ไม่รักคนอื่นแล้วไม่รักตัวเองล่ะ จะพ้นทุกข์ไหม?
มีคำถามในประเด็นของ “การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า” ว่า มันต่างอย่างไรกับคนที่รักหรือไม่รักตัวเอง เขาน่าจะหมายความว่า “แล้วทีนี้คนไม่รักตัวเองจะพ้นทุกข์ไหม” ล่ะนะ ก็เดา ๆ เอา
คำของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก”
คำว่า อันเป็นที่รักนั้น คือสภาพของอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่านี่คือฉัน นี่ของฉัน เพราะหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์แท้
ถ้าเรายึดไปว่าสัตว์ เช่นสัตว์เลี้ยงจะเชื่องกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งเขากัดเรา เราก็เจ็บ และเราก็ยังจะต้องเป็นทุกข์จากความผิดหวังอีกด้วย ถ้าเราไม่ยึดอะไร โดนกัดก็แค่เจ็บ แต่จะไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ตั้งความหวัง
เช่นกันกับคนที่เรารัก ถ้าเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งมันมีเหตุปัจจัยให้เขาฉุนเฉียวใส่เรา เราก็จะผิดหวัง เศร้าหมอง เพราะเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด เราจะผิดหวัง เพราะเราไปตั้งความหวังไว้ผิด
เรื่องสังขารร่างกาย เช่น เราไปยึดว่าเรามีสุขภาพดี เราไม่เคยป่วย เรารักสังขารนี้ แต่พอวันหนึ่งมันป่วยขึ้นมา มันจะทุกข์มากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะใจมันผิดหวัง มันไม่เป็นไปตามความยึดที่มี ใจมันก็ดิ้น ปฏิเสธความจริงในปัจจุบัน รำพึงรำพัน เช่นว่า เนี่ย เราไม่เคยป่วยเรา เราก็แข็งแรงมาตลอด ฯลฯ
เรื่องสังขารความคิดเช่น เรารักความเห็นนี้ของเรา เราชอบใจที่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่พอมีคนมาพูดกระทบสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เรารักลดค่า โดนดูถูก เหยียดหยาม เหน็บแนม เราก็จะขุ่นเคืองใจ เพราะเราไม่อยากให้สิ่งที่เรารักเป็นอย่างอื่น อยากให้เราคิดแบบนั้น อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเรา อยากให้เขาคิดแบบเรา เราก็ทุกข์
ดังนั้นถ้าเราไปไม่ใส่ความรัก คือไม่ไปยึดสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่พยายามทำให้สิ่งใดเป็นดั่งใจตน ไม่นิยมชมชอบสิ่งใดเป็นพิเศษ มันก็จะไม่ทุกข์ อันนี้อธิบายเหตุกันก่อน
ส่วนการที่ว่าคนไม่รักตนเองจะพ้นทุกข์ เป็นสุขไหม? อันนี้มันเป็นปัญหาของการสื่อภาษา จะอธิบายได้ทั้งสองแบบก็ได้ คือพ้นทุกข์กับไม่พ้นทุกข์
เช่น ถ้าไม่รักตนเอง ไม่หลงตน ไม่สำคัญตนในความเป็นตน ยังไงก็พ้นทุกข์ เป็นสุข คือสภาพของการสลายอัตตาทิ้ง จะเหลือแต่ปัญญา ก็ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
หรือ ถ้าไม่รักตนเอง ทำแต่บาปและอกุศลกรรม ใช้ชีวิตเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันนี้มันก็มีแต่ทุกข์และนรกเป็นที่ไป
รักตัวเองก็เช่นกัน มันก็รักได้ทั้งแบบเพิ่มกิเลสและแบบลดกิเลส ถ้ารักให้ถูกต้องลดกิเลส ทำประโยชน์แก่ตน แต่คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่ารักตัวเอง คือการบำเรอตนเอง หาอาหารแพง ๆ อร่อย ๆ มาให้ตนเสพ พาตนเองไปเที่ยว ไปเสพสุขที่ต่าง ๆ อันนี้เขาก็เรียกว่ารักตนเอง
ภาษามันก็ดิ้นกันได้ มันต้องดูว่าเขามีเจตนาทางกาย วาจาใจอย่างไร ทำแล้วหมายให้เกิดอะไร แต่การจะไม่รักตัวเองให้ได้นั้น จะต้องเลิกรักสิ่งอื่น สัตว์อื่น คนอื่นให้ได้ก่อน เพราะตัวเรานี่เป็นสิ่งที่เรารักที่สุด มันต้องมีลำดับของการถอยออกมา คือเลิกรักสิ่งรอบตัวก่อน แล้วมันจะเหลือแต่ความรักตัว รักในความเห็นตัวเอง สุดท้ายจะไปติดแถว ๆ “มานะ” ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องสูง นั่นคืออาการรักในความเห็นตน มันรัก มันยึด มันก็เลยไม่ไปไหน ไม่เจริญไปมากกว่านั้น