ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า
การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล
การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา
ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย
เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
– – – – – – – – – – – – – – –
17.12.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)