Tag: พระอริยะ

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,368 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,793 views 0

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

มะเขือเทศสอนธรรม : ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

…ข้อคิดจากการปลูกต้นไม้กับการเลี้ยงดูบุตรและดูแลจิตวิญญาณ

บางครั้งเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นก็สามารถสอนให้เราเข้าใจธรรมได้ คนที่คอยเฝ้าสังเกตและจับใจความของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยแยบคายก็อาจจะเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องบังเอิญในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องต้นไม้ของแม่ แม่เป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้และเริ่มจะปลูกผักไม่นานมานี้ แม่สนใจที่จะปลูกพริกหวาน ซึ่งเก็บเมล็ดมาจากลูกที่ซื้อมากิน แต่ผักส่วนมากที่ปลูกนั้นก็ไม่ได้เติบโตจนเห็นผลได้เท่าไรนักด้วยข้อจำกัดของแสงในพื้นที่ จนกระทั่งแม่ได้ลองย้ายต้นกล้ามาปลูกบนชานบ้านที่โดนแสงเต็มวัน ต้นพริกหวานที่แม่ปลูกไว้ค่อยๆโตขึ้นอย่างรวดเร็วผิดกับที่เก่าที่เคยอยู่

จนกระทั่งวันหนึ่งต้นพริกหวานที่เคยมั่นหมายได้ออกดอกออกผล แต่ผลนั้นกลับกลายเป็นมะเขือเทศ??? แม่เองยังเข้าใจว่าตนเองนั้นได้ปลูกพริกหวาน เพราะว่าเพาะเมล็ดกับมือ อีกทั้งไม่มีความสนใจที่จะปลูกมะเขือเทศอีกด้วย

แน่นอนว่าจริงๆแล้วแม่ปลูกมะเขือเทศตั้งแต่แรก แต่ความเข้าใจผิดนั้นเริ่มตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ ผมเองก็ไม่เคยเห็นซองเมล็ดมะเขือเทศที่แม่ซื้อมาสักครั้งเดียว เพราะปกติจะดูเมล็ดพันธุ์ที่แม่ซื้อมาอยู่เหมือนกัน และแม่เองก็ไม่เคยสนใจหรือเก็บเมล็ดมะเขือเทศเช่นกัน ความเป็นไปได้อย่างเดียวคือซื้อเมล็ดพันธุ์ผิดตั้งแต่แรก ….แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังไม่เข้าถึงสาระสำคัญ

1). เลี้ยงไม่โต

การจะได้เห็นผลนั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปลูกแล้วรดน้ำ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลหลักนั่นคือแสงแดด ต้นไม้แต่ละชนิดใช้แสงแดดในการสังเคราะห์ชีวิตไม่เท่ากัน บางต้นแดดน้อยก็งามดี บางต้นแดดมากจึงจะโต ต้นไม้ทุกต้นมีข้อกำหนดในการเติบโตของมันอยู่ มันควรจะได้รับธาตุอาหารเท่าไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เราซึ่งเป็นผู้ปลูกต้นไม้นั้นต้องคอยสังเกตเองว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้น เป็นไปในทิศทางที่เจริญหรือเสื่อมลง

เหมือนกับการเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่ง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเขาต้องการอาหารแบบไหน ที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเขาเจริญไปในทางบวก การเลี้ยงดูแบบไหนจะทำให้เขาเติบโตเป็นคนดี เราต้องเฝ้าสังเกตเป็นนักวิเคราะห์ นักสถิติ ใส่ใจมากพอที่จะเลี้ยงเขาให้เกิดผลดีได้

เราไม่สามารถใช้ตำราอ้างอิงวิธีการปฏิบัติกับเด็กทุกคนได้ คนเราทุกคนมีกรรมต่างกัน เราจึงไม่สามารถใช้ค่ามาตรฐานวัดใครได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนนี้ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานเพราะเขานั้นมีมาตรฐานตามกรรมของเขาเอง เขาจะโตได้ก็ต่อเมื่อเขาได้รับปัจจัยที่เหมาะสมกับกรรมของเขา

หากเราเป็นคนปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้ใส่ใจองค์ประกอบของต้นไม้ต้นนั้น แม้ว่าจะรดน้ำดูแลทุกวัน ใส่ปุ๋ยพรวนดิน แต่หากขาดธาตุที่ต้นไม้นั้นต้องการ แม้ว่าเราจะรักและใส่ใจเพียงใดแต่กลับไม่เรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้นั้น เราก็จะไม่มีวันเห็นมันโตดังที่ใจเราหมาย

2). ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ

ในเรื่องตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่าตอนแรกตั้งใจปลูกพริกหวานแต่กลับโตมาเป็นมะเขือเทศ ในหัวข้อนี้แบ่งออกได้เป็นสองมุม

2.1)ปลูกอย่างได้อีกอย่าง

ความบังเอิญในการปลูกต้นไม้ผิดจากที่คิดไว้นั้นยังพอสามารถหาต้นตอหาสาเหตุได้ แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการสร้างบุตรสักคนนั้นกลับเป็นเรื่องเร้นลับยากจะหาคำตอบ

แน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดต่างหมายมั่นว่าตนนั้นจะเป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม จะสร้างเด็กที่เป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนแข็งแรง เป็นคนฉลาด สารพัดคุณสมบัติที่ดีตามแต่จะฝันไปได้ เปรียบเสมือนกับเราเลือกซองเมล็ดผักมา ก็คิดว่าผักที่ปลูกนั้นจะเป็นดังใจหวัง

เด็กที่มาเกิดนั้น เขาเกิดมาพร้อมความหวังของพ่อแม่ แต่ความหวังนั้นไม่ใช่ความจริง เมื่อวันที่ถึงเวลาอันควร ความจริงก็จะปรากฏให้เห็นว่าสิ่งที่เราคาดหวังนั้นไม่ได้เป็นดังใจหวังเสมอไป เหมือนกับที่ปลูกพริกหวานได้มะเขือเทศ แต่เรื่องของลูกนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า มันผิดพลาดตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้สาเหตุ พ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี แข็งแรงสุขภาพดี แต่ลูกเกิดมากลับพิการ งอแงเอาแต่ใจ โตมานิสัยไม่ดี

เรื่องแบบนี้มีให้เห็นเป็นปกติ เราผิดพลาดกันตั้งแต่ตอนไหน? ก็ตั้งแต่ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเราเลือกซองเมล็ดผักมาปลูกนั่นแหละ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเมล็ดในซองเมื่อเพาะแล้วจะงอกออกมาเป็นต้นรูปร่างลักษณะอย่างไร หรือผิดเพี้ยนไปแบบไหน เหมือนกับเมื่อเราคิดจะมีลูก เราก็ดูดีแล้วนะว่าพ่อก็เป็นคนดี แม่ก็เป็นคนดี เราก็มั่นใจว่าลูกเราจะต้องดีแต่มันไม่ใช่เสมอไป เรื่องโลกมันไม่เที่ยงเพราะเขาก็มีกรรมของเขามาเกิด กรรมของเขาเท่านั้นที่จะกำหนดชีวิตของเขา ไม่ใช่เราที่เป็นคนปลูก คนปลูกหรือพ่อแม่นั้นเป็นเพียงผู้ที่รับผลของกรรมที่ตัวเองปลูกเท่านั้น

แต่ใช่ว่าปลูกอย่างได้อีกอย่างจะไม่ดีเสมอไปเพราะก็มีหลายกรณีที่พ่อแม่ก็ไม่ได้คิดจะมีลูกแต่เด็กก็มาเกิดแล้ว หรือไม่มีเวลาใส่ใจดูแลลูก แต่เด็กเหล่านั้นก็เติบโตเป็นคนดีได้ ทั้งนี้เพราะเมล็ดพันธุ์หรือเด็กเหล่านั้นมีกรรมดีอยู่แล้ว เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่แล้ว ไปตกที่ไหนก็โตได้ แม้จะแห้งแล้งกันดารก็โตได้ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

2.2) กลายพันธุ์จากการเลี้ยงดู

แต่ก็ใช่ว่ากรรมเก่าจะเที่ยงไปทั้งหมด เหมือนกับที่เราซื้อเมล็ดผักมาปลูกบางทีมันก็มีการกลายพันธุ์จากการเลี้ยงดูของเรา เช่น ใส่สารเคมีมากเกินไป ให้แดดน้อยไป ให้น้ำมากไป แม้ว่าผักนั้นจะอยู่ได้แต่มันก็จะอยู่แบบปรับตัวตามปัจจัยเท่าที่มีจนกระทั่งแข็งแกร่งขึ้นวิวัฒนาการกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

การกลายพันธุ์เป็นได้ทั้งในด้านร้ายและดี แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพ แต่หากเราใส่ปุ๋ยบำรุงมากเกินไป ให้ปัจจัยที่ไม่เหมาะสมกับมันจนเกินไปมันก็จะกลายพันธุ์ได้ เหมือนกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เนื้อแท้ของเด็กนั้นดีอยู่แล้ว แต่พ่อแม่กลับคอยสนองกิเลสให้ลูก คอยบำรุงบำเรอให้ลูก ทำผิดก็ไม่ตักเตือน ไปแกล้งคนอื่นก็ยังว่าคนอื่นผิด แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้ลูกเสียคน กลายพันธุ์ไปในทางเสื่อมได้เช่นกัน

ส่วนในทางดีนั้น เช่น แม้เมล็ดพันธุ์นั้นจะด้อยคุณภาพ แต่ถ้าให้การบำรุงที่เหมาะสมก็อาจจะเจริญไปด้านดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เกิดมาในสังคมที่ไม่ดี มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากศีลธรรม แต่ถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยเป็นตัวอย่างในทางที่ดี สอนที่สิ่งที่ดี พาให้เป็นคนดี ประหยัด มีน้ำใจ เสียสละ แบบนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดความเจริญขึ้นได้ เป็นการกลายพันธุ์ที่เป็นไปในทิศทางที่ดี

3).ผลที่แท้จริง

ต้นไม้กับคนก็คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือถ้าให้ปัจจัยที่เหมาะสมก็จะให้ผลที่เหมาะสมเช่นกัน หลังจากที่เราเฝ้าสังเกตและเข้าใจกับต้นไม้ต้นนั้น เมื่อเราตัดความเชื่อที่บอกต่อกันมา ความรู้พื้นฐานบางอย่าง หรือมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กับต้นไม้ต้นนั้น หันมาใช้ความรู้ใหม่ที่ได้จากการสังเกตจริง เป็นของจริง เป็นความเข้าใจที่ทำให้เกิดผลเจริญจริง เราก็จะมีโอกาสได้เห็นผลที่สวยที่สุดของต้นไม้ต้นนั้น

เช่นเดียวกับเด็กคนหนึ่ง การที่เขาจะเติบโตและสร้างสิ่งที่ดีงามหรือประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ส่วนหนึ่งก็จะเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ การเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตามกรรมของเด็กคนนั้น ปล่อยวางอัตตาความยึดมั่นถือมั่น เลิกเปรียบเทียบ เลิกตั้งความหวังเพื่อตนเอง และเลี้ยงดูเอาใจใส่ตามปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดกับเด็กคนนั้น

เด็กคนนั้นจึงจะมีโอกาสที่จะได้แสดงให้เห็นถึงผลจริงๆที่เขามี ไม่ใช่ผลตามมาตรฐานตามที่เป็น ผลที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่จำเป็นต้องสูงกว่ามาตรฐาน แต่จะถูกต้องและดีที่สุดตามกรรมที่ทำได้ เป็นขีดสูงสุด เป็นที่สุดแห่งกุศลที่หนึ่งจิตวิญญาณจะกระทำได้

…ทุกวันนี้เราผ่านมาเท่าไหร่แล้ว 20 , 30 , 40 , 50 ,… ปี เราเคยเห็นผลเจริญของตนเองบ้างหรือยัง? เราอาจจะเห็นผลทางโลก เป็นไปตามโลก ตามมาตรฐานโลก โดยทั่วไปคือมีปัจจัยสี่ มีอาหาร มีที่อยู่ มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค หรือกระทั่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปในทางโลก สิ่งที่พาให้วนอยู่ในโลก

ผลที่แท้จริงไม่ใช่การเกิดมาแค่เรียนรู้ ทำงานหาเงิน ใช้ชีวิต มีครอบครับ แก่ แล้วก็ตายไปหรอกนะ แบบนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า “โมฆะบุรุษ” คือคนที่เกิดมาเสียชาติเกิด เกิดมาใช้ชีวิตสร้างบาป สร้างกรรมชั่วมากกรรมดีนิดหน่อยแล้วก็ตายไปฟรีๆหนึ่งชาติ แล้วก็เกิดมาใหม่วนเวียนไปแบบนี้ สะสมโลกธรรมเสพสุขอยู่ในโลกไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นชีวิตหนึ่งที่เกิดมาจึงไม่มีความสำคัญใดๆเลยหากว่าไม่สามารถทำให้เกิดผลที่แท้จริงได้

ผลที่แท้จริงของหนึ่งดวงจิตวิญญาณนั้นไม่ใช่แค่เพียงความสำเร็จทางโลก ความมั่งคั่ง ความมีชื่อเสียง ความสุขลวงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นผลปลอมๆ เป็นของลวงที่หลอกเราไว้ให้หลงในผลเหล่านี้จนไม่สามารถสร้างผลที่แท้จริงได้

และเมื่อขึ้นชื่อว่าผลที่แท้จริง ก็ย่อมเกิดได้ยากยิ่งเช่นกัน เพราะต้องทวนกระแส ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามโลก ขัดกับโลก สวนทางกับโลกโดยสิ้นเชิง ผู้ที่พากเพียรปฏิบัติอย่างถูกตรงย่อมสามารถสร้างผลที่แท้จริงให้เจริญขึ้นมาได้ ดังเช่นเหล่าพุทธบริษัทในศาสนาพุทธ

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนพ่อและพระอริยะสาวกผู้เป็นเสมือนแม่ คอยพร่ำสอนขัดเกลาเหล่าลูกผู้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดีจนเจริญเติบโตให้ผลที่แท้จริงได้จนส่งต่อผลเจริญเหล่านั้นผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เป็นธรรมะที่สามารถพาเราและท่านเข้าสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนใจปัจจุบันนี้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

11.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กว่าจะถึงธรรมทาน

November 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,365 views 0

กว่าจะถึงธรรมทาน

กว่าจะถึงธรรมทาน

…กว่าจะสร้าง กว่าจะให้ กว่าจะรับ กว่าจะเข้าใจ

            ขึ้นชื่อว่าธรรมทานนั้นก็รู้กันดีว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ มีกุศลมาก เป็นบุญมาก มีอานิสงส์มาก แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าจะสร้างธรรมขึ้นมาในตัวก็ว่ายากแล้ว การจะให้ธรรมนั้นยากยิ่งกว่าและการจะให้ไปจนถึงผลเจริญนั้นยากที่สุด

ก่อนจะให้ธรรมทานนั้นเราต้องมีธรรมนั้นในจิตวิญญาณก่อน เป็นธรรมะแท้ที่เกิดในจิตของเราเป็นของจริงของเรา เมื่อเรามีของจริงแล้วจึงจะสามารถให้ใครก็ได้

แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักจะเรียกว่ายากสุดยากเลยก็ว่าได้ ก่อนที่เราจะให้นั้นเราต้องบุกป่าฝ่าดงออกจากกองกิเลสของเราก่อน ทำลายดงอัตตาที่ผูกพันตัวเราออกเสียก่อนจึงจะสามารถส่งต่อธรรมทานได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่ทำลายกิเลสของเราก่อนมันก็จะเป็นธรรมที่ไม่ผ่องใสเป็นธรรมที่ปนกิเลสเหมือนกับการให้ของสดปนกับของเน่า และการจะให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเราจะมีของดีแค่ไหน ดีที่สุดโลก ดีกว่าที่ใครต่อใครมี ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยินดีรับธรรมนั้น การให้แก่ผู้ที่ไม่ยินดีรับย่อมไม่ใช่การให้แต่เป็นการยัดเยียดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย

ถึงแม้ว่าเขาจะเปิดใจรับธรรมนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นจะทะลุถึงใจเขาทันที เราต้องฝ่าด่านกิเลสที่ผูกมัดเขาและกำแพงอัตตาอันสูงใหญ่ของเขา เหมือนกับว่าเขาเปิดประตูบ้านต้อนรับเราก็จริง แต่ทางเข้าบ้านนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม มีกำแพงปกป้องบ้านอยู่มากมายหลายชั้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้ธรรมนั้นแล้วเข้าไปถึงจิตใจจนมีผลเจริญทันที โดยส่วนมากเรามักจะต้องผ่าดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากและทำให้ผู้ให้และผู้รับหลายคนบาดเจ็บกันมานักต่อนักแล้ว เพราะการที่เขาบอกว่ายินดีฟังธรรมจากเราไม่ได้หมายความว่าเขาจะยินดีทั้งหมด เหมือนกับเราเข้าบ้านเขาไปแล้วไปรื้อดงกิเลสสุดหวงของเขา ไปทำลายกำแพงอัตตาสุดที่รักของเขา เขาก็อาจจะโกรธแล้วก็ไล่เราออกจากบ้านได้เหมือนกัน

การประมาณเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ต้องรู้ว่าเราคือใคร เรากำลังให้อะไร ผู้รับเป็นใคร ผู้รับต้องการอะไร แค่ไหนที่เขาต้องการ เรื่องไหนที่ไม่ควรก้าวล่วง มีหลายครั้งที่เราอาจจะต้องเสี่ยง เมื่อมีการเสี่ยงนั่นหมายถึงผลอาจจะออกมาเป็นได้ทั้งดีและร้าย ธรรมะไม่เคยทำร้ายใคร แต่สิ่งที่ทำร้ายคือกิเลสของเราเอง รวมถึงดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขานั้นคือสิ่งกั้นธรรมะไว้

การที่เราจะให้ธรรมใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นธรรมสั้นหรือยาว ลึกตื้นหนาบาง เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ โลกียะหรือโลกุตระ จำเป็นต้องให้ธรรมหรือแสดงธรรมให้นุ่มนวลที่สุด เหมือนกับนักย่องเบาที่ก้าวผ่านดงกิเลสกำแพงอัตตาเข้าไปทำลายกิเลสโดยที่ผู้ฟังไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนสอนธรรม เหมือนการผ่าตัดด้วยหมอที่มีความแม่นยำด้วยมีดอันคบกริบผ่ากิเลสออกได้โดยไม่สร้างบาดแผลที่ไม่จำเป็น

ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องใช้ต่างกันไปสำหรับต่างคน ต่างจริต ต่างกรรม เช่น บางคนต้องพูดตรงๆแรงๆ บางคนต้องพูดอ้อมๆ บางคนต้องพูดกระทบชิ่ง บางคนพูดไม่ได้ต้องทำให้ดู บางคนพูดไม่ได้เลยทำอะไรก็ไม่ได้ต้องปล่อยวางรอเวลาอย่างเดียวก็มี

การให้นี่ก็ยากแล้วใช่ไหม แต่เราให้ธรรมไปก็เป็นสิ่งดีแล้วถ้าเราให้ไปด้วยใจที่ไม่ยึดติดในผลก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว เพราะการจะให้ธรรมจนเกิดผลเจริญนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้ดูง่ายดายเหมือนในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเพียงไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมกันได้แล้ว

สมัยนั้นผู้ให้ธรรมทานก็เก่งที่สุดในโลกและเหล่าสาวกก็ยังเป็นผู้มีบุญบารมีที่ติดตามกันมาหลายภพหลายชาติ ย่อมจะฟังกันได้ง่าย พูดกันไม่กี่ประโยคก็เข้าใจ ต่างกับยุคเราที่อ่านธรรมพระพุทธเจ้าก็แล้ว ฟังธรรมหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ก็แล้ว ปฏิบัติกันมาก็แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมกันเสียที

เพราะธรรมทานไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เปิดซีดีฟัง เปิดยูทูปฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะ การแสดงธรรมแบบสดๆ การถามตอบในเรื่องธรรมกันแบบสดๆจะมีพลังงานที่ต่างกันออกไป เป็นเรื่องสดใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากบุญของผู้พูดและบุญของผู้ฟัง เกิดเป็นธรรมนั้นๆ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งให้เข้ากับเหตุการณ์ เข้ากับยุคสมัย เข้ากับคน เข้ากับจริต ตรงประเด็นของกิเลส ทำลายอัตตาได้

ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่เรามองไม่เห็นเกี่ยวกับการบรรลุธรรมจากการฟังธรรม คนที่บุญบารมีถึงรอบที่ควรแค่ใบไม้หล่นก็บรรลุธรรมได้ ฟังธรรมไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ ถึงจะไม่ตั้งใจแต่ก็จะมีเหตุดลให้เข้าใจธรรมหรือให้ได้มาฟังธรรมนั่นก็เพราะเขามีบุญบารมีที่ควรจะได้รับธรรมนั้น เพราะเขาทำมาเขาจึงได้รับสิ่งนั้น

ส่วนคนที่บุญน้อยบารมีน้อย สะสมมาน้อย ทำมาน้อย แม้ว่าจะมีครูบาอาจารย์อยู่ตรงหน้า มีพระอริยะคอยสั่งสอน หรือมีพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ได้ฟัง ก็จะไม่เข้าใจธรรม ไม่บรรลุธรรม ฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฟังยิ่งงง เพราะเขาสะสมบุญบารมีมาน้อย ปฏิบัติธรรมมาน้อย ฟังธรรมมาน้อย เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับธรรมนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำมาเขาจึงไม่มีสิทธิ์รับสิ่งนั้น

ดังนั้นการให้ธรรมเป็นทานจนถึงผล จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาผลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาบุญเปิดหรือบาปเปิดอยู่ เราอาจจะต้องลองโยนหินถามทางไปก่อนถามแหย่ไปก่อน สังเกตว่าเขาอยากฟังเราไหม หรือแค่อยากจะบ่นระบายปัญหาในชีวิตเท่านั้นไม่ได้ต้องการคำปรึกษา หรือถ้าหากต้องการคำปรึกษาเราจะพูดเรื่องอะไร เขาสนใจเรื่องอะไร ลองเกริ่นหัวข้อไปก่อนเขาสนใจก็ค่อยพูด เขาไม่สนใจก็ผ่านไปก่อน คนที่วิบากบาปยังส่งผลอยู่ยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า พูดไปก็เปลืองเวลาแถมยังเป็นโทษทั้งสองฝ่ายอีก

ทั้งหมดนี้คือความยากของการเกิดธรรมทาน ตั้งแต่การสร้างธรรมะนั้นในตัว การให้ธรรมะนั้นออกไปกับคนอื่น และการแสดงธรรมให้แจ่มแจ้งจนเกิดผลเจริญทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ยากสุดยาก แต่ผลที่ได้นั้นก็คุ้มสุดคุ้มเพราะสามารถให้ธรรมนั้นไปเจริญในจิตใจของผู้อื่นจนเขาใช้ธรรมนั้นเป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

27.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,940 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์