สำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

August 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,710 views 0

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี…

ความจริงข้อหนึ่งที่เป็นอมตะไปตลอดกาลนั่นก็คือ ความเป็นโสดนั้นคือสถานะที่สงบสุขที่สุด แต่ความจริงนี้กลับถูกบดบังไปด้วยความหลงผิด จนทำให้ความจริงเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ถึงกระนั้นความจริงก็ยังเป็นความจริง ความสุขที่สุดก็คือสุขที่สุดและมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

หากจะหาข้อดีที่สุดของความโสดที่ว่าสุขนั้น ก็คงจะต้องยกเรื่องของความไม่มีทุกข์ขึ้นมาว่ากัน เพราะความโสดนั้นไม่ต้องประสบทุกข์ใดๆ จากการมีคู่เลย ผู้ที่ล้างความอยากมีคู่ ล้างความหลงในสุขลวงได้จริงจะเห็นแต่ความทุกข์ในการมีคู่ นั่นหมายถึงการจะพ้นทุกข์เหล่านั้น ก็คือความเป็นโสด นั่นหมายความว่าการไม่ต้องทุกข์จากการมีคู่ก็สุขมากเกินพอแล้ว

แต่ความสุขจากความโสดกลับไม่ใช่สิ่งที่มีในโลกนี้ แต่เป็นเรื่องของโลกหน้า…. โลกนี้คืออะไร? โลกนี้ก็คือโลกที่ยังมีกิเลส ยังหลงสุข หลงติดหลงยึดในรสสุขของการมีคู่ ผู้ที่มีตัณหาและอุปาทานในการมีคู่ จะไม่สามารถหาความสุขของความโสดได้เลย เพราะเขาหลงว่าการมีคู่เป็นสุข เมื่ออยากได้อยากเสพการมีคู่แล้วไม่สมใจอยากก็ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นความโสดจึงเป็นทุกข์สำหรับชาวโลกีย์ เป็นเหมือนคำสาป เป็นเหมือนคุกเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความอยาก

โลกหน้าคืออะไร? โลกหน้าก็คือโลกที่พ้นไปจากกิเลส พ้นจากความอยาก พ้นจากความหลงติดหลงยึดในสุขลวง เกิดดวงตาเห็นธรรมว่าแท้จริงแล้วการมีคู่มีแต่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ดังนั้นความสุขในความโสดจึงมีเฉพาะผู้ที่เข้าถึงโลกหน้า คือโลกุตระ ไม่มีความเห็นเหมือนกับคนทั่วไป แตกต่างจากผู้คนทั่วไป

ถ้ามองในมุมโลกียะ ความสุขกว่าความโสดย่อมมีมากมาย ซึ่งหลายคนสามารถพิจารณาข้อเสียของความโสด ข้อดีของการมีคู่เพื่อเข้าถึงสุขลวงได้อย่างมีความสุขจริงๆ เกิดรสสุขจริงๆ แต่สุขนั้นไม่ใช่ของจริง มันเสื่อมสลายและเลือนหายได้ จึงเป็นความหลงในสุขลวงอย่างแท้จริง

ถ้ามองในมุมโลกุตระ ความสุขกว่าความโสดยอมไม่มี ซึ่งเราไม่สามารถพิจารณาถึงข้อดีของการที่เราจะไปมีคู่ได้เลย นึกไปก็เห็นแต่ข้อเสียมากมาย และเห็นแต่ข้อดีของความเป็นโสด เพราะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีความเต็มในตนเอง ไม่ขาดไม่พร่อง ไม่ต้องเรียกร้องโหยหา

หากเรายังไม่สามารถชำระล้างความอยากในการมีคู่ได้เราก็จะไม่เห็นความสุข ไม่เห็นคุณค่าใดๆในความโสด จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่

หากเราชำระความอยากในการมีคู่ได้ เราก็จะไม่เห็นว่าสุขลวงที่เคยมีเป็นความสุขอีกต่อไป เราจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นทุกข์แท้ๆที่เกิดขึ้นจากความผูกพัน เป็นบ่วงของกันและกัน และจะเป็นโสดด้วยจิตใจที่ยินดีเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วของกิเลสเหล่านั้น

ตามความเห็นทางโลกเขาก็จะสรรหาเหตุผลดีๆมากมายในการมีคู่ หาข้อยกเว้น หาข้ออ้างที่ดูดี เพื่อที่จะให้การมีคู่นั้นดูเป็นที่น่ายอมรับ เป็นที่น่าชื่นชม เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคุณค่า เป็นตัวตน

ตามความเห็นทางธรรม ก็จะไม่พยายามแสวงหาเหตุผลใดๆมาค้านแย้งคุณค่าของความโสด เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสเกี่ยวกับโทษของการมีคู่ไว้มากมาย ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ในธรรมจึงไม่คิดจะต่อต้านความเห็นที่ว่าความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดสู่การพ้นทุกข์

…. จากที่ยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่า มุมมองของคนเรานั้นต่างกัน แต่ความแตกต่างนั้นมีเหตุ นั่นก็คือกิเลสเป็นเหตุของความแตกต่าง ผู้มีกิเลสจะมีความแตกต่างกันไปตามความหลงติดหลงยึดของแต่ละคน แต่ผู้ที่ล้างกิเลสในเรื่องคู่ได้นั้นจะมีความเห็นตรงกัน เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ขัดกัน นั่นเพราะการหลุดพ้นจากกิเลสนั้นมีรสเดียวกัน ใครที่สามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ก็จะรับรู้เหมือนกัน

ดังนั้น คำว่า “สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี” จึงเป็นคำกำกวมที่ตีความได้ตามความเห็น ถ้ายังมีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ความสุขกว่าความโสดมันไม่มีจริงในโลก” แต่ถ้าไม่มีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ในโลกนี้ไม่มีความสุขใดเท่าความโสดแล้ว

แต่ความจริงนั้นความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เราจะควรพิจารณาคุณค่าของความโสดเพื่อเข้าถึงประโยชน์นั้น และควรพิจารณาโทษ ภัย ผลเสียของการมีคู่เพื่อออกจากความหลงเสพหลงสุขนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

30.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,457 views 1

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ

ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)

หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา

ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ

ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ

ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้

การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง

ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด

เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา

ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร

สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร

ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ

ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย

ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น

ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง

การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ

ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)

การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ประยุกต์ธรรม ทำตามมรรค

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,208 views 0

บทความ “อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด” ก่อนหน้านี้สามารถประยุกต์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น…

อยากผอม..แต่กิเลสไม่ยอมให้ผอม
อยากเลิกกินเหล้า..แต่กิเลสไม่ยอมให้เลิก
อยากเลิกกินเนื้อสัตว์..แต่กิเลสไม่ยอมให้เลิก
อยากกินมื้อเดียว..แต่กิเลสไม่ยอมให้กินมื้อเดียว
อยากทำ(สิ่งที่ดี)…แต่กิเลสไม่ยอมให้ทำ(สิ่งที่ดี)…ฯลฯ

ใครที่อ่านแล้วก็ลองเอามาปรับใช้กับสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตตนเองที่กำลังคิดจะละเว้นกันอยู่
…..

ผมเคยเห็นคนที่มีศรัทธามาก ศึกษามาก ตั้งใจมาก อยากพ้นทุกข์มาก แต่เขาก็ยังไม่สามารถลดสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตได้ ไม่สามารถต้านพลังของกิเลสได้ ไม่สามารถทำให้ตนหลุดพ้นจากสิ่งที่หลงติดหลงยึดได้

ผมสังเกตุว่า “มรรค” หรือวิถีปฏิบัติของพวกเขานั้นไปผิดทาง ไม่ได้มีทิศทางไปในทางลดกิเลส ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็นเป้าหมายเดียวของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา (จูฬสีหนาทสูตร)

เมื่อมรรคผิดก็คงไม่ต้องถามถึงผล เพราะผิดแน่นอน ส่วนจะได้ผลอย่างไรนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะทางแห่งมิจฉานั้นมีผลมากมายหลากหลาย แม้ว่าจะได้ผล แต่ก็เป็นผลที่ผิด ทำให้ติดให้ตัน ให้หลงผิด

เรียกว่ากิเลสก็ไม่ลด แถมยังอาจจะเพี้ยนเป็นบ้าไปได้อีก ทุกข์ก็ไม่ลด แถมความห่างไกลทางพ้นทุกข์ก็มากขึ้น ซวยสุดซวย

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,597 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)