วาทะคนโสด (มีคู่ทุกข์นะ)
วาทะคนโสด (มีคู่ทุกข์นะ)
อยากมีคู่ก็ทุกข์แล้ว
พยายามหาคู่ก็ทุกข์อีก
ถึงจะรอคู่ก็ทุกข์อยู่ดี
ยิ่งถ้าได้มีคู่นี่ทุกข์สุดทุกข์เลย
สุดท้ายก็ต้องทุกข์เพราะจากกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
ทุกข์ นี่เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ง่าย แต่เห็นได้ยากมาก การเห็นทุกข์เป็นสิ่งจำเป็นมาก เป็นข้อแรกของอริยสัจ ๔ เป็นก้าวแรกของการเดินทางไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน
ทุกวันนี้เรามักจะเป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นตัวตนของทุกข์ ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ แม้จะประสบทุกข์อยู่แต่ก็มองทุกข์ไม่เห็น ได้แต่เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าความไม่เห็นทุกขอริยสัจ
อย่างเช่นในเรื่องความรัก การที่เราอยากมีคู่รักนั้นมีทุกข์ปนไปในทุกระยะของความสัมพันธ์ แต่เรามักจะไม่เห็นทุกข์ และมักเห็นทุกข์นั้นเป็นสุขด้วยซ้ำ ทั้งๆที่จริงมันเป็นทุกข์
การที่เรามองไม่เห็นทุกข์ หรือเห็นทุกข์เป็นสุขนั้น เพราะกิเลสลวงเราไว้ บังเราไว้ หลอกเราไว้ว่าทุกข์นั้นคือสุข หลอกว่าถ้าได้เสพสุขต้องยอมทนทุกข์ ทำให้เห็นว่าการมีคู่นั้นสุขมากทุกข์น้อย ทั้งที่ในความจริงตามความเป็นจริงนั้นไม่มีสุขใดๆเลย
กิเลสจะทำให้เราเห็นความลวงเป็นความจริง เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์ หรือมองทุกข์เป็นความสุข ซึ่งการจะออกจากความลวงของกิเลสได้ จะต้องมองเห็นทุกข์เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง และการจะมองเห็นทุกข์ได้นั้นจำเป็นจะต้องมีผู้แจ้งรู้จริงในความเป็นทุกข์นั้นๆ เป็นผู้แนะนำ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ชี้ให้เหล่าสาวกได้เห็นว่าสิ่งใดเป็นทุกข์นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
1.8.2558
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา
เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…
(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)
หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ
แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา
ความดีที่เห็นและที่เป็น
หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย
แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว
ความชั่วที่เห็น
หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา
ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก
ความจริงที่ปรากฏ
การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน
แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก
ความจริงตามความเป็นจริง
หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่
ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558
ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
จากกระทู้หนึ่งในพันทิพ “เมื่อสามีเที่ยวผู้หญิง” (http://pantip.com/topic/33977989)
การเกิดเป็นคนได้นี่มันไม่ยากเท่าไหร่หรอก ก็เกิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่จะเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าสัตว์ประเสริฐได้อย่างไร มันยากตรงนั้น
ศีล ๕ คือคุณสมบัติขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ ถ้าต่ำกว่านั้นก็เรียกได้ว่าทิ้งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ยอมเสื่อมเพื่อให้ได้เสพมากกว่ารักษาศีลธรรม
โดยเฉพาะศีลข้อ ๓ นี่มันวัดความเป็นมนุษย์กันอย่างชัดเจนมาก ว่าเราสามารถทำร้ายใจคนที่เราเคยบอกว่ารัก และเขารักเราได้ไหม เราจะยอมให้ความใคร่อยากกระหายที่จะเสพเมถุนเหล่านั้นมาทำลายคุณธรรมในตัว เราไหม
คุณที่ละทิ้งศีลเพื่อเสพกามทั้งหลายคือคนที่ทำลายคุณค่าในตัวเอง เป็นตราบาปที่จะติดตัวไปแม้ตายก็ยังตามไปหลอกหลอนกันต่อในชาติหน้าและชาติ ต่อๆไป ดังที่ภรรยาเจ้าทุกข์ในกระทู้นี้ได้รับ ก็ต้องเป็นหนึ่งในกรรมที่เธอเคยทำมาตั้งแต่ชาติปางก่อนเช่นกัน
คงไม่ต้องพยากรณ์กันให้ปวดหัวว่าอนาคตของสามีคนนี้จะไปที่ไหน เพราะไม่รู้เหมือนกัน… รู้แค่ไปชั่วแน่นอน ทำกรรมชั่วมันก็ต้องไปชั่ว ให้ได้รับชั่วก็สมเหตุสมผลแล้ว
ความซวยคนของมีวิบากกรรมบังตาก็คือการยังเอาคนชั่วกลับเข้ามาในชีวิต การให้อภัยก็เรื่องหนึ่ง แต่การผิดศีลก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องลองตรวจใจตัวเองว่า เราอยากเสพอะไรขนาดนั้นถึงยอมรับคนกิเลสหนาคนนั้นกลับเข้ามาในชีวิตเพื่อ สร้างโอกาสให้เขาได้ทำร้ายจิตใจเราอีกครั้ง
อย่าไปเดาอนาคตว่าเขาจะแก้ไขตัวเองได้หรือไม่ได้ ถ้าแก้กิเลสไม่เป็น ล้างกิเลสไม่ได้ อย่าไปหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การเอาคนกิเลสหนาเข้ามาในชีิวิตนั้นจะมีแต่ความซวย ดังนั้นหากอนาคตจะต้องเจอกับความผิดหวัง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก
คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน
“คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน”
นอนๆอยู่ก็นึกถึงประโยคหนึ่งที่เคยได้ยิน เป็นประโยคที่ดีมาก เลยไปค้นว่ามาจากไหนก็ได้เจอเพลงนี้ เพิ่งจะเคยฟังเต็มๆ
แม้เพลงนี้จะกล่าวในขอบเขตของสัตว์ป่า แต่ประโยคนี้กลับขยายได้ไปถึงองค์รวมของการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ทำไมเราไม่หากินของเราไป และปล่อยให้สัตว์หากินของมันไป ไม่ต้องไปเบียดเบียนมัน เราจะเบียดเบียนกันและกันไปด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ในเมื่อแท้จริงแล้วชีวิตที่ไม่เบียดเบียนกันก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข
“เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด” เป็นประโยคที่พระพุทธเจ้าผู้ไม่เบียดเบียน กล่าวกับ อหิงสกะ หรือองคุลีมาล จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ตื่นจากความหลงผิด ความมัวเมาในคำลวงของผู้อื่น ที่ล่อหลอกให้ไปฆ่าคนมากมาย
ชื่อ อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ซึ่งแท้จริงแล้วท่านมีบารมีพร้อมจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงแค่แนะนำธรรมะที่มีพลังพอจะกระเทาะเปลือกแห่งโลกีย์ให้ จนเกิดปัญญารู้โทษชั่วของการเบียดเบียน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
แม้ว่าในเมื่อวานเราจะยังหลงสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่อาจจะไม่ใช่วันนี้ก็ได้….
เพียงแค่เราปลดเปลื้องเปลือกที่เคยห่อหุ้มไว้ ละทิ้งความหลงสุขที่พาให้เบียดเบียน ปลุกจิตวิญญาณที่มีเมตตาของตนขึ้นมา จนแผ่ไพศาลไกลออกไปมากกว่าความสุขในตัวเอง แผ่ไปสู่ความสงบสุขในสัตว์ทั้งหลายด้วย