Tag: สัมมาทิฏฐิ

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

July 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,766 views 0

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเลยมาจนถึงทุกวันนี้ จะสะสมลงเป็น “กรรม” ที่เรียกว่ากรรมเก่า เพราะทำลงไปแล้วเกิดผลแล้ว สะสมผลนั้นไปแล้ว และจะรอวันให้ผลในวันใดวันหนึ่ง แต่กรรมเก่านั้นก็ไม่สามารถลิขิตขีดเขียนให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางของมันได้เสมอไป

เมื่อเราเจอเหตุการณ์ใดๆ บางครั้งเรามักจะเหมาว่าเป็นเหตุจากกรรมเก่าเสียทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าหากเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เราก็คงจะต้องวนเวียนใช้กรรมและสร้างกรรมเช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน

ในบทความนี้จะมานำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องกรรม ในมุมของกรรมเก่า ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์

1). กรรมเก่า เก่าแค่ไหน?

คำว่ากรรมเก่านั้นเป็นคำกว้างๆ แม้จะเอ่ยมาก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะกรรมเก่ามีตั้งแต่กรรมเก่าตั้งแต่ชาติปางก่อน ชีวิตก่อน จนกระทั่งถึงกรรมเก่าที่พึ่งจะทำลงไปเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดเรียกว่ากรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะผ่านพ้นไปแล้ว ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคอยรับผลกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม

2). กรรมเก่านั้นรู้ได้ยาก

กรรมเก่าที่สะสมมาก่อนจะมาถึงชีวิตนี้นั้นรู้ได้ยากมาก แม้กรรมในชาตินี้ที่ทำลงไปก็ยังรู้ได้ยากเช่นกัน แต่เราก็สามารถรู้ได้จากทุกสิ่งที่เข้ามากระทบเรา นั่นก็คือผลของกรรมที่เราทำมา กรรมจะทำหน้าที่ส่งผลเท่ากับที่เราทำมา ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยมีสัดส่วนที่แบ่งไว้อย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ

นั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เราเกิดสุข เกิดทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรที่สุดที่เราจะได้รับ และผลของกรรมนั่นเองก็คือกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำมา เราอาจจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของกรรมเก่าที่ทำในชาตินี้ได้บ้าง ในส่วนของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนเราอาจจะพอรู้ได้จากความสุขทุกข์ที่ได้รับมา นั่นคือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เรียนรู้อะไรจากการรับผลกรรมเหล่านั้น

3). เห็นกรรม ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์

บางคนเมื่อเจอความทุกข์ จะใช้เรื่องกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ปล่อยวาง เช่นเมื่อรู้ว่าเราทำมา คิดว่าเราทำมา ก็สามารถปล่อยวางได้ ยิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เราทำมาสมัยก่อนก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความผิดบาปของตัวเองได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังมีกรรมที่สืบสาวราวเรื่องได้ยาก เช่นกรรมที่สะสมมาเนิ่นนานจนมาเกิดผลเอาชาตินี้ แม้จะตรวจไปเท่าไหร่ก็หาที่มาไม่ได้ จึงมักจะทำได้เพียงคิดว่าเราก็ทำเช่นนั้นมา และทำใจยินดีรับกรรมจนหมดผลนั้นไป

เราใช้วิธีเหล่านั้นในการเข้าใจผลของกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สามารถทำให้ใจสงบและปล่อยวางได้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ได้ตรวจให้ลึกลงไปถึงเหตุเกิด เรียกได้ว่าเห็นทุกข์เกิดอยู่ แต่ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ กลับไปมอง“ผลของกรรม”ที่เกิดขึ้นเป็น“เหตุแห่งทุกข์

วิบากกรรม หรือผลของกรรม ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือผล คือสิ่งที่สุกงอม คนที่มองเห็นเพียงว่าผลของกรรมที่ได้รับคือเหตุแห่งทุกข์ จะไม่สามารถศึกษากรรมที่เกิดในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ มักจะทำอยู่ในวิถีของสมถะ คือการใช้ความเข้าใจกรรมมาเป็นอุบายช่วยในการทำจิตให้สงบนิ่ง

ในเมื่อวิบากกรรม คือผล มันก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ว่าคือทำไมเราจึงไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วจนต้องมารับผลกรรมเหล่านั้น ในส่วนของกรรมชั่วก็คือกิเลส กิเลสคือเหตุให้สร้างกรรมชั่ว ส่วนจะเป็นกิเลสชนิดไหน ลีลาใดก็ลองวิเคราะห์จากผลของกรรมของตัวเองได้ ในส่วนของกรรมดีก็คือปัญญา ผู้มีปัญญาก็จะสร้างกรรมดี หรือกุศลกรรม เพื่อใช้อาศัยให้เกื้อหนุนความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นสิ่งเกื้อหนุนสู่การหลุดพ้นจากกิเลส

ดังนั้นแม้จะเห็นว่าผลของกรรมนั้นคือสิ่งที่เราทำมาจนทำให้เราต้องเกิดทุกข์ แต่ก็ยังเป็นระดับของความเข้าใจในกรรมที่ยังตื้นเขิน เพราะในผลของกรรมแต่ละอย่างก็ยังมีเหตุของสิ่งนั้น เราจึงควรศึกษาให้เห็นเหตุของกรรมดีกรรมชั่วนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าเราไม่แจ่มแจ้งในเหตุของกรรม ก็จะไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย

4). รำไม่ดีโทษปี่โทษกรรม

พอเราไม่เห็นเหตุแห่งกรรมนั้นๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็มักจะมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดนั้น เกิดจากกรรมเก่า” โดยมากจะเป็นเรื่องของทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์เราก็มักจะโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของกรรม เจอเหตุการณ์ เจอสิ่งร้ายอะไรก็โยนให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งหมด ทั้งๆที่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความเห็นผิด เพราะมีกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้หลง

ดังนั้นเมื่อเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า โดยเฉพาะโยนไปที่กรรมเก่าแต่ปางก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะไปโทษว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสียหมด

5). กรรมลิขิต แต่เราเป็นคนเลือกเดิน

ผลของกรรมนั้น ลิขิตขีดเขียนเส้นทางของชีวิตให้ก้าวเดิน เป็นเหมือนบทละครที่บีบบังคับให้เราเล่นไปตามกรรมที่ทำมา แม้กรรมจะลิขิตไว้เช่นนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลงเล่นละครไปตามกรรมเก่านั้นเสมอไป

ในแต่ละวินาทีของชีวิต เราจะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางของกรรม เราสามารถขีดเขียนทางเดินของเราใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ แล้วมีคนมาบอกว่าการลดเนื้อกินผักนั้นดี เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อได้รับข้อมูลดังนี้ เรามีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงกรรมได้

ทางที่ชัดเจนนั้นมีอยู่แค่สองทางคือกุศลและอกุศล หรือดีและชั่ว ถ้าเราตัดสินใจว่า ที่เขาเสนอมามันก็ดีนะ แม้เราจะยังรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็อยากจะลองศึกษาเพิ่ม อยากจะลองทำดูสักครั้ง ตรงนี้เป็นการสร้างกรรมดี เกิดมโนกรรมที่ดี แม้จะยังไม่ได้เลิกกินเนื้อสัตว์แต่ก็มีทิศทางที่ไปสู่ความดีงาม

แต่ถ้าเราได้ฟังแล้วคิดว่า จะเลิกกินทำไมอร่อยจะตาย เนื้อสัตว์เป็นเพียงธาตุ เราต้องการโปรตีน อันนี้ก็จะไปทางอกุศล คือมีแนวโน้มจะเสพเหมือนเดิม ตามใจกิเลสเหมือนเดิม ทำตัวปล่อยไปตามกรรมเดิม คือมีความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ที่จริงแล้วจะว่าเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วเมื่อมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอาการต่อต้าน นั่นหมายถึงเราต้องเพิ่มความชั่วขึ้นมาเพื่อไม่เอาความดีนั้น นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างกรรมชั่วที่จะยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์มากขึ้นนั่นเอง

ทุกวินาทีเราสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้กิเลสที่สะสมมาจะเขียนบทให้เราเอาแต่สิ่งชั่วเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่พยายามจะเลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ผู้ที่ไม่เคยคิดจะฝืนกิเลส ไม่เคยคิดที่จะต่อต้านกิเลส ก็จะคิดว่าตนเองนั้นถูกกรรมทำให้ไหลไปตามความชั่ว ซึ่งเป็นผู้ประมาท เหมือนปลาที่ตายลอยตามน้ำไปสู่ความฉิบหาย แม้สุดท้ายจะอ้างว่าเพราะกรรมทำมา แต่นั่นก็คือชั่วที่ตนทำมาอยู่ดี แล้วเหตุอะไรที่เราต้องหลงทำชั่วตั้งมากมายจนต้องลำบากคอยรับกรรมชั่วที่ทำให้ทุกข์ ทำให้ไร้สติ ทำให้หลงเช่นนี้ เราจึงควรศึกษาในเหตุแห่งกรรมชั่วนั้น เพื่อที่จะทำลายเหตุนั้นในท้ายที่สุด

6). กรรมเก่าที่หนีไม่พ้น

ในส่วนกรรมเก่าที่หนีไม่พ้นนั้นก็มีอยู่ แม้เราจะป้องกันเต็มที่ด้วยกำแพงศีล สร้างกุศล ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาทก็อาจจะมีวันหนึ่งที่ผลของกรรมสุกงอม สร้างเป็นเหตุการณ์ให้เราได้รับทุกข์ที่ไม่มีวันจะป้องกันได้ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเดินทางไปต่างจังหวัด ขับรถไปด้วยความเร็วปกติ ทำตามกฎจราจร ขับด้วยความระมัดระวัง แต่แล้วกลับมีรถสวนมาชนเข้าอย่างจัง กรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของกรรมเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าเราเองไม่มีความประมาทซึ่งเป็นกิเลส เหตุหนึ่งของความซวยแล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างกรรมชั่วใหม่ ดังนั้นสิ่งที่กระทบก็เป็นผลจากชั่วเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

อีกตัวอย่างในกรณีกรรมดี เราเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่มีจิตใจสูง พร้อมด้วยปัจจัย ๔ และความรู้ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ทำกรรมดีอะไรเลย แต่เรากลับได้รับทั้งอาหาร การดูแลเอาใจใส่ การสั่งสอนที่ดี และโอกาสในการเรียนรู้ เราคิดย้อนไปก็หาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเราจึงได้รับสิ่งที่ดี ทั้งที่เราเกิดมาก็ไม่เห็นได้ทำอะไรที่สมเหตุสมผลที่จะได้รับสิ่งดีเหล่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับก็เป็นผลจากดีเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

7). กรรมเก่าปนกิเลสใหม่

เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนผสมของกรรมเก่าและกรรมใหม่ปนกันอยู่ โดยเฉพาะกรรมที่ปนด้วยกิเลสนั้นรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก มักจะถูกมองอย่างเหมารวมไปหมดว่าเป็นกรรมเก่า จะยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในมุมผลกรรมชั่วที่กิเลส และผลกรรมดีที่ปนกิเลส

ผลกรรมชั่วที่ปนกิเลสเช่น เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาเป็นคู่ครองในชีวิต เราก็จะตั้งความต้องการไว้ว่าต้องหน้าตาประมาณนี้ ต้องมีฐานะประมาณนั้น ต้องมีแนวคิดประมาณนี้ ฯลฯ นี้คือการสร้างกรรมชั่วขึ้นเพราะมีความโลภ ราคะและความหลงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเจอคนที่ตรงใจก็ตัดสินใจเลือก ณ ตอนนี้เป็นการปักมั่นในการเสพสมใจตามกิเลสเป็นการสนองกิเลส สร้างกรรมชั่วสะสมขึ้นมาอีก แล้ววันหนึ่งก็กลับโดนคนที่หมายมั่นทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีนี้จะโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีกิเลสเป็นตัวร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งที่ได้รับนี้เป็นผลมาจากกิเลสที่ยังคงสืบเชื้อชั่วอยู่ในจิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลกรรมดีที่ปนกิเลสเช่น เราเห็นคนแก่ขายล๊อตเตอรี่ ใจเราก็มีเมตตาอยากช่วย จึงช่วยซื้อไป แต่ก็ไม่ได้ซื้อด้วยจิตผ่องใส ยังมีความโลภ อยากได้ อยากถูกรางวัลอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงวันออกฉลาก ก็มีความรู้สึกลุ้น อยากให้เป็นเราที่ถูกรางวัล สุดท้ายเกิดถูกรางวัลขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สะสมมาด้วย ไม่ใช่เพียงผลที่ช่วยคนแก่ เพราะผลที่ช่วยคนแก่จ่ายไปแค่ไม่กี่ร้อย แต่เมื่อถูกรางวัลกลับได้มากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนของกรรมเก่าที่ทำมา ซึ่งก็แค่เพียงได้รับกรรมดีที่ทำมาเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือน่าสนใจแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจคือความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ในระหว่างที่ถือครองความหวังนั้นต่างหาก คือกรรมชั่วได้สะสมผลลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรอวันที่ผลของกรรมชั่วนั้นสุกงอมและได้รับผลของกรรมชั่วนั้นต่อไป

….ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของกรรมก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กรรมและผลของกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ที่ยังมีกิเลสปนอยู่ ซึ่งก็เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์แล้ว

การเรียนรู้เรื่องกรรมให้แจ่มแจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาธรรมะ ผู้ที่เรียนรู้กรรมอย่างละเอียดจนไม่มีใครเทียบได้คือพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ท่านศึกษาอย่างละเอียดมามากกว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้กรรมทุกเหลี่ยมทุกมุมอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแค่เรียนรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ เกิดจากเหตุอะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดัน แล้วจะให้ผลดีร้ายอย่างไร เรียนเกี่ยวกับกิเลสที่ผลักดันให้ทำกรรมชั่วให้แจ่มแจ้งก็เพียงพอแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ

April 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,085 views 1

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ ความฉิบหายของผู้ยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ในกรอบของสมถะ

ในบทความนี้จะชี้ไปถึงความเห็นผิดของผู้ที่ติดภพในการสมถะแบบตรงไปตรงมา เพราะการหลงทางเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้พบกับความสุขแท้ เพราะหลงเพียงแค่สุขลวงของความสงบที่ได้จากสมาธิแบบมิจฉาทิฏฐิ

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการข่มผู้ที่เน้นการปฏิบัติสมถะแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำเป็นต้องใช้พลังของสมถะเข้ามาร่วมในการปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพียงแค่ต้องการให้ “ผู้ที่หลงในสมถะเพียงอย่างเดียว” นั้นได้พิจารณาถึงความยึดมั่นถือมั่นที่จะนำไปสู่ความเนิ่นช้า

จึงได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อเพื่อเสนอให้พิจารณาทั้งหมด 8 หัวข้อดังนี้

1). สับสนอลหม่านสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มักสับสนกับบัญญัติ สมถะ วิปัสสนา และศัพท์อื่นๆอีกมากมายที่หลายต่อหลายคนได้นำมาตั้งชื่อให้เกิดความแตกต่าง ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แนวทางหลักของการปฏิบัตินั้นมีด้วยกันอยู่สองวิธีคือสมถะที่เป็นอุบายให้เกิดความสงบทางใจ และวิปัสสนาที่เป็นอุบายให้เกิดปัญญา

ทีนี้ก็มีหลายสำนักที่มีความเห็นผิด ตั้งชื่อสมถะของตนเองว่าวิปัสสนาบ้าง ไม่ใช่ว่าเพราะเขาตั้งใจล่อลวง แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ จึงมีสำนักวิปัสสนาที่พากันทำแต่สมถะเต็มไปหมด เข้าวัดถือศีลก็พากันทำแต่สมถะ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็พากันไปปฏิบัติให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นลักษณะของสมถะทั้งสิ้น

2). โลกนี้มีแต่สมถะ

พอมีสายสมถะมากเข้าและหลอมรวมวิปัสสนาที่ผิดเพี้ยนเข้าไปกับสมถะ โลกนี้จึงมีแต่การปฏิบัติสมถะ แม้จะมีชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา ก็จะมีแต่สมถะ กลายเป็นเหมือนก่อนพุทธกาลที่มีแต่สมถะ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริงๆ ก็มักจะหลงในความสงบความสุขของสมถะได้ง่าย เพราะการฝึกสมถะนั้นจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถทนต่อสิ่งกระทบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบจนกระทั่งติดความสงบนั้น

พอมันพบความสุขจากความสงบก็จะไม่เอาอะไรแล้ว กลายเป็นโลกนี้มีแต่สมถะ แม้จะมีกำลังสติมาก เจโตมาก แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของพุทธเลย เหมือนโลกก่อนพุทธกาลยังไงอย่างนั้น

3). ตีทิ้งวิปัสสนา

ผู้ที่ติดสมถะมากๆและ “ไม่เข้าใจวิปัสสนา” จะตีทิ้งวิธีวิปัสสนาไว้ท้าย จัดไว้เป็นกระบวนสุดท้าย ไว้ทำทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเลยสมถะกับวิปัสสนานั้นทำงานคนละแบบกันและสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปสลับกันทำ

ผู้ที่เข้าใจทั้งสมถะและวิปัสสนาจะสามารถใช้ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันไม่เหมือนกับคนที่หลงแต่สมถะ ที่ว่าจะทำสมถะสักทีก็ต้องมีเวลา ต้องไปวัด ต้องหาความสงบ อันนี้ยังไม่เข้าใจสมถะดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำสมถะจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสงบ แต่สมถะนั่นแหละคือตัวที่ทำให้จิตสงบ

ทีนี้พอเข้าใจวิปัสสนาไม่ได้ เข้าใจไม่รอบด้าน เข้าใจว่าการคิดพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการหยุดคิด มันก็จะตีทิ้งวิปัสสนา กลายเป็นคนติดภพติดป่าไป ทั้งๆที่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นให้คิด พูด ทำ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วหนีโลกไปทำสมถะ แล้วกลับเข้าเมืองมาค่อยคิด ถ้าเข้าใจแบบนี้ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติมรรค ยังปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพรอยู่

4). สงบจนหลงว่าบรรลุธรรม

เมื่อทำสมถะเอามากๆ กำลังก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถกดกิเลสได้มากขึ้น ถึงขั้นกดโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ กดจนทุกอย่างหาย ดับความคิด ดับสัญญาไปเลย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไปได้ถึงอรูปฌานขั้นท้ายๆ แต่นั้นเป็นฌานฤๅษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ถึงจะได้มากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ซึ่งเป็นโชคดีของคนในสมัยนั้นที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีโอกาสได้รู้ความจริง

มาถึงในสมัยนี้ความเข้าใจในการปฏิบัติกลับผิดเพี้ยนและเอนเอียงในไปทิศทางของฤๅษี หมายเอาความสงบจากสมถะเป็นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่นการนั่งสมาธิ รายละเอียดไม่มีอะไรมากก็เพียงแค่นั่งกดให้นิวรณ์ดับไป จึงเกิดสภาพของฌานไปตามลำดับ ซึ่งก็เกิดได้เป็นลักษณะของฌานโลกีย์ทั่วไป

ด้วยความที่ไม่คบสัตบุรุษ (ผู้รู้สัจธรรมหรืออาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิ) ไม่มีกัลยาณมิตร จึงไม่มีผู้ตรวจสอบสภาวะเหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพของฌานจึงหลงว่าตนนั้นบรรลุธรรม เป็นผู้หลุดพ้นบ้าง เป็นพระอริยะบ้าง

ทั้งๆที่มรรคหรือวิธีปฏิบัตินั้นผิดทางตั้งแต่แรก ผลที่ได้มาย่อมผิด แล้วไปยึดเอาผลที่ผิดเป็นผลที่ถูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะการปฏิบัติสมาธิของพุทธนั้นไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การทำสมถะ ไม่อยู่ในหมวดของสมถะเลย ถ้าจะเรียกว่าสมาธินั้นก็ใช่ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ซึ่งคนละแบบกับสมาธิในมรรค 8

สัมมาสมาธินั้นเกิดจากการปฏิบัติสัมมาอริยมรรคทั้ง 7 องค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสภาพของสมาธิ ไม่ใช่การไปนั่งหลับตาสมาธิกดจิตจบสงบไปแบบนั้น ถ้าทำเช่นนั้นมันจะต่างกับฤๅษีอย่างไร?

5). ปัญญาที่เกิดจากสมถะ

ผู้เข้ามาศึกษาธรรมใหม่ๆก็มักจะได้ยินคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้สามารถแยกอธิบายได้สองอย่าง แบบที่เข้าใจทั่วไปเลยก็คือ เจริญสติ ฝึกสมาธิ ฝึกสมถะไปมากๆแล้วปัญญาจะเกิดเอง กับอีกแบบคือปฏิบัติธรรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดสติปัฏฐานชำแหละกิเลสจนเกิดปัญญา

ปัญญาของสมถะจะเป็นในกรณีแรก และวิปัสสนาจะเป็นกรณีที่สอง โดยส่วนมากแล้วมักจะตกในกรณีของสมถะคือฝึกสติเข้าไปมากๆ เดี๋ยวปัญญามันจะมาเอง สรุปคือการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรนอกจากฝึกสติ ทำสมาธิไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะมาเอง …มันจะง่ายขนาดนั้นจริงหรือ?

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดผลจะเห็นว่าปัญญาที่ได้จากการสมถะและวิปัสสนาเป็นคนละระดับกัน ปัญญาในสติมาปัญญาเกิดของสมถะนั้นจะเป็นปัญญาโลกียะทั่วไป เกิดจากกิเลสสงบเท่านั้น ซึ่งสายสมถะมักจะสอนว่าให้จิตว่างจากความคิด หรือให้หยุดคิดก่อนปัญญาจึงจะเกิด นี้คือมรรคของสมถะ ซึ่งต่างไปจากมรรคของพุทธ

เพราะปัญญาของพุทธนั้นเป็นปัญญารู้แจ้งกิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ก” เพราะปัญญานั้นต้องสร้างขึ้นมาเอง พิจารณาเอาเองจนเกิดปัญญา ใครทำให้ก็ไม่ได้ นั่งสงบแค่ไหนก็ไม่ได้ ไม่สร้างเหตุแล้วจะมาหวังผลจากไหน? มันต้องคิดเอา ทบทวนเอา พิจารณาเอา พิจารณาที่ไหน? ก็พิจารณาไปที่เกิดกิเลสนั่นแหละ

ต่างจากปัญญาสมถะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดับจิต ดับความคิด ดับความขุ่นเคืองโดยใช้วิธีต่างๆของสมถะซึ่งแล้วแต่จะเรียก ก็สามารถได้ความสงบและปัญญาในระดับที่กิเลสสงบได้แล้ว แต่จะหมายความว่านั่นคือปัญญาที่เป็นผลของวิปัสสนานั้นจะขอยืนยันว่า “ไม่ใช่

6). สติสัมปชัญญะไม่เหมือนสติปัฏฐาน ๔

การฝึกสติทุกวันนี้ส่วนมากและมากที่สุดจะเป็นการฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือการฝึกสติสัมปชัญญะ แม้สิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการฝึกสติธรรมดา ที่เอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นที่หมายบ้าง ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงการฝึกสติทั่วไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณารายละเอียดก็จะดูเหมือนๆกันไปหมด ต่างกันที่จุดที่เพ่งสมาธิ จุดที่รวมจิตลงไป สุดท้ายก็กลายเป็นการฝึกสมถะทั้งหมดอยู่ดี

สติสัมปชัญญะกับสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำงานไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่ยังแยกไม่ออก ไม่กระจ่างในความต่างก็จะแยกเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นตัวฝึกสติสัมปชัญญะ   ซึ่งจริงๆแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นกระบวนการชำแหละกิเลสที่ทำงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่แยกกันทำ เพราะมันแยกไม่ได้ องค์ธรรมทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน ที่แยกกันทำได้เพราะไม่เข้าใจแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติปนเปกันไประหว่างสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน ๔

ในอวิชชาสูตรยังมีอ้างอิงไว้ว่าต้องทำสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อม จึงจะทำให้เจริญถึงการสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม เมื่อสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม จึงเกิดสุจริตทั้งกายวาจาใจ เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่ได้ทำงานเป็นตัวกดหรือตัวรู้อย่างทั่วๆไป แต่ทำงานเครื่องชำแหละกิเลส เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนถึงพร้อม จึงจะเจริญต่อถึงโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติต่อไป

จึงจะเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงสติปัฏฐานนั้น สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สำรวมอินทรีย์แล้วทั้งหมด เกิดสุจริตสามแล้วด้วย แล้วยังเหลืองานอะไรให้สติปัฏฐานทำต่อ? ก็มีแต่ชำแหละให้เห็นตัวกิเลสจริงๆเท่านั้นแหละ ไม่ใช่งานของการกดข่มหรือทำให้เกิดสภาพรู้ตัวอะไรอีก เพราะการกดจิตให้สงบ มันทำไปตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นแล้ว

7). การแยกปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

การยึดสมถะนั้นเกิดจากความเห็นผิด เพราะเห็นเพียงว่าการมีสติเพียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแค่สะสมสติให้เต็มรอบก็จะสามารถหลุดพ้นได้ ถ้าถามว่าหลุดได้ไหมมันก็หลุดได้แบบฤๅษีนั่นแหละ สมถะก็มีมรรคและผลแบบสมถะเหมือนกันและทำให้หลงบรรลุธรรมได้ง่ายเหมือนกัน

ความไม่เข้าใจไตรสิกขา หรือการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่าแท้จริงแล้ว สามสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ส่งเสริมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติเพียงแค่เพิ่มกำลังจิตหรือกำลังสติแล้วมันจะได้ศีลและปัญญาไปด้วย

หากไม่เข้าใจว่าทั้งสามสิ่งนั้นทำงานร่วมกันอย่างไรจะเกิดสภาพของการปฏิบัติอย่างเดียวจนสุดโต่ง ในทิศทางของการเพิ่มกำลังจิตก็จะเป็นการเจริญสติ ทำสมาธิ แบบต่างๆ ซึ่งปลายทางก็คือฤๅษีนั่นเอง

การปฏิบัตินั้นต้องเริ่มจากศีล ไม่ใช่แค่การถือศีล แต่เป็นการศึกษาศีล ว่าจะทำอย่างไรเราจะสามารถถือศีลนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับกิเลส เมื่อเห็นกิเลสก็จะต้องใช้กำลังจิตในการข่มใจ และปัญญาในการพิจารณาทำลายกิเลส ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกิเลสตาย ก็เพิ่มศีลเข้าไปอีก อธิศีลให้ยากขึ้นอีก นี้คือไตรสิกขาที่ศีล สมาธิ และปัญญาที่ทำงานไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง

เพราะเมื่อเพิ่มศีล มันก็ต้องยกระดับจิตและปัญญาเพื่อที่จะชำระกิเลสในศีลนั้นๆให้บริสุทธิ์ มันจึงเป็นการสร้างความเจริญทั้งกระบวนการไปพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงมีศีล สมาธิ ปัญญาที่แกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ

8). ไม่แสวงหาอาจารย์

มาถึงต้นเหตุจริงๆที่ทำให้คนติดสมถะก็คือการไม่แสวงหาอาจารย์ มีความคิดเห็นจำนวนมาก เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาอาจารย์ให้ยุ่งยาก บ้างก็ว่าอาจารย์อยู่ในตน ซึ่งถ้าความหมายนั้นคือการเพียรปฏิบัติในตน รู้ในตนนั่นก็ถูกของเขา

แต่ในความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในแบบของพุทธไม่มีอาจารย์ไม่ได้ ยกเว้นเขาเหล่านั้นจะมีบุญบารมีมากพอที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ในหัวข้อนี้จะเอาค่ามาตรฐานกึ่งพุทธกาลที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดเป็นตัวอ้างอิง

คนผู้ไม่แสวงหาอาจารย์แล้วคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติจนเข้าใจเองได้นั้นโดยมากแล้วมักจะเป็นคนเมาอัตตา คนแบบนี้จะขอผ่านไปก่อนไม่อธิบายในหัวข้อนี้ อีกส่วนคือผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ตนเองนั้นแหละคือผู้บรรลุธรรม ในหัวข้อนี้จะมีขยายในประเด็นนี้

ก่อนจะเข้าประเด็น จะขอเสริมในเรื่องของการแสวงหาอาจารย์เสียก่อน ในอวิชชาสูตรได้แสดงให้เป็นว่าต้องได้พบสัตบุรุษ ( ผู้มีสัจธรรม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ หรือพระอริยะ ) เสียก่อนจึงจะสามารถเจริญในธรรมได้ และสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ยังระบุว่าต้องรู้ว่า มีผู้รู้โลกุตระธรรมอยู่ในโลกนี้ แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน และเข้าไปศึกษาให้รู้แจ้ง ทั้งนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะอริยสาวก ดังนั้นหากไม่มีสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สาธยายธรรมนั้นให้ฟัง ก็อย่าหวังเลยว่าชาตินี้จะบรรลุธรรม

เพราะในเมื่อตนเองไม่รู้โลกุตระธรรม แล้วไม่ได้ฟังโลกุตระธรรม แล้วจะเอาผลแบบโลกุตระมาจากไหน ไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล ศึกษาและปฏิบัติแบบโลกียะมันก็ได้แบบโลกียะ บ้างก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปตามเรื่องตามราว ตามวิบากบาปของแต่ละคน

ดังนั้นจึงขอสรุปไว้ในเรื่องของการหาอาจารย์ว่า ถ้ายังไม่เจออาจารย์ที่มั่นใจว่าใช่จริงๆ ปฏิบัติไปก็เท่านั้น ปฏิบัติไปก็หลงทาง สู้หยุดชั่วทำดีไปเรื่อยๆจะดีกว่า

มาต่อในส่วนของผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ของตนนั้นของจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นของจริง แล้วอีกหลายท่านไม่จริงอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร? ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วเราจะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเชื่อตนเองได้อย่างไร

มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าตัวเองโง่ ดังนั้นจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วใช้เวลาศึกษาพิจารณาธรรมะของหลายๆสาย ทดลองพากเพียรปฏิบัติจนเกิดผลเจริญขึ้นในตนเอง ทั้งยังมีจิตที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างในการปฏิบัติจึงจะสามารถเรียนรู้จนเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ได้ คือการที่รู้แล้วว่าอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีนั้นมีอยู่ รู้ด้วยว่าใคร เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในตน นั่นเพราะตนเองปฏิบัติตามก็สามารถพ้นทุกข์ได้จากธรรมของท่านเหล่านั้นนั่นเอง

แต่โดยมากจะไม่เป็นเช่นนั้น มักจะยึดอาจารย์จนกลายเป็นอัตตา แต่ที่ซวยที่สุดคือยึดอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดอาจารย์ที่เป็นฤๅษี ก็เลยพากันติดภพติดสุขกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ พอติดสงบติดสุขแล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นว่าของตัวเองถูกก็เริ่มว่าของคนอื่นผิด พอยึดมากๆก็จะเริ่มไปกล่าวหาว่าตนเองถูกผู้อื่นผิดไปเรื่อย กล่าวหาคนที่ผิดก็ได้วิบากบาปส่วนหนึ่ง แต่วันหนึ่งก็จะมีโอกาสไปกล่าวหาผู้ที่ถูกซึ่งวันนั้นเองเป็นวันที่นรกเปิดต้อนรับผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น

เพราะการเพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทำให้มีวิบากบาปอันแสนจะเจ็บปวดรวดร้าวน่าสยดสยองยิ่งกว่าความตายด้วยกัน ๑๑ ประการ ใครเมาอัตตามากก็จะมีสิทธิ์ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่นได้ นี้แหละคือความซวยของผู้ที่ไปยึดอาจารย์ที่ผิด อาจารย์ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสลดได้จริง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเจริญได้จริง ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้กิเลสโต กามหนาอัตตาจัดขึ้นเรื่อยๆ

จึงสรุปปัญหาทั้งหมด 8 ข้อรวมที่ประโยคนี้ว่า เลือกอาจารย์ผิด ก็ปฏิบัติผิดกันไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทางผิดก็ล้างไม่เป็น ทางที่ถูกก็ไม่รู้ แถมยังมีโอกาสไปเพ่งโทษคนดี ปรามาสในธรรมของคนที่ถูกอีก ไม่รู้จะต้องวนเวียนปฏิบัติผิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ จึงจะสามารถกลับตัวมาปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเสียที

เหมือนในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีในธรรมของพระพุทธเจ้า คนบนโลกมีมากมาย แต่คนที่ศรัทธานั้นมีเพียงหยิบมือเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,461 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,950 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)