Tag: การประมาณตน
สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน
ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image
สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน
การทำกิจกรรมการงานใดๆนั้นเราควรทำให้เหมาะสมแก่กำลังของตน การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราควรปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เรามี จึงจะเกิดความเจริญ
ในบทความนี้จะขยายเกี่ยวกับกลยุทธ์ของการใช้สมถะและวิปัสสนาโดยการนำเจโตและปัญญาเข้ามาร่วมอธิบาย
เจโต นั้นคือกำลัง พลัง ความทนทาน การปฏิบัติสมถะจะสามารถทำให้เจโตพัฒนาได้ เช่นผู้ฝึกฝนสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ ก็จะมีภาพลักษณ์โดยทั่วไปที่ดูสงบ ทนต่อสิ่งกระทบหรือสิ่งเร้าได้ดีกว่าตอนที่เขาไม่เคยฝึกสมถะมาก่อน
ปัญญา นั้นคือความรู้ เป็นความรู้ระดับโลกียะ จนถึงระดับโลกุตระ คือรู้แจ้งแทงตลอดในทุกลีลาของกิเลสก็จะเรียกรวมว่าปัญญา เกิดได้จากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการวิปัสสนาที่ถูกตรงจะทำให้เข้าถึงปัญญาโลกุตระได้
เราสามารถแจกแจงสภาพที่เกิดได้กว้างๆ สี่สภาวะดังนี้
๑). เจโตน้อย ปัญญาน้อย
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีเจโตน้อยปัญญาน้อย เมื่อเจอกับต้องกระทบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ก็จะหลุด โกรธ ตบะแตก เรียกว่าพ่ายแพ้ต่อกิเลสไป โดนกิเลสจับไปกินหมด
ดังนั้นกลยุทธ์ในผู้ที่มีเจโตและปัญญาน้อยเมื่อเจอกับผัสสะที่เกินประมาณหรือศีลที่ยากเกินจะรับไหวก็คือหนีก่อน การหนีนี้เองก็เป็นการประมาณตนไม่ให้เกิดสภาพที่ทรมานตัวเองมากเกินไป ซึ่งก็เป็นกุศลอยู่มาก เพราะเป็นการลดอัตตาและลดโอกาสในการสร้างกรรมชั่วอื่นๆอีกมากมาย
บางคนมีกำลังน้อยปัญญาน้อย แต่ก็พยายามอดทนต่อสู้กับสิ่งกระทบโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลุดแสดงความโกรธออกไปแล้ว หรือมีจิตอกุศลไปแล้ว ซึ่งการทนอยู่ในสภาพที่เกินกำลังจะรับไหวนั้นไม่เป็นผลดีกับใครเลย
เมื่อเราเรียนรู้แล้วว่าเรายังมีเจโตและปัญญาที่น้อยไปสำหรับการต่อกรกับเรื่องนั้นๆ ก็ให้หนีจากเรื่องนั้นมาก่อน การจะรู้ตัวจนกระทั่งหนีนี้เองก็ต้องใช้สติและปัญญาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเจโตและปัญญาน้อยจะยอมหนีจากสถานการณ์ตรงหน้า เพราะคนเราเวลายึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะเห็นช้างเป็นมด มันจะสู้หมด อัตตามันใหญ่เกินจะยอมหนีหรือยอมแพ้
๒). เจโตมาก ปัญญาน้อย
ผู้ที่มีเจโตมากย่อมจะรับกับสิ่งกระทบได้ดี เช่นโดนเขานินทาด่าว่าต่อหน้าก็ยังสามารถใช้กำลังของจิต กดข่มความโกรธให้สงบได้ ซึ่งการกดข่มกิเลสได้นี้เอง จะช่วยให้เกิดความสุจริตอย่างน้อยๆก็ทางกาย วาจา ซึ่งจะทำให้ไม่ไปสร้างกายกรรม และวจีกรรมให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
หากผู้ที่มีเจโตมากและสามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ ก็จะค่อยๆพิจารณาทบทวนเหตุการณ์นั้นไป เหมือนกับว่าแบ่งงานมาทำ ไม่ได้ทำทั้งก้อน เพราะหากทำทั้งก้อน แล้วเราปัญญาน้อยมันก็ทำไม่ไหว ตายเปล่าๆ ดังนั้นการกดข่มไว้ส่วนหนึ่ง พิจารณาส่วนหนึ่ง ตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ออกจากน้ำก่อน แล้วจึงค่อยเผา” คือถ้าไฟเราไม่แรงขนาดกองไฟนี่มันเผาไม้เปียกยาก มันต้องทำให้ไม้แห้งเสียก่อน มันก็เผาได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการที่ใช้สมถะกดไว้ก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาก็เป็นสิ่งที่สมควรทำในผู้ที่มีเจโตมากปัญญาน้อย
ปัญหาของผู้ที่มีเจโตมาก มักจะเกิดในลักษณะของกดข่มจนดับไปโดยไม่รู้ตัว กระทำความดับไปด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะชินในความสงบที่เคยได้รับ เมื่อผัสสะเกิดก็มักจะเกิดสภาพกดข่มจนดับไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาหรือเข้าใจความหมายและวิธีปฏิบัติของวิปัสสนาผิด ก็จะไม่ได้ทำวิปัสสนา แม้จะมีเจโตมาก กดข่มกิเลสให้ดับลงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทางของพุทธ เป็นเพียงวิธีทั่วไปที่ปฏิบัติกันก่อนจะมีศาสนาพุทธ นิยมกันมากในหมู่ฤๅษี
๓). เจโตน้อย ปัญญามาก
ผู้ที่มีปัญญามาก แม้จะมีเจโตน้อย ก็สามารถทำลายกิเลสได้ เพราะปัญญานี้เองคือตัวทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงอย่างแท้จริง
เราสามารถใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งกระทบนั้นๆจนเกิดสภาพรู้แจ้งเห็นจริงในทุกลีลาของกิเลสได้ พอมันรู้จริงเห็นจริง ตามความเป็นจริง มันก็จะไม่ยินดีไปเสพสมใจตามกิเลสเหมือนเคย เพราะรู้แล้วว่ากิเลสมันไม่เที่ยง มันคือตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา รู้ไปด้วยว่ามันทำให้เกิดกรรมชั่วแค่ไหนอย่างไรแล้วเราต้องมารับผลกรรมชั่วอีกเท่าไหร่ รู้ไปถึงคุณและโทษ กุศลอกุศลที่เกี่ยวกับกิเลสตัวนั้นๆ
เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามนี้ก็สามารถทำลายกิเลสได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังของเจโตมากดข่มไว้ แน่นอนว่าโดยภาษาแล้วดูจะไม่สมบูรณ์นัก แต่เป็นลักษณะของปัญญาวิมุตติคือการหลุดพ้นด้วยปัญญา เมื่อปัญญาทำให้หลุดพ้นมันก็เลยไม่ต้องใช้กำลังอะไรอีก ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา คือความรู้โลก (โลกียะ+โลกุตระ) อย่างแจ่มแจ้ง
ดังนั้นเมื่อผัสสะหรือศีลใดที่เราต้องเผชิญ หากเราพอจะรู้ตัวว่ามีพลังปัญญามากก็ให้เพ่งเพียรพิจารณาก็จะสามารถหลุดพ้นได้โดยไม่ยากไม่ลำบากนัก ปัญญาที่มากนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จะเกิดจากการบำเพ็ญเพียรศึกษาและสะสมมาหลายชาติ ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองฉลาดรอบรู้แล้วจะมีปัญญามาก ซึ่งจะรู้ได้เองเวลาพิจารณากิเลสว่ามากหรือน้อย
๔). เจโตมาก ปัญญามาก
สภาพของเจโตและปัญญาที่มากนี้เอง จะสามารถรับมือกับทุกๆผัสสะและกิเลสได้ดีที่สุด โดยมากแล้วจะเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมาจนเต็มรอบ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะอยู่ๆจะสามารถรับมือกับผัสสะได้โดยไม่หวั่นไหว และมีปัญญามากพอจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้
การหลุดพ้นด้วยเจโตและปัญญา คือแม้สัมผัสกับสิ่งกระทบอยู่ก็ไม่ได้หวั่นไหวและมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆคือสภาวะของอุภโตภาควิมุตติ เป็นที่สุดของผลแห่งการปฏิบัติแล้ว
*ข้อควรระวัง
การประมาณตนในการใช้กลยุทธ์ต่างๆนั้นมีข้อควรระวังดังนี้
อย่าประมาท
ในเรื่องหนึ่งเราอาจจะเก่ง เราอาจจะสามารถทนต่อสิ่งหนึ่งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทนหรือใช้ปัญญาเข้าใจทุกสิ่งได้ กิเลสนั้นมีสภาพหยาบ กลาง ละเอียด ศีลก็มีระดับของความยาก แม้เราจะสามารถผ่านผัสสะทั่วไปหรือศีลง่ายๆได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศีลอื่นๆจะใช้กลยุทธ์เดิมได้
ซึ่งโดยมากเมื่อเพิ่มศีล หรืออธิศีลมากขึ้นเรื่อยๆ ศีลที่เพิ่มขึ้นมานั้นมักจะอยู่ในระดับที่ยากขึ้น เรามักจะต้องใช้กลยุทธ์หนีอยู่บ่อยครั้ง เพราะกำลังกับปัญญาไม่มากพอ
แต่ด้วยความประมาทและความไม่เข้าใจในระดับที่ต่างของผัสสะและศีล ทำให้เกิดการใช้กลยุทธ์เดิมเช่น ผู้ที่มาทางสายเจโต ก็มักจะเข้าใจว่ากดข่มไว้ก่อนแล้วค่อยพิจารณา ซึ่งอันนั้นมันก็อาจจะทำได้แค่ของง่ายๆ พอมาเจอโจทย์ยากๆที่สมควรหนี แต่เราประมาทหลงว่ามันง่าย เราก็ใช้แผนเดิม สุดท้ายโดนกิเลสกินรวบ
อย่าโลภ
ความโลภอยากบรรลุธรรมไวนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง เหตุจากความประมาทไม่ประมาณตนให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วหวังผลมากกว่าที่ควรจะได้
เช่นจริงๆแล้ว เราควรจะค่อยๆกดข่มแล้วพิจารณาไปทีละน้อย แบ่งงานทำ กำหนดขอบเขตให้เหมาะสมปัญญา พอเราคิดว่าเรากดข่มได้เราจึงเพิ่มขอบเขตการปฏิบัติด้วยความโลภ คิดว่าฉันทำได้ ฉันเอาอยู่ สุดท้ายพอเอาเข้าจริงๆทานกำลังกิเลสไม่ไหว แพ้กิเลสไปในที่สุด การแพ้กิเลสด้วยการประมาณผิดก็จะได้ผลอย่างหนึ่ง แต่การแพ้กิเลสด้วยความโลภจึงประมาณผิดก็ได้ผลอีกอย่างหนึ่ง
อย่าเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบนี้เองเป็นหลุมดักของผู้ที่ไม่รู้ เรามักจะชอบเปรียบเทียบอ้างอิงวิธีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน ทั้งๆที่ความจริงแล้ว “เรามีกรรมเป็นของของตน” นั่นคือทุกคนนั้นต่างกรรมต่างวาระ มีกิเลสที่ยึดต่างกัน มีบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะใช้เผชิญหน้าต่อกิเลสหนึ่งๆก็ย่อมต่างกันไปตามกัน
พอเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วยความไม่มั่นใจแล้วเราก็จะยึดทางของเขามาปฏิบัติว่า เรายังไม่เหมือนครูบาอาจารย์เลยนะ มีคำกล่าวว่า “ให้เอาเยี่ยงอย่าท่าน แต่อย่าเอาอย่างท่าน” คือให้เอาเฉพาะสิ่งที่ดี แต่ไม่ต้องไปทำตามทั้งหมด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเหล่านั้นหลุดพ้นกิเลสด้วยปัญญาที่มาก ทีนี้เราปัญญาน้อย เราก็หลงว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะท่านก็สอนมาแบบนี้ (ก็เพราะท่านผ่านมาในลักษณะนี้) เราก็เลยทำตามท่านทั้งๆที่ปัญญาน้อย เจโตก็น้อย สุดท้ายก็ตายเรียบ ดังเช่นที่มีกรณีในสังคมนักปฏิบัติธรรมบ่อยๆในข้อกล่าวหาที่ว่า สายเจโตก็เอาแต่สมถะ หรือสายวิปัสสนาก็เอาแต่คิด ซึ่งจะสรุปเรื่องนี้กันในข้อต่อไป
การเปรียบเทียบในมุมที่มั่นใจเกินตัวก็เช่นกัน เมื่อเราปฏิบัติได้ดีกว่าผู้อื่นในบางมุมเราก็จะหลงเปรียบเทียบว่าฉันเจโตมากกว่าบ้าง ฉันปัญญามากกว่าบ้าง จะเป็นเหตุให้เกิดอติมานะ คือการดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น ซึ่งเมื่อคนเรามีกรรมต่างกัน ก็ต้องมีการปฏิบัติต่างกันเป็นธรรมดา เขาอาจจะหลุดพ้นด้วยเจโตก็ได้ ปัญญาก็ได้ ตามกรรมของเขา ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย
อย่ายึดมั่นถือมั่น
ความถือดีนั้นทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย แม้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วหรือเพียงแค่เรียนรู้มาอย่างผิวเผินแต่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ตาม หากเกิดความถือดี ถือว่าของตนดีแล้วก็มักจะเกิดความยึดมั่นถือมั่น
การยึดมั่นถือมั่นเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย สรุปรวมๆได้ว่า “โง่” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี”
ความยึดมั่นถือมั่นนี่เองมักจะเป็นนรกของนักปฏิบัติ หรือคนที่ศึกษาธรรมะ เพราะตนปฏิบัติเช่นนั้นก็มักจะยึดแนวทางนั้นเป็นแนวทางหลักและบางทีถึงกับไปหลงมิจฉาทิฏฐิว่าทางนี้เองคือทางพ้นทุกข์ เมื่อมีการแนะนำหรือสั่งสอนผู้อื่นก็จะยึดแต่แนวทางที่ตนเชื่อเป็นหลักโดยที่ไม่เปิดช่องให้ความเห็นต่างใดๆเข้ามาแทรกแซง
ซึ่งโดยสามัญของโลกแล้ว ก็มักจะยึดกันผิดๆ คนมิจฉาทิฏฐิก็มักจะเห็นว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว พอเห็นผิดเป็นถูก มันก็ยึดไปทั้งที่จริงแล้วมันผิด พอยึดแล้วก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ไม่ยอมให้ใครโต้แย้ง ไม่ยอมให้ใครมาพิสูจน์ ไม่ยอมละวางอัตตา ยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นนั้น มันก็เป็นนรกดีๆนี่เอง
ถึงแม้ว่าแนวทางที่ได้ปฏิบัตินั้นจะเคยเกิดผลเจริญกับตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเจริญในคนอื่น หรือไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความเจริญต่อตนเองในการปฏิบัติที่ยากขึ้น เพราะเมื่อปฏิบัติธรรมไปจนเจริญมากขึ้น จะพบว่ากิเลสระดับ หยาบ กลาง ละเอียดนั้น ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จในการปฏิบัติใดๆได้อย่างลงตัว ความแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม
– – – – – – – – – – – – – – –
7.4.2558