คู่มือคนโสด

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

May 18, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,354 views 0

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

เนื้อคู่ หรือที่เข้าใจกันโดยมากว่าเป็นผู้ที่จะเข้ามาเป็นคู่ครอง แม้จะเป็นสิ่งที่ทางโลกต่างแสวงหา แต่ในทางธรรมแล้วการมีคู่ครองกลับเป็นเรื่องที่ควรห่างไกล ไม่ควรแสวงหา ไม่ควรหลงไปเสพ

แม้ธรรมะนั้นก็มีหลายระดับ ในระดับที่ยังไม่พ้นไปจากความหลงติดหลงยึดก็จะพิจารณาหาแต่ประโยชน์ของการมีคู่ พยายามหาช่องทางในการมีคู่ให้ได้โดยไม่ผิดบาป หรือแม้กระทั่งการชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นว่าการมีคู่เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็ใช่สำหรับคนที่ยังไม่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ เพราะยังยินดีในเรื่องคู่ครอง ยังอยากเสพสุขอยู่ในสภาพนั้น ๆ ไม่ยอมพราก ไม่ยอมจากไปไหน แม้ปากจะพร่ำบอกว่าเป้าหมายของชีวิตคือหลุดพ้น คือนิพพาน แต่กลับยินดีที่จะมีคู่ครองซึ่งเป็นบ่วงถ่วงธรรม ผู้ที่แสดงธรรมใด ๆ หรือชี้ชวนให้คนไปยินดีในการครองคู่ ผู้นั่นย่อมไม่ใช่ผู้ที่จะพาคนไปพ้นทุกข์ได้เลย และในบทความนี้เราจะมาขยายวิธีที่โลกไม่คิดจะสอน นั่นคือวิธีป้องกันเนื้อคู่

เกริ่นก่อน

เนื้อคู่ในที่นี้ หมายถึงผู้ที่สามารถเข้ามาทำให้จิตใจนั้นหวั่นไหวได้ง่าย ซึ่งอาจจะไปในทางชอบหรือทางชังก็ได้ มักจะเอื้อให้เกิดการทำกรรมที่มีน้ำหนักมาก จะชั่วก็ชั่วมาก จะดีก็ดีมาก แต่มักจะถูกครอบงำด้วยความหลง

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาธรรมะอย่างแท้จริง จะพบว่า ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่เราจะมีคู่ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ทางโลกก็พาให้หลงวนอยู่ในโลกธรรม ทางธรรมก็ล่าช้าเสื่อมถอย ผู้ที่เริ่มเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะพยายามหาทางออก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดสินใจอยู่เป็นโสดได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะพลังของกิเลส ความอยาก ความหลงติดหลงยึดนั้นจะคอยฉุดเราลงนรกอยู่เสมอ

และตัวแทนของวิบากกรรมที่จะมาฉุดเราลงนรกก็คือเนื้อคู่หรือคู่เวรคู่กรรมนี่เอง การที่เราจะออกหรือรอดพ้นจากบ่วงได้นั้น เราต้องรู้ชัดในใจก่อนว่า คนนี้แหละที่เขาจะมาทำร้ายเราได้แนบเนียนที่สุด ทำร้ายเราด้วยความรัก ความเมตตา ความเกื้อกูล และความดีงาม ที่จะทำให้เราหลงติดหลงยึดในตัวเขาไปอีกหลายภพหลายชาติ และคนนี้เองที่เราจะทำร้ายเขาได้มากที่สุดเช่นกัน หากเรายังรับเขาเข้ามาเป็นคู่อีก เราก็จะทำให้เขาหลงรักเรา คิดถึงเรา หึงหวงเรา ทะเลาะกับเรา โกรธเรา พยาบาทเรา จองเวรจองกรรมกับเราไปอีกหลายภพหลายชาติเช่นกัน นั่นหมายถึงเราจะต้องมาเจอกันและหลงรักกัน และครองคู่กันจนทำร้ายกันไปในนามแห่งความรักแบบนี้โดยไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน

…วิธีป้องกันเนื้อคู่

เนื้อคู่คือผู้ที่มีเวรมีกรรมผูกกันมา จนมักจะต้องมาลงเอยรักใคร่กันในชาตินี้จนถึงขั้นเป็นแรงผลักดันให้แต่งงานครองคู่กัน แน่นอนว่าเหตุแห่งความรักความหลงนั้นคือกิเลส ถ้าดับกิเลสได้ ต่อให้มีเนื้อคู่มาอีกร้อยอีกพันคนก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ในเมื่อเรายังดับกิเลสไม่ได้ เจอแค่คนเดียวก็แทบเอาตัวไม่รอดแล้ว นับประสาอะไรกับเป็นร้อยเป็นพัน มันก็แพ้ทั้งหมดนั้นนั่นเอง

วิธีเอาตัวรอดแบบเข้าใจง่าย ๆ คือตั้งใจเป็นโสดตลอดชีวิต ซึ่งในความจริงแล้วมันทำได้ยากมาก จึงขอเสนอวิธีการคัดเอาตัวเนื้อคู่ที่สร้างปัญหามากออกไปก่อน โดยใช้ศีลมาเป็นตัวคัดกรอง การคัดด้วยศีลนั้นไม่ได้หมายความว่าให้เอาศีลไปใช้กับเขา แต่หมายถึงให้เราปฏิบัติศีลนั้น แล้วผลของศีลนั้นจะไปคัดกรองคนเอง คนที่ไม่คัดกรองด้วยศีลจะได้พบกับเนื้อคู่ตามเวรตามกรรมแบบเต็มน้ำเต็มเนื้อ เขามีกิเลสมาเท่าไหร่ ก็ต้องรับเท่านั้น นั่นหมายถึงต้องทุกข์ ต้องลำบาก ต้องมีภัยแปรผันไปตามกิเลสของคนที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต

การป้องกันเนื้อคู่แบบหยาบ … คือการใช้ศีล ๕ เข้ามาฝึกปฏิบัติ พร้อมงดเว้นอบายมุข การเที่ยวเล่น มุ่งบันเทิง มัวเมา เล่นพนันหวยหุ้น คบคนชั่ว และทำตัวขี้เกียจ เราควรจะงดเว้นเสียให้หมดในเบื้องต้น เพราะหากเรายังไม่มีศีล ๕ และเมาอบายมุขอยู่นั้น เราก็จะมีโอกาสพบกับคนที่ศีลเสมอกัน คือเนื้อคู่ในระดับต่ำกว่าศีล ๕ พร้อมด้วยอบายมุขทั้งหลาย นั่นหมายถึงทุกข์มากจนถึงทุกข์แสนสาหัส แม้จะดูดีในเบื้องต้นแต่ท้ายสุดแล้วผู้ไม่มีศีลย่อมพากันถึงความพินาศแน่นอน

การป้องกันเนื้อคู่แบบกลาง … พอเรามีศีลขั้นต้นมาได้แล้ว ก็จะพ้นเนื้อคู่แบบหยาบ ๆ ชั่ว ๆ แต่ก็ยังจะหนีไม่พ้น เพราะจะมีแบบที่ดีกว่าเข้ามาอีก ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้พ้น โดยใช้ฐานศีล ๘ เข้ามาคัดกรอง นั่นคือในส่วนของกามคุณ เช่นเราจะไม่แต่งตัวแต่งหน้าให้ดูดีเกินไป ไม่อวดความงามให้ใครเห็น จนถึงขั้นทำสิ่งที่ตรงข้าม คือทำให้ไม่งามเอาเสียเลย ในบางเรื่องที่พอจะทำไหว ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การสร้างภาพให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องสร้างจิตใจไม่ให้ไปยินดีในความงามที่จะเป็นเหยื่อล่อให้เนื้อคู่ที่บ้ากามเหล่านั้นเข้ามาได้ การที่ใจเรายังยินดีในความงามของตน นั่นเพราะลึก ๆ เราอยากให้คนเห็นคุณค่าในความงามนั้น พอมีคนที่เราถูกใจมาเห็นคุณค่าลวงที่เราล่อไว้นั้น เราก็จะพลาดพลั้งเสียทีให้กับเนื้อคู่ได้

การป้องกันเนื้อคู่แบบละเอียด … ถึงเราจะมีศีล ๕ ไม่ทำตัวให้ดูเด่น ไม่ทำตัวให้น่าหลงใหล ไม่ประดับตกแต่งให้ดูน่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหนีพ้น หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ชอบคนดี รักคนเลว แต่งงานกับคนรวย” นั่นหมายถึงหากเรายังมีเงินมีทองอยู่ ก็ยังดึงดูดเนื้อคู่เข้ามาได้อยู่ดี ในแบบละเอียดนี้หมายถึงการไม่หลงติดหลงยึดในโลกธรรม คือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข หากเรายังลุ่มหลง มัวเมา ยังกอดเก็บสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นก็จะเป็นประตูให้เนื้อคู่เข้ามาได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันเราก็ควรจะรักษาโลกธรรมไว้ในขีดที่พอเหมาะ เช่นลาภ ฐานะ ความร่ำรวย ก็ให้แก้ด้วยการประหยัด อดออม การสละออก การแบ่งปัน ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย เป็นต้น ส่วนโลกธรรมข้ออื่น ๆ ก็อย่าไปแสวงหามันมาก ให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น

การป้องกันเนื้อคู่โดยสมบูรณ์ …. ถึงเราจะพยายามป้องกันโดยสร้างกำแพงศีลมาคัดเนื้อคู่ที่กิเลสหนาพาให้ทุกข์ได้มากขนาดที่ตั้งกำแพงว่าอบายมุขก็ไม่เอา ความงามก็ไม่มี แถมฐานะยังดูไม่หรูหราอีก ถึงขนาดนั้นก็จะยังมีเนื้อคู่ที่สามารถทะลุกำแพงศีลเหล่านั้นมาได้อยู่ดี คือแม้เราจะไม่หล่อไม่สวยไม่รวย ไม่มีเหตุที่ไปล่อตาล่อใจใดๆ แต่เขาก็จะมาหลงรักให้เราหลงใหลเขากลับได้อยู่นั่นเอง

การใช้ศีลกั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มา เขาจะมาเหมือนเดิมเพียงแต่จะเข้าถึงเราไม่ได้เพราะเจอกำแพงศีล แต่ถ้าเราไม่ล้างความหลงติดหลงยึดในความอยากมีคู่ เรานั่นแหละที่จะทำลายกำแพงศีลทั้งหมดนั้นแล้ววิ่งไปจับมือเขาพุ่งลงนรกเสียเอง

ดังนั้นหากเราจะป้องกันการไปครองคู่กับเนื้อคู่โดยสมบูรณ์ ก็ต้องทำลายความอยากมีคู่ในตนเสีย เพราะความอยากมีคู่ของเรานี่เองคือสิ่งที่จะดึงดูดเขาเข้ามา การทำลายความอยากนั้นทำได้โดยใช้หลักอริยสัจ ๔ คือต้องกำหนดรู้ว่าความอยากมีคู่เป็นทุกข์ ต้องรู้เหตุแห่งความอยากมีคู่นั้น รู้ว่าจะต้องดับเหตุแห่งความอยากมีคู่นั้น โดยใช้วิธีปฏิบัติสู่การดับความอยากมีคู่ ซึ่งการจะเรียนรู้ในปฏิบัติสู่การทำลายความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขหนึ่ง คือต้องพบกับมิตรดีเสียก่อน มิตรดีจะเป็นผู้ชี้ทางว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะสามารถหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้ ถ้าเราไม่เจอมิตรดี ไม่เจอผู้ที่รู้ธรรมะในการออกจากความอยากมีคู่ แต่พลาดไปเจอกับผู้ที่หลงมัวเมาอยู่ในการมีคู่ ก็จะพากันหลงไปทั้งผู้สอนและผู้เรียน

แม้เจอมิตรดีคนเดียวก็สร้างพลังให้กับการทำลายความหลงติดหลงยึดในการมีคู่ได้แล้ว ถ้าเจอมิตรดีเป็นหมู่ใหญ่ก็จะยิ่งสร้างกำลังใจและกำลังปัญญาที่จะผลักดันให้เจริญได้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์ ดังนั้นหากเราอยากหลุดพ้นเรื่องไหน ก็ต้องพยายามเข้าหากลุ่มที่เขาพากันหลุดพ้นเรื่องนั้น แล้วเกาะกลุ่มนั้นไว้เป็นหลักยึดในการปฏิบัติ ดังในบทสวดที่ว่า “สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” คือเอาหมู่สงฆ์(คนที่ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์) เป็นที่ยึดอาศัย

…ทำความเข้าใจและยอมรับเรื่องคู่เวรคู่กรรม

เนื้อคู่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะดีจนเราลุ่มหลงมัวเมาหรือร้ายจนเราชิงชังรังเกียจเคียดแค้นอาฆาต ก็สุดแล้วแต่กรรมที่เราทำมา เราทำมาเท่าไหร่อย่างไร เราก็ต้องรับผลกรรมเท่านั้น เนื้อคู่ที่เข้ามานั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของการกระทำที่เราเคยทำไว้เท่านั้น

แม้ว่าเราจะชิงชังรังเกียจกรวดน้ำคว่ำขัน ก็ไม่สามารถลบแรงของกรรมเก่าได้ ซึ่งกรรมใหม่คือการรังเกียจก็จะเพิ่มการจองเวรจองกรรมกันต่อไปอีก รวมกับกรรมเก่าที่เคยทำร่วมกันมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ซึ่งต้องทยอยรับผลทุกชาติ ก็จะทำให้ต้องเจอกับคนแบบเดิม ๆ กันไปจนกว่าจะหมดผลของกรรมนั้น

ถ้าเรามีศีลมากพอ เราก็จะไม่ชักชวนเขาทำบาปได้เท่าระดับศีลของเรา ถ้าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ เราก็ไม่ต้องชักชวนเขาร่วมบาปในการเป็นคู่อีก ถ้าเราหลุดพ้นจากความหลงติดในตัวบุคคล เราก็จะมีแต่กุศลอย่างเดียว ไม่มีบาปใด ๆ ที่เราจะทำเพราะมีเขาเข้ามาเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยอีกเลย และจะคงเหลือไว้เพียง ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์แก่เขาเท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่ต้องระวังว่าจะดูดดึงจนเกินไป หรือผลักไสจนห่างเหิน เพราะถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ แล้ว ก็จะเหลือเพียงจิตที่แววไวต่อกุศลเท่านั้น

และจะพัฒนาต่อจนกลายเป็นพาเนื้อคู่นั้นลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่น เพื่อป้องกันการจองเวรจองกรรมกันในระดับข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งสรุปความทั้งหมดลงตรงที่ว่า เราต้องเอาตัวเองให้รอดจากการควบคุมของกิเลสให้ได้ก่อน และหลังจากนั้นค่อยช่วยผู้อื่น จึงจะพากันพ้นภัย อยู่กันอย่างผาสุก ไม่เบียดเบียนกัน เกื้อกูลกันด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดก่อนซวย

April 23, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,931 views 1

โสดก่อนซวย

โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…

ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย

ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน

๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง

ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้

๑.ชิงโสดก่อนแต่ง

ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก

เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม

มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้

เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ

๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด

คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด

โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง

การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ

ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น

แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน

ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น

แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)

ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)

นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น

ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย

สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้

การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

21.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

April 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,108 views 0

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ...โสด

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

เมื่อความรักเจริญถึงขีดสุด จะสามารถก้าวข้ามสามัญสำนึกทั่วไปได้ เป็นรักที่ไม่ไหลไปตามกระแสโลก กลายเป็นรักที่อยู่เหนือโลก เพราะอยู่เหนืออิทธิพลของกิเลส

รักนั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป มันจะไม่เหมือนอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ความรักที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ต้องเสพสุข ต้องครอบครอง ต้องผูกพัน ฯลฯ แต่เมื่อความรักนั้นได้พัฒนาขึ้นนั้น การเสพสุข การครอบครอง การผูกพันใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในทันที

เพราะการยึดมั่นถือมั่นในการมีกันและกันนั่นเอง คือเหตุแห่งทุกข์ คือความรักที่คับแคบ เป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะตนต้องการเสพ ตนจึงยึดไว้ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอยาก ไม่อยากพราก ไม่ปล่อยให้เขาได้ไปทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อรักนั้นพัฒนาขึ้น รักมากขึ้น รักตนเองและผู้อื่นมากกว่ารักกิเลส ความเบียดเบียน ความหลงติดหลงยึด ความเห็นแก่ตัวใดๆ ย่อมไม่มีในบุคคลนั้นเลย คงเหลือไว้แต่ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรักเท่านั้น

และเมื่อรักนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีคนที่จะต้องยึดไว้เพื่อรัก แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ยินดี เหมาะสม ควรแก่กาลที่จะได้รับความเมตตาเกื้อกูล ได้ประโยชน์เหล่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อรักได้เจริญถึงขีดสุดแล้ว คนผู้ที่มีความเห็นดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นโสด เพราะความเป็นโสดนั้น คือสถานะที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะไม่ผูกตัวเองไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นอิสระทั้งจากภาระทางโลก และภาระทางใจ เพื่อที่จะนำเวลา ทุนทรัพย์ และแรงงานที่เหลืออยู่มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่ครองถ่วงธรรม

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,998 views 0

คู่ครองถ่วงธรรม

คู่ครองถ่วงธรรม

หากจะนึกถึงสิ่งใดที่เป็นบ่วงซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดและถ่วงความเจริญ หนึ่งในนั้นก็คือการมีคู่ครอง แม้ในโลกจะสรรเสริญการมีคู่ แต่ในทางธรรมการมีคู่นั้นกลับกลายเป็นขวากหนามขวางกั้นคนให้ห่างจากความผาสุกที่แท้จริง

ถ้าเราเอาเหตุผลทางโลก ก็คงจะมีหลายคนที่ให้เหตุผลที่ฟังแล้วดูดี สมควรแก่การมีคู่ ถึงแม้เขาจะพยายามขยับขามาทางธรรม ความเห็นผิดที่หลงในสุขลวงเหล่านั้นก็จะยังติดตามมาเสมอ เช่น หาคู่มาคอยเกื้อกูลกัน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน เป็นกัลยาณมิตรกัน อะไรก็ว่ากันไปตามเหตุผลของคนอยากมีคู่

ถ้าเขาไม่คิดจะเจริญทางธรรม อยากมีชีวิตไปแบบโลกๆ กิน เที่ยว เสพสุขไปตามเวรตามกรรม การมีคู่ครองก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถ่วงความเจริญของชีวิตในความเห็นของเขา เพราะเขาไม่ได้แสวงหาความเจริญในธรรม ไม่ต้องการความเจริญแบบโลกุตระ(เหนือโลก) ต้องการเพียงแค่ความเจริญแบบโลกีย์ (วนเวียนอยู่ในโลกของกิเลสตัณหา) การมีคู่ก็คงจะเป็นเหตุที่สมควรแก่ความเห็นของเขา แต่ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันในบริบทของผู้ที่ต้องการแสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการความเจริญในทางธรรม ต้องการหลุดพ้นจากการตามกระแสโลกไปวันๆ

ถ้าคิดแบบทางโลกทั่วไป การมีคู่ครองแล้วปฏิบัติธรรมไปด้วยกันก็เหมือนกับการมีจักรยานสักคัน มีแล้วปั่นไปได้เร็วกว่าเดิน ตามที่หลายคนอ้างว่า พอมีคู่แล้วพากันทำดี ชวนกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เข้าวัดฟังธรรม เป็นคนดีมากขึ้น ถ้าไม่มีคู่ก็คงจะไม่มีใครพาเข้าหาธรรม ได้เรียนรู้ศึกษา ปรับนิสัยให้เป็นคนดีขึ้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีใช่ไหม? การมีจักรยานแบบนี้เหมือนจะดูดีกว่าไม่มีใช่ไหม?

แต่ถ้าเราลองมาคิดอีกที การจะมีจักรยานนี่มันทุกข์ตั้งแต่อยากมีแล้ว ต้องเลือกหาจักรยานคันที่ถูกใจ ก็เหมือนกับคนเลือกหาคู่ ซึ่งกว่าจะมีกันก็ใช่ว่าง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์เพราะเลือกยากก็ทุกข์เพราะไม่มีให้เลือก มีมากมายหลายเหตุให้ทุกข์เพราะความอยากมีคู่นั้นเอง

พอมีคู่ครองแล้วก็เหมือนได้จักรยานมาคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนดีจริงๆ ก็อาจจะพากันไปทำดีได้อยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกนัก มีจักรยานแล้วก็ต้องคอยหาที่จอด ต้องคอยเช็ดคอยล้าง คอยดูแลเปลี่ยนอะไหล่ เอาไปจอดที่ไหนก็ต้องล็อคไว้ ไม่อย่างนั้นคนจะมาขโมยไป เป็นห่วงเป็นกังวล จะไปไหนไกลมากก็ไม่ได้ มันก็มีขอบเขตที่มันจะพาเดินทางไปได้อยู่ ก็เหมือนกับการมีคู่ มีแล้วก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่กัน เสียเงินเสียเวลาเสียแรงในการบำเรอกัน ปล่อยไปนานๆ โดยไม่ดูแลก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีคนใหม่เข้ามาเขาจะนอกใจไปได้อีก และที่สำคัญมีแล้วก็เป็นภาระ จะปฏิบัติธรรมอะไรก็ไม่สะดวก ต้องเกรงใจอีกคน ต้องคอยอนุโลม จนบางทีต้องลงยอมลงนรกไปด้วยกันก็มี

ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอยากไปศึกษาธรรม แต่อีกคนหนึ่งอยากไปกิน ไปเที่ยว มันก็ทำดีไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องเกรงใจคู่ ถึงเราจะไม่เกรงใจแล้วเลือกออกไปทำสิ่งดี แต่เขาก็ไปลากกลับมาได้ ไม่ยอมให้ทำดี หรือไม่เราก็ทิ้งการทำดีไปเสพสุขด้วยกันกับคู่เสียเอง สรุปแล้วสิ่งดีๆ ก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร คือทำความดีไม่ถึงพร้อม แต่มักพากันไปมัวเมากับกิเลสสะสมนรกกันไปเรื่อยๆ

หรือคนหนึ่งอยากเลิกกินเนื้อสัตว์ พอไปคบหาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการไม่กินเนื้อสัตว์ ถึงแม้เขาจะไม่ก้าวก่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นดีด้วย บางทีเขาไม่ได้แสดงอาการลำบากใจอะไร แต่เราก็ดันไปลำบากใจแทนเขา กลัวเขาจะอึดอัดที่เรามีวิถีชีวิตที่แตกต่าง คิดดูว่าการจะทำสิ่งดียังต้องมาเกรงใจกันอีก แล้วการจะพาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการทำสิ่งดีนั้นๆ ให้ทำตามมันไม่ง่ายนะ เช่นเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์แบบเรา เพียงเพราะเป็นคู่ครอง เขาไม่ยอมง่ายๆนะ ให้เขาหยุดเสพกามในเนื้อสัตว์นี้มันก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไป มันปากเขาไม่ใช่ปากเรา ทีนี้มันจะทนกันได้ไม่นานหรอก คนไม่กินเนื้อสัตว์ถ้าไม่ติดดียึดดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนทะเลาะกัน ก็หย่อนยานจนกลับไปกินเนื้อสัตว์กับเขานั่นแหละ ส่วนที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้จริงนี่ก็รอดไป

มาถึงเรื่องสมสู่ ถ้าคนหนึ่งอยากทำดี อยากพ้นไปจากวิสัยคนคู่ที่ต้องคอยสมสู่กันเพื่อบำเรอสุข อยากจะทำให้ชัดเจนว่าเป็นคู่กันเพราะความรักจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัตถุบำเรอกาม ก็เลยอยากจะชวนกันถือศีล ๘ เพื่อให้ชีวิตเจริญขึ้น แต่เรื่องนี้มันคิดคนเดียว ทำคนเดียวไม่ได้นะ บางทีเราอยากออก แต่คู่เขาไม่ยอมออกตาม เขาก็จะสมสู่เราอยู่นั่นแหละ หรือไม่เราก็ทนไม่ไหวเวียนกลับไปเสพเขาเสียเอง มันก็คอยฉุดกันกลับไปนรกคนคู่อยู่นั่นแหละ ไม่ปล่อยให้เจริญกันได้ง่ายๆหรอก ถ้าใครไม่เชื่อลองตั้งตบะดูเลยก็ได้ ว่าจะไม่มีเรื่องสมสู่กันแม้ว่าจะครองคู่กันนานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีบารมีเก่าไม่มีทางรอดหรอก สุดท้ายเดี๋ยวก็หาเหตุผลให้ไปเสพกันจนได้

ทีนี้ยกตัวอย่างกันให้สุดๆ แบบพ่อพระแม่พระกันไปเลย คือไม่สมสู่กันเลย ไม่บำเรอกันด้วยกิเลสใดๆเลย คบหากันอย่างเพื่อนเลยก็ว่าได้ พากันเข้าวัด เสียสละชีวิตตนเองให้ศาสนา เป็นคนวัดทั้งคู่เลย แต่มันไม่พ้นภาระนะ มันต้องดูแลกันเป็นพิเศษ พอขึ้นชื่อว่า “คู่ครอง” แล้วนี่มันเป็นสัญญาที่คนเขารู้กันว่าต้องดูแลกัน มันจะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้ยึดกันมากกว่าเพื่อน ห่วงหากันมากกว่าเพื่อน สุดท้ายก็ติดอยู่ในสัญญานั้นแหละ หลงว่าเป็นสิ่งดี สิ่งเยี่ยม เป็นศักดิ์ศรี เป็นหน้าที่ ไม่พ้นจากสภาพของคู่ครองสักที

หากเราดูเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าการมีจักรยานนั้นดีกว่าเดิน แต่จริงๆมันมีความลำบากซ่อนอยู่ เอาเข้าจริงคนไม่มีจักรยานนี่อาจจะสบายกว่าก็ได้ จะเดินไปไหนก็ไม่ต้องกังวล จะขึ้นรถคันไหนก็ได้ จะเดินทางด้วยวิธีไหนก็ได้ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นวิธีใดวิธีหนึ่ง ดีไม่ดีถ้าทำดีเข้ามากๆ จะมีคนคอยรับส่งด้วยซ้ำ สรุปคือจักรยานนี่มันไม่ต้องมีก็ได้ มันก็เดินทางไปของมันได้อยู่ดี เหมือนกับคู่ครองนี่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเช่นกัน

เราอาจจะอ้างเหตุผลว่า มีเพื่อเกื้อกูลกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน คอยดูแลเอาใจใส่ตอนแก่เฒ่า เป็นกัลยาณมิตรกัน ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครองก็ได้ แค่เราหาเพื่อนที่สนใจธรรมะในแนวทางเดียวกัน จริงจังเหมือนกัน ถ้าให้ดีก็เลือกเพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องเสี่ยงมารักใคร่ชอบพอกันเชิงชู้สาว มีเพื่อนนี่ก็เกื้อกูลกันได้ เป็นผัสสะแก่กันได้ คอยดูแลเอาใจใส่กันได้ และแน่นอนว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกว่าคู่ครองแน่ๆ เพราะอย่างน้อยก็ไม่สมสู่กัน ไม่เบียดเบียนกันเพียงเพราะความเป็นคู่ครองใดๆเลย ทีนี้พอเป็นมิตรดีแก่กันแต่ไม่ได้ครองคู่กัน พากันทำดีอย่างเดียว ไม่ทำชั่ว มันก็พากันเจริญได้เร็วกว่าคนที่ครองคู่สิ เพราะบาปไม่ได้ทำ อกุศลก็ไม่ได้ทำ แล้วจะมีอะไรมาคอยถ่วงความเจริญ

มีคนปฏิบัติธรรมมากมายที่ตั้งใจจะเป็นโสด แสวงหาความเจริญทางธรรม ยินดีที่จะเป็นมิตรดีเกื้อกูลกันและพากันดำเนินชีวิตไปในเส้นทางธรรม แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่านักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกหลายคนกลับเมินหน้าหนีมิตรดีเหล่านั้น แล้วไปแสวงหาศัตรูคู่อาฆาตที่คอยจองเวรจองกรรมกันมาแล้วหลายภพหลายชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหวังว่าจะแสวงหาความเจริญจากการมีคู่

คนที่แสวงหาความเจริญทางธรรมจากการมีคู่ ก็เหมือนกับคนที่หยิบขี้ขึ้นมากำไว้แล้วหวังว่ามันจะกลายเป็นทอง ซึ่งแท้จริงแล้วขี้มันก็เป็นขี้นั่นแหละ มันไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทองได้หรอก แต่ด้วยความหลงผิดจึงหยิบเอาขี้นั้นเข้ามากอดเก็บไว้

พอวันหนึ่งก็พบว่าการกำขี้นั้นเหม็นจนเป็นทุกข์ ก็ขว้างขี้นั้นทิ้งไป จะขว้างด้วยลีลาท่าทางอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องมาลำบากเช็ดคราบขี้และทรมานกับกลิ่นเหม็นที่ติดมือ แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้ชัดว่าขี้นั้นไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทอง ไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่านั่นคือขี้ เดี๋ยวก็วนกลับไปแสวงหาขี้ก้อนใหม่ขึ้นมากำไว้เหมือนเดิมอีก แล้วก็เข้าใจว่าขี้ก้อนนี้นั้นดีกว่าก้อนเก่า บางคนก็หยิบขี้ก้อนเดิมมานั่นแหละ ขว้างทิ้งไปแล้วก็ไปหยิบขึ้นมากำใหม่ เพราะคิดไปว่าครั้งนี้ฉันจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ขี้ก้อนนี้แหละที่จะเปลี่ยนเป็นทอง อะไรแนวๆนี้

สุดท้ายก็วนเวียนทุกข์เพราะขี้ไปแบบนั้นจนกว่าจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วจึงปล่อยวางขี้นั้นด้วยปัญญารู้โทษชั่วของการเอาขี้ขึ้นมากำไว้ ดังนั้นความเจริญสูงสุดที่หวังได้ก็คือการเห็นขี้เป็นขี้ เห็นการมีคู่ครองเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญทางธรรม คือสุดท้ายก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ก็สามารถหาความเจริญได้และเจริญได้มากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องมาวนเวียนเสียเวลาอยู่กับเรื่องคู่ เหมือนคนที่เสียเวลามัวเมาอยู่กับขี้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)