Tag: ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

November 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,299 views 1

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการปฏิบัติไปทั้งหมดภายในเวลาเดียวกันไม่แยกจากกัน ในศีลก็มีสมาธิและปัญญา ในปัญญาก็มีศีลและสมาธิ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล และทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเป็นไปเพื่อกันและกัน หากเรานำมาแยกปฏิบัติ จะเกิดสภาพที่เรียกได้ว่าขาดๆเกินๆ เช่น…

…ถ้าปฏิบัติแต่ศีล ก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียดในศีล ถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้สาระในศีล รู้แค่ว่าถือศีลแล้วดี ยิ่งถือศีลมากๆยิ่งดี กลายเป็นหลงงมงายในศีลไป

…ถ้าปฏิบัติแต่สมาธิ ก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษี เข้าภพ เข้าฌาน เข้าภวังค์ สะสมพลังสติ เมาสติ เหมือนนักกล้ามที่ออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้จะเอาความแข็งแกร่งนั้นไปทำประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ดับความคิด ดับสัญญา แต่ดับกิเลสไม่เป็น

…ถ้าปฏิบัติแต่ปัญญา ก็จะกลายเป็นพวกฟุ้งซ่าน อ่านพระไตรปิฏกมากมาย จำได้พูดคล่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่เข้าใจสาระ ไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติ รู้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา

จะเห็นได้ว่าถ้าเรามุ่งแต่ปฏิบัติตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้หลงมัวเมาไปได้ และโดยส่วนมากผู้ที่หลงมัวเมามักจะไม่รู้ตัว และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมา ทำให้การปฏิบัติธรรมไปสู่ความผาสุกนั้นเนิ่นช้าไปเรื่อยๆ เรามาลองดูว่าถ้าปฏิบัติแล้วขาดบางอย่างไปจะเป็นอย่างไร

…ถ้าขาดศีลก็จะฟุ้งไปไกล มักจะหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม มีกำลังสติ สามารถตั้งจิตให้มั่น คงสภาพนั้นๆ เกิดสมาธิได้นาน แถมมีปัญญา คิดและเข้าใจไปเองว่าตนเองมีกำลังสติมาก และเข้าใจธรรมได้ขนาดนี้ ต้องบรรลุธรรมแน่เลย เข้ารกเข้าพงกันไปตามความฟุ้งซ่านของปัญญา

…ถ้าขาดสมาธิก็ยากที่จะเจริญในการปฏิบัติธรรม เหมือนคนอยากวิ่งมาราธอนแต่ร่างกายอ่อนแอ วิ่งไปได้สักพักก็หมดแรง แข่งงานไหนก็ไม่ถึงเส้นชัยกับเขาเสียที แม้จะสามารถถือศีลได้อย่างมีปัญญา แต่ถ้ากำลังสติน้อย ก็ยากที่จะเอาชนะกิเลส ยากที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาที่เป็นผลได้

…ถ้าขาดปัญญาก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษีที่เคร่งวินัย สามารถถือศีลที่ยากๆ และลำบากได้ง่ายๆ เพราะมีสติมาก แต่เป็นการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือศีลแล้วล้างกิเลสไม่เป็น ถือศีลไปอย่างนั้น ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้สาระ ไม่รู้วิธีใช้ศีลให้เกิดปัญญา โดยมากแล้วจะมีรูปสวย ภาพลักษณ์ดูดี คนในสังคมนิยมชมชอบ เพราะจะดูนิ่งและสงบมาก แต่ถ้าให้สอนหรือถ่ายทอดก็จะสอนไม่เป็น ยิ่งสอนยิ่งงง พอโดนไล่ถามมากๆก็มักจะโกรธ หรือไล่ให้ไปปฏิบัติจะรู้เอง เพราะตนเองนั้นไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสไม่เป็นก็ไม่สามารถสอนหรือบอกใครได้

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติถูกทาง การขาดตัวใดตัวหนึ่ง หรือปฏิบัติขาดๆเกินๆจะไม่เกิดขึ้น ศีล สมาธิ และปัญญา จะเสริมเติมกันเองตลอด ยกระดับขึ้นไปพร้อมๆกัน ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เรามาเข้าภาคปฏิบัติกันเลย

1). ปฏิบัติศีลด้วยปัญญาที่เป็นมรรค

ก่อนที่ใครสักคนจะปฏิบัติศีลนั้น เขาจำเป็นต้องมีปัญญาในเบื้องต้น ที่จะทำให้ยินดีที่จะปฏิบัติศีลนั้น เช่นเห็นคุณค่าของศีล เห็นว่าศีลนั้นดี เช่นถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเคร่งครัด เพราะเห็นแล้วว่าศีลข้อนี้จะทำให้ตนไม่ทำบาป การถือศีลนั้นจึงต้องมีปัญญาร่วมด้วยเสมอ ส่วนคนไม่มีปัญญาก็จะไม่ถือศีลเพราะมองว่าศีลนั้นเป็นของไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เหตุนั้นเพราะเขาเองไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นสาระและประโยชน์ในศีลนั้นๆ

2). ปฏิบัติศีลด้วยสมาธิ

เมื่อตั้งศีล ถือศีล พร้อมเอาศีลมาปฏิบัติแล้ว จากนี้ก็ต้องใช้ความอึด ความอดกลั้น ความอดทน ใช้สติ ใช้ขันติ ให้เกิดสภาพของศีลอย่างต่อเนื่อง คือถือศีลอย่างมีสมาธิ ในขั้นตอนนี้ไม่ง่าย เพราะเปรียบได้กับการเข้าสมรภูมิรบ เช่นเราตั้งศีลว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเราได้กลิ่นกาแฟ กิเลสก็มักจะหาเหตุผลให้เราไปเอากาแฟมากินเสมอ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจเกิดอาการอยากกาแฟขึ้นมาเลยก็ได้ สมาธิจะเข้ามาทำงานอย่างมากในช่วงนี้ ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนต่อพลังของกิเลสในจิตใจ กดข่มมันไว้ ไม่ไปเสพสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะละเว้นไว้ เราสามารถเพิ่มพลังสมาธิ หรือกำลังสติได้โดยการฝึกสมถะ

3).สมาธิไปสู่ปัญญา

เมื่อคงสภาพของสมาธิได้แล้ว จึงใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาคุณประโยชน์ของการออกจากสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาโทษของสิ่งที่เป็นภัย พิจารณากรรมและผลของกรรมหากเรายังไปเสพสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาไตรลักษณ์ คือความอยากเสพนั้นทำให้เราทุกข์อย่างไร ความอยากเสพนั้นไม่เที่ยงอย่างไร มันไม่ได้เกิดตลอดใช่หรือไม่ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป พิจารณาอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนของทุกข์นั้น ความอยากไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา เรายึดมันมาเอง เราเป็นคนต้อนรับกิเลสเข้ามาในชีวิตเราเอง แท้จริงมันไม่ใช่เรา

4).ปัญญาที่เป็นผลเจริญ

เมื่อสามารถถือศีล อย่างมีสมาธิ และใช้ปัญญาที่เป็นมรรค คือทางเดิน คือกระบวนการ พิจารณาล้างกิเลส จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จะสามารถที่จะดับกิเลสนั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยงจะเกิดสภาวะของฌานไปตามลำดับ คือปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งจะข้ามวิตกวิจารณ์ไป เพราะทำตั้งแต่ในข้อสามแล้ว ฌานนี้จะไม่เหมือนกับวิธีเข้าฌานนั่งสมาธิ เพราะเป็นฌานเพ่งเผากิเลส จะเกิดก็ต่อเมื่อได้ทำการล้างกิเลสจนเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ ซึ่งการเกิดสภาพของฌานแรงหรือเบา ผ่านไปเร็วหรือตั้งอยู่นาน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความยากของกิเลสนั้นๆ หรือความเคยชินของการฆ่ากิเลส

5).ปฏิบัติไปจะค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมหาสมุทร ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ

การปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำทีเดียวบรรลุธรรมถึงวิมุตติได้เลย จะรู้แจ้งเข้าใจได้เลย แต่จะต้องทำไปตามลำดับ เกิดปัญญาไปตามลำดับ เพิ่มพลังสติไปตามลำดับ ปฏิบัติอธิศีล แปลว่า ยกระดับศีลไปเรื่อยๆ เพื่อปฏิบัติอธิจิต และอธิปัญญา การปฏิบัติเช่นนี้จะเจริญไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น แต่มันจะไม่รู้สึกยากเหมือนกับตอนแรกที่เราเริ่มปฏิบัติธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราตั้งใจเลิกกาแฟเลย มันจะยากมาก มันจะตัดใจยาก มันจะทรมาน มันจะแพ้กิเลสอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเราหัดลดปริมาณการดื่มจากวันละสองแก้วเป็นวันละแก้ว ค่อยๆหัดละจากกินทุกวันเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เพิ่มวันที่ละให้เยอะขึ้นจาก 3..4..5.. วัน จนถึง 1 เดือน 2 เดือน สุดท้ายก็จะสามารถตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น เพราะเราปฏิบัติธรรมไปตามลำดับ เจริญไปตามลำดับ เก็บสะสมพลังสติ พลังปัญญาไปตามลำดับ

6).เมื่อถึงเป้าหมาย สามารถอนุโลมถอยกลับมาได้

เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสนั้นได้จริง เรียกว่าถึงวิมุตติ จะมีสภาพรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในความอยากนั้น จะไม่มีวันที่จะกลับไปอยากเสพอีก รู้โทษชั่วของการเสพสิ่งนั้น รู้ชัดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะสามารถทำลายกิเลสนั้นได้ จึงสามารถย้อนกลับไปสอนหรือแนะนำคนที่ยังไม่ผ่านกิเลสด่านนั้นได้ หรือกระทั่งสามารถอนุโลมกลับไปเสพได้ในบางกรณี โดยไม่เกิดบาป เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส ผู้ที่กำจัดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว แม้จะกลับไปเสพก็ไม่บาปแต่อย่างใด แต่จะมีอกุศล หรือโทษภัยบางอย่างเช่น ถ้ากลับไปกินกาแฟ ก็ไม่ได้กินเพราะความอยาก ไม่ได้ติดใจในรสชาติ แต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้สารที่ทำให้ตาสว่าง จึงยอมรับผลเสียต่อสุขภาพนั้นไป และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่กลับไปใช้วิธีนั้นอีก จะสามารถทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปได้อีก หาวิธีเลี่ยงสิ่งนั้นเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ายิ่งเสพยิ่งทุกข์

ในขั้นตอนนี้ คนที่หลงว่าตนบรรลุธรรมมักจะเอาไปอวดอ้างว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว ไม่เกิดกิเลสแล้วจึงเสพได้ เสพไปจิตไม่เกิด ไม่คิดอะไร ความหลงในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วิธีตรวจสอบคือ เราต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้บรรลุธรรมเอง ก็จะทำให้รู้ความแตกต่างของคนที่หลงว่าตนบรรลุธรรม กับคนที่บรรลุธรรมจริง ได้ชัดเจนขึ้น จะประมาณได้เก่งขึ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร อันไหนจริง อันไหนหลอก จะกระจ่างขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีส่วนของวิบากกรรมที่อาจจะมาทำให้การประเมินผิดพลาดได้

เมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง และโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ การจะไปสนใจคนอื่นนั้นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาที่มีมาเพ่งเพียรปฏิบัติให้ตนเองเกิดผลเจริญจะดีกว่า ส่วนใครจะของจริงของปลอมอย่างไรมันก็เรื่องของเขา บาปบุญของเขา อะไรดีเราก็ช่วยเหลือส่งเสริม อะไรไม่ดีเราก็ห่างเข้าไว้

7).ได้มาหนึ่ง แต่ต่อไปก็จะง่ายขึ้นเพราะทำเป็นแล้ว

เมื่อสามารถเข้าใจกระบวนการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือการปฏิบัติไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ความเข้าใจนี้หมายถึงเข้าใจตั้งแต่มรรคไปจนถึงผล เข้าใจตั้งแต่การเริ่มมีปัญญา มาปฏิบัติ จนทำลายกิเลสนั้น ก็จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆได้ เพราะกิเลสทุกตัวก็ทำลายเหมือนกันนั่นเอง คือพิจารณาลงไปถึงที่เกิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ เพื่อดับมัน

ในกรณีที่ทำลายกิเลสตัวใหญ่หรือตัวที่ติดมากได้แล้ว เราจะสามารถเก็บตัวเล็กตัวน้อยได้ง่ายขึ้น เช่นเราติดกาแฟแล้วทำลายความอยากกาแฟทิ้ง เราจะสามารถพิจารณาฆ่ากิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟได้ง่ายขึ้น เช่น ชา โกโก้ เพราะอยู่ในหมวดของความอยากในรส กลิ่น ของกินเล่น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะติดสิ่งใดในมุมไหน ซึ่งเหลี่ยมมุมของกิเลสในแต่ละคนก็จะต่างกัน

8).พลาดไปกับกิเลสเป็นเรื่องปกติ

คนที่ตั้งใจปฏิบัติศีล เพื่อล้างกิเลสนั้น ถ้าปฏิบัติใหม่ๆมักจะมีอัตตาแรง แพ้ไม่เป็น แพ้แล้วชอบล้มเลิก แพ้แล้วชอบตีตัวเองซ้ำ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน อยากทำลายกิเลสไวๆ อยากให้เกิดผลมากกว่าที่ปฏิบัติ เข้าใจว่าการที่ตนเองปฏิบัตินั้นต้องผ่านกิเลสได้ พอผ่านไม่ได้ก็ทุกข์ อกหักอกพัง

บ้างก็เจ็บ ขยาด หนีไปเลียแผลกันอยู่นาน บ้างก็เลิกถือศีลนั้นไประยะหนึ่ง บ้างก็เลิกปฏิบัติธรรมไปเลย นั่นเพราะเราคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จดังใจ คิดว่าเราต้องทำได้ คิดว่าเราต้องไม่พลาด ทั้งๆที่ไม่ได้มองความจริงเลยว่ากิเลสเราช่างหนาและยิ่งใหญ่นัก การจะเอาชนะมันด้วยการคิดเอา จินตนาการเอานั้นเป็นไปไม่ได้เลย

การพลาดไปกับกิเลสแม้ว่าเราจะถือศีล อย่างตั้งมั่น มีสติอย่างเต็มเปี่ยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิด เพราะถ้ากิเลสใดง่าย เราก็จะผ่านมันไปแบบไม่สนใจ ไม่รู้คุณค่า เมื่อผ่านกิเลสง่ายๆได้หมด สุดท้ายก็ต้องตั้งศีลที่ยากขึ้น หรือปฏิบัติอธิศีล เช่น จากกินสามมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียว เมื่อถือศีลเกินฐานเดิม ความผิดพลาดก็มักจะมีเป็นเรื่องธรรมดา

การพ่ายแพ้กิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะไม่ล้มนาน และเราจะไม่แพ้ตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะแพ้ เราก็จะหน้าด้านสู้ ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโทษของกิเลสนั้นต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ย่อท้อ

9).ฝึกสติแต่ไม่ปฏิบัติศีล

เรามักจะได้เห็นการฝึกสติ ที่ไม่ปฏิบัติศีลอยู่เป็นประจำ ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากเราปฏิบัติ เจริญสติ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนที่เพาะกล้ามแต่ไม่รู้จะเอากล้ามไปทำประโยชน์อะไร เหมือนมีดที่ลับคมดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาไปหั่นอะไร เหมือนคนที่เรียนรู้วิชามากมาย แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อะไร

การปฏิบัติศีลเหมือนการเข้าสมรภูมิรบ ผู้ที่ฝึกสติแต่ไม่สนใจศีล ก็เหมือนกับสิงห์สนามซ้อม หมูสนามจริง เพราะจริงๆแล้ว เราสามารถพัฒนากำลังสติของเราได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจะสามารถรู้ถึงกำลังสติของตัวเองที่เจริญขึ้นมาได้ เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่มีเพื่อการดับกิเลส ไม่ใช่การฝึกสติแบบฤาษีชีพราหมณ์ ซึ่งการฝึกสติหรือทำสมาธิสะสมพลังฌานเช่นนั้นมีมาก่อนศาสนาพุทธแล้ว เป็นการฝึกสติและสมาธิทั่วๆไป ที่มีอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่ได้พิเศษเหมือนสติแบบพุทธ หรือสัมมาสติ คือสติที่เป็นไปเพื่อการทำลายกิเลสเท่านั้น

ผู้ที่ฝึกมิจฉาสติมากอาจจะทำให้ไปหลงในฤทธิ์ ในคุณวิเศษ หรือหลงในมโนมยอัตตาของตัวเอง คือการที่จิตตัวเองปั้นภาพ หรือเสียง เหตุการณ์ อารมณ์ ความสุข ฯลฯขึ้นมาเอง เช่นการเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นการปั้นที่เกิดมาจากกิเลส ดึงสัญญาที่เคยจำไว้ออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นจะเห็นจริงๆ เสียงที่ได้ยินจะได้ยินจริงๆ แต่ไม่ใช่ของจริง จะรับรู้ได้อยู่คนเดียว เห็นเทวดา ผีสาง นรกสวรรค์ก็เป็นไปตามจินตนาการของคนนั้นคนเดียว กลายเป็นหลงว่าบรรลุธรรม หลงไปติดภพ ติดนิมิต ติดมโนมยอัตตา

คนเหล่านี้จะสามารถพบเหตุการณ์ที่คนอื่นไม่เห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระของการปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสไม่ตาย อย่างมากก็ได้แค่กดข่มข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า คืออุทกดาบส และอาฬารดาบส เข้าได้ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเป็นฌานฤาษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ฌานพุทธต้องเกิดจากการเพ่งเผากิเลสเท่านั้น นอกนั้นเป็นสภาวะของการกดจิตให้ดำดิ่งลงไปในภพต่างๆทั้งสิ้น

10).ปฏิบัติศีลเกินกำลังสติ

ก่อนจะเข้าเรื่องว่าอะไรมากไปน้อยไปจะขอเกริ่นเรื่องทางสายกลางเสียก่อน ทางสายกลางของพุทธนั้นต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือเว้นจากกามสุขัลลิกะ และอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นบทแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม นั่นคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กามสุขัลลิกะ  คือการไปเสพสุขลวง ไปเสพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความสุขนั้นมาจากกิเลส ท่านให้เว้นจากทางนี้คือไม่ไปเสพสุขลวง

อัตตกิลมถะ คือการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือมีความยึดดี ถือดี ท่านให้เว้นจากทางนี้เช่นกัน คือไม่ให้มีอัตตา

การจะปฏิบัติให้เข้าสู่ทางสายกลางนั้นต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้าน กามก็ไม่ไปเสพ อัตตาก็ไม่มี จึงจะเข้าสู่สภาวะของทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘

การปฏิบัติศีลเกินกำลังสติมักจะเกิดกับคนที่ประมาณไม่เก่ง คนที่โลภ คนที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติศีล ก็มักจะถือศีลที่เกินกำลัง เช่นตัวเองอินทรีย์พละน้อย แต่ก็ฝืนไปถือศีลอพรหมจริยา ในระดับอธิศีล คือการไม่มีคู่ ประพฤติตนเป็นโสด ทีนี้ตอนตั้งศีลมันก็คิดเอาได้ แต่พอปฏิบัติจริงมันทำไม่ได้ จิตใจมันโหยหา อยากได้ใครสักคนมาครอบครอง ต้องพบกับความเหงา ความหดหู่ ยิ่งถือศีลยิ่งเก็บกด เพราะในใจอยากมีคู่ แต่มีปมในใจบางอย่างที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการโสด จึงเกิดทุกข์ภายในตัวเอง เข้าข่ายอัตตกิลมถะ(ทางโต่งไปด้านอัตตา)ยึดศีลนั้นว่าดี ทั้งๆที่ศีลนั้นเกิดฐานของตัวเองไปมาก เกินกำลังสติปัญญาของตัวเองไปมาก นอกจากจะไม่เจริญทางจิตใจแล้ว ยังกลายเป็นบาป เพราะมีการทรมานตัวเองด้วยการยึดดี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไม่เป็นไปในทางสายกลาง โต่งไปทางด้านอัตตา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้

หรืออาจจะเปลี่ยนขั้วกลับไปทางกามสุขัลลิกะ (ทางโต่งด้านการเสพสุขลวง) ตบะแตก ทำลายศีลตัวเอง เข้าใจว่าถือศีลไปก็ทุกข์ ว่าแล้วก็ไปมีคู่มันซะเลย แต่ไปมีคู่จากความอยาก ความเก็บกด สุดท้ายก็จะเป็นภัยต่อตัวเองอยู่ดี เพราะแทนที่จะมีคู่ด้วยสภาพปกติ แต่กลับเป็นมีคู่ด้วยอาการอยากเสพอย่างรุนแรง มีอาการดูดดึงอย่างรุนแรง เพราะเป็นอาการที่ตีกลับจากทางโต่งด้านอัตตา

ผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติไปตามฐานของตัวเอง ให้เจริญไปตามลำดับ ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนมหาสมุทรค่อยๆลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับ ไม่ชันเหมือนเหว

11).ปฏิบัติกลับหน้าเป็นหลัง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ คือการละในสภาวะส่วนของกามสุขัลลิกะ หรือละการหลงเสพก่อน แล้วค่อยละฝั่งอัตตา

เช่นเมื่อเราติดกาแฟ ก็ควรจะทำลายความอยากเสพกาแฟก่อน ไม่ใช่ไปพิจารณาไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เพราะถ้าพิจารณาล้างอัตตา ล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน มันก็จะเฉโกหรือฉลาดไปในทางกิเลส คือกลายเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกินกาแฟ ว่าแล้วก็กลับไปกินกาแฟเหมือนเดิม แล้วหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม

คือลักษณะที่ไม่ล้างกิเลสไปตามลำดับ เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ล้างอัตตาก่อนล้างกาม พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไปเสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ชั่วอยู่นั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสนั้นทั้ง3ภพ คือละ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปตามลำดับ โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิจิต อธิศีล อธิปัญญา ดังกระบวนการ 1-7 ที่ได้อธิบายไปข้างต้น

เราต้องละกามภพก่อน กามภพ คือสภาพที่ยังไปเสพ ไปติด ไปยึด ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตัว แล้วค่อยละรูปภพ คือสภาพที่ไม่ไปเสพแล้ว แต่ยังมีอาการอยากเสพที่เห็นได้ในจิตตัวเอง ซึ่งก็สามารถข่มใจไม่ให้ไปเสพไว้ได้ และสุดท้ายคืออรูปภพคือสภาวะที่มองไม่เห็นความอยากเป็นรูป ไม่เห็นการปรุงแต่งความอยากชัดๆแล้ว แต่เมื่อไม่ได้เสพจะหลงเหลืออาการขุ่นใจ ไม่สบายใจ โหยหา พะวง หรือจิตใจไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายนั่นเอง เมื่อละสามภพนี้ไปตามลำดับ จึงจะสามารถพบกับวิมุตติได้

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแบบล้างอัตตา หรือล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน โดยที่ไม่ได้ล้างกาม คือการที่ยังไปเสพสมใจในสิ่งที่ชอบ หรือติดนั้นอยู่ จะเกิดสภาพบรรลุธรรมหลอกๆ หลงว่าตนบรรลุธรรมแล้วเสพได้ กลายเป็นพวกเฉโก ไม่บรรลุธรรม ไม่พ้นทุกข์ เพราะเอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ปฏิบัติไม่ถูกวิธี

– – – – – – – – – – – – – – –

1.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,080 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คุณค่าของความรัก

October 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,401 views 0

คุณค่าของความรัก

คุณค่าของความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น

ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง

คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…

หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ

หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก

ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน

แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้

ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล

เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส

…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,717 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์