Tag: คนชั่ว

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,882 views 0

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

แค่มีศีลมีธรรม คนชั่วเขาก็หนีแล้ว

ยิ่งเสนอให้เขาถือศีล เขาจะทุกข์ร้อนหวาดผวา

เหมือนที่ใครเขาเปรียบกันว่า

ถ้าจะกันผี(กิเลส) ต้องใช้สายสิญจน์(ศีล)

……………………………………..

การที่เราเจอแต่คนพาลเข้ามาในชีวิตนั้น ใช่ว่าจะเกิดจากกรรมเก่าในปางก่อนเสมอไป ส่วนใหญ่ก็กรรมเก่าในชาตินี้นี่แหละ คือไม่ศึกษาวิธีป้องกันคนชั่ว ไม่เคยมีศีลมีธรรมเป็นเกราะคุ้มครองตนเอง พอเจอคนชั่วก็โทษกรรมเก่าในชาติก่อนๆเสียหมด กลายเป็นว่าหาเหตุไม่ได้ หาที่มาไม่ได้ พอหาเหตุไม่ได้ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้เช่นกัน

การที่เรายังชั่วอยู่นั้น หมายถึงเราเองเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ยังดึงดูดคนชั่วเข้ามาในชีวิต เพราะถ้าเราชั่ว เราก็จะได้เจอกับคนชั่วๆ อยู่ในสังคมชั่วๆ วนเวียนอยู่กับคนพาลที่สร้างปัญหาให้กับชีวิต

การเริ่มต้นห่างไกลคนพาล ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สมควรทำเพื่อชีวิตที่ผาสุกคือทำลายความชั่วในตนเสียก่อน เพราะสิ่งที่ดึงดูดชั่วภายนอกเข้ามาหาก็คือชั่วข้างในตัวเองนี่แหละ ดังนั้นหากจะโทษสิ่งใดสักสิ่งที่นำสิ่งชั่วเข้ามาในชีวิตเราก็โทษความชั่วที่เรายังมีนี่แหละ ยังไม่ต้องไปโทษเวรโทษกรรมอะไรที่มันไกลตัวหรอก เพราะชั่วนี่มันเห็นได้ง่าย กรรมมันเห็นได้ยาก

พอเราเริ่มมีศีลมีธรรมก็จะเป็นเกราะคุ้มครองที่ดีระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด เราจึงควรมีกลยุทธ์เชิงรุกด้วย นั่นคือชักชวนให้คนรอบข้างถือศีล คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าเขาดีพอ เขาก็จะเอาดีและพยายามจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเจริญ แต่ถ้าเขาชั่วมาก เขาจะออกไปจากชีวิตเราเอง เพราะทนความดีไม่ไหว นั่นเพราะชั่วในตัวเขามันไม่ยอมให้ทำดี

ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเขาและตัวเรา สำหรับตัวเขานั้นก็จะได้ไม่ต้องมาทำบาปเวรภัยกับคนอื่น เพราะมีดีมาขวางไว้ และได้เรียนรู้ว่าความดีนั้นเป็นอย่างไร เอาดีมาถ่วงไว้จะได้ไม่ชั่วมากจนเกินไป สำหรับตัวเรานั้นก็ได้อาจจะได้ทั้งบุญและกุศลเกิดขึ้นกับเรา เป็นพลังที่จะหนุนให้เราเกิดความสุขความเจริญ ห่างไกลคนพาล ปกป้องคุ้มครองตัวเองโดยธรรม

แม้แต่คนพาลที่เข้ามาในคราบของคนดี เป็นสัตว์ร้ายที่ปลอมตัวมา เป็นมารในคราบเทวดา แม้จะมีท่าทางดูดี คิดดี พูดดี ทำดี ในทีแรก แต่ถ้าเจอศีลเข้าไปแล้วก็ยากที่จะรอด เพราะศีลจะทำให้คนกิเลสหนาเกิดอาการร้อนรน ไม่เอาศีล รังเกียจศีล ไม่อยากถือศีล ลำบากในการคบหาคนมีศีล

ยิ่งมาดีเท่าไหร่ลองเพิ่มศีลเข้าไปเท่านั้น เดี๋ยววันหนึ่งก็ออกลายเอง ดีไม่ดีคุยกันไม่กี่วันก็หายไปจากชีวิตเลย นี่แหละพลังของศีลที่จะป้องกันคนชั่วที่จะมาในสารพัดลีลาด้วยท่าทีงามสง่าน่าอัศจรรย์ สุดท้ายต้องมาตกม้าตายด้วยศีลกันทุกรายไป

แต่สิ่งที่สำคัญคือ เรารู้จักศีลดีหรือยัง เข้าใจศีลดีหรือยัง สาระของศีลคืออะไร ศีลใดที่ควรใช้ ศีลใดที่เหมาะ ศีลใดไม่เหมาะ รายละเอียดของศีลนั้นต่างกันไป การใช้เพื่อประโยชน์ใดๆก็ต่างมุมกันไป เราจึงควรศึกษาในสาระและประโยชน์ของศีลกันให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

เพราะการใช้ศีลในการป้องกันสิ่งชั่วนั้น จะใช้ได้เฉพาะในศีลในระดับที่ตนปฏิบัติไหว ใช่ว่าเราจะสามารถให้คนอื่นศึกษาในศีลที่เรายังไม่สามารถปฏิบัติและเข้าใจได้ นั่นหมายถึงถ้าเราไม่ศึกษาและปฏิบัติในสิ่งใด ก็จะไม่สิทธิ์ในการใช้คุณวิเศษของสิ่งนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,964 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,213 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นรกคนสวย

August 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,914 views 0

นรกคนสวย

นรกคนสวย

เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เพราะใช่ว่าความสวยที่มีจะทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเสมอไป และคนที่มีความสวยตั้งแต่กำเนิดเกิดมาก็ใช่ว่าจะพอใจในความสวยที่ตนมีกันทุกคน ยังต้องหลงวนเวียนไขว่คว้าหาวิธีที่จะพัฒนาหรือคงสภาพของความสวยนั้นไปตลอดกาล

ในบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องความทุกข์ หรือนรกของความสวยงามในมุมของผู้หญิง ซึ่งเป็นเพศที่เกิดมาก็มีทุกข์พิเศษแถมมามากกว่าเพศชายอยู่หลายประการ จึงขอยกเรื่องนี้มาเขียนในเฉพาะมุมทุกข์ของผู้หญิง

นรกของคนสวย…

ในสังคม ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหม ก็ต้องมีหญิงงาม แต่ถึงอย่างนั้นคำว่างามในแต่ละยุคก็ไม่เหมือนกัน บางยุคต้องอ้วนบ้าง บางยุคต้องผอมเอวคอด บางยุคต้องหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ เป็นความงามที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามกิเลสของคน

ชีวิตของคนสวยไม่ได้เรียบง่ายเสมอไป ความมีเสน่ห์นั้นก็ทำให้ชีวิตยากลำบากหรือเป็นภัยได้เหมือนกัน เหมือนกับมีแม่เหล็กติดไว้ที่ตัว จะดูดอะไรต่อมิอะไรมาติดตอนไหนก็ได้ โดยเฉพาะการดึงดูดผู้ชายที่มีกิเลสเข้ามาหา ผู้ชายส่วนใหญ่ที่เข้าหาผู้หญิงสวยก็มักจะหลงในรูป อยากเสพรูป เอาง่ายๆคืออยากจะได้แค่ความสวยนั้นแหละ ความสวยก็จะดึงคนมีกิเลสเหล่านี้เข้ามาพัวพันใกล้ๆตัว สร้างทุกข์ สร้างปัญหา สร้างความลำบากใจกันไป

คนที่สวยมากๆ ก็จะมีแต่คนเข้ามาในชีวิต อยากคุยด้วย อยากคบหา อะไรก็ว่ากันไป ทั้งมาแบบทีเล่นทีจริงและแบบจริงจัง จนถึงกระทั่งแบบที่เป็นภัย …แรกๆมันก็คงจะดี เพราะมีคนมาชอบ แต่พอเยอะๆเข้าก็เริ่มไม่ไหว เพราะต้องมาคอยตอบคำถามซ้ำๆเดิมๆ ถ้าไม่ตอบไม่รักษาน้ำใจก็กลัวเขาจะว่าหยิ่งเดี๋ยวความนิยมจะลดลง ด้วยความที่ตัวเองก็ติดภาพลักษณ์ ติดสรรเสริญ ติดโลกธรรม ว่าต้องดูดี ก็เลยต้องทำใจรักษามารยาทไปพร้อมๆกับรักษาสภาพความสวยของตนจึงกลายเป็นทุกข์ที่หนีไม่ได้ต้องยอมข่มยอมทนรักษาภาพความสวยต่อไป

ความสวยยังมีค่าบำรุงรักษาที่มาก ต้องจ่ายไปทั้งเงิน ทั้งเวลา ดังเช่นการซื้อเครื่องสำอางมากมายมาแต่งหน้าแต่งตา ใช้เวลาอยู่นาน เขียนแล้วเขียนอีก โดยทำไปเพื่อรักษาความสวยงามให้คงสภาพเดิม และยังมีกระบวนการรักษาความสวยหรือพัฒนาความสวยอีกมากมาย เช่น เข้าสปา ทำผม ผ่าตัด ฯลฯ ผู้หญิงที่หลงในความสวยจะต้องทุกข์จากตรงนี้อีกจุดหนึ่ง เพราะต้องหาปัจจัยมาบำรุงบำเรอตนโดยไม่รู้ว่าจริงๆตัวเองสวยไปเพื่ออะไร บ้างก็ว่าเพื่อความมั่นใจ บ้างก็ว่าเพื่อให้คนสนใจ บ้างก็ว่าใช้ในการทำงาน บ้างก็ว่าสังคมเขาก็ทำกัน ก็เป็นเหตุผลที่ที่กิเลสใช้เป็นคำที่หลอกใจตัวเอง ทำให้คนสวยหลงวนเวียนอยู่กับความสวยของตน ทั้งๆที่สามารถเอาเวลาและเงินเหล่านั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย

….กิเลสที่ผลักดันความสวย

หนึ่งในรากแห่งกิเลสของความสวย แท้จริงแล้วคือความอยากมีคู่ เหมือนกับสัตว์ทั่วไปที่ต้องทำให้ตัวเองโดดเด่นเพื่อที่จะให้อีกฝ่ายมาสนใจ ความเป็นสัตว์เหล่านั้นยังหลงเหลืออยู่เต็มที่ในคนเหล่านั้น และพัฒนาความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออยู่ในรูปของคน

เมื่อคนอยากมีคู่ ก็เลยต้องทำให้ตัวเองสวยเด่น เพื่อที่จะคัดเลือกเอาคู่ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นคนที่พอจะปรนเปรอกิเลสของตนเองได้ โดยส่วนหนึ่งก็ต้องมาสนองต่อทุนแห่งความสวยของเธอเหล่านั้นให้ได้ก่อน และสนองต่อให้ได้ถึงกิเลสในอนาคตของเธอ

ในความเป็นจริงแล้ว คนสวยมีอยู่มากมาย แต่ผู้ชายที่เพียบพร้อมที่จะบำรุงกิเลสของคนสวยเหล่านั้นได้ มีอยู่ไม่มากนัก คนสวยบางคนที่เข้าใจว่าตัวเองโชคดี ก็จะมีโอกาสได้รับผู้ชายหนึ่งคนที่พร้อมจะดูแลปรนเปรอบำรุงบำเรอกิเลสของเธอเข้ามาในชีวิต โดยหารู้ไม่ว่า เขาเองก็มีกิเลสของเขาเหมือนกัน และเธอเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะปรนเปรอกิเลสของเขา เรียกได้ว่าเป็นเหยื่อของกันและกันนั่นเอง

สุดท้ายถึงจะมีคนมาให้เลือก จนกระทั่งตกลงปลงใจแต่งงาน ก็อาจจะคบกันไปไม่ได้นาน เพราะว่าจุดขายของเธอคือความสวย ผู้ชายที่เข้ามาจะเสพความสวยของเธอได้ประมาณหนึ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งความอยากเสพในรูปของเขาเหล่านั้นจางคลายลงไป เมื่อถึงเวลานั้นความสวยที่มีจะไร้ค่าไปในทันที เหลือแต่ความจริง เหลือแต่คุณค่าแท้ในคนที่เคยสวยในสายตาของผู้ชายคนนั้น หากเธอยังมีจิตใจที่ดี ก็ยังจะพอคบกันไปได้ แต่หากเป็นผู้หญิงที่สวยแต่รูปจูบไม่หอม ก็อาจจะเป็นเหตุให้มีอันเลิกรากันไป ส่วนเหตุผลในการเลิกรานั้นก็เป็นปลายทางของกิเลสจะเอามาตัดสินถูกผิดกันคงไม่ได้

ส่วนคนสวยที่คิดว่าตัวเองโชคร้าย ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็หาคู่ไม่ได้สักที ทั้งๆที่ตัวเองก็อยากมี แต่เนื่องจากมีต้นทุนคือความสวยมาก ก็จะมีอัตตาก้อนหนึ่งที่ตั้งไว้ดั่งกำแพงว่าเธอจะต้องเจอกับคนแบบนั้นแบบนี้ เรียกง่ายๆว่าสเปคสูง เพราะโดยทั่วไปคนสวยก็จะมีคนให้เลือกมากมาย มาตรฐานของเธอก็จะขยับสูงไปเรื่อยๆ ตามคนที่เข้ามา เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลสที่มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆเรียกได้ว่า นอกจากจะไม่ขายต่ำกว่าทุนแล้วยังเพิ่มราคาประมูลขึ้นไปเรื่อยๆ

ทีนี้พอมีให้เลือกมาก ก็เลยยังไม่เลือก เพราะหมายมั่นว่าฉันจะต้องเจอสิ่งที่ดีกว่านี้ เยี่ยมกว่านี้ มากกว่านี้ เพราะทุกวันๆก็มีคนมาต่อคิวรออยู่แล้ว จนเวลาผ่านไปถึงกระทั่งวันที่เธอเริ่มรู้สึกตัวว่า ความสวยของเธอเริ่มจะจางหายไป และไม่สามารถทำให้มันกลับมาได้ กำแพงที่สูงชันจะค่อยๆ เตี้ยลง สเปคหรือข้อเรียกร้องของเธอจะลดน้อยลงตามไปด้วย จากที่เคยขอผู้ชาย หล่อ รวย ก็อาจจะเหลือแค่ รวย หรือไม่ก็เป็นแค่ผู้ชายที่มีความพร้อมจะดูแล จนกระทั่งขอให้เป็นแค่ผู้ชายก็เป็นได้ เรียกได้ว่า ลด แลก แจก แถมกันไปเลย

การมีสเปคที่น้อยลงนั้น สวนทางกับกิเลส เพราะการมีข้อจำกัดน้อยลงนั่นหมายความว่ากิเลสมากขึ้น มากจนยอมทำลายข้อจำกัดของตัวเองลงไปเพื่อให้ได้เสพสมในการมีคู่ จากที่เคยเป็นคนมีศีลมีธรรม ก็อาจจะยอมเวียนกลับไปเป็นคนไร้ศีลธรรม เพื่อแลกกับการมีคู่ ยอมใช้ความสวยหรือร่างกายที่เหลืออยู่แลกกับใครสักคนที่คิดว่าจะมาคอยดูแลในอนาคต ความกลัว ความคาดหวัง ความกังวลต่างๆ จะทำให้คนสวยเหล่านี้เกิดทุกข์ ทุกข์เพราะความสวยค่อยๆพรากจากเธอไป และโอกาสที่จะได้มาซึ่งคู่ที่เพียบพร้อมก็จะทยอยลอยหลุดไปด้วย

แม้ว่าคนสวยจะยอมลดสเปคลงมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้คู่ที่จะดูแลกันไปตลอดได้ เพราะด้วยวิบากแห่งความสวย ก็มักจะดึงคนมีกิเลสที่ยังหลงในรูปของความสวยมาอยู่ใกล้อยู่ดี การลดกำแพงของตัวเองลง ไม่ได้หมายความว่าจะเจอคนที่ดีขึ้น แต่หมายถึงเปิดโอกาสให้คนชั่วได้มีโอกาสเข้ามาในชีวิตได้มากขึ้น

การตกลงเป็นคู่กัน ไม่ได้หมายความเขาคนนั้นจะคงสภาพเดิมได้ตลอดไป ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และความสวยที่มีนั้นก็ไร้ค่าเมื่ออยู่ต่อหน้าคนมีกิเลส เพราะความสวยไม่ใช่ความดี แต่ก็เป็นรูปของกิเลสที่ส่งผลมาจากการที่เราได้สั่งสมความอยากสวยเอาไว้ เมื่อมีความอยากสวย เราก็ไปเสริมเติมแต่งให้มันสวย ใช้เวลาไม่นานนักมันก็สวยได้ ถึงแต่งไม่สวยก็ไปผ่าตัดให้มันสวย สิ่งเหล่านี้คือกิเลสที่สั่งสมก่อให้เกิดภพ เกิดชาติของความสวย เกิดมาเป็นคนสวยได้ แต่ก็เป็นคนสวยที่เต็มไปด้วยวิบากกรรมของกิเลส เป็นคนสวยที่มีแต่ทุกข์ ต้องประสบแต่ความพลัดพรากไม่สมหวังอยู่เรื่อยไป เพราะความสวยเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความดี

…สวยจากความดี

ความสวยที่เกิดจากความดีนั้นสร้างได้ในชาตินี้ไม่ต้องรอในชาติหน้าเหมือนกัน เป็นความสวยที่สร้างมาจากความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือการมีพรหมวิหาร ๔ จะทำให้เป็นคนมีคุณค่า เป็นความสวยงามทางนามธรรม แม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะไม่สวย แต่ก็จะมีคนอยากเข้าใกล้ อยากคบหา น่ารู้จัก น่าอยู่ด้วย เป็นความสวยที่ข้ามพ้นรูปของความงามในความคิดของคนทั่วไป

เมื่อมีความเป็นพรหมอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นแบบไหนก็สามารถที่จะเป็นที่รักใคร่ คนนิยมชมชอบ มีมิตรสหาย มีสังคมรอบข้างที่ดีได้ โดยยังมีผลต่อเนื่องไปยัง ภพ ชาติ ถัดไปด้วยคือทำให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก คือมีทั้งร่างกาย ฐานะ ปัจจัย สังคม สิ่งแวดล้อมดี เป็นความงามที่เจริญไปตามธรรม ไม่ใช่สวยงามจากการปรุงแต่งของกิเลส ซึ่งเป็นทุกข์ โทษ ภัย วนเวียนกลับไปกลับมาไม่รู้จบ

– – – – – – – – – – – – – – –
27.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์