Tag: ความหลง

แมวตัวนั้น

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,546 views 1

แมวตัวนั้น

แมวตัวนั้น

ระหว่างที่ค้นหาภาพประกอบบทความ ก็ไปเจอกับภาพหนึ่งที่เคยถ่ายไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน เป็นภาพแมวเด็กตัวหนึ่งที่กำลังหลบหลังเสาและจ้องมองมาที่กล้อง

ผมเคยเลี้ยงแมวและผูกพันกับแมวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่หลังจากแมวตัวสุดท้ายได้ตายจากบ้านไปเมื่อปลายปี 2555 ก็ไม่ได้นำสัตว์ใดๆเข้ามาในชีวิตอีกเลยซึ่งในใจก็ไม่ได้คิดอยากจะเลี้ยงอีก แม้ว่ามันจะดูน่ารักแต่มันก็เป็นภาระให้เราต้องคอยเป็นห่วงอยู่เสมอ

หลังจากนั้นผมก็ได้พบเจอแมวตามสถานที่ต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจกับมัน ทักทายมันบ้าง ถ่ายรูปมันบ้าง หรือแม้แต่จับมันบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่ได้เป็นโทษเป็นภัยอะไรมากสำหรับความชอบแมวในระดับนี้

จนผมได้พบกับลูกแมวในภาพ มันอยู่ในวัด เล่นอยู่กับแม่และพี่น้องของมัน ด้วยความที่ผมชอบแมว ผมก็เลยเดินเข้าไปถ่ายรูป และคิดจะไปเล่นกับมัน แต่มันก็วิ่งหนี วิ่งไปสักพักก็หันมามอง เราก็เดินตามไป มันก็วิ่งหนีแล้วก็หันมามองอีก เราก็แอบนึกสนุก เลยตามมันไปสักพักใหญ่

สุดท้ายแล้วมันก็มาถึงทางตัน มันวิ่งขึ้นบันไดและพบกับลูกกรง ผมเริ่มรู้สึกว่ามันกำลังกลัว และกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ มันโดนพรากจากพี่น้องและแม่ของมันมา เพราะผมไปเดินตามมัน เราอาจจะไม่ได้คิดอะไรเพราะคุ้นเคยกับแมว แต่แมวเด็กตัวนี้ไม่คุ้นเคยกับเรา ไม่เคยเจอเรา มันก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

มันเริ่มร้องส่งเสียงดัง ผมรู้ชัดเจนว่าควรจะหลีกออกไปได้แล้ว หากยังยืนอยู่มันก็คงไม่ได้ไปหาแม่ของมัน แต่ก็ยังแอบหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพ ภาพของแมวเด็กที่หลบหลังเสา แล้วโผล่หน้ามามองว่าคนแปลกหน้าคนนี้ไปรึยัง นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเดินตามแมวเพราะหมายว่าจะจับมัน ด้วยความหลงและความเคยชิน

หลังจากนั้นผมก็ไม่ค่อยได้ยุ่งกับแมวสักเท่าไหร่ ถ้ามันเดินผ่านก็จะจับมันบ้าง ลูบมันบ้าง แต่ไม่ถึงกับเดินเข้าไปหามันเหมือนเมื่อก่อน ตัวไหนที่เดินเข้ามาใกล้จึงจะไปยุ่งกับมัน

ต่อมาไม่นานนัก ผมได้คลายความหลงในตัวแมวลงเป็นลำดับ ผมเลือกที่จะไม่ยุ่งกับมัน เลือกที่จะมองมันเฉยๆ มองให้มันเดินผ่านมาและเดินผ่านไป แต่ก็ยังมองมันอยู่ ยังเห็นว่ามันน่ารักอยู่ ยังคิดถึงขนนุ่มๆที่เคยจับอยู่ แม้แต่การดูรูปแมวที่เขาโพสลงในอินเตอร์เน็ตทั้งหลายผมก็ยังมองว่ามันน่ารักดีอยู่เหมือนเดิม

จนกระทั่งตอนนี้ผมรู้แน่ชัดแล้วว่าการที่เราไปหลงชอบใจในแมวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเลย ในแง่ที่ร้ายที่สุดก็คือเราจะไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตมัน ไปควบคุมมัน และเอามันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราด้วยความหวังดีที่ไร้เดียงสา ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นการเบียดเบียนมัน เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ รวมถึงการเข้าไปยุ่งวุ่นวายในวิถีแห่งกรรมของมัน

ในแง่ร้ายที่ลึกยิ่งกว่าคือการไปหลงรักหลงชอบใจในสัตว์นั้นเอง คือจิตที่เราจะไปผูกกับสัตว์นั้น ไปหลงเสพหลงสุขจากมัน เอามันเป็นตัวตนของเรา ถ้าได้ดู ได้จับ ได้อุ้ม ฉันจะเป็นสุข ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้นฉันจะเป็นทุกข์ มันทุกข์ตรงที่อยากเสพ พออยากเสพจึงพยายามหาทางให้ได้เสพอย่างที่ต้องการ ทีนี้มันจะหยุดไม่ได้ มันจะต้องทำให้ได้เพื่อที่จะเข้าไปดู ไปจับ ไปอุ้ม ซึ่งความอยากนี้ก็ว่าเป็นทุกข์แล้ว ถ้าไม่ได้สมอยากก็ทุกข์อีก นี่แหละคือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง

ผมคงจะเร่งทำลายความหลงในแมวในเร็ววันนี้ เพื่อที่จะได้ไม่ไปเบียดเบียนมันด้วยท่าทาง ด้วยสัมผัส ด้วยวาจา ด้วยสายตา และไม่เบียดเบียนตนเองด้วยจิตใจที่ปนเปื้อนกิเลสนี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

16.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,353 views 0

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

การลดเนื้อกินผักนั้นสามารถทำได้ด้วยเหตุหลายอย่าง บางคนใช้กำลังใจ บางคนใช้ความเมตตา บางคนใช้เหตุและผล บางคนใช้กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และในที่นี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำลายความหลงกัน

การที่เรายังหลงกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น เป็นภัยเงียบที่มีผลต่อการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหลงติดหลงยึดในกาม คือการเสพสุข โดยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ การหลงติดใจในเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยร้ายที่ยากจะมองเห็น เพราะกิเลสได้บังไว้มิดเสียจนคนแยกไม่ออกว่าอยากกินหรือจำเป็นต้องกิน เวลาที่เราหลงติดหลงยึดกับอะไร เราก็จะไม่อยากที่จะพลัดพรากไปจากสิ่งนั้น หาเหตุผล หาข้ออ้างให้ได้เสพสุขจากสิ่งนั้นตลอดไป มองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่น มองไม่เห็นกิเลส จึงมักจะทำให้โดนกิเลสหลอกว่าไม่มีกิเลส เหมือนกับคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา

ถ้ายังมีความอยากอยู่(ตัณหา) ก็หมายถึงยังมีความยึดมั่น(อุปาทาน) ถ้ามีความยึดมั่นก็ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นหมายถึงถ้ายังมีความอยากอยู่ ก็ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้

คนที่มีกำลังจิตมาก มีกำลังปัญญามาก หากจะทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์โดยทันทีก็สามารถทำได้ แต่การทำลายความอยากของพุทธนั้นไม่ใช่แค่หยุดกิน ไม่ใช่แค่ทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการปฏิบัติไปจนถึงใจ เรียกว่าถึงจะไปแตะเสพเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่เกิดทั้งอาการอยากและไม่อยากอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการลดเนื้อกินผักที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ถึงแม้จะปฏิบัติได้ยากก็มีผลที่คุ้มค่า

ส่วนคนที่มีกำลังจิตน้อย มีกำลังปัญญาน้อย ก็ต้องค่อยๆ แบ่งงานทำ ค่อยๆกำจัดความอยากในขอบเขตที่กำหนด เช่นกำหนดว่าจะทำลายความอยาก ความหลงติดหลงยึดในเนื้อหมู ก็ให้ทำลายในหมวดหมู่ของเนื้อหมูทั้งหมดก่อน เมื่อสำเร็จเกิดผลว่า ไม่เสพเนื้อหมูก็ยังมีความสุขสบายดี ถึงจะเห็นเนื้อหมูในเมนูต่างๆที่เคยชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีความอยาก ไม่น้ำลายสอ ไม่ต้องอดทน ไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะกินเนื้อหมูเข้าไปก็ไม่มีความสุขหรือทุกข์ ก็เรียกได้ว่าสามารถผ่านโจทย์ของเนื้อหมู ไปจัดการตัวอื่นๆ เช่น ความอยากในเนื้อวัว ความอยากในเนื้อไก่ ความอยากในเนื้อปลา เป็นต้น

ซึ่งเราอาจจะเลือกกำจัดความอยากในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่พร้อมกันก็ได้หากว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้การทำลายความอยากไม่ใช่ทำได้เพียงแค่การอดทน แต่เป็นการค้นให้ลึกถึงเหตุของความอยาก ว่าเราไปหลงติดหลงยึดในอะไร เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในอะไร เราเสพสุขอะไรในเนื้อสัตว์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่ารสสุขที่เราหลงเสพอย่างนั้นสร้างทุกข์โทษภัยให้ตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ความอยากนั้นจางคลายไปโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นเกลี้ยงได้ในที่สุด

ซึ่งการทำลายความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น สามารถทำลายด้วยการดับภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยใช้วิธี “ไตรสิกขา” นั่นคือการศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไปเป็นไปความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นที่สุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,309 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

หลงตัวเอง

May 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,403 views 0

คง เป็นเพราะความหลงตัวเอง หลงว่าตนเองดี หลงว่าตนเองเลิศกว่าใครอื่น ดีไม่ดีจะเลยเถิดไปจนสร้างความหยิ่งผยอง คนแบบนั้นไม่คู่ควรกับฉัน คนที่คู่ควรต้องดี?เหมือนฉันหรือมากกว่าฉัน และใครที่ได้ฉันไปครอบครอง คนนั้นโชคดีที่สุดในโลก

…ที่ไหนได้ คนนั้นน่ะ ซวยที่สุดแล้ว