Tag: การดูแลความรัก

เรียนรักจากผักเป็ด

April 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,764 views 0

เรียนรักจากผักเป็ด

เรียนรักจากผักเป็ด

เป็นเรื่องราวประยุกต์ระหว่างการดูแลต้นไม้กับการดูแลความรัก เพื่อให้เห็นภาพของความรักที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ผักเป็ด

ผมได้ปลูกผักเป็ดกระถางน้อยๆวางเรียงรายไว้ริมชานตรงที่แดดส่องถึง วันดีคืนดีก็นึกอยากลองใส่ปุ๋ยดูว่าจะเป็นอย่างไร ก็เลยลองใส่ปุ๋ยให้ต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งไม่ใส่

ต่อมาไม่นานต้นที่ใส่ปุ๋ยมีสีเขียวเข้ม สดกว่าต้นไม่ใส่จนเกือบคิดไปว่าต้นไม้คนละชนิด เติบโตงอกงามดีมาก และงอกงามได้อยู่เป็นเดือนแม้จะเป็นการใส่ปุ๋ยแค่ครั้งเดียว

เวลาผ่านไปฤดูก็เปลี่ยน จากฤดูร้อนกลายเป็นฤดูร้อนมาก แดดในแต่ละวันนั้นแรงมากกว่าก่อนมาก วันหนึ่งก็ได้เดินไปดูผักเป็ดที่ปลูกไว้กลับพบว่าต้นที่ใส่ปุ๋ยนั้นได้เหี่ยวแห้งและดูเหมือนว่าจะตาย ส่วนต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยกลับยังอยู่ แม้จะมีสภาพที่ดูแห้งๆแต่ก็ยังยืนต้นตรงและมีความเขียวอยู่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมต้นที่ดูสมบูรณ์เขียวสดกลับตายก่อนต้นที่ไม่ได้รับสารอาหารอะไรเลย?

เรื่องรักและผักเป็ด

ความรักก็มักจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ดูแลเอาใจอย่างดี สถานการณ์ก็ดูราบรื่นดี แต่สุดท้ายกลับพังทลายลงในพริบตา มันเกิดอะไรขึ้น?

เรื่องของผักเป็ดได้สอนให้เราเห็นแล้วว่า ต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลี้ยงดูตามธรรมชาตินั้นสามารถอดทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าต้นที่ให้ปุ๋ย นั่นเพราะเวลาเราให้ปุ๋ยมันเป็นสิ่งที่มักจะเกินธรรมชาติ คือไม่เป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น ดินไม่มีสารอาหาร แต่อยู่ๆก็มี ทำให้ผักเป็ดเติบโตจนเกินความพอดี จนกระทั่งวันหนึ่งการเติบโตที่เกินพอดีนั้นแหละที่ทำให้มันตาย

หากผักเป็ดต้นนั้นไม่ได้รับปุ๋ยมันก็จะไม่ตาย เพราะมันจะไม่โตเกินพอดี มันจะเก็บพลังงานของมันไว้อย่างเหมาะสม เมื่อมันโตเกินพอดี ก็จะมีการคายน้ำที่เกินพอดี เมื่อถึงเวลาอากาศเปลี่ยนแปลงดังเช่นร้อนขึ้น ความสมบูรณ์จึงเป็นภัยแก่ตัวมันเองในทันที

ความรักก็เช่นกัน เมื่อเราดูแลเอาใจจนเกินพอดี คนที่ไม่เคยได้รับการสนองกิเลส พอได้รับการบำรุงบำเรอกิเลสจนกิเลสอ้วน จนกระทั่งติดสุข ติดสบาย ติดคำหวาน ติดการเอาใจ ติดการสนองกิเลสใดๆที่อีกฝ่ายได้ให้ แต่ถ้าได้รับสิ่งที่ถูกใจ บำเรอต่อไปเรื่อยๆก็จะไม่มีปัญหาอะไรให้เห็น

แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เหมือนดังผักเป็ดที่เจอความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในเรื่องความรักก็คงจะเป็นความเสื่อมของการสนองกิเลส เช่น เอาใจน้อยลง ให้เวลาน้อยลง คุยกันน้อยลง ประหยัดมากขึ้น เที่ยวน้อยลง ฯลฯ และเหตุอีกมากมายที่ทำให้สิ่งที่เคยได้เสพน้อยลง

คนที่กิเลสอ้วนก็จะเหมือนกับผักเป็ดต้นที่ใส่ปุ๋ย เมื่อเขาหรือเธอต้องพบกับสภาพของความเสื่อม เมื่อไม่ได้เสพเหมือนเคย ก็มักจะทุกข์ทรมานเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นการระเบิดตัวเองไปในตัว เหมือนกับผักเป็ดที่ได้รับปุ๋ยนั้นตายเพราะมันเจริญมากเกินไป

เมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเริ่มออกอาการ หาเรื่องทะเลาะ เช่น ไม่เหมือนเดิมเลยนะ , เปลี่ยนไปรึเปล่า , มีคนอื่นรึเปล่า รวมถึงอาการหึงหวง โกรธ ไม่พอใจ ประชดประชัน งอน ร้องไห้ หรืออื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอาการเหล่านี้นี่แหละคือการทำลายความรักด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะรักนั้นเสื่อมลงนะ แต่เป็นเพราะคนที่กิเลสอ้วนติดสุขจนยึดมั่นถือมั่นว่าต้องได้เสพอย่างเดิมต่างหากที่ทำลายความรัก

เพราะเมื่อคนเราไม่ได้ของที่ต้องการก็มักจะออกลีลาอาการต่างๆเพื่อที่จะทำให้ได้เสพเหมือนเดิม แต่ยิ่งทำมันก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเรื่องธรรมดาที่ทุกอย่างต้องเสื่อมและถูกพรากจากไป การที่เราไปออกอาการนั้นเพราะเราหวงสุข พอยิ่งหวงก็ยิ่งพยายามเรียกร้อง พอเรียกร้องก็จะยิ่งเร่งการทำลายตัวเองไปในตัว

เรื่องนี้แม้จะดูเหมือนว่าปุ๋ยหรือกิเลสคือศัตรูร้าย แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือสภาพยึดกิเลสมาเป็นตัวเป็นตนของเราต่างหาก เพราะถ้าเราไม่ยึดกิเลส ไม่เสพสุขจากมัน เราก็ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่มีให้เสพ เหมือนกับผักเป็ดที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แม้ว่าจะถูกแดดเผาสักเท่าไรมันก็ยังอยู่ได้

คนก็เช่นกัน ถ้าไม่มีกิเลสสักอย่างมันก็ไม่ต้องไปทุกข์ ให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ต้องสร้างสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็นของชีวิต ไม่ต้องไปเสพสิ่งที่ไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์ จึงอยู่ทนทานแม้ว่าจะไม่ได้เสพอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน

ความรักก็เช่นกัน หากเราปล่อยมันไปตามธรรมชาติ มันก็จะอยู่ของมันได้ ไม่ต้องไปดูแลมันมากเกินพอดี ปล่อยมันเป็นไปตามกรรมของมัน เท่าที่มันจะเป็นกุศลสูงสุด แม้มันจะดูไม่หวือหวาน่าลิ้มลองเหมือนดังรักที่ชุ่มไปด้วยกิเลส แต่รักแห้งๆเช่นนั้นก็จะมีความยั่งยืนยาวนานกว่า เพราะไม่เสริม ไม่เติมกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้แก่กันและกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)