Tag: คำพิพากษา

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

July 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,864 views 0

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

เราต่างล้วนถูกพิพากษาให้เกิดมาในโลกนี้ ให้เป็นคนแบบนี้ ให้ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ และนี่คือการพิพากษาของศาลที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกชื่อว่ากรรม

ในชีวิตของเราอาจจะเคยเจอคำสั่ง คำตัดสิน บีบบังคับ ยัดเยียด บทลงโทษ คราวเคราะห์ โชคดี หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นคำพิพากษาของกรรม หรือที่เรียกกันว่า ผลของกรรม

เราไม่มีทางได้รับกรรมที่เราไม่ได้ทำมา เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราได้รับจะต้องเป็นสิ่งที่เราทำมาแน่นอน เราถูกพิพากษาให้ได้รับทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายในชีวิตโดยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือเรียกร้องใดๆได้ เพราะคำพิพากษาของกรรมนั้นเป็นที่สุดของการตัดสินว่าเราจะต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้ายนั้น

แต่หลังจากได้รับการพิพากษามาแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็จะเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ยกตัวอย่างเช่น เราถูกพิพากษาให้ถูกทำร้าย แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปโกรธหรือทำร้ายเขาตอบ หรือเราถูกพิพากษาให้ได้รับลาภก้อนโต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เราสามารถแบ่งปันแจกจ่ายไปในที่ที่สมควรแก่การได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้เช่นกัน

การพิพากษาของกรรมนั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยจนเราหลงลืมไปว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั้นเกิดจากผลของกรรมที่เราทำมา ซึ่งเมื่อหลงลืมก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอประมาทในเรื่องของกรรมไปได้ เช่นไปทำกรรมชั่วโดยที่ไม่ได้ระลึกถึงภัยของสิ่งนั้น

ความถี่และความรุนแรงของผลการพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมในตัวคน ถ้าเราเป็นคนดี มีความละอายต่อบาป โทษทัณฑ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เราเลิกทำชั่วได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีความละอายต่อบาป การพิพากษาก็มักจะถูกเลื่อนไปจนกระทั่งสะสมพลังงานให้มากพอที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้

คนดีได้รับทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สำนึกผิด รีบทบทวนตัวเองเพื่อละเว้นสิ่งชั่ว ส่วนคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะมองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเมื่อได้รับทุกข์ก็มักจะมองข้ามการปรับปรุงตนเอง มองข้ามโทษภัยของการทำกรรมชั่ว จึงประมาททำชั่วสะสมกรรมชั่วเหล่านั้นไว้ จนได้รับคำพิพากษาโทษที่หนัก ทำให้ทุกข์ทรมานมาก จึงจะเรียนรู้ผลของกรรมที่ทำมา

คำพิพากษานั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทำกรรมอะไรมา เราจึงต้องโดนพิพากษาให้รับผลของกรรมเหล่านั้น เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเราเคยทำชั่วมามาก ก็ควรจะละเว้นชั่ว ทำแต่ดี เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาสร้างทุกข์เพื่อวนเวียนรับทุกข์ให้เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

22.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)