่เพราะหลงสุขลวงจะต้องวนเวียนเรียนรู้ เกี่ยวกับทุกข์จากความรักของคนมีคู่ต่อไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า ความรักแบบมีคู่นั้นคือความทุกข์
ลักษณะของผู้ที่เห็นดีต่อการเสพสุขลวงจะมีอาการต่อต้าน “ความโสด” ไม่ยินดีฟังธรรมที่จะพาให้เป็นโสด ยินดีในธรรมที่จะพาให้มีคู่ จึงควรศึกษาเรื่อง ทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการมีคู่ เพื่อจะได้เรียนรู้ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ของสุขลวงได้ไวขึ้น
2). เกลียดชั่วยึดดี
คนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรัก สะสมทุกข์จนถึงจะดับหนึ่ง ก็จะสามารถออกจากการมีคู่ด้วยการยึดดีได้ เพราะตนเองนั้นเกลียดทุกข์ที่มาพร้อมกับการมีคู่รัก อาจจะเพราะได้เคยพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์จนเกินทนเลยเข็ดขยาดกับความรักครั้งก่อนๆ
เมื่อเขาเหล่านั้นได้เข็ดขยาดจากความรักที่ต้องคอยมาเติมเต็มกิเลสให้แก่กันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมเต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ จึงเลิกเติมเต็มกิเลสให้กับผู้อื่น และใช้ตัวเองถมช่องว่างในการมีคู่เหล่านั้นเสีย เรียกว่าสร้าง “อัตตา” ขึ้นมาเพื่อทำลายความหลงเสพในสุขลวง
แม้โดยสภาวะจะดูแข็งแกร่ง มั่นคง แต่ก็เป็นสภาพยึดดีถือดีอยู่ มีตัวตนอยู่ สภาพของผู้ที่โสดแบบเกลียดชั่วยึดดีนี้จะมีอาการผลัก ชิงชัง รังเกียจการมีคู่ ไม่เห็นดีเห็นงามกับการมีคู่โดยมีความทุกข์จากความยึดดีเป็นส่วนประกอบ เช่น เห็นคนมีคู่แล้วมันหงุดหงิด ไม่ชอบ รำคาญ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากเห็น อยู่กับคนโสดไม่เป็นไร แต่เจอคนมีคู่ทีไรอารมณ์ไม่ค่อยดี
ความเกลียดชั่วยึดดีนี้เอง ก็ถือได้ว่าเป็นสภาพที่เจริญขึ้นมาจากความหลงสุขลวงแล้ว แต่ก็ยังทำทุกข์ทับถมตนเองจากความยึดดีถือดีอยู่ แม้จะไม่ไปสร้างบาปกรรมกับคนอื่นด้วยการไปมีคู่ แต่ก็ยังสร้างบาปในใจของตนอยู่นั่นเองซึ่งอัตตาที่เพิ่มขึ้นมานั้นเองก็อาจจะเป็นเหตุให้ไปเบียดเบียนจิตใจของผู้อื่นได้ จึงยังเป็นผู้ที่ควรจะศึกษาในเรื่องของการทำลายอัตตาต่อไป
3). โสดแบบบ้านๆ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าตนนั้นไม่อยากมีคู่และไม่รู้สึกเกลียดคนมีคู่ แต่ความรู้สึกนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งความรู้สึกว่าโสดแล้วตนเองก็ยังเป็นสุขดีนี้อาจจะไม่ใช่การบรรลุธรรมแต่อย่างใด
เช่น เด็ก ที่ยังไม่เข้าถึงวัยที่จะรู้จักความรัก กิเลสยังไม่กำเริบ วิบากกรรมยังไม่ส่งผล ก็จะยังรู้สึกมีความสุขที่ยังเป็นโสดอยู่ แต่วันใดที่ได้รู้จักกับสุขลวง ได้หลงเสพจนหลงสุขนั้น หรือพบคนที่จะมาสนองกิเลสตนเองได้ ก็จะพลาดพลั้งเสียทีไปได้
เช่น คนหนุ่มสาวที่อยากเสพสุขลวง แต่คนเองก็ยังไม่เคยได้เสพ ก็มักจะเข้าใจผิดไปว่า แม้ตนนั้นโสดก็ยังเป็นสุขดีอยู่ จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จิตนั้นยังยินดีกับการมีคู่ การแต่งงานอยู่ ก็จะเรียกได้ว่ายังหลงกับสุขลวง หรือคนที่เจ็บปวดจากความรักและผลักตัวเองออกจากความรัก ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสภาพความยึดดีแบบชั่วคราว สุดท้ายความสุขลวงยังไม่ตายก็จะกลับไปอยากมีคู่อยู่ดี
เช่น คนทำงานที่หลงไปในเรื่องของการงาน ฐานะ ความสำเร็จมากๆ ก็จะให้ความสำคัญกับโลกธรรม แม้ว่าจะไม่มีเรื่องคู่ครองมาในเบื้องต้น แต่สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นอยู่ดี ถึงแม้จะดูเป็นคนโสดที่ใส่ใจการงาน แต่ถ้าสุขลวงยังไม่ถูกทำลาย มันก็เป็นเหตุให้ไปแสวงหาคู่ในท้ายที่สุดอยู่ดี
เช่น คนแก่ที่หมดวัยในการมีคู่แล้วก็มักจะเชื่อว่าตนนั้นเป็นโสดก็สุขดี ทั้งๆที่จริงแล้วสภาพของกรรมมันไม่เอื้อให้มีคู่แล้ว จึงทำได้แต่ปลง คือมันไม่มีให้เสพแล้ว จะทำยังไงก็ไม่มี ถึงมีก็ไม่ควรแก่วัย ทำได้แค่ทำใจเท่านั้น สุดท้ายก็ทำให้เข้าใจไปว่าฉันโสดก็สุขดี แบบนี้เป็นโสดแบบทั่วไป
สรุปแล้วความโสดแบบบ้านๆก็คือเรื่องทั่วไปที่เกิดได้กับทุกคนโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด สิ่งที่แสดงได้ชัดคือความรู้สึกยินดียินร้ายที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจ หากยังยินดีกับความรักแบบคนคู่อยู่ก็ถือว่ายังไม่พ้น และถ้าหากยังรู้สึกชิงชังรังเกียจการมีคู่อยู่ก็ยังถือว่ายังไม่จบ
4).โสดอย่างเป็นสุข
ความโสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นสภาพพิเศษ ไม่ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นการโสดที่เกิดจากการชำระสุขลวงและทำลายความเกลียดชั่วยึดดี จนเกิดสภาพที่ไม่เสพก็เป็นสุข
ความโสดอย่างเป็นสุขไม่ใช่สภาพที่อยู่ๆจะเกิดขึ้นได้เอง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ตนเองเบื่อความรักแล้วจะเกิดขึ้นได้ แต่เกิดจากการทำลายกิเลสทั้งๆที่เกิดความรักอยู่นั่นเอง นั่นหมายถึงการสัมผัสความรักอยู่แต่ก็ทำลายรักนั้นลงตรงหน้า
เหมือนกับนักรบที่สามารถฆ่าคนที่ตนเองรักที่สุดได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นอีกเลย มันไม่ได้เบื่อไม่ได้หน่ายเลยนะ มันรักสุดรัก แต่ถ้าจะทำลายกิเลสมันก็ต้องทำลายกันทั้งๆที่ยังรักอยู่นี่แหละ จะไปรอทำลายตอนแก่หรือทำลายตอนหมดรักไม่ได้เพราะสุดท้ายมันจะต้องสัมผัสกับคนที่รักได้โดยไม่มีความรู้สึกรักหรือชังใดๆเลย ส่วนคนที่ยังไม่มีความรักแบบคู่ครองก็ไม่ต้องไปลองให้เสี่ยงเปล่าๆ หมั่นพิจารณาทุกข์ โทษ ภัยตามความเป็นจริงๆไปเรื่อยก็พอ
การจะเข้าถึงสภาพนี้จะต้องเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของสุขลวงและความเกลียดชั่วยึดดีที่มีในตน จนกระทั่งทำลายทั้งความดูดผลัก รักเกลียด ชอบชังจนหมดสิ้น
โดยสภาพของผลที่เกิดขึ้นนั้นโดยภายนอกจะคล้ายกับคนที่เกลียดชั่วยึดดีคือ กลายเป็นคนโสด และไม่ยินดีกับการมีคู่ แต่จะไม่มีความทุกข์ใดๆเข้าไปร่วมด้วย
สิ่งที่แตกต่างจากคนโสดทั่วไปคือมีปัญญารู้แจ้งโทษชั่วโดยรอบของการหลงสุขลวงและการเกลียดชั่วยึดดีที่ตนเองนั้นได้เรียนรู้มา เรียกได้ว่ามีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดทั้งกามและอัตตา ซึ่งต่างจากคนโสดทั่วไปที่โสดโดยไม่รู้จักตัวตนของกิเลส โสดไปตามกรรม โสดแบบนั้นไม่ใช่ความสุขแท้ แต่เป็นการรอคอยก่อนที่พายุใหญ่กำลังจะเข้ามา อาจจะเป็นอนาคตข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ แต่โสดอย่างเป็นสุขเพราะชำระกิเลสจะต่างออกไป เพราะเมื่อกิเลสถูกกำจัดไปทั้งหมด ในอนาคตก็จะไม่มีพายุใดๆเข้ามาทำให้ทุกข์อีกไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า จะเหลือแต่วิบากกรรมที่จะต้องรับและเศษเหลี่ยมมุมของกิเลสที่จะต้องเรียนรู้
สภาพของโสดอย่างเป็นสุขจากการชำระกิเลสจะอยู่บนทางสายกลางแบบไม่เผลอเอียงไปทางโต่งด้านใดด้านหนึ่งอีก เพราะได้ชำระกามและอัตตาอันเป็นทางโต่งสองด้านแล้ว และเมื่อดำเนินอยู่บนทางสายกลางจึงดำเนินชีวิตไปร่วมกับคนที่หลงสุขลวงและเกลียดชั่วยึดดีได้อย่างไม่ปนไม่เปื้อนไปกับเขา ถึงเขาจะอยากมีคู่เราก็ไม่อยากไปกับเขา ไม่ยินดีไปกับเขา ถึงเขาจะรู้สึกทุกข์เพราะคนคู่เราก็จะไม่ทุกข์ไปกับเขา จึงกลายเป็นผู้อยู่ในโลก แต่ไม่ปนไปกับโลก ไม่ใช่ผู้หนีโลกแต่อย่างใด
– – – – – – – – – – – – – – –
25.4.2558