กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้
กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้
กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต
ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง
– – – – – – – – – – – – – – –
กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข
ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว
เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน
กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
29.1.2559
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
ถ้ายังมี “ความอยากมีคู่” อยู่ จะไม่เห็นตามธรรมะหรอก มันจะมีอะไรขัดๆแย้งๆ มีข้อแม้ มีข้ออ้างอยู่ตลอด
เช่นกัน ถ้ายังมีความเห็นความเข้าใจที่เอนเอียงไปตามกิเลสมาก ก็จะยังเข้าใจว่าการมีคู่เป็นเรื่องที่สมควรกับชีวิต เห็นว่ามีคู่ได้โดยไม่มีผลเสียหรือมีคู่แล้วมีผลดีมากกว่าผลเสียอยู่ แม้ในตนเองก็ตาม ในคนอื่นก็ตาม
ส่วนคนที่เอียงมาตามธรรม ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นได้ในทันที เพราะการเห็นตามธรรมว่ามีประโยชน์นั้น ยังต้องเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติ ให้ธรรมนั้นเกิดขึ้นในตนด้วย เรียกว่าถ้าเห็นประโยชน์ตามธรรมได้ก็เริ่มจะเข้ามรรค ส่วนผลนั้นก็จะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าตามแต่ความพากเพียร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การได้ลูก ได้คู่ครองนั้น เรียกว่าได้ลาภเลว และการระลึกถึงการมีลูก การมีคู่ครองนั้น ก็เป็นการระลึกที่เลวเช่นกัน (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๑ อนุตตริยสูตร)
ดังนั้น ไม่ว่าจิตของคุณจะเอนเอียงไปในด้านการมีลูกหรือการมีคู่ พึงตั้งสติรู้ได้เลยว่าคุณกำลังไปผิดทาง ทางเหล่านั้นเป็นทางตรงข้ามกับทางพ้นทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญใดๆ
อ่านเนื้อหาเต็มใน อนุตตริยสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=7660&Z=7748