Tag: กิเลส

เรียนรักจากผักเป็ด

April 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,776 views 0

เรียนรักจากผักเป็ด

เรียนรักจากผักเป็ด

เป็นเรื่องราวประยุกต์ระหว่างการดูแลต้นไม้กับการดูแลความรัก เพื่อให้เห็นภาพของความรักที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ผักเป็ด

ผมได้ปลูกผักเป็ดกระถางน้อยๆวางเรียงรายไว้ริมชานตรงที่แดดส่องถึง วันดีคืนดีก็นึกอยากลองใส่ปุ๋ยดูว่าจะเป็นอย่างไร ก็เลยลองใส่ปุ๋ยให้ต้นหนึ่ง อีกต้นหนึ่งไม่ใส่

ต่อมาไม่นานต้นที่ใส่ปุ๋ยมีสีเขียวเข้ม สดกว่าต้นไม่ใส่จนเกือบคิดไปว่าต้นไม้คนละชนิด เติบโตงอกงามดีมาก และงอกงามได้อยู่เป็นเดือนแม้จะเป็นการใส่ปุ๋ยแค่ครั้งเดียว

เวลาผ่านไปฤดูก็เปลี่ยน จากฤดูร้อนกลายเป็นฤดูร้อนมาก แดดในแต่ละวันนั้นแรงมากกว่าก่อนมาก วันหนึ่งก็ได้เดินไปดูผักเป็ดที่ปลูกไว้กลับพบว่าต้นที่ใส่ปุ๋ยนั้นได้เหี่ยวแห้งและดูเหมือนว่าจะตาย ส่วนต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยกลับยังอยู่ แม้จะมีสภาพที่ดูแห้งๆแต่ก็ยังยืนต้นตรงและมีความเขียวอยู่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมต้นที่ดูสมบูรณ์เขียวสดกลับตายก่อนต้นที่ไม่ได้รับสารอาหารอะไรเลย?

เรื่องรักและผักเป็ด

ความรักก็มักจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ดูแลเอาใจอย่างดี สถานการณ์ก็ดูราบรื่นดี แต่สุดท้ายกลับพังทลายลงในพริบตา มันเกิดอะไรขึ้น?

เรื่องของผักเป็ดได้สอนให้เราเห็นแล้วว่า ต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลี้ยงดูตามธรรมชาตินั้นสามารถอดทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าต้นที่ให้ปุ๋ย นั่นเพราะเวลาเราให้ปุ๋ยมันเป็นสิ่งที่มักจะเกินธรรมชาติ คือไม่เป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น ดินไม่มีสารอาหาร แต่อยู่ๆก็มี ทำให้ผักเป็ดเติบโตจนเกินความพอดี จนกระทั่งวันหนึ่งการเติบโตที่เกินพอดีนั้นแหละที่ทำให้มันตาย

หากผักเป็ดต้นนั้นไม่ได้รับปุ๋ยมันก็จะไม่ตาย เพราะมันจะไม่โตเกินพอดี มันจะเก็บพลังงานของมันไว้อย่างเหมาะสม เมื่อมันโตเกินพอดี ก็จะมีการคายน้ำที่เกินพอดี เมื่อถึงเวลาอากาศเปลี่ยนแปลงดังเช่นร้อนขึ้น ความสมบูรณ์จึงเป็นภัยแก่ตัวมันเองในทันที

ความรักก็เช่นกัน เมื่อเราดูแลเอาใจจนเกินพอดี คนที่ไม่เคยได้รับการสนองกิเลส พอได้รับการบำรุงบำเรอกิเลสจนกิเลสอ้วน จนกระทั่งติดสุข ติดสบาย ติดคำหวาน ติดการเอาใจ ติดการสนองกิเลสใดๆที่อีกฝ่ายได้ให้ แต่ถ้าได้รับสิ่งที่ถูกใจ บำเรอต่อไปเรื่อยๆก็จะไม่มีปัญหาอะไรให้เห็น

แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เหมือนดังผักเป็ดที่เจอความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในเรื่องความรักก็คงจะเป็นความเสื่อมของการสนองกิเลส เช่น เอาใจน้อยลง ให้เวลาน้อยลง คุยกันน้อยลง ประหยัดมากขึ้น เที่ยวน้อยลง ฯลฯ และเหตุอีกมากมายที่ทำให้สิ่งที่เคยได้เสพน้อยลง

คนที่กิเลสอ้วนก็จะเหมือนกับผักเป็ดต้นที่ใส่ปุ๋ย เมื่อเขาหรือเธอต้องพบกับสภาพของความเสื่อม เมื่อไม่ได้เสพเหมือนเคย ก็มักจะทุกข์ทรมานเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นการระเบิดตัวเองไปในตัว เหมือนกับผักเป็ดที่ได้รับปุ๋ยนั้นตายเพราะมันเจริญมากเกินไป

เมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเริ่มออกอาการ หาเรื่องทะเลาะ เช่น ไม่เหมือนเดิมเลยนะ , เปลี่ยนไปรึเปล่า , มีคนอื่นรึเปล่า รวมถึงอาการหึงหวง โกรธ ไม่พอใจ ประชดประชัน งอน ร้องไห้ หรืออื่นๆอีกมากมาย ซึ่งอาการเหล่านี้นี่แหละคือการทำลายความรักด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะรักนั้นเสื่อมลงนะ แต่เป็นเพราะคนที่กิเลสอ้วนติดสุขจนยึดมั่นถือมั่นว่าต้องได้เสพอย่างเดิมต่างหากที่ทำลายความรัก

เพราะเมื่อคนเราไม่ได้ของที่ต้องการก็มักจะออกลีลาอาการต่างๆเพื่อที่จะทำให้ได้เสพเหมือนเดิม แต่ยิ่งทำมันก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเรื่องธรรมดาที่ทุกอย่างต้องเสื่อมและถูกพรากจากไป การที่เราไปออกอาการนั้นเพราะเราหวงสุข พอยิ่งหวงก็ยิ่งพยายามเรียกร้อง พอเรียกร้องก็จะยิ่งเร่งการทำลายตัวเองไปในตัว

เรื่องนี้แม้จะดูเหมือนว่าปุ๋ยหรือกิเลสคือศัตรูร้าย แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือสภาพยึดกิเลสมาเป็นตัวเป็นตนของเราต่างหาก เพราะถ้าเราไม่ยึดกิเลส ไม่เสพสุขจากมัน เราก็ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่มีให้เสพ เหมือนกับผักเป็ดที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แม้ว่าจะถูกแดดเผาสักเท่าไรมันก็ยังอยู่ได้

คนก็เช่นกัน ถ้าไม่มีกิเลสสักอย่างมันก็ไม่ต้องไปทุกข์ ให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ต้องสร้างสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็นของชีวิต ไม่ต้องไปเสพสิ่งที่ไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์ จึงอยู่ทนทานแม้ว่าจะไม่ได้เสพอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน

ความรักก็เช่นกัน หากเราปล่อยมันไปตามธรรมชาติ มันก็จะอยู่ของมันได้ ไม่ต้องไปดูแลมันมากเกินพอดี ปล่อยมันเป็นไปตามกรรมของมัน เท่าที่มันจะเป็นกุศลสูงสุด แม้มันจะดูไม่หวือหวาน่าลิ้มลองเหมือนดังรักที่ชุ่มไปด้วยกิเลส แต่รักแห้งๆเช่นนั้นก็จะมีความยั่งยืนยาวนานกว่า เพราะไม่เสริม ไม่เติมกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้แก่กันและกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กระแสกิเลส ในสังคมเมือง

April 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,918 views 2

วันนี้ได้มีโอกาสได้ไปดูห้างใหม่ย่านพร้อมพงษ์…

ผมเห็นผู้คนจำนวนมาก กับแถวที่ต่อยืดยาวหน้าร้านอาหารที่เขาว่ากันว่าดีหลายร้าน

เป็นบรรยากาศที่แปลกตาเพราะปกติไม่ค่อยได้เข้าเมือง แต่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอาจจะชินก็ได้ ชินกับการอยู่กับผู้คนจำนวนมาก ชินกับการไหลไปตามกระแสของความอยากที่ใครก็ไม่รู้ได้ชักจูง

ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องทะเลแห่งกิเลสที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่นลูกใหญ่ซัดมาตลอด

ผู้ที่ไม่สามารถต้านทานได้ก็จะถูกคลื่นแห่งกิเลสซัดให้จมและหลงวนอยู่ในนั้น “น่าอร่อยจัง ,ร้านนี้เขามีรีวิวไว้ว่าอร่อย,คนเขาต่อคิวฉันก็ต่อคิวบ้าง ,ฉันจะต้องกินจะได้ไม่ตก..trend ฯลฯ”

สิ่งเหล่านี้คือความสุขของพวกเขาอย่างนั้นหรือ?
การได้สนองกิเลสคือความสุขอย่างนั้นจริงๆหรือ?
ไม่ใช่ว่าเพราะมีกิเลสจึงต้องลำบากลำบนเพื่อหามาเสพหรือ?
ความสุขจากเสพมันมากจนทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลยหรือ?
การที่ต้องมาคอยเสพเพื่อบรรเทาทุกข์นี้มันดีจริงหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

4.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วันเลิกทาส (1 เมษายน 2448)

April 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,559 views 0

…ผ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ป่านนี้เรายังเป็นทาส(กิเลส) กันอยู่เลย

Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,077 views 0

Run for yourlives (Karma)  ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะดีและร้าย ล้วนสั่งสมลงเป็นกรรม เป็นพลังงานที่ถูกสะสมเอาไว้ เพื่อรอวันที่จะส่งผลให้สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นกลับไปสู่ความว่างเปล่า

คนเราทุกคนเกิดพร้อมกับกรรมที่สะสมมาต่างกัน ทำให้คนเราไม่เหมือนกัน กรรมในอดีตจะสร้างผลกรรมให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน และกรรมในปัจจุบันจะสังเคราะห์กับกรรมในอดีตกลายเป็นผลของกรรมในอนาคตต่อไป

การไล่ล่าของกรรมนั้นไม่ต่างอะไรจากหมาไล่เนื้อ มันจะวิ่งไล่เหยื่อของมันจนกว่าจะไล่งับทัน เมื่อไหร่ที่ผลของกรรมได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นกรรมดีก็จะเกิดเรื่องที่ดีมักจะทำให้เป็นสุข ส่วนกรรมชั่วก็จะทำให้เกิดเรื่องร้ายที่จะทำให้เกิดทุกข์

ในส่วนของกรรมดีที่ทำให้เกิดความสุขความสบายนั้นคงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องลำบากใจกับมันนัก เพราะปัญหาที่ใหญ่กว่านั่นคือกรรมชั่ว ที่จะพาสิ่งเลวร้ายเข้ามาในชีวิต จะมาในรูปแบบเหตุการณ์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็คงจะเดากันได้ยาก ซึ่งผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดให้เสียเวลา เพราะเราไม่รู้หรอกว่ามันจะออกมาแบบไหน

เรารู้เพียงแค่ว่า ทำไปแล้วต้องได้รับแน่ๆ มันมาแน่ๆ มันจะต้องโดนแน่ๆ ทุกวันนี้กรรมชั่วที่เราทำไว้มันกำลังไล่ล่าเราอยู่ มันกำลังเข้าใกล้เราทีละน้อย คนที่ประมาทก็จะใช้ชีวิตอย่างมัวเมา หลงไปกับความสุขจากการเสพ สะสมกิเลส สะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ

เมื่อกรรมเก่ารวมกับกรรมใหม่ก็จะเพิ่มพลังในการส่งผลได้มากขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไป หากทำชั่วแล้วผลกรรมนั้นยังไม่ส่งผลก็ให้รู้เลยว่ามีกรรมดีเก่าที่เข้ามาชะลอไว้ แต่เมื่อไหร่ที่ไม่มีกำแพงกุศลมากั้นกรรมชั่วไว้ วันนั้นแหละคือวันที่จะได้ใช้หนี้กรรม

บางคนถูกพรากศักยภาพในการทำกุศลไป เช่นกลายเป็นคนป่วย คนพิการ กลายเป็นอัมพาต จากที่เคยทำกุศล ทำความดีได้ ก็ทำไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิมเพราะมีข้อจำกัดมากขึ้น ร่างกายที่สมบูรณ์ครบพร้อมและสุขภาพที่ดีนั้นเอื้อต่อการทำกุศลได้สูงที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสียไปทั้งหมด เพราะชีวิตยังอยู่ จึงพอจะศึกษาและเรียนรู้เรื่องกรรมต่อไปได้

แต่บางคนถูกกรรมพรากชีวิตไป หลายคนจากไปก่อนวัยอันควร เกิดมาก็ยังไม่ทันทำดี ไม่สร้างกุศลให้มากกว่าที่ใช้ไป ไม่ศึกษาธรรม ได้แต่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส ตามใครต่อใครตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นคนที่เกิดมาแล้วตายไปฟรีๆ เกิดมาใช้กรรมไปหนึ่งชาติ แต่กรรมที่สร้างใหม่ในชาติที่เกิดก็มีอยู่ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นความชั่ว

แท้จริงแล้วการใช้หนี้กรรมชั่วจะต้องถูกทำให้เกิดสภาพของความทุกข์ ซึ่งเหตุการณ์จะออกมาในแนวทางไหนก็ได้ เขาคนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่อาจจะต้องสูญเสียของรัก คนรัก หรือสิ่งที่สำคัญไปก็เป็นได้

คนที่ทำแต่ความดี แม้ว่าจะละเว้นการทำชั่ว แต่ถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องกรรม เรื่องกิเลสเอาไว้ เวลาต้องปะทะกับกรรมที่ส่งผลจะทำให้เกิดสภาพของทุกข์ที่ซ้ำซ้อนและจมอยู่อย่างนั้นจนกว่ากรรมนั้นๆจะส่งผลหมดจึงจะคลายทุกข์ได้ซึ่งอาจจะนานเป็นเดือนเป็นปีหรือจนกระทั่งตายแล้วกรรมก็ยังส่งผลไม่หมด ต้องเกิดมารับกรรมชั่วต่อไปอีกเหมือนกับคนที่หกล้มโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งท่าเตรียมล้ม ต้องทนกับความเจ็บจนหายปวดแล้วจึงจะลุกได้

แต่คนที่ศึกษาเรื่องกิเลสและกรรมจนเข้าใจแล้วจะต่างกันออกไป เหมือนกับคนที่หกล้มแล้วรู้ว่าทำไมจึงล้ม รู้วิธีล้มให้บาดเจ็บน้อยที่สุด และรู้วิธีว่าจะลุกอย่างไรให้ก้าวต่อไปได้ไวที่สุด เพราะรู้ดีว่าผลของกรรมครั้งต่อไปก็กำลังจะไล่ล่าตามมาติดๆเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงไม่รอที่จะให้กรรมเหล่านั้นมาไล่ล่า แต่จะเลือกที่จะวิ่งหนีกรรม ทำความดีให้ห่างกรรมชั่วออกไป ทำดีให้มากเพื่อให้ความชั่วนั้นตามไม่ทัน ถึงจะทันก็ทำอะไรไม่ได้มาก

เป็นการทำดีหนีการไล่ล่าของกรรมชั่วเพื่อประโยชน์ของชีวิตนี้ เพื่อที่จะได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องกรรมและกิเลสให้ถ่องแท้ไปโดยลำดับโดยไม่ต้องมีเหตุการณ์ที่จะมาพรากชีวิตไปก่อนวันอันสมควร เพราะกว่าจะได้มาเกิดแต่ละครั้งก็ยากแสนยาก เกิดมาก็ใช่ว่าจะได้เจอพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะเจอก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจ ดังนั้นการเกิดมาแต่ละครั้งจึงต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่ใช่เพียงแค่เกิดมาใช้ชีวิตไปตามกิเลสแล้วก็รอวันตายไปตามกรรมเท่านั้น

แต่เป็นชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้ ฝืนกรรม ทำลายกิเลส ไม่ยอมจำนนต่อกิเลสที่มี พยายามจะวิ่งทวนกระแส ซึ่งจะเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถหนีกรรมชั่วที่เคยทำไว้ได้สักพักหนึ่ง และสร้างกรรมดีขึ้นมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่นต่อไปในอนาคต

– – – – – – – – – – – – – – –

29.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)