สุดโต่ง
สุดโต่ง : ปฏิบัติอย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร
สุดโต่งคืออะไร?
คำว่าสุดโต่งนั้นหมายถึงสิ่งความเอนเอียงไปในทางหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับมักจะมีอาการยึดมั่นถือมั่น เคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย
ความสุดโต่งนั้นเป็นเพียงความเห็นความเข้าใจ ที่หมายของคำว่าสุดโต่งนั้นต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน เช่น คนดีทำดีได้ง่าย ถือศีลปฏิบัติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ เขาก็มองว่าดีนั้นคือความเป็นกลาง ความชั่วคือทางโต่ง
คนชั่วทำดีได้ยากเพราะมีกิเลสมาขวางกั้นไว้ เขาก็มักจะมองสิ่งดีที่ทำได้ยากได้ลำบากคือความโต่ง ส่วนความชั่วเป็นเรื่องสามัญในโลกที่ใครเขาก็ทำกัน
หรือคนที่ไม่ดีไม่ชั่วคือเป็นกลางๆ ก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นพอดีไม่โต่งไปทั้งดีและชั่ว ดังนั้นการมองความโต่งของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป
สุดโต่งไม่ทางสายกลาง
การกระทำที่เราเห็นว่าโต่ง เรามักจะมองว่าไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลางของพระพุทธเจ้านั้นคือ ไม่เสพกามและไม่ติดอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า “พวกเธอจงเสพกามแต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”
สรุปในความหมายของศาสนาพุทธก็คือ คนที่ยังเสพกามและยังติดอัตตาอยู่นั่นแหละคือคนที่สุดโต่ง ส่วนคำว่าสุดโต่งในทางสมมุติโลกก็แล้วแต่ใครจะนิยาม
คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอสิ่งใดที่ทำได้ยากได้ลำบากสำหรับตนและพวกพ้องนั่นแหละคือสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วคนอื่นเขาทำได้สบาย แล้วทีนี้ด้วยความมีอัตตาก็ยึดเอาตนนั่นแหละ เป็นตรงกลาง ใครทำมากกว่าตนสุดโต่ง ใครทำน้อยกว่าตนก็ต่ำต้อย
สุดโต่งของผู้มัวเมา (มิจฉาทิฏฐิ)
คนที่เห็นผิดและมัวเมาในกิเลสมากๆ ก็จะหมายเอาว่าการที่ทุกคนมีกิเลสเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่าใส่ใจ คนเราต่างกรรมต่างวาระถือ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆเขาก็ทำกัน คนที่พยายามจะละทางโลกอย่างจริงจังสิที่เป็นความสุดโต่ง
การที่มีความเห็นแบบนั้นเพราะต้องการตั้งกำแพงเอาไว้ไม่ให้ใครเข้ามาล้วงกิเลสตน เอาง่ายๆ คืออย่าเอาสิ่งที่พาให้เกิดความเจริญมาข้องแวะกับกองกิเลสของฉัน ฉันจะอยู่ในภพของฉัน ฉันจะเสพของฉันไปเรื่อยๆ อย่าพยายามชี้ให้ฉันเห็นถึงกิเลส อย่าบอกว่าสิ่งที่ฉันติดฉันยึดคือสิ่งไม่ดี เพราะฉันมีความสุขกับมันอยู่ ซึ่งเป็นสภาพของผู้ติดภพที่เต็มไปด้วยกิเลส
ถ้าเขามองจากก้นเหว ปากเหวก็ดูจะสูงเทียมฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วปากเหวนั้นก็แค่ระดับพื้นดิน ยังมีต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า จักรวาล ดวงดาวอีกมากมายที่อยู่สูงและไกลออกไป
คนที่มัวเมาในกิเลสก็ยังคงต้องอยากจะเสพไปตามกิเลสอยู่ เหมือนกันกับคนส่วนมากในสังคมที่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส แล้วก็ใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพียงแค่ทำให้จิตใจสงบ และใช้ตรรกะต่างๆเข้ามาเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากล้ำกราย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะร้ายหรือดี เขาก็เพียงแค่ต้องการจะอยู่ในภพที่เขาอยู่
ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไร เพราะโลกเรามีคนหลายแบบ คนกิเลสน้อยก็มี คนกิเลสหนาก็มี มันเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว เพราะคนกิเลสน้อยก็ว่าคนกิเลสหนานั้นมันทุกข์ คนกิเลสหนาก็ว่าคนกิเลสน้อยนั้นสุดโต่ง ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ถ้าหากเขาทำเขาก็จะทุกข์ทรมาน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความคนกิเลสน้อยสุดโต่ง เพราะเขาเหล่านั้นสามารถละสิ่งที่เป็นภัยได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก เรียกว่าทำได้แบบสบายๆ แล้วถ้าทำได้แบบสบายมันจะเรียกว่าสุดโต่งได้อย่างไร?
ยิ่งถ้าบอกว่าความเจริญที่ได้ละสิ่งที่ไม่ประโยชน์นั้นว่า “สุดโต่ง” ยิ่งสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมที่ตกเป็นทาสของกิเลส ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คนส่วนมากก็ตกเป็นทาสกิเลสกันอยู่แล้ว ยิ่งกึ่งพุทธกาลแบบนี้คงไม่มีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดกันมากมายหรอก ที่มาเกิดนี่ก็เด็ดๆกันทั้งนั้น
ทิ้งโลกไปทางธรรมสุดโต่งจริงหรือ
ต้องเข้าใจก่อนว่าทิ้งโลกนี้ไม่ได้หนีเข้าป่า แต่เป็นการทิ้งโลกที่เคยมีกิเลสแล้วหันหน้าเข้าหาธรรมเพื่อศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งให้สาวกเข้าป่าปลีกวิเวก สาวกที่บรรลุธรรมท่านก็สั่งให้ไปสร้างประโยชน์แก่หมู่ชน และให้แยกกันไป อย่าไปที่เดียวกันธรรมกับโลกจึงอยู่คู่กันด้วยประการนี้เอง
ถ้าการทิ้งเรื่องโลกมาสนใจธรรมเป็นเรื่องสุดโต่ง ศาสนาพุทธก็คงจะเป็นศาสนาที่สุดโต่งที่สุด เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น เจ้าชายสิทธัตถะเพียงแค่รู้ว่าลูกเกิด ท่านก็หนีไปบวชแล้ว หรือปัจเจกพระพุทธเจ้าที่เพียงแค่มองผู้หญิงที่มีเจ้าของแล้วรู้สึกผิด ก็ออกบวชแล้ว
ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาไม่เข้าใจนะ เขาไม่มีปัญญารู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่นี่ระดับพระพุทธเจ้า สะกิดนิดเดียวรู้เลย รู้แล้วออกได้ทันทีด้วย ไม่ติดไม่วนอยู่ เรียกว่าสุดโต่งไหม?
ถึงจะเป็นคนสมัยนั้นเขาก็ว่าโต่งนั่นแหละ อะไรกัน…เหตุนิดหน่อยก็ทิ้งแล้ว คนกิเลสหนาเขาไม่ทิ้งหรอก เขาก็เมาลูก มองสาวอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าคำว่าโต่งถ้ามันมาจากความเห็นของคนกิเลสหนามันก็แสดงตัวตนเขาอยู่แล้วว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ทางโต่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีอยู่ นั่นคือให้เว้นขาดจากการเสพกามและการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ความโต่งสองทางนี้ท่านให้เว้นเสีย
สุดโต่งแต่เจริญ
ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความโต่งที่เป็นความเห็นของบุคคลนั้นต่างกันไปตามทิฏฐิ ซึ่งจะเอามายึดมั่นถือมั่นเป็นหลักเกณฑ์วัดอะไรไม่ได้ อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าสังคมกิเลสหนา มันก็จะว่าการลดกิเลสเป็นทางโต่ง เช่น ในยุคนี้เขาก็ว่าการสมสู่มีคู่แต่งงานนั้นดี ยิ่งผู้หญิงแต่งตอน 25-30 ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสังคมยุคพระศรีอริยเมตตรัย กว่าจะได้แต่งงานก็อายุ 500 ปีโน่น มันโต่งไหมล่ะ สมมุติสัจจะและศีลธรรมโดยสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนั่นแหละ เอามาวัดอะไรไม่ได้หรอก
เรื่องคู่นี่ยิ่งชัด พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าโง่ไปมีคู่ กามนั้นแสบเผ็ดร้อนยิ่งกว่าถ่านที่เผาไหม้ ยิ่งกว่าหอกแหลมที่ทิ่มแทง ยิ่งกว่ายาพิษใด แม้ในฐานศีล ๕ จะยังมีคู่ได้ แต่ท่านไม่เคยบอกว่าให้ครองคู่กันจึงจะเจริญ ท่านให้ละให้เว้นเสีย แต่ถ้าในสมัยนี้คนเขาก็มองคนที่จะเป็นคนโสดไปตลอดไม่มีคู่เป็นความโต่งนะ โต่งแต่สัมมาทิฏฐิมันน่างงไหม?
ในยุคนี้ผู้ที่ตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ใช่คุณค่าแท้ ก็มักจะถูกมองว่าสุดโต่งทั้งๆที่นั่นคือทางสายกลางที่พาไปสู่ความเจริญ แม้คนจะมองว่าโต่งแต่มันไปเจริญ แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ
ก็มีแต่คนที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นว่าการพยายามละเว้นจะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยังของยอมวนเวียนเสพสมใจกันอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยยางเหนียว
– – – – – – – – – – – – – – –
10.4.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)