การวางเฉย
“การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น
หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้
หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)
การติและการชม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ
๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)