Tag: ความหลง

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

April 20, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,669 views 0

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ผมพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับปัญหาคนคู่ ปัญหาความรักไว้ค่อนข้างเยอะ และได้รับความเห็นเกี่ยวกับความทุกข์ เมื่อออกจากนรกคนคู่ไม่ได้มาหลายครั้ง

เป็นสภาพของ “คนในอยากออก” ซึ่งก็เป็นคนที่พลาดโดนกิเลสหลอกให้ไปมีคู่นั่นแหละนะ ตอนแรกหลายคนก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นสุข อย่างน้อยๆก็สุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นหรอก มันเป็นสภาพกล้ำกลืนฝืนทน ทนอยู่ไปทั้งรักทั้งชัง จะเลิกก็เสียดาย จะรักมันก็ไม่เต็มที่มันวันที่คบกันแรกๆ มันมีความรังเกียจชิงชังอยู่ด้วย

ส่วน “คนนอกอยากเข้า” นี่ก็เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น อยากได้อยากเสพเหมือนคนอื่นเขา เห็นคนอื่นเขาสร้างภาพว่ารักกัน แต่งงานกันแล้วมันจะเป็นสุข ก็คิดว่าไปว่าทั้งหมดของชีวิตคู่ต้องสุขแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ คู่อื่นเขาก็แสดงให้เห็นแค่ตอนสุขนั่นแหละ ตอนเขาทะเลาะกันเป็นทุกข์กัน เขาไม่ค่อยเอาออกมาพูดให้อับอายขายขี้หน้ากันหรอก

น้อยคนนักที่จะยอมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตคู่ที่เจ็บช้ำ เพราะคนเรามักจะอยากมองอยากรับรู้แต่เรื่องที่สวยงาม แล้วกดข่มความทุกข์ไว้ แน่นอนว่ามันจะกดข่มได้แค่ประมาณหนึ่ง จึงมีคนจำนวนหนึ่งออกมาประกาศความจริงว่าชีวิตคู่มันห่วย แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บงำความจริงไว้ ปล่อยให้ชีวิตรักเป็นภาพสวยๆ ที่มีดอกไม้บานเต็มทุ่งท่ามกลางหุบเขาอะไรแบบนั้น

ทีนี้คนนอกที่ศึกษาจนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่ามีแต่ทุกข์หรือโอกาสที่จะเกิดทุกข์นั้นสูงกว่า ก็จะทำให้ละหน่ายคลายความเห็นผิดว่าการครองคู่มีแต่สุขไปได้บ้างตามความรู้จริงนั้นๆ

แต่ก็มีคนนอกจำนวนมากที่อยากเข้ามามีชีวิตคู่เพราะความประมาท เช่นประมาทในผลของกรรม หลงคิดว่าตนเองนั้นเก่ง มีธรรมะ มีปัญญา เป็นคนดี แล้วจะสามารถพาชีวิตคู่ให้เจริญได้ ไม่ทำผิดพลาดเหมือนคู่คนอื่นหรอก แบบนี้คือโดนกิเลสหลอกซ้อนเข้าไปอีก คือหลงในเรื่องคู่ยังไม่พอ ยังหลงว่าตนจะต้องบริหารจัดการชีวิตคู่ให้สุขและเจริญสุดๆได้อีก

มันไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าเป็นคนดี ทำดี แล้วชีวิตคู่จะดี ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้) เราเคยทำกรรมชั่วมาแค่ไหนไม่รู้ แต่มันจะรู้เอาตอนได้รับผลนี่แหละ

ซึ่งผลของมันก็แสดงให้เห็นแล้ว กับคนที่อยู่ในสภาพของคนในอยากออก จริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ประมาทมาก่อน เคยตัดสินใจผิดพลาดมาก่อน หรือด้วยเหตุอะไรก็ตาม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เคยเชื่อว่ารักนั้นจะต้องสวยงาม แต่ในความจริงคือมันไม่สุขสมหวัง หรืออาจจะสุขอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สุขอีกหลายช่วงก็เป็นได้ เอาเป็นว่าถ้าออกได้ก็เป็นสุขกว่านั่นแหละ

การแก้ปัญหาตอนยังโสดนั้นยังง่ายเพราะมีตัวแปรน้อย กิเลสก็น้อย แต่ถ้ามาแก้ปัญหาตอนมีคู่แล้ว ตัวแปรนั้นมาก กิเลสก็มากกว่าด้วย ไหนจะกิเลสตัวเองที่โตขึ้น …คู่ครอง ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติ วุ่นวายไปหมด คนเดียวก็เอาตัวรอดจากกิเลสยากอยู่แล้ว ยังต้องประมาณคนในครอบครัวอีก

ใครว่าการมีคู่คือทางพ้นทุกข์จะลองก็ได้นะ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยแนะนำให้ใครไปมีคู่นะ ท่านไม่ได้บอกว่านั่นคือทางพ้นทุกข์ ซึ่งหากต้องการพิสูจน์สัจจะก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไปลองชิมทุกข์ จนกระทั่งถึงนรกทั้งเป็นสำหรับบางคน แต่ได้เป็นทุกข์แน่นอน..อันนี้รับประกัน

ส่วนความสุขแท้หรอ? ไม่มีหรอก มีแต่สุขลวงๆที่ตนเองปั้นขึ้นมา ซึ่งวันหนึ่งผลของกรรมจะแสดงให้เห็นเองว่าสุดท้ายแล้วก็โดนกิเลสหลอก อีกชาตินึงละ ว้าาา… แย่จัง~(อันนี้ยังดี บางคนโดนหลอกไปหลายชาติเลย จะตายแล้วก็ยังหลงอยู่)

เสียเวลาชีวิตไปตามความหลง หลงน้อยก็พ้นได้ไว หลงมากไปมีลูกมีหลาน คุณเอ๋ย ยาวเลยทีนี้ เวลาจะใช้เพื่อธรรมะไม่มีหรอก เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มีลูกหนึ่งคนเขาว่าจนไป 20 ปี มันก็มัวแต่หาเงินอย่างเดียวนั่นแหละ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาธรรม

ดังนั้นคนในก็ให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสใช้หนี้กรรมไป เผื่อวันนึงทำดีจนเห็นผล เขาจะปล่อยให้พ้นคุกคนคู่นี้ ส่วนคนนอกที่อยากเข้าก็ศึกษาให้มันเห็นจริงก่อน ค่อยๆดูไป อย่าพึ่งรีบไปเข้าคุกนัก เพราะเข้าแล้วมันออกไม่ง่าย คุกที่ชื่อครอบครัวนี่มันเหมือนบ่วง ที่ทั้งแน่น ทั้งเหนียว ทั้งหนัก…

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก

February 10, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,681 views 0

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก

แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก : อย่าเพิ่งบอกว่ารัก ช้าไว้ก่อน ยั้งไว้ก่อน รอไปก่อน ให้โอกาสกันเรียนรู้จักรักให้ดีเสียก่อน

ก่อนที่ความสัมพันธ์จะผูกมัดกันมากขึ้นด้วยสัญญาใดๆ ก็ตาม และก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นคุณค่าที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทิศทางที่จะเปลี่ยนไปนั้นคือนรกหรือสวรรค์ลวงกันแน่ เรามาเรียนรู้จัก “ความรัก” กันให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะสายเกินไป จนยากจะแก้ไข

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักนั้น มันเป็นความรักจริงๆ มันเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่มารยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากเสพ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ปนเปื้อนด้วยขยะคือกิเลส

มีหลายเหตุผลที่ทำให้คน “หลง” ไปว่านั่นคือ “ความรัก” เช่น ความใกล้ชิดกันที่มากเกินไป ความเหงาที่อยากหาใครสักคนเข้ามาคลายเหงา ความใคร่ที่อยากหาใครมาบำเรอ ความอยากมีคุณค่าที่จะหาใครสักคนมาสะท้อนคุณค่าของตน ความขี้เกียจที่อยากจะเกาะใครสักคนไปชั่วชีวิต และอีกหลายสาเหตุจนกระทั่งถึงความหลงที่เข้าใจว่าเราจำเป็นต้องมีคู่ก็ตาม

แล้ววันหนึ่งบังเอิญมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ซึ่งเขาจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ตรงตามสเปค(ตรงตามกิเลส) ของเราพอดิบพอดี เราก็เลยหลงเข้าใจว่าคนนั้นใช่แน่ๆ นี่คือความรักแน่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถมาแทนที่คนคนนี้ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือมากกว่า ถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน

และการปักมั่นว่าต้องเป็นคนนี้ “ต้องคนนี้เท่านั้นที่ฉันจะรักไปจนตาย แม้ความตายก็ยังพรากความรักของฉันไปจากเธอไม่ได้” แบบนี้ก็ไม่ใช่ความรักเช่นกัน แต่เรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” หรืออุปาทาน เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลส ที่หลงติดหลงยึดในการเสพสิ่งนั้นๆ อย่างไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งกิเลสไม่ใช่เรื่องดีที่พาเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้นการปักมั่นก็ไม่ใช่ความรักอีกเช่นกัน

แล้วอย่างไหนจึงจะเรียกว่าความรัก? ใครก็ได้ก็ไม่ใช่ความรัก… ใครก็ไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้นก็ไม่ใช่ความรัก…เรามาเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะไปเรียนรู้ “ความรักที่แท้จริง” กัน

เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็น “ความรัก” ได้ด้วยการ ”รอและให้โอกาส” …ถ้าเป็น ความใคร่อยากเสพ มันจะไม่รอ มันจะเพิ่มความสัมพันธ์ท่าเดียว มันต้องได้เสพมากขึ้น ต้องสุขมากขึ้น ความกระสันอยากให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปมากขึ้นนั่นแหละคือ “ความอยาก (ตัณหา)” แม้จะมีสารพัดข้ออ้างให้ความสัมพันธ์คืบหน้าที่น่าฟังและน่าเชื่อถือปานใดก็ตาม แต่ถ้ารอไม่ได้ ไม่ยอมรอ เอาสารพัดสวรรค์ลวงมาหลอก มันก็รีบไปนรกเท่านั้นแหละ

การให้โอกาสคืออะไร คือให้โอกาสทั้งตัวเราและเขาได้เรียนรู้ผู้อื่น การให้โอกาสเป็นอีกสิ่งที่จะทดสอบ “ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)” ความรักที่แท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” เราไม่ควรมีความทุกข์ใดๆ เพื่อจะมีความรักเลย ถ้าความรักนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก มันคือการเบียดเบียน,ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะไม่ยอมให้โอกาส ไม่ยอมพรากจากสิ่งที่ตนปักมั่น หากสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้นพรากออกไปเอง ก็จะพยายามดึงกลับมา ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกมัดกันอยู่เช่นนั้น แต่การให้โอกาสนี้ควรอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดศีลเท่านั้น

ผ่านเรื่องตัณหาและอุปาทานหรือความอยากและความยึดโดยย่อมาแล้ว ทีนี้เราก็จะมาทำความรู้จักความรักที่แท้จริงกัน…

ความรักที่แท้จริง นั้นคือรักที่ไม่มีความเบียดเบียนใดๆ เลย เป็นรักที่มีแต่การเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่กันและกันโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ขยายเพิ่มกันไปอีกคือรักที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่มักจะเกิดในความรักลวงๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความหลง

เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ “ความรัก” เพื่อแยกแยะ “ความหลง” ออกไปได้แล้ว เมื่อเรามั่นใจ แน่ใจว่าความรู้สึกที่เรามีนั้นคือรักที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราก็ค่อยมอบสิ่งที่มีคุณค่าแท้เหล่านั้นให้คนที่เรารักก็ยังไม่สาย เป็นเพชรเม็ดงามที่เรา พยายามเจียระไนให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุด เหมือนคนที่พยายามขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่เขานั้นรักและห่วงใย

มาถึงตรงนี้ยังมีใครยินดีที่จะรอและให้โอกาสอีกบ้าง… ตัณหาจะไม่รอ อุปาทานจะไม่ยอมพราก และมันจะไม่ยอมสยบต่อธรรมะ ไม่ยอมรับว่ามันคือศัตรูตัวร้าย ไม่ยอมรับว่ามันคือสิ่งสกปรกและความเลวทรามในจิตใจของเราหรอก มันพร้อมที่จะออกมาปฏิวัติเสมอ มันจะเสนอหน้าออกมาโกหกและบิดเบือนความจริงว่ามันต่างหากคือสิ่งดีงาม

ผู้ที่ศรัทธาในความรักที่แท้จริง จะต้องผ่านสงครามเพื่อปราบมารกิเลส เพื่อที่จะนำสันติสุขมาสู่คนที่ตนรัก ไม่ใช่ไปพากองทัพกิเลสมาถล่มคนที่ตนรัก

…มาจนถึงวันนี้ เรารู้จักความรักของเราดีจริงหรือยัง?

– – – – – – – – – – – – – – –

8.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

October 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,515 views 0

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

คนลวงตน สับสน วิกลจริต

หลงความคิด ทุกชีวิต เป็นทาสฉัน

ทั้งกักขัง ทั้งเข่นฆ่า อย่างเมามัน

แล้วเหมาเอา นายทาสนั้น คือฉันเอย

 

แท้ที่จริง คนเป็นทาส วิปริต

ไม่ฉุกคิด ใครเป็นทาส นิ่งทำเฉย

ยังหลงเสพ หลงสุข กันตามเคย

แล้วอ้างเอ่ย มันเป็นทาส ประหลาดจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

ความหลงที่หลอกลวงคนได้ร้ายแรงที่สุดคือ หลงว่าตนนั้นเป็นผู้ประเสริฐ หลงว่าตนนั้นเป็นใหญ่กว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง หลงว่าตนนั้นเป็นเหมือนกับนายทาส ที่สามารถบงการทุกชีวิตให้เป็นไปดั่งใจได้ทั้งหมด

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้เกิดขึ้นมาสนองกามตัณหาของคนผู้หลงผิดโดยตรง หลงผิดในตนยังไม่พอ ยังหลงผิดบิดเบือนธรรมชาติเสียอีก สัตว์ก็อยู่ของมันดีๆ ไปจับมันมา เอามันมาขัง เอามันมาฆ่า ไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายกับชีวิตมัน ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้ยินยอม ไม่ได้ต้องการ อุปโลกน์กันเอาเองว่าฉันนี่แหละนายใหญ่ของโลกเป็นผู้บงการชีวิตของสัตว์ใหญ่น้อย

และหลงกันว่าสัตว์เหล่านั้นต้องเกิดขึ้นมาบำเรอตน “พวกเธอต้องตายเพื่อบำรุงบำเรอฉัน บำเรอร่างกายฉัน บำเรอกามฉัน บำเรออัตตาฉัน เพราะฉันประเสริฐที่สุด สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เธอถูกฆ่าเป็นกรรมของเธอ แต่ฉันกินเธอไม่เกี่ยวกัน เพราะฉันไม่ได้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังและเข่นฆ่านั้น ฉันเชื่อว่าฉันไม่มีกรรมใดๆเกี่ยวข้องเลย

ก็เป็นความหลงผิดของคนที่ไม่ได้ศึกษา ไปตัดตอนเอาแต่เฉพาะที่ตัวเองต้องการ ตอนเสพก็สุขหนักหนา แต่พอบอกว่ามีกรรมชั่วก็จะไม่รับ ทำเป็นไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ตีหน้าซื่อเสพกามอย่างผู้วิเศษ ก็หลงกันไป มอมเมากันไป เบียดเบียนกันไป กรรมมีผลก็เห็นว่าไม่มีผล นี้เป็นความเห็นผิดที่ฝังอยู่ในอัตตาของคน

ถ้าหากเราบอกว่าไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ก็ต้องไม่ไปเกี่ยวเลยทั้งกาย วาจา ใจ คือไม่ต้องไปเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นเข้ามาในชีวิตเลย มันถึงจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆ

บ้างก็อ้างว่าฉันไม่ได้ติด ฉันไม่ได้หลง ฉันกินเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็ไม่คิดจะหัดพรากหัดละเสียบ้าง ยังจมอยู่กับกาม ด้วยเหตุแห่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เลยมีสิ่งเหล่านั้นมาบำเรอตนทุกวันไม่ขาด มีเงินก็ซื้อ มีคนเอามาให้ก็รับ ไม่เคยคิดจะพราก หาสารพัดข้ออ้างในการไม่พรากเช่น เกรงใจเขา, ไม่อยากเรื่องมาก, มันก็แค่อาหาร เอ่ยอ้างสารพัดข้อแก้ตัวที่กิเลสสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างน่าฟัง

พอไม่หัดพราก ก็แยกไม่ออกแล้วอันไหนกาม อันไหนอัตตา อันไหนอุเบกขา สรุปว่าสุดท้ายกามก็ติด อัตตาก็จัด อุเบกขาก็คิดเอาเองว่าตนมี เช่นว่าปล่อยวางทุกอย่างแล้วก็กินเนื้อเหล่านั้นไปทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้ ไม่ก็หลงว่าอย่าไปมีตัวตน ถ้าเลือกกินจะมีตัวตน เป็นข้ออ้างของกิเลสผสมข้อธรรมะ ทำให้น่าเชื่อถือขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

แล้วก็หลงไปว่าฉันนี่แหละไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันนี่แหละหลุดพ้น แต่กับแค่เนื้อสัตว์ยังไม่ยอมพราก กอดไว้ หวงไว้ รักษาไว้ ฉันจะเสพ ฉันจะต้องมีมันในชีวิต ฉันต้องเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งนั้น ฉันเป็นนายมัน มันเป็นทาสของฉัน ก็ผูกพันกันไว้เช่นนั้น

แท้จริงแล้วการที่คนเราต้องกินเขาเพื่อเลี้ยงชีพนี่แหละคือความเป็นทาส ไม่มีเขาเราก็เป็นทุกข์ ไม่มีเขาเราก็ขาดใจตาย นี่คือความเป็นทาส คอยรับความสุขจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเขาฆ่ามา เสพสุขจากกองเลือดและกองกระดูก ให้สัตว์เหล่านั้นเย้ยหยันได้ว่า “โถ…มนุษย์หลงตนว่าเป็นผู้เจริญ แต่กลับต้องคอยเสพสุข ประทังชีวิตจากซากเนื้อที่ไร้วิญญาณของพวกเรา ช่างน่าสงสารยิ่งนัก

ความจริงนั้นปรากฏให้เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าใครกันที่เป็นใหญ่ ใครกันที่เป็นทาส ผู้ที่ถูกกิเลสหลอกให้หลงเสพหลงสุขจนโงหัวไม่ขึ้น ถึงขั้นยึดติดว่าเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ควรเสพ เป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่น่าได้น่ามีนั้นไม่มีทางพ้นจากความเป็นทาสไปได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,316 views 0

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน

ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร

ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร

โอวาทปาติโมกข์

เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย

จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง

และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้

พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน

มหาปเทส

เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่

และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น

ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร

กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที

ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ

๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “

* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง

ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน

ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…

๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ

มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”

* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??

๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”

* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน

….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น

สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น

เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ

ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)