Tag: ความรัก

กินหมาผิดไหม?

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,098 views 0

กินหมาผิดไหม?

กินหมาผิดไหม?

ในช่วงเวลาหนึ่งของปี จะมีประเทศหนึ่งทำการฆ่าสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อนำมากิน การกระทำนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้คนหมู่มาก

ลองพิจารณากันอีกทีในบริบทเดิม หากในประเทศนั้นฆ่าสัตว์เพื่อนำมากินโดยไม่กำหนดช่วงเวลา ฆ่าทุกวัน กินทุกวัน ฆ่าทั้งวัน กินทั้งวัน ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ กินกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจกว่ากัน?

มาเข้าเรื่องกันเลย…เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานระหว่างคนรักสัตว์กับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มักหาข้อสรุปใจกันไม่ลงตัวเสียทีว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี… ถ้ากินหมาไม่ได้แล้วทำไมกินสัตว์ชนิดอื่นได้? เหมือนกับปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไปก็ไม่มีใครชนะ คนที่คิดจะกินเนื้อสัตว์ก็กินอยู่เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ยังขุ่นใจเหมือนเดิม

ความเป็นจริงก็คือคนมีกิเลสเขาก็กินทุกอย่างนั่นแหละ จะเป็นหมา แมว หมู วัว กระต่าย ปลา แม้แต่กินบ้านกินเมือง รวมไปถึงกินปัญญา (ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้) ก็กินกันได้

ไม่แปลกอะไรที่ใครจะกินหมา เพราะเขาติดรสในเนื้อสัตว์นั้น เหมือนกันกับที่คนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกินเนื้อสัตว์อะไรมันก็มีความอยากในการเสพรสเหมือนๆกัน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างในด้านกิเลส แต่จะต่างกันในด้านสัญญา คือประเพณีเพราะมีความเชื่อที่ต่างกันไป

ทำไมคนจึงออกมาต่อต้านการกินหมา?

เพราะหมานั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน จึงเกิดความรักจนกระทั่งหลงได้ง่าย เมื่อหลงก็เกิดความลำเอียง ทั้งลำเอียงเพราะรักและหลงนั่นแหละ ที่ลำเอียงเพราะรักนั้นเกิดจากเราได้เสพความน่ารักผูกพันอะไรกับมันสักอย่าง ในส่วนลำเอียงเพราะหลง เช่น หลงยึดว่าทุกคนต้องรักอย่างตน, หลงไปว่ามีสัตว์เลี้ยงสัตว์กิน, หลงเข้าใจไปว่าเป็นสามัญสำนึกว่าทุกคนต้องไม่กินหมา

พอลำเอียงปุ๊ป มันก็จะทนไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่ตนรักนั้นถูกทำร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่หมาที่ตนเลี้ยงก็ตาม แต่ความลำเอียงเพราะหลงนั้นจะทำให้รู้สึกเดือดร้อน บ้างก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาประณามหยามเหยียดคนที่คิดและเข้าใจไม่เหมือนตนเองหรือกลุ่มของตน

ทั้งที่จริงๆแล้ว สัตว์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปแบ่งว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแบ่งมันด้วยความเห็นผิดของเรา เช่นว่า สัตว์นั้นกินได้ สัตว์นี้กินไม่ได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราเองที่ไปเอามันมาเลี้ยง เราเองที่ไปเอามันมากิน เราตัดสินทุกอย่างเอง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่า ในนามของมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศข้าขอบัญญัติว่า สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเป็นทาสอารมณ์ของเรา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดเลยที่เราควรเบียดเบียน สัตว์มันก็อยู่ของมันดีๆ เราไปยุ่งกับมันเอง

จะดีไหมหากเราจะขยายขอบเขตความรักความเมตตาของเราไปให้กับสัตว์อื่นด้วย ค่อยๆกระจายออกไป เริ่มจากหมาที่เรารัก หมาของคนอื่น แมว วัว หมู ไก่ ปลา พัฒนาสร้างความรักให้เติบโตเรื่อยไปจนรักสัตว์ได้ทุกชนิดเลย มันจะสุขแค่ไหนที่ได้อยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่เรารักอย่างสบายใจ จะดีแค่ไหนหากเรากลายเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ใดเลย

คนรักหมาปะทะคนรักสัตว์

โดยมากแล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี และเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักหมาออกมาปกป้องสิ่งที่ตนรัก และกล่าวติ ข่ม ด่า ดูถูก ฯลฯ คนที่มาทำร้ายความเชื่อที่ตนมี แม้ว่าพวกเขาเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆเลย แต่การเห็นภาพความเชื่อที่ว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นเหมือนครอบครัวถูกทำลายนั้นเป็นภาพที่พวกเขารับไม่ได้

ถึงเขาจะดูเป็นคนดีที่มีเมตตาเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์จากบาป(กิเลส)เสมอไป เหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นได้ก็คือมีคำถามว่า “ทำไมหมากินไม่ได้ แล้วหมูกินได้?” แน่นอนว่าการถามแบบนี้จะกระตุกต่อมคนดีอย่างรุนแรง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับสิ่งดีได้ทุกอย่าง

เมื่อเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ก็มักจะเกิดอาการยึดดี ไม่ยอมชั่ว เมื่อไม่ยอมชั่วก็จะเกิดอาการบ่ายเบี่ยง ผลักภาระไปให้สัตว์ที่น่าสงสารเช่น หมูเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อถูกฆ่าอยู่แล้ว, หมาเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นานาความคิดที่แสดงออกมาเพื่อที่จะนำเสนอให้เห็นว่าการกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ เป็นความชอบธรรมที่ใครๆเขาก็ทำกันไม่ผิดอะไร

ซึ่งแท้จริงแล้วก็เหมือนกับคนที่เขากินหมานั่นแหละ เขาก็มีเหตุผลมากมายมาตอบว่าทำไมถึงกินหมา ซึ่งน่าเชื่อเสียด้วย หลักฐานคือเกิดเป็นเทศกาลกินหมาจริงๆ เพราะคนเขาเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่ก็เบียดเบียนมากเท่านั้น เขาก็กินเนื้อสัตว์มากเท่าที่เขาอยากกินนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมจึงยังกินเนื้อสัตว์ หรือไปดูถูกใครหากเขายังหลงติดหลงยึดในสุขจากการกินเนื้อสัตว์อยู่ เพราะถ้าเขาไม่หลงสุขในการกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ต้องฆ่าหมามากิน เขาก็ไม่ต้องกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ และเขาก็ไม่จำเป็นต้องลำบากคิดหาเหตุผลใดๆมาแสดงความชอบธรรมในการเบียดเบียนด้วย

คนมีกิเลสก็เหมือนคนมีแผลเหวอะหวะ จะจับหรือแค่สะกิดก็มักจะต้องเจ็บปวด ดังเช่นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่แต่ก็มีจิตใจเมตตาไม่เห็นด้วยกับการกินหมา แม้ว่าเขาจะมีจิตเมตตาเช่นนั้น แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เมื่อคนรักสัตว์เพียงแค่ถามหรือหยิบยกประเด็นลำเอียงมาสนทนา เขาก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานความเชื่อในส่วนที่ชั่วของเขานั่นเพราะโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาว่าหรอก ว่าสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่นั้นไม่ดี เบียดเบียน และยังชั่วอยู่

หากเขาไม่ยึดความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นสัตว์ที่ควรกิน วัวก็ควรถูกกิน ไก่ก็ควรถูกกิน ปลาก็ควรถูกกิน สัตว์หลายๆอย่างที่น่าอร่อยก็ควรถูกกิน หากเขาถูกลิดรอนความเชื่อเหล่านี้ เขาจะไม่มีความสุขในการกิน แม้จะได้กินเขาก็จะไม่รู้สึกเหมือนเดิมเพราะความติดดียึดดี ความอยากเป็นคนดีทำให้รู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์อื่นๆนอกจากหมา เขาจึงจำเป็นต้องปกป้องความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไว้ เหตุที่แท้จริงนั้นก็เพราะความหลงสุขในการเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะติดรส ติดว่าคนอื่นเขาก็กินกัน ติดความเชื่อว่ามันมีประโยชน์ บำรุงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อก็ตาม

ดังนั้นคนรักสัตว์ที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรปะทะคารมโดยตรง การกระตุ้นสามัญสำนึกใช่ว่าจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เราควรมีเมตตาในการประมาณฐานของกลุ่มคน เช่น เขายังไม่เก่ง ยังไม่เคยศึกษา เราก็ค่อยๆชวนเขาลดไปก่อน อย่าเพิ่งไปกระตุกต่อมคนดีของเขา เพราะถ้ามากจนไปกระทบอัตตาของเขา เขาก็อาจจะไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน

เมื่อเกิดการผิดใจกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ต้องมาขุ่นใจกับคนที่ไม่ยอมเอาสิ่งที่ดีเหมือนเดิม

ผู้มีปัญญาจะไม่หาข้อแม้ใดๆในการเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ ความเชื่อ หรือสิ่งใดๆรวมทั้งตนเองด้วย เพราะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีผลอะไรนอกจากการสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,598 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,965 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อฉันเสพติดความรัก

May 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,676 views 0

เมื่อฉันเสพติดความรัก

เมื่อฉันเสพติดความรัก

ฉันได้จ่ายสิ่งที่เรียกว่าความรักของฉันให้เธอไปแล้ว

เธอจะต้องอยู่กับฉัน ต้องตามใจฉัน ต้องรู้ใจฉันต้องเข้าใจฉัน

ต้องฟังฉัน ต้องให้อภัยฉัน ต้องเสียสละเพื่อฉัน ต้องไม่ทิ้งฉันไป

…ฯลฯ…

ถ้าเธอไม่ทำ ไม่อยากทำ ไม่ยอมทำ หรือทำไม่ได้อย่างที่ฉันหวัง

ฉันก็จะผิดหวัง เสียใจ ร้องไห้ โวยวาย คลุ้มคลั่ง เหมือนกับคนเสียสติ

=================

คนที่มีคู่รักนั้นก็เหมือนกับคนที่เสพติดความรัก ต้องคอยเสพสุขจากคู่ของตน เป็นทาสคู่ของตน ต้องคอยดูแลเอาใจเพื่อที่จะได้เสพสุขในมุมที่ตนนั้นรู้สึกชอบใจ

เมื่อได้เสพก็เป็นสุข พอเป็นสุขก็ยิ่งจะติดในสุขนั้น อยากเสพมากขึ้นอีก ไม่อยากให้ลดลง ไม่อยากให้ขาดหายไป แต่เมื่อถึงวันที่หมดโอกาสได้เสพสุขนั้น จิตใจก็จะดิ้นทุรนทุราย เหมือนปลาขาดน้ำ อยากได้อยากเสพสิ่งที่เข้าใจว่าความรัก

หากเกิดอาการไม่ได้ดั่งใจแล้ว แม้เรื่องเล็กน้อยก็สามารถทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ถึงแม้จะพยายามควบคุมอารมณ์กดข่มตัวเองไว้ แต่ก็ยังมีการสะสมเชื้อทุกข์ไว้ เก็บกดจดจำความแค้นต่อไปอีก ครั้งที่หนึ่งพอไหว ครั้งที่สองยังกลั้นใจให้อภัย แต่พอครั้งที่สาม ไม่ไหวแล้วเว้ย!! ทำไมถึงไม่ทำอย่างที่ใจฉันหวัง, ทำไมไม่เหมือนเดิม, ทำไมแค่นี้คิดไม่ได้…ฯลฯ ..!!

ก็จะเริ่มเรียกร้องโดยเอาความรักของตนเป็นหลักยึดว่าตนนั้นให้มากกว่า แต่อีกคนไม่สนองเท่าที่ตนให้ไป เข้าใจว่าจ่ายไปแล้วต้องได้รับกลับมา เป็นความรักที่มุ่งแต่จะเอา ยังเป็นรักที่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนอยู่ ยังไม่ใช่รักที่เสียสละ ยังเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง

ถ้าคู่รักมีความสามารถในการบำเรอกิเลส ก็อาจจะสามารถครองคู่กันได้นานจนตายจากกัน แต่ถ้าไม่สามารถสนองกิเลสของคู่ได้ก็จะต้องเจอปัญหา ใครที่แก้ปัญหากำไรขาดทุนของการสนองกิเลสได้ทันก็จะสามารถดำรงสภาพคู่ต่อไปได้ แต่ใครที่แก้ปัญหาไม่ได้ ปล่อยให้คนหนึ่งลงแดงจากอาการเสพติดความรัก สุดท้ายรักนั้นก็จะกลายเป็นยาพิษ เปลี่ยนคนรักให้เป็นศัตรู เปลี่ยนคนคุ้นเคยให้เป็นคนแปลกหน้า เปลี่ยนคนบ้าให้เป็นคนพาล

– – – – – – – – – – – – – – –

22.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)