Tag: ความโสด
โสดโหยหวน
โสดโหยหวน
—————
โสดโหยหวน คืออาการของจิตใจที่ขาดพร่อง จึงซัดส่ายแสวงหาดิ้นรนเพื่อใช้ประโยชน์จากความโสดให้ตนได้ผลประโยชน์บางอย่างมาเสพสมดังใจหมาย
โสดโหยหวน นั้นจะแสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งจะพยายามทำให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนโสด ตนยังมีอยู่ ตนอยู่ตรงนี้ ตนยังมีคุณค่า ตนดีแบบนี้ ตนมีสิ่งที่ดีรอให้คนมาพิสูจน์อยู่ ฯลฯ ผ่านกลยุทธ์การโฆษณาที่หยาบอย่างชัดเจนไปจนถึงลึกลับซับซ้อน เช่นการแสดงตนว่าโสดพร้อมสื่อยั่วยุต่าง ๆ ดังเช่น รูปถ่าย วีดีโอ หรือข้อความที่หยอกล้อยั่วเย้ามอมเมา ถ้าหยาบ ๆ ก็แต่งหน้าแต่งตัวให้มันจัด ๆ ให้โป๊เปลือย ให้หล่อ ให้สวย ให้ดูแล้วหลง และจะละเอียดซับซ้อนลดความหยาบไปเรื่อย ๆ จนเหลือแต่การแสดงตัวตน เช่นการทำให้ผู้อื่นรู้ว่าตนมี ตนอยู่ ตนเป็นเช่นนี้ เพื่อหวังให้ใครสักคนมาหลงชอบในความเป็นตน
โสดโหยหวน ในที่ลึกลับที่สุดคือไม่ออกอาการทางกายและวาจาแล้ว แต่ใจยังโหยหวนอยู่ แม้ภายนอกจะดูดี ไม่สร้างภาพ ไม่เรียกร้องความสนใจ แต่ในใจกลับซัดส่าย ไม่อยู่นิ่ง อยากได้ อยากเป็น อยากมี ไม่ยินดีในความโสดทั้งของตนเองและผู้อื่น มีความยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้เสพผลประโยชน์ที่แลกไปด้วยความโสดเช่น เห็นเขารักกันก็มีจิตไปยินดีกับเขา เห็นเขาแต่งงานกันก็มีจิตไปยินดีกับเขา เห็นเขาได้ลาภยศสรรเสริญสุขจากการสละโสดก็มีจิตไปยินดีกับเขา ฯลฯ แบบนี้ยังเรียกว่ายังมีความโสดโหยหวนอยู่ภายใน ที่ยังไม่แสดงออกมานั้น อาจจะด้วยหลายสาเหตุหลายประการ เช่น มารยาท ประเพณี ค่านิยม ความกลัว ความยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติบางอย่าง หรือยังไม่มีสิ่งกระตุ้นที่เพียงพอ เป็นต้น
ในท้ายที่สุด คนที่ยังมีสภาพของ “โสดโหยหวน” ก็จะแสวงหาใครสักคนที่จะทำให้สละโสดนั้นไปได้ เพื่อแลกกับอะไรก็ตามที่เขาหรือเธอหลงว่าเป็นสุขนั่นเอง
11.2.2560
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?
ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?
การจะเป็นคนโสดที่มั่นคงกับความโสดได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีคนที่ถูกใจเข้ามาก็ยังยินดีในความเป็นโสดได้อย่างผาสุกนั้น เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักหากเรามีการศึกษาที่ถูกหลัก
ศาสนาพุทธกับการมีคู่
ศาสนาพุทธไม่ได้มีกฎห้ามฆราวาสมีคู่ การมีคู่ครองนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การเป็นโสดก็เป็นสิทธิที่พึงได้เช่นเดียวกัน
ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับความรักดังเช่นว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ การมีคู่นั้นเป็นดั่งบ่วงที่คล้องเราไว้กับความทุกข์ แต่ผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้นมีอยู่ เช่น การมีคู่รักนั้นคือความสุขคือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือเขาจะเข้าใจว่ารักนั้นมีทุกข์จริง แต่ก็มีสุขร่วมด้วย หรือการมีคู่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้ โดยรวมๆ แล้วคือพยายามสรรหาข้อดีของการมีคู่ ซึ่งหมายความว่ามีทิศทางไปทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ผู้ที่หลงผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ก็จะไปในทิศทางที่เป็นทุกข์
ตามหาแนวทางปฏิบัติ
เมื่อเราต้องการจะพัฒนาตนเองไปสู่ความโสดที่ผาสุกและยั่งยืน ไม่ใช่โสดรอเสพ ไม่ใช่โสดเพราะหาไม่ได้ แต่เป็นความโสดที่มั่นใจแล้วว่านี่แหละคือทางแห่งการพ้นทุกข์ ทางอื่นไม่ใช่ แม้เรามีความเห็นที่ตรงไปสู่ทางพ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ส่วนเป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ และการจะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ง่าย มารมักจะแปลงร่างมาลวงให้หลงได้เสมอ มาในคราบเทพบุตรบ้าง มาในคราบเทพธิดาบ้าง
เมื่อทางปฏิบัตินั้นดูไม่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับคุณค่าของความโสด ผู้ที่มีความเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือความผาสุกที่สุดแล้ว การมีคู่ครองนั้นเป็นทางแห่งทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพที่ทุกข์ดับ และรู้วิธีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ ซึ่งเข้าใจภาวะนั้นจริงในตนเอง เป็นในตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องกันตามตำรา มีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่เวียนกลับไปโสด หรือเหลาะแหละโลเล เป็นไม้ปักเลน
เมื่อได้เจอกับผู้รู้แล้วก็ศึกษาตามที่ท่านเหล่านั้นเป็น เพื่อที่เราจะได้มีหลักยึดในการปฏิบัติว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริงเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตาม เราก็จะได้ผลเหล่านี้เช่นกัน
คัมภีร์คนโสด
คู่มือคนโสดที่ตกทอดกันมาหลายพันปีนั้น เป็นสมบัติที่ชาวพุทธรู้จักกันดี นั่นคือพระไตรปิฎก แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาหลากหลาย แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “โทษภัย” ของการมีคู่อยู่ไม่น้อย เช่นในอนุตตริยสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้ภรรยานั้นเป็นลาภก็จริง แต่ก็ถือเป็นลาภเลว หรือ “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ยิ่งถ้าอ่านเกี่ยวกับพระวินัยของผู้บวชเพื่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีเลยว่า ศัตรูชีวิตก็คือสตรี…
หนีรอตาย หนีรอโต
โดยพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจอกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบใจ ก็ควรจะหลีกหนีหรือรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดจนเกินไป จนจิตไปสะสมความรักใคร่ที่มากขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปนั้นทำตรงกันข้าม คือมุ่งหน้าหาสิ่งที่ตนเองชอบใจ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มากขึ้น
การหนีห่างออกมานั้น แม้จะช่วยไม่ให้เกิดการปะทะที่มากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะหนีได้ตลอดไป ผู้ที่เอาแต่หนี ไม่ยอมศึกษาเพื่อให้ความอยากมีคู่นั้นจางคลายลงไป ก็ทำได้เพียงแค่ “หนีรอตาย” เท่านั้น ไม่พลาดชาตินี้ ก็ไปพลาดชาติหน้า การหนีนั้นแท้จริงแล้ว ก็เพื่อใช้เวลาในช่วงที่ห่างออกมาเร่งศึกษาและปฏิบัติตนให้พ้นจากความอยากมีคู่ ให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นในความโสด ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่นั้น การหนีนี้คือ หนีเพื่อรอการเติบโต หรือ “หนีรอโต”
ศึกษาเพื่อก้าวข้ามความอยากมีคู่
การศึกษาของพุทธนั้น มีไว้เพื่อความเจริญโดยลำดับ มิใช่เพื่อดับสิ้นเกลี้ยงในทันที ซึ่งจะมีความเจริญพัฒนาไปตั้งแต่ คนโสดที่อยากมีคู่ (กามภพ) ไปเป็นคนโสดที่ยังอยากมีคู่แต่เห็นโทษก็เลยไม่มีคู่ (รูปภพ) ไปเป็นคนโสดที่ไม่ยินดีในการครองคู่แต่ลึกๆ แล้วยังคงเหลือความอยากมีคู่ ยังมีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ยินดีในความโสดอย่างเต็มที่ (อรูปภพ) ไปจนถึงขั้นดับความอยากมีคู่จนสิ้นเกลี้ยง
การที่เราจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อข้ามความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องเริ่มจากศีล คือมีเจตนาละเว้นการครองคู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ เมื่อมีเป้าหมายที่จะขัดเกลากิเลสนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาจิตของตนด้วยสมถะ เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดลมหายใจ หรือจะเป็นสมถะในการงานต่างๆ เช่น ขุนดิน ตัดกระดาษ เย็บผ้า ออกกำลังกาย โยคะ ฯลฯ ฝึกจิตให้เกิดความสงบบ่อยๆ ก็จะสะสมเป็นกำลังของจิต ที่จะช่วยเพิ่มพลังไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อต้องเผชิญกับเนื้อคู่ ( ตัวเวรตัวกรรม )
ในส่วนของปัญญานั้น เกิดจากการรู้แจ้งโทษภัยของการมีคู่ได้ครบทุกเหลี่ยมทุกมุมตามที่ตนเองเคยหลงติดหลงยึด ซึ่งการจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องแก้ไขความเห็นผิดต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ด้วยประสบการณ์ของผู้รู้ และทำความรู้นั้นให้มีในตน
เดิมทีนั้นเรามีแต่อธรรม แม้จะอยากเป็นโสด แต่ก็ยังเป็นเพียงความใฝ่ดี ยังไม่เกิดผลดีนั้นจริง เราก็ต้องเอาธรรมที่ตรงกันมาล้างอธรรม เราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเราก็เอาธรรมะนั้นมาล้าง กิเลสจะบอกแต่ประโยชน์ของการมีคู่ เราต้องใช้ปัญญาเอาโทษของการมีคู่นั้นมาหักล้าง ซึ่งในช่วงแรกของผู้ปฏิบัติใหม่นั้น กิเลสมักจะมีแรงมากกว่า เรียกว่าเถียงไม่ทันกิเลส แต่พอเรียนรู้ไป ขยันฝึกไป จะเริ่มรู้ทางกิเลสและเถียงกิเลสเก่งขึ้น อันนี้เรียกว่าปัญญาที่จะมาชำระกิเลส มีทั้งแบบจำมา และรู้จริงในตน แบบที่จำหรือเรียนรู้มาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้ แบบที่รู้จริงในตนก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง ถ้ามันไม่เกิด เอาแต่จำเขามา มันก็จะไม่ไปไหน เพราะยังไม่สามารถสร้างความเจริญขึ้นในตนได้ ยังไม่สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้
ลงสนามสอบเมื่อจำเป็น
สำหรับเรื่องคู่นั้นเป็นเรื่องที่อันตราย พลาดแล้วพลาดเลย แก้ไขยาก เช่น คบหากันไปแล้ว แต่งงานกันไปแล้ว มีบุตรร่วมกันไปแล้ว พอเข้าไปแล้วมันไม่ได้ออกกันง่ายๆ ดังนั้นพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมก็คือหนีห่างไว้เป็นหลัก ปะทะเมื่อจำเป็น นั่นหมายถึงในเรื่องคู่ไม่ต้องขยันไปหาสนามสอบที่ไหน ไม่ต้องไปสมัครเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง เพราะถ้าหลงแล้วมันหลงเลย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีลูกไปแล้วก็ได้
เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้สอบ ฝึกปฏิบัติมาอย่างเต็มที่แล้วกลัวจะไม่เจอโจทย์ (ร้อนวิชา) เพราะหลายชาติที่ผ่านมาของเรา กว่าจะถึงวันที่อยากออกจากนรกคนคู่ ส่วนมากแล้วก็ต้องมีคู่มามากมายจนเห็นทุกข์โทษภัยกันมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงเราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับใครต่อใครไว้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโจทย์ เนื้อคู่(ตัวเวรตัวกรรม) ที่จะเข้ามาพิชิตใจเรานั้น มีอยู่ไม่ใช่น้อยอย่างแน่นอน
แต่เราก็จะไม่ประมาท ถึงแม้ว่าวันสอบยังไม่มาถึง เราก็ซ้อมทำโจทย์กันไปก่อน เห็นคนนั้นคนนี้เขารักกัน เราก็ตรวจใจเราไป ว่าเรายังอยากเป็นอย่างเขาอยู่ไหม เรายังมีจิตยินดีในแบบของเขาอยู่ไหม เรายินดีในการเป็นโสดของเราอยู่ไหม หรือมีอาการน้อยใจ หดหู่ใจ ขุ่นใจ แอบอิจฉาเขาอยู่ลึกๆ เราก็ขยันตรวจใจ หากิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ
โสดอย่างเป็นสุข
การผ่านโจทย์จากโสดรอเสพไปสู่โสดอย่างเป็นสุขนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเพียงแค่ครั้งเดียวผ่าน เราอาจจะต้องลงสนามสอบหลายครั้ง สอบตกกันหลายครั้ง ต้องมาสอบซ่อมกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้จิตใจเราจะหวั่นไหว รู้สึกอยากมีคู่ แต่ถ้าเราอดกลั้นฝืนทนข่มใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลส แล้วกลับมาฝึกใจใส่ปัญญาใหม่ เราก็จะมีโอกาสได้สู้เรื่อยๆ และปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนี้ สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ เพราะชนะจริงๆ นั้นมีครั้งเดียว แต่ในระหว่างที่เราศึกษา เราก็เก็บปัญญาตามทางมาว่าเราแพ้เพราะอะไร พลาดไปโดนเหลี่ยมไหน มันมีรูรั่วตรงไหน เราก็กลับมาอุดรูรั่วนั้นแล้วค่อยไปสู้ใหม่
การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องมีผัสสะเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงจะนั่งนึกคิดเอาเองไม่ได้ว่าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่แล้ว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับสิ่งที่เราเคยชอบใจ แล้วไม่มีอาการสั่นไหวใดในจิตใจเลย มีเพียงการรับรู้ตามจริง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส คือไม่มีความรู้สึกลำเอียงใดๆ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น และไม่มีอคติใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน จึงเป็นสภาพไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด เป็นสภาพไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ใช่ว่ายังเห็นว่าการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสุขอยู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นยังไม่พ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะต้องกระทบ เผชิญหน้า พูดคุย ทำอะไรต่อมิอะไร เขาทำสิ่งดีให้เรา เขาทำเป็นง้องอนเรา เขายั่วเรา เขาบอกรักเรา เขาอ้อนวอนขอให้เราเป็นคู่ เราก็จะไม่มีอาการหวั่นไหว จิตใจไม่เคลื่อนไปจากความเห็นที่ว่าความโสดคือความผาสุกในชีวิตเลย สุดท้ายไม่ว่าจะกระทบสักแค่ไหนในปัจจุบัน ตรวจใจไปถึงเหตุการณ์ในอดีต จินตนาการไปถึงอนาคต ก็ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะทำให้เราหวั่นไหวเผลอตัวห่างจากความโสดได้เลย แล้วก็ตรวจใจซ้ำลงไปให้ละเอียดว่าแม้ธุลีของความลังเลแม้น้อยเดียวก็ไม่มีในจิต ก็จะเข้าถึงสภาวะของความโสดอย่างเป็นสุขได้นั่นเอง
….การอยู่เป็นโสดนั้นถือเป็นโจทย์ปราบเซียนโจทย์หนึ่ง เพราะไม่ง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ แม้ผู้มีศีล ๕ อย่างตั้งมั่นในจิตก็ยากจะต้านทานความอยากมีคู่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท ควรระลึกไว้เสมอว่าก่อนวันสอบจะมาถึง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังจิตและกำลังปัญญา เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากโจทย์นรกคนคู่นี้ให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้สามารถคงสถานะโสดไว้ได้ แม้จิตใจจะยังหวั่นไหวก็ตามที
24.7.2559
โสดก่อนซวย
โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…
ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย”
ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน
๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง
ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้
๑.ชิงโสดก่อนแต่ง
ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก
เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม
มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้
เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ
๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด
คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด
โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง
การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น
แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน
ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น
แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)
ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)
นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย
สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้
การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
21.4.2559