Tag: ความลวง
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า
การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล
การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา
ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย
เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
– – – – – – – – – – – – – – –
17.12.2558
วาทะคนโสด (มีคู่ทุกข์นะ)
วาทะคนโสด (มีคู่ทุกข์นะ)
อยากมีคู่ก็ทุกข์แล้ว
พยายามหาคู่ก็ทุกข์อีก
ถึงจะรอคู่ก็ทุกข์อยู่ดี
ยิ่งถ้าได้มีคู่นี่ทุกข์สุดทุกข์เลย
สุดท้ายก็ต้องทุกข์เพราะจากกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
ทุกข์ นี่เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ง่าย แต่เห็นได้ยากมาก การเห็นทุกข์เป็นสิ่งจำเป็นมาก เป็นข้อแรกของอริยสัจ ๔ เป็นก้าวแรกของการเดินทางไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน
ทุกวันนี้เรามักจะเป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นตัวตนของทุกข์ ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ แม้จะประสบทุกข์อยู่แต่ก็มองทุกข์ไม่เห็น ได้แต่เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าความไม่เห็นทุกขอริยสัจ
อย่างเช่นในเรื่องความรัก การที่เราอยากมีคู่รักนั้นมีทุกข์ปนไปในทุกระยะของความสัมพันธ์ แต่เรามักจะไม่เห็นทุกข์ และมักเห็นทุกข์นั้นเป็นสุขด้วยซ้ำ ทั้งๆที่จริงมันเป็นทุกข์
การที่เรามองไม่เห็นทุกข์ หรือเห็นทุกข์เป็นสุขนั้น เพราะกิเลสลวงเราไว้ บังเราไว้ หลอกเราไว้ว่าทุกข์นั้นคือสุข หลอกว่าถ้าได้เสพสุขต้องยอมทนทุกข์ ทำให้เห็นว่าการมีคู่นั้นสุขมากทุกข์น้อย ทั้งที่ในความจริงตามความเป็นจริงนั้นไม่มีสุขใดๆเลย
กิเลสจะทำให้เราเห็นความลวงเป็นความจริง เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์ หรือมองทุกข์เป็นความสุข ซึ่งการจะออกจากความลวงของกิเลสได้ จะต้องมองเห็นทุกข์เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง และการจะมองเห็นทุกข์ได้นั้นจำเป็นจะต้องมีผู้แจ้งรู้จริงในความเป็นทุกข์นั้นๆ เป็นผู้แนะนำ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ชี้ให้เหล่าสาวกได้เห็นว่าสิ่งใดเป็นทุกข์นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
1.8.2558
คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?
คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?
ความรักในมุมของคู่ครองกับความฝันนั้นก็เป็นเหมือนกับเรื่องเดียวกัน หลายคนเฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะเจอกับคนในฝัน จินตนาการปั้นปรุงแต่งกันไปตามความอยากของแต่ละคน
ในทางโลกนั้นเขาก็ว่า ต้องเหมาะสมกันบ้าง ต้องพอดีกันบ้าง ต้องส่งเสริมกันบ้าง ต้องสร้างกุศลร่วมกันบ้าง ต้องพากันเจริญบ้าง หลายๆเหตุผลที่จะทำให้เราเฝ้าฝันถึงคู่ครองในอุดมคติ
แต่ในทางธรรมนั้นกลับบอกว่าการไม่มีคู่ครองนี่แหละดีที่สุด คนที่ปัญญายังไม่รอบ ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ยังจะพยายามแสวงหาคู่ครอง ที่ว่าดี ที่ว่าเลิศ ตามหาในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ตั้งสเปค ตั้งภพว่าอย่างน้อยๆต้องแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะยอมเป็นคู่ มีกำแพง มีกฎเกณฑ์ มีรูปแบบ หรือเรียกรวมๆว่ายังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่
ถ้าจะให้ตรงๆเน้นๆ เลยก็คือ “การที่ยังคิดว่าคนในฝันยังมีอยู่จริง ก็คือยังโง่อยู่นั่นเอง” เพราะแท้จริงแล้วการที่เราไปแสวงหาคู่ครองในฝันนั้นก็เหมือนไปคว้าสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้มาเป็นตัวตนของเราแม้แรกเจอจะดูดี หน้าตาดี ฐานะดี การงานดี บุคลิกดี นิสัยดี ธรรมะก็มี แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่ล่อให้เราเข้าไปติดกับดักของความหลง และคนที่ถูกใจเรานั่นแหละคือ “ตัวเวรตัวกรรม”
กิเลสของเราจะล่อเราให้ไปติดกับดักที่ตัวเองคาดฝันไว้ มีเหตุผลมากมายที่จะยอมสละโสดหรือพลีกายให้กับคนในฝัน สุดท้ายไม่ว่าจะได้คู่ที่แย่สุดแย่หรือดีปานเทวดามาเกิด มันก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่ดี มันก็วนอยู่ในความหลงอยู่ดี ไม่มีหรอกที่ว่าคนมีปัญญาเต็ม สติเต็ม จะยังหลงอยู่ได้ มีแต่คนด้อยสติปัญญาเท่านั้นที่จะละเมอเพ้อพกไปกับสิ่งที่ไม่จริง
หลายคนมีข้ออ้างมากมายที่ดูเหมือน “ฉลาดฉิบหาย” เพียงเพื่อที่จะได้มีคู่ ข้ออ้างเหล่านั้นเองคือความร้ายกาจของกิเลสที่พาให้คนหลงว่าตนเองมีปัญญา ซึ่งแม้แต่นักปฏิบัติธรรมหรือนักบวชก็ต้องพลาดพลั้งเพราะพลังของกิเลสมานักต่อนักแล้ว
สุดท้ายพวกเขาก็ยอมโง่อย่างยินดีเพื่อแสวงหามาเสพให้สมกิเลส หลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่าคนในฝันยังมี รักที่ดีก็ยังมี หลงมัวเมาอยู่ในความลวง วนเวียนทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนไปเรื่อยๆจนกว่าจะเรียนรู้ได้เองว่า “ความเป็นโสดนี่แหละดีที่สุด”
– – – – – – – – – – – – – – –
25.4.2558