Tag: ความรู้สึก
ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ”
ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้
ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น
…อัตตาบังความจริงใจ
สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย
อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน
ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้
ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์
ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ
…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ
สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ
เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ
ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้
…ความหลงผิดในสมถะวิธี
เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด
สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก
แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น
สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ
เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย
…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์
มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง
นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน
…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ
การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก
ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง
ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป
ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก
…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง
หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก
สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร
ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้
การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน
อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต
เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
1.1) วิธีการตรวจอดีต
จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป
1.2) วิธีการตรวจอนาคต
ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต
….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี
เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย
2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘
คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส
เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน
2.1) อดีตและอนาคต
เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ
2.2) อดีต
รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ
2.3) อนาคต
และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ
และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้
คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร
ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง
สรุป
การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว
ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว
เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
แด่วันสุดท้ายของเธอ…
แด่วันสุดท้ายของเธอ…
ในชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เราคงมีโอกาสตายกันได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่การพลัดพรากจากกันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราจะต้องพรากไปจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุสิ่งของ คนรอบข้าง ชื่อเสียงเกียรติยศ กระทั่งความรู้สึกนึกคิดบางอย่างได้เสื่อมสลายและตายจากเราไปทีละน้อยทีละน้อย
คงจะมีหลายครั้งที่เราได้มีโอกาสเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังจะจากไป ผู้ที่กำลังจะทิ้งร่างกายนี้ไป ผู้ที่กำลังจะตายไป… แต่โอกาสเหล่านั้นมักมีอยู่ในช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราเองก็มักจะก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร และไม่รู้ว่าจะคิดอะไรจึงจะดี… ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางขันธ์ หรือการส่งผู้ที่กำลังจะจากไปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่กำลังจะจากไป
คิด พูด ทำ อย่างไรดี…
แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็ขอให้นึกไว้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำบรรยากาศให้ดีที่สุด คือการคิด พูด ทำ ให้ตนเองและผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ดี
ผู้ดูแลควรจะมีทักษะในการพูดให้เป็นกุศล พูดให้เกิดความรู้สึกดี รู้จักประคองความรู้สึกของผู้อื่น ช่างสังเกตและแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดก็ได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือทำให้จิตใจของทุกคนเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความรู้สึกดีๆ ก่อนจะจากกันไป และแม้ว่าจะไม่เกิดดีตามที่ได้คาดหวังไว้ ก็สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้
การพาผู้ที่กำลังจะจากไป ย้อนกลับไปสู่อดีต คือพากลับไปสู่ความทรงจำดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน โดยให้ระลึกไปถึงความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไม่ใช่รำพึงรำพัน บุญกุศลต่างๆที่เคยทำมา การขอโทษและให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน เพื่อลดการผูกมัดกับสิ่งที่ฝังใจในอดีต
การพาผู้ที่กำลังจากไป เดินทางไปสู่อนาคต อ้างอิงจากอดีตคือบุญกุศลที่เคยทำมา เมื่อทำกรรมดีมา ยังไงกรรมก็ต้องพาไปพบเจอสิ่งที่ดี ทางข้างหน้าไม่ได้เลวร้าย เพียงแค่ทิ้งร่างกายที่เก่าและทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่เท่านั้น เพียงแค่หลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อีกภพหนึ่ง อีกตอนหนึ่งของเราแล้ว เหมือนดั่งในจุดเริ่มต้นตอนเราเกิดมาชาตินี้ ก็เป็นเพียงไปเล่นละครในบทใหม่เท่านั้น โดยพูดไปในทางบวกให้คลายกังวล เพราะความกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมและผลของกรรม จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป
การพาผู้ที่กำลังจากไป อยู่กับปัจจุปัน หลังจากดับความกังวลในอดีตและอนาคตได้พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศลได้อย่างแท้จริง แม้ผู้ที่กำลังจะจากไปจะคิดเรื่องดีๆที่ตัวเองทำไม่ออก แต่ถ้าสามารถพาให้เขาได้คิดดี พูดดี ทำดี ในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถสร้างทั้งอดีตที่ดีและอนาคตที่ดีในเวลาเดียวกัน
เมื่อเราคลายทุกข์ในจิตใจที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว ก็ให้ประคองจิตอันเป็นกุศลเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ความอดทนเสียสละ เข้าใจและเห็นใจ ตั้งสติของตัวเองให้มาก โดยไม่ให้เหตุแห่งความเสียใจของตนนั้นไปสร้างจิตอกุศลให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราเผลอร้องไห้เสียใจฟูมฟาย ก็อาจจะสร้างทุกข์ใจให้กับผู้ที่กำลังจะจากไปเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการประคองสภาพจิตที่เป็นกุศลจนถึงวินาทีสุดท้าย จำเป็นต้องใช้ความตั้งมั่นอย่างมาก
เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้เราพูดไปแล้วเขาก็ดีขึ้น แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็คิดกังวลอีกครั้ง เราก็ต้องประคองให้เขาคิดเป็นกุศลอีกครั้ง โดยไม่คิดโกรธ รำคาญ ย่อท้อ หดหู่ เพราะภาวะของคนใกล้ตายนั้นจะมีความรุนแรง สับสน ซับซ้อน แปรผันตามกิเลสและวิบากบาปที่เขาเหล่านั้นสะสมมา
ทุกข์จากใจ…
ความกลัว ความกังวลของผู้ที่กำลังจากไปนั้นมาจากกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจ แม้ว่าจะเคยแสดงบทเป็นคนเข้มแข็งมาทั้งชีวิต แต่ในช่วงสุดท้ายก็อาจจะแสดงความอ่อนแอทั้งหมดที่เก็บไว้ออกมาก็เป็นได้ การจะพาให้ผู้ที่กำลังจากไปนั้นล้างกิเลสเหล่านั้นคงจะทำได้ยาก เพราะเวลาคงมีไม่มากพอและเราเองก็คงจะไม่รู้วิธีล้างกิเลสเหล่านั้น ดังนั้นจะไปคิด หรือไปบอกให้เขาว่า อย่ากังวล อย่ากลัว อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็คงจะเป็นไปได้บ้างสำหรับบางคน ที่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับใจให้ปล่อยวางได้ ดังนั้นแม้สุดท้ายเราจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังต้องทนทุกข์เพราะใจของเขาเอง เราก็คงต้องปล่อยวางด้วย
แม้แต่ความกังวลของเราเองนั้น ก็ควรจะต้องตัดไปให้ได้ก่อน เพราะการที่เรายังคิดมาก กังวล เครียด กลัว นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว แม้จะสามารถแสดงออกว่าสดชื่นแต่คนอื่นก็ยังจะสามารถรู้สึกถึงความทุกข์ข้างในได้ การทำใจของตัวเองให้ยอมรับการจากไปของเขาหรือเธอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสียก่อน ยอมรับว่าทุกคนก็ต้องเจ็บป่วย ทุกคนก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องจากและพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่อย่างคงทนถาวรเลย
หน้าที่ของเรานั้นคือทำใจให้เป็นหลักให้เขายึดเกาะ ก่อนที่เราจะส่งให้เขาไปยึดอาศัยในสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่าเรา ดังนั้นถ้าคนที่คอยประคองอย่างเรา มีจิตใจหวั่นไหวดังไม้ปักเลน ทั้งเขาและเราก็คงจะร่วงหล่นสู่อกุศลจิตได้ง่าย ดังนั้นการทำตนให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว จะช่วยพาเขาไปสู่สิ่งกุศลอื่นๆที่เราจะนำพาไปได้อย่างราบรื่น
จากโดยไม่ได้ลา…
ในหลายๆครั้ง เรามักจะต้องพบกับการจากโดยที่ไม่มีโอกาสลา อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้พูดคุยพบเจอกันมานานแล้ว หรืออาจจะเป็นที่คนที่พึ่งบอกลาแยกย้ายกันไปได้ไม่นานนี้เอง เมื่อไม่ได้ลาก็ไม่เป็นไร… แต่ก็ให้ความรัก หลง โกรธ ชัง นั้นตายตามไปกับเขาด้วย ไม่ต้องเก็บเอาไว้กับเรา เมื่อเขาจากไปแล้วก็จะไม่มี “เรื่องระหว่างเราสองคน” อีกต่อไปดังนั้นความรู้สึกผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขอให้ปล่อยลอยหายไปพร้อมกับชีวิตที่หายไปด้วย เหลือทิ้งไว้แต่เรื่องราว ประสบการณ์ เท่านั้น เราจะไม่ลืมเขา และเราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ดีว่า…จากกันไม่ตลอดไป
อย่ากังวลไปเลย แล้วเราจะพบกันใหม่…ไม่มีสิ่งใดจากไปอย่างถาวร และไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป เราต้องเจอกับการพบพรากจากลาอยู่อย่างนี้เสมอ เป็นแบบนี้ตลอดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ตราบใดที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องวนกลับมาพบกันอยู่เรื่อยๆ กลับมาร่วมบุญกุศลกัน กลับมาร่วมใช้กรรมต่อกันและกัน เหมือนอย่างที่เราเป็นในชาตินี้นี่เอง
– – – – – – – – – – – – – – –
10.9.2557
รับน้อง
รับน้อง
ช่วงนี้ได้ยินข่าวการรับน้อง เป็นอีกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรไม่ดี แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำกิจกรรมอย่างประมาท เพราะเราคิดอย่างประมาท
การรับน้องเป็นเรื่องของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และกิเลส ซึ่งมีมานานตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็คงจะไม่เสียเวลาไปค้นหากันให้ยุ่งยาก รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม หรือเป็นการสนองตัณหา เสริมกิเลสก็พอ
ผมเองเคยเป็นทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ที่เคยรับน้อง ซึ่งเข้าใจดีถึงประเพณีที่ปนเปื้อนไปด้วยความอยากที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน สมัยเป็นรุ่นน้องก็เคยเห็นเพื่อนๆเขาจริงจังกับกิจกรรมของรุ่นพี่ พอมาเป็นรุ่นพี่เราก็เห็นรุ่นพี่ทั้งหลายสนุกกับกิจกรรมของตัวเองโดยมีรุ่นน้องเป็นเหยื่อเหมือนกัน
จะสังเกตได้ว่ายิ่งนานวันไปกลุ่มที่มีลักษณะการรับน้องที่มีความรุนแรงและอารมณ์เข้ามาปนเปื้อนเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงและอารมณ์เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในรูปของการบาดเจ็บล้มตายและความเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น เพราะกิเลสจะยิ่งพัฒนาตัวเองส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นพี่ทำแบบนี้ พอรุ่นน้องมารับช่วงต่อ ก็เก็บเอากิเลสของรุ่นพี่มาต่อยอด คือต้องทำให้มันเจ๋งกว่ารุ่นพี่ พัฒนากันไปตามที่ใจอยากจะเป็น
ก็คงจะดีถ้าทิศทางการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เกิดความดีงาม เกิดการพัฒนาในเชิงบวก มีกิจกรรมมากมายที่รุ่นพี่สามารถออกแบบใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดกรอบเดิมๆที่เขาคิดไว้ กิจกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ ความอดทน ความกล้า ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี นั้นมีมากมาย ถ้าคิดกันง่ายๆ ก็กิจกรรมจำพวกงานจิตอาสาต่างๆ เช่น…
..ชวนกันไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆก็ได้ แค่นี้ก็วัดใจแล้วว่าจะกล้าลดตัวลดตน มาทำดีรึเปล่า
….ไปทาสี โรงเรียน วัด ก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ ขนอิฐ แบกปูน แค่นี้ก็วัดความสามัคคี ความอดทน ความเป็นผู้นำ กันได้แล้ว
……ไปปลูกต้นไม้ ขุดลอกคลอง เก็บผักตบชวา ดำนา เกี่ยวข้าว …มีกิจกรรมที่สามารถดึงความสามัคคีและสร้างสรรค์ได้มากมาย เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องลำบากเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น
ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายๆกลุ่มที่เขาทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะมองว่าแบบนี้แปลกไม่เหมือนรับน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางขัดใจ ขัดกิเลส ไม่ไปทางอกุศล ตามที่คนส่วนใหญ่มักเมามายในกิจกรรมที่พาให้หลงไปในสิ่งมัวเมาในอารมณ์ เมาโลกธรรม เมาอัตตา คือรุ่นพี่ก็เมาสรรเสริญ เมายศ หลงมัวเมาไปว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ สั่งรุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วยศ อำนาจ เหล่านั้น เราก็ปั้นขึ้นมาเอง
เพราะความจริงเราก็เป็นแค่คนที่เข้ามาเรียนก่อนเขาปีหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่เรียนจบก่อน แล้วมันยังไงละ? มันดี มันเด่น มันยอดกว่าตรงไหน ตรงความรู้ใช่ไหม? สิ่งที่รุ่นน้องกับรุ่นพี่ต่างกันชัดเจนก็คือความรู้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาถ่ายทอดกันมากกว่า ส่วนเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องการใช้อำนาจ การใช้กำลัง ความมัวเมา ใครก็ทำได้ ลองเอาปืนใส่มือเด็กสิ เด็กก็ยิงเป็น เผลอๆจะแม่นกว่าผู้ใหญ่อีก
ดังนั้นเราอย่าไปแข่งกันทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย เพราะเรื่องแบบนี้ใครก็ทำได้ แค่เพียงเขาไม่ทำกัน เพราะเขาเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น คนที่ไม่เห็นผลเสียแล้วยังมองว่าดี ก็เหมือนยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ถ้าเราสามารถกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ“รับน้องไปทำไม” เราจะคิดอะไรดีๆได้อีกมากมาย แล้วก็มาคิดกันต่อว่า แล้วรับน้องอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ทั้งกับเรากับน้อง จุดประสงค์คืออะไร ผลที่จะได้รับคืออะไร แล้วค่อยหากิจกรรมที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์มาคิดกันอีกที
ถ้าทางที่รุ่นพี่พากันทำกันมามันคือทางที่ไม่สร้างสรรค์ พาให้เป็นทุกข์ พาไปนรก เรายังจะเดินตามกันไปอีกหรือ?
– – – – – – – – – – – – – – –
4.9.2557