Tag: การฆ่า

บาปกับธุรกิจฆ่าสัตว์

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,653 views 0

มีคำถามมาว่า ” ที่บ้านค้าขายเกี่ยวกับหมู แต่เราไม่อยากทำแต่ก็ช่วยพ่อแม่แบบนี้จะบาปมั้ยครับมีวิธีคิดยังไงครับ”

ตอบ ถ้าไม่มีจิตยินดีในการฆ่าและกิจกรรมที่ส่งเสริมเหล่านั้นก็ไม่บาปครับ

แต่มันจะมีวิบากกรรมในส่วนของ มิจฉาอาชีวะในข้อ ยอมมอบตนในทางที่ผิด คือยอมเอาชีวิตตัวเองไปรับใช้ในกลุ่มหรือธุรกิจที่เป็นการเบียดเบียนหรือผิดศีลต่าง ๆ

ทีนี้ตัววัดมันจะอยู่ตรงที่ว่า ใจเรายินดีหรือเราโดนบังคับ จำใจ หาทางออกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังก็ไม่บาป มันเป็นสภาพโดนบังคับ เป็นช่วงที่อกุศลวิบากกำลังส่งผล ตามที่เราเคยไปส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ดีมามากในชาติก่อน ๆ แล้วมันสะสมผล พอถึงเวลาที่เราจะออก มันจะออกไม่ง่ายเหมือนใจคิด มันจะตัน มันจะคิดไม่ออก มันจะมองไม่เห็นทาง ได้แต่ก้มหน้าทำรับใช้กรรมไป

วิธีคิดที่แนะนำอย่างแรกคือ ยอมรับกรรม ยอมรับว่าเราก็เคยส่งเสริมมา และเราก็ยังมีส่วนเอื้อให้เกิดกิจกรรมนั้นอยู่ เวลาวิบากกรรมมันส่งผล เราจะหนีหรือจะปลีกตัวออกไม่ได้ ไม่ว่าทั้งดีทั้งร้าย เราก็ต้องรับ ดังนั้นในเมื่อยังไงก็ต้องรับ ก็รับด้วยความเบิกบาน รับด้วยความเข้าใจว่าเราทำชั่วสะสมมามาก การรับกรรมก็เหมือนใช้หนี้ ใช้แล้วก็หมดไป ได้ใช้หนี้ไปแต่ละวันหนี้ก็หมดไปเรื่อย ๆ ก็ทนทำไปด้วย ศึกษาเรื่องกรรมไปด้วย จะเข้าใจมากขึ้น ทำให้เบาใจขึ้นโดยลำดับ

ส่วนที่สองคือการเร่งชำระหนี้ ถ้าเราไม่ได้ทำดีมาก ไม่ได้มีศีลมาก เราก็เหมือนลูกจ้างค่าแรงต่ำ เขาใช้เงินไม่กี่ร้อยก็จ้างได้แล้ว หากว่าเราเป็นหนี้สักร้อยล้าน เขาก็จ้างเราได้ทั้งชีวิต

แต่ถ้าเรามุ่งทำดีมาก ๆ มีศีลมาก ทำใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ ไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูผู้มีพระคุณ ค่าตัวต่อหนึ่งช่วงเวลาของเราจะเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำดีมาก ๆ อาจจะเป็นค่าตัววันละล้าน แค่ร้อยล้าน 3 เดือนก็จ่ายหมด

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการเปรียบเทียบให้เข้าใจเรื่องบารมี คือถ้าเราเป็นคนทั่ว ๆ ไป ค่าตัวก็ถูกเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นคนมีชื่อเสียง ค่าตัวก็แพง ในทางธรรมก็เหมือนกัน แต่ความแพงนั้นไม่ใช่เงิน สิ่งที่ต้องจ่ายคือการบำเพ็ญความดีหรือกุศลวิบาก

เช่น ผู้ที่ถวายอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่มีอานิสงส์มาก ก็ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้มาถวาย มันต้องเป็นนางสุชาดาในมื้อแรก และนายจุนทะในมื้อสุดท้ายเท่านั้น ทั้งสองท่านต้องทำกุศล สร้างบารมีสะสมมามาก ถึงจะได้สิทธิ์นั้น

หรือกรณีพระเทวทัต ก็เกิดจากบาปที่พระพุทธเจ้าเคยไปฆ่าน้องชายต่างแม่มาเมื่ออดีตชาติอันไกลโพ้น แต่ผลวิบากนั้นก็ยังไม่หมด แต่ถึงที่สุดพระเทวทัตก็จะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้สูงสุดตามที่พระพุทธเจ้าต้องรับส่วนของวิบากกรรมในชาตินี้ จะทำร้ายไม่ได้มากเท่าที่ใจคิด เช่น คิดจะกลิ้งหินลงมาทับให้ตาย ผลสุดท้ายทำได้เพียงแค่ให้ท่านห้อเลือด

การจะเข้าถึงคนที่ดีมาก ๆ จำเป็นจะต้องทำความดีมามากด้วย เช่นเดียวกันกับการที่เราจะหนีจากสิ่งไม่ดี เราก็ต้องทำดีมาก ๆ เพื่อที่จะให้คนที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรานั้น มีอัตราส่วนเป็นคนดีมีศีลเป็นส่วนมาก หรือเจอสิ่งดีมากกว่าสิ่งร้าย หรือเจอสิ่งร้ายไม่นานก็กลับมาดี

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

August 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,490 views 3

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง

การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) และการค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่าเป็นทางของพุทธ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของพุทธ นั่นหมายความว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมนอกพุทธ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพุทธ เป็นทางแห่งมิจฉา ทางแห่งบาป ทางแห่งความหลงผิด ไม่เป็นไปเพื่อกุศล ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์

ชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในการขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืน ไม่ควรต้าน แต่ก็ไม่ควรเชื่อในทันที ควรใช้ปัญญาพิจารณาตามสิ่งที่ท่านตรัสว่าเป็นประโยชน์จริงไหม? แล้วสิ่งใดเป็นโทษ? ในเมื่อท่านตรัสหนทางสู่การพ้นทุกข์ เราจึงควรมีความเห็นไปตามท่านหรือขัดแย้งกับท่าน ดังนั้นการที่เราจะไปยินดี ไปสนับสนุนให้คนขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นหมายถึงเรายอมรับในสิ่งที่ไม่สมควรนั้น เช่นเดียวกับการ รับของโจรทั่งที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกปล้นมาขโมยมา

ในปัจจุบันเรารู้ได้โดยทั่วไปว่าชีวิตสัตว์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขาย กลายเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตผู้อื่น ทั้งๆที่จริงแล้วหนึ่งชีวิตตีค่าไม่ได้ เราไม่ควรมีสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตสัตว์ใดเลย ดังนั้นการค้าขายชีวิตสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดูถูกคุณค่าของชีวิต การพยายามสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยเหตุนั้นเพราะความหลงว่าตนเป็นผู้อยู่เหนือกว่า จึงมัวเมาในอำนาจลวงโลกที่ตนเองสร้างขึ้นมา สร้างความถูกต้องในการรังแกสัตว์อื่น ให้สามารถเบียดเบียนสัตว์อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด

ชาวพุทธย่อมรังเกียจการเบียดเบียนและการฆ่าเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่ขายกันในตลาดทุกวันนี้ เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง ถูกจองจำ ถูกบังคับ และถูกฆ่ามา เราจึงไม่ควรยินดีในเนื้อสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นยังเป็นการค้าที่ผิดชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีที่มาอย่างไรก็ไม่ควรซื้อขาย เพราะถึงจะไปเจอเนื้อสัตว์ที่มันตายเอง กินได้โดยไม่ผิดบาป แต่เมื่อนำมาขาย ให้ผู้คนหลงติดหลงยึดในรสชาติ แล้วคนขายเกิดจิตโลภอยากได้เงิน แต่สัตว์นั้นก็ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติทุกวัน จึงทำให้คนโลภเหล่านั้นทิ้งศีลเพื่อถือเงิน เอาเงินเป็นหลัก เอาศีลเป็นรอง ยอมฆ่าแต่ไม่ยอมจน ยอมบาปเพียงเพราะหวังเสพสุขลวงจากความร่ำรวยเติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างในทุกวันนี้

ดังนั้นการที่เราจะไปซื้อสัตว์เป็น ซากสัตว์ตายหรือเนื้อสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเสียเลย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นหลงมัวเมาในบาปนั้น เป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์ และที่แน่ๆ คือสนับสนุนให้ผู้อื่นประพฤติธรรมผิดทาง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเรามีความเห็นผิดด้วยเช่นกัน ผู้เห็นผิดก็ย่อมหลงผิดไปตามๆกันไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมของผู้เห็นผิดซึ่งจะต้องหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดา

การค้าขายเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในตลาด แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ด้วย แม้จะขายเป็นเนื้อสดหรือเนื้อปรุงสุกก็อยู่ในขอบเขตของการค้าขายเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น ดังนั้นร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจึงเป็นการค้าที่ผิด(มิจฉาวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์และเมนูเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ คือไม่มีความเป็นบุญและกุศลใดๆในวิสัยของพุทธ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาสนาพุทธ เป็นเนื้อนอกรีต เมื่อเนื้อนั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะซื้อมา หรือจะรับต่อจากเขามา มันก็เป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่นอกพุทธอยู่ดี

ในบทที่ว่าด้วยความเสื่อมของชาวพุทธ(หานิยสูตร) มีข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ถึง “การแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธคือความเสื่อมของชาวพุทธ” นั่นหมายถึง “คนที่เห็นผิดจะพยายามเอาสิ่งที่อยู่นอกพุทธ มาทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล นั้นเป็นความเสื่อม” เช่นการเอาเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ซึ่งเป็นเนื้อนอกพุทธ ไปทำอาหารใส่บาตรพระ ผิดตั้งแต่คนฆ่า คนขาย คนซื้อ และเอาไปใส่บาตรพระ เป็นการทำบุญได้บาป เพราะเอาสิ่งที่ไม่ควร เอาเนื้อที่เขาฆ่ามา เนื้อที่ควรรังเกียจ ไปให้สาวกของพระพุทธเจ้าฉัน (ชีวกสูตร) แล้วหวังผลบุญกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิด เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เป็นการทำบุญที่ผิดหลักพุทธ เป็นการทำบุญได้บาป ซึ่งเป็นความเสื่อมของชาวพุทธที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง

เพียงแค่ข้อธรรมสองข้อจากวณิชชสูตร คือ การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ก็เพียงพอจะตัดเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันของชาวพุทธออกไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว เราซื้อสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ได้ ฆ่ากินเองก็ไม่ฆ่า ส่วนจะซื้อเนื้อสัตว์ก็ทำไม่ได้อีก ซื้ออาหารที่มุ่งเน้นการขายเนื้อสัตว์ก็ไม่ถูกธรรมอีก เพราะเราไปซื้อ เขาก็ขาย เมื่อมีการค้าขายก็เรียกได้ว่าผิดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็คงยากจะหนีพ้น และมันก็สนับสนุนการกระทำที่ผิดไปจากหลักของพุทธอีก แล้วทีนี้จะหาเนื้อสัตว์มาจากไหน มันไม่มีให้กินหรอก ที่กินกันอยู่ทุกวันนี่มันเนื้อนอกพุทธทั้งนั้น เนื้อบาปทั้งนั้น เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ถึงจะหาเหตุผล หาข้ออ้าง พยายามบิดเบือนพระไตรปิฎก พยายามแปลความ ตีความเข้าข้างตน ให้ได้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันก็จะผิดไปจากธรรมะอยู่ดี

ดังนั้นผู้ที่พยายามกินเนื้อสัตว์ทั้งที่มีข้อธรรมะต่างๆ เป็นแนวสกัดขวางไม่ให้หาเนื้อสัตว์กินได้ง่ายๆ แต่ก็ยังจะกิน ยังหามากิน ยังเถียงเพื่อให้ได้กิน ยังหาเหตุผลมากิน ก็เป็นเพียงความหลงผิดที่ผลักดันให้ทำเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกกล่าวหา ถูกข่มขี่ ถูกประณามว่าเป็นผู้เบียดเบียน ย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะพวกเขายังต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอตน บำเรอสังขารตน หรือบำเรอกิเลสตนอยู่เป็นนิจ

ผู้ที่ปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ ย่อมไม่ยินดีในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ใช่ว่าจะมีคนที่ฆ่าสัตว์นั้นมาแล้ว มีคนที่เอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นปรุงแต่งเป็นอาหารให้เรา แล้วเราจะต้องยินดีรับ เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่านี้คือเนื้อที่เขาฆ่ามา สัตว์ถูกพรากชีวิตมา เราย่อมรังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ดั้งนั้นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ หากจะมีผู้ที่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ

แนะนำบทความเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมที่ ” สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

8.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)