Tag: ถือศีล

วิธีป้องกันนารีพิฆาต(เท่าที่รู้)

June 26, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,275 views 0

จะว่ากันถึงวิธีการที่จะกันตัวเองร่วงลงไปถึงขั้นลงหลักปักฐานแต่งงานแต่งการ สำหรับชายที่ตั้งใจประพฤติตนเป็นโสด ต้องการแสวงหาทางเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมให้กับตนเอง ก็จะมาแบ่งปันเท่าที่ได้ศึกษามา

สรุปกันง่าย ๆ ก่อนว่า ถ้าจะกันให้ได้ 100 % นั้นก็ต้องล้างกิเลสในหมวดความอยากมีคู่ให้เกลี้ยง ถ้าเกลี้ยงก็จบ แต่มันก็ไม่ง่าย จึงต้องมีลำดับการปฏฺิบัติ

1.จนเข้าไว้

พระพุทธเจ้าตรัสถึงชาดกตอนหนึ่งว่า ” หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น ก็ใช้วาจาอ่อนหวานชักนำบุรุษไปได้ เหมือนชาวกัมโพชลวงม้าด้วยสาหร่ายฉะนั้น เมื่อใด หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง ไม่เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรถือ เอาได้ เมื่อนั้น ย่อมละทิ้งบุรุษนั้นไป เหมือนคนข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วละทิ้งแพไป ฉะนั้น” (กุณาลชาดก)

ความจนจะคัดผู้หญิงขี้โลภที่มุ่งหวังทรัพย์ของเราออกไปก่อน เรียกว่าตัดตัวเวรตัวกรรมออกไปได้เยอะ เขาอาจจะชอบเรา แต่เขาจะไม่ลงเอยกับเรา ความจนจึงเป็นเกราะชั้นต้น ซึ่งผู้ชายโดยมากมักจะทำตัวรวยเพราะสามารถดึงผู้หญิงมักมากเข้ามาหาตนได้เช่นนั้นเอง

จากประสบการณ์ ความจนจะกันได้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายจะมีผู้ท้าชิงที่ไม่สนใจความจนความรวยหลุดมาได้อยู่ดี

2.ถือศีล ๕ ให้เข้ม

ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันอย่างดี คำว่า “เข้ม” ในการถือศีล คือมีการยกระดับของศีลให้ละเอียด เบียดเบียนน้อยลงไปเรื่อย ๆ เช่นข้อ ๑ ไม่ฆ่าแล้วก็ยังเลิกกินเนื้อสัตว์ สนับสนุนให้เลิกฆ่าเลิกกิน ก็จะคัดคนร้าย ๆ ออกไปได้เยอะ ข้อ ๒ ก็อย่าไปขโมยโอกาสของใครมา คือเจอหญิงแล้วอย่าออกอาการ แบบหมากระดิกหาง อย่าไปทำตัวเด่น แย่งความสนใจจากใคร ให้คนอื่นเขาเล่นบทของเขาไป

ข้อ ๓ คือไม่วิสาสะ คือไม่ทำตัวสนิทสนิมกับหญิงที่มีคู่อยู่แล้ว เพราะเขาจะชักนำผู้ท้าชิงหรือปัญหาอื่น ๆ เข้ามา ก็จะลดโอกาสพลาดได้เยอะ หญิงมีคู่นี่เขาจะรู้มาก เขาจะจับจุดอ่อนเราได้ไว เราจะพลาดได้ง่าย ข้อ ๔ คือไม่พูดหยอกล้อ ไม่เกี้ยวพาราสี ไม่จีบเขา เพราะเป็นคำเพ้อเจ้อ ล่อลวง ข้อ ๕ ในระดับหยาบ ๆ ก็ไม่ไปที่อโคจรให้ต้องเจอคนที่จัดจ้านเกินไป

แม้ถือศีลได้แค่ควบคุมกาย ก็จะป้องกันได้มากแล้ว นับประสาอะไรกับศีลถึงใจ แต่เอาจริง ๆ ศีล ๕ ทั่วไปก็กันนารีพิฆาตไม่อยู่หรอก

3.หามิตรดี มีศีล ๘

จะเอาตัวรอดได้ ต้องมีพันธมิตร คือมิตรดี คอยช่วยยกระดับปัญญาและกำลังใจของเรา เพราะฐานคนโสดที่ปฏิบัติได้อย่างผาสุกจริง ๆ จะเป็นฐานศีล ๘ ขึ้นไป ศีล ๕ จะยังรุ่มร้อนจากไฟรักเผาใจอยู่

การคบมิตรดี คือคอยปรึกษา ถามปัญหา เกื้อกูล ช่วยเหลือ ตั้งใจปฏิบัติตาม เพื่อสร้างปัญญา กำลังใจและวิบากดีสะสมไปเรื่อย ๆ

ถ้าจะพอคบได้คือคนที่พยายามปฏฺิบัติตนเป็นโสด จะไม่ทำให้ตกร่วงไปมากกว่าฐานเดิม จะให้ดีคือคบหาคนที่เป็นโสดได้อย่างผาสุกจะทำให้เจริญขึ้น ส่วนคนที่หมกมุ่นในเรื่องคู่ หรือมีทัศนคติไปในทางที่ไม่เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่ต้องไปคบ เพราะจะทำให้เสื่อมลงกว่าเดิม

4.รู้ทันมารยาหญิง

ถ้าเราโดนนารีพิฆาต หรือตกหลุมรักผู้หญิง แสดงว่าเราไม่ทันมารยาของเขา บางทีเขาไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่สวย เราก็ยอมตกหลุมนรกรักแล้ว

รูปสวยคืออาวุธอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่จะใช้ปราบผู้ชาย รูปคือสิ่งที่เห็น สวยคือ ดีงามตรงตามอุปาทานที่เรายึดไว้ เอาง่าย ๆ ก็ที่เขาโชว์รูปสวยกันทุกวันนี้นี่แหละ ไม่ได้มีสาระอะไรเลย นอกจากจะโชว์ “รูป” ของเขา ก็เป็นการหว่านแบบกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจง อันนี้ด่านต้น ๆ มารยาหญิงยังมีอีกมาก

นิสัยดี คืออาวุธอีกอย่าง นิสัยคือสิ่งทีแสดงออก ดี คือดีงามตามอุปาทานที่เรายึดไว้ เขาก็จะแสดงสิ่งที่เขาว่าดีนั่นแหละ เดี๋ยวเราก็ตกหลุมลงไปเอง ไม่โดนคนนั้น ก็โดนคนนี้ โลกนี้มีผู้หญิงมากมาย เดี๋ยวมันจะต้องเจอนิสัยดีตรงใจมาลากลงหลุมไปสักคนนั่นแหละ

เราจำเป็นต้องรู้จักการรุกและรับของผู้หญิง รู้ว่าตอนนี้เขาเข้ามาแล้วนะ รู้ว่าตอนนี้เขากำลังต้อนเราเข้าคอกของเขานะ วิธีป้องกันก็ไม่มีอะไรมาก แค่ไม่เล่นไปตามเกมของเขา เดี๋ยวเขาหมดความมั่นใจ เขาก็ไปยุ่งกับคนอื่นแทนเรา ถ้าเราพลาดเขาก็จะยิ่งรุก รับ ล่อ หนักข้อขึ้น มันจะพันใจ หลุดยากขึ้นไปเรื่อย ๆ

ความอ่อนของผู้หญิงคือธาตุที่อันตราย โดยค่ารวม ๆ ผู้ชายคือความแข็ง ผู้หญิงคือความอ่อน สิ่งที่ผู้หญิงส่วนมากถนัดที่สุดคืออ่อน ออดอ้อน อ่อนแอ ออเซาะ พึ่งพิง ไม่ชัดเจน ไม่หนักแน่น โลเล และยอมแพ้ กระตุ้นต่อมอัตตาของผู้ชายที่เป็นสายแข็ง หลงกลเขา เหมือนไปเจอลูกแมวน่าเอ็นดูแล้วไปเก็บมาเลี้ยง

สุดท้ายจะแพ้เขา ตรงที่เขาทำเป็นแกล้งยอมแพ้นี่แหละ เราก็จะหลงไปว่าเป็นผู้ชนะ ที่ไหนได้ ตกหลุมตามแผนเขาเป๊ะ ๆ

ข้อนี้พักไว้แค่นี้ ถ้าจะขยายจริงมันจะยาวมากกกกกก ย่อไว้เท่านี้แล้วกันครับ

5.รู้ทันตัวเอง

ก็รู้จักกิเลสตัวเองนั่นแหละ ให้ศึกษากิเลสตัวเอง หลงติดหลงยึดอะไร เรื่องไหน ประเด็นไหนที่ทำให้อยากมีคู่ หรือประเด็นอะไรที่ทำให้รู้สึกใจอ่อน พลาดพลั้งได้ หรือเห็นด้วย เห็นดีกับความพลาดท่าเสียทีด้วยลีลาต่าง ๆ

จับได้ก็พิจารณาเหตุของมันให้ชัด ๆ แม่น ๆ เจาะลงไป อยากได้อยากเสพอะไร จับให้ชัดประเด็น เป็นเรื่อง ๆ ทีละเรื่อง แล้วก็ใช้ธรรมที่ศึกษามา ปรับใจให้มันถูก โดยปกติแล้วจิตมันจะไปตามกิเลส ต้องใช้ธรรมะพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์มาเทียบ มันจะเห็นส่วนเกิน นั่นคือกิเลสที่ต้องกำจัด การกำจัดคืออบรมจิตให้เห็นโทษชั่ว ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่มีสาระหรือตัวตนของสิ่งนั้น อุดรูรั่วไปเรื่อย ๆ สักวันปัญญามันจะเต็มของมันเอง ถ้ารู้จักตัวเองหมด จะป้องกันมารยาหญิงทั้งหมดได้

…ถือว่าเรื่องนี้พิมพ์แบบ sketch กันไปก่อน ร่างกันไว้คร่าว ๆ แต่คิดว่าน่าจะพอมีประโยชน์กับหนุ่ม ๆ ทั้งหลายครับ ผู้หญิงก็อ่านแล้วไปปรับใช้กันเอา มีประเด็นไหนสนใจก็ถามเพิ่มได้ครับ

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,712 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลและวินัย

June 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,179 views 0

เมื่อศึกษาไปจะค้นพบว่า ศีลคือสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเว้นขาดจากการเสพ ไปตั้งแต่กาย วาจา จนถึงใจ

แต่วินัยนั้นคือการห้าม การบัญญัติว่าอะไรห้าม อะไรอนุญาต

ดังนั้นการถือศีลจะไม่ใช่การห้ามตัวเองไม่ให้ทำสิ่งนั้นเพียงเพราะเป็นกฏ แต่เป็นการศึกษาให้เห็นโทษภัยของสิ่งนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเว้นขาด จากการทำผิดศีลได้

ยกตัวอย่างวินัยเช่น เราเป็นนักมังสวิรัติ ที่พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวจะผิดศีล นี้คือลักษณะถือเป็นวินัย เป็นกฏ เป็นข้อห้าม

ถ้าเป็นการศึกษาศีลจะเป็น เราเป็นนักมังสวิรัติ เราพยายามที่จะศึกษาว่าเหตุอันใดหนอ ที่ทำให้เราอยากเสพเนื้อสัตว์ เราหลงติดหลงยึดอะไรในสิ่งนั้น แล้วเราจะกำจัดเหตุนั้นอย่างไร ให้เราไม่ต้องกลับไปเสพเนื้อสัตว์นั้นอีก

จะสังเกตุว่า แม้ในข้อปฏิบัติเดียวกัน ยังมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งโดยหลักของวินัยนั้นจะเน้นควบคุม กาย วาจา แต่ศีลนั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบในการชำระกิเลส

ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา

June 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,265 views 0

การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้

เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์

นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา

เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย

เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส

กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง

ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ

จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว