Tag: มิจฉาวณิชชา

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,737 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

April 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,038 views 2

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ

เมื่อการยึดมั่นถือมั่นของเรากลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษา เวลาอยากรู้อะไรก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ให้เวลากับมัน คิดทบทวน วิเคราะห์ ตรวจสอบ การเรียนรู้ของผมมักเป็นไปในเชิงการทดลอง

เมื่อผมได้รับความรู้เรื่องไม้ประดับมา ผมก็มักจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นด้วยการพิมพ์บทความลงเว็บไซต์ ซึ่งตอนนั้นเองก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ แต่นั่นเองคือหลุมพรางที่ผมขุดไว้เพื่อฝังตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต” แม้ความรู้ที่ผมได้มานั้นจะสามารถทำให้ผมเติบโตไปในวงการไม้ประดับได้อย่างสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความรู้ที่ดีเลย เพราะมันเป็นความรู้ที่พาให้หลงในสุขลวงทำให้เข้าถึงความสุขแท้ได้ช้าไปอีก

ผมศึกษาตั้งแต่บอนสี กระบองเพชร ลิ้นมังกร มีประสบการณ์มากมายที่ผมเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย แต่เพียงแค่สิ่งที่ผมเปิดเผยไปนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจและหันมาเลี้ยงไม้ประดับแบบผมอยู่บ้าง และนั่นคือวิบากบาปที่ผมจะต้องรับต่อไป

ถ้าผมไม่ได้พิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมา เขาคงจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ต้องมาหลงตามที่ผมหลง จะเห็นได้ว่าเมื่อเราหลงมัวเมาในสิ่งใดแล้ว เราก็จะมีโอกาสที่จะพาคนอื่นหลงตามไปด้วย ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกรรมที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมถึงดอกผลของมันด้วย เพราะสิ่งนั้นมีเราเป็นเหตุ

ผมเองรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยกับผู้ที่สนใจไม้ประดับเพราะผม ในตอนนี้คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ในวันที่คุณเข้าใจว่าสิ่งใดคือสาระแท้ของชีวิต และสิ่งใดไม่จำเป็นต่อชีวิต คุณก็จะเข้าใจได้เอง

ในบทความนี้ผมจะขอใช้โอกาสนี้ไขสภาวะและธรรมะทั้งหลายที่คิดว่ายังตอบไม่กระจ่างไปก่อนหน้านี้ ด้วยกัน 10 หัวข้อ ซึ่งค่อนข้างยาว ขอให้ท่านค่อยๆพิจารณากัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นความเข้าใจตามที่ผมได้เรียนรู้มา ดังนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดและเข้าใจต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องผิด

1). ไม้ประดับคืออะไร?

ไม้ประดับนั้นก็คือสิ่งที่เข้ามาตกแต่ง เพิ่มเติมให้เกิดความงามขึ้น ในฐานของศีล 8 จะเห็นได้ว่าท่านให้งดเว้นการประดับตกแต่ง แน่นอนว่าหมายรวมถึงทุกอย่าง เพราะเป็นฐานแห่งการลด “กาม” (การเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ไม้ประดับนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาสนอง “กาม” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลย ดังจะเห็นได้ว่าคนโดยมากไม่เป็นทุกข์หากขาดไม้ประดับ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าการสะสมไม้ประดับนั้นต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไป

เมื่อไม้ประดับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต แม้จะใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องนำมันเข้ามาในชีวิต คนที่เอาสิ่งไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตจนยึดมั่นถือมั่น ก็คือคนที่หลงไปตามกิเลส

2). ความสุขคืออะไร?

หลายคนบอกว่าเลี้ยงไม้ประดับแล้วมีความสุข ความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่ได้เสพสมใจตามที่กิเลสบงการ ได้เสพจึงจะเป็นสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ผู้หลงว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนจึงต้องหามาไม้ประดับมาเสพเรื่อยไป แม้จะหาไม่ได้ ได้มองรูปก็ยังดี ได้คิดถึงก็สุขใจ อาการเหล่านี้เป็นอารมณ์ของราคะแท้จริงแล้วสุขที่ได้รับนั้นคือทุกข์ที่ลดลง

กิเลสนี้มันร้ายมากนะ มันทำให้เราเห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลย คนที่หลงสุขเขาจะสามารถเลี้ยงไม้ประดับได้อย่างไม่ทุกข์เลยนะ เพราะกิเลสมันบังตาจนมิดเลย

3). ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยากได้ลำบาก ในกรณีทุกข์ของคนที่หลงมัวเมาก็คือความอยากได้อยากเสพ เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการก็จะทุกข์ จึงต้องลำบากลำบนเบียดเบียนเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้จึงจะเป็นสุข ถ้ากิเลสหนามากๆจะมองทุกข์ตัวนี้ไม่เห็นเลย

เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็เลยไม่เห็นธรรม การจะเรียนรู้และศึกษากิเลสนั้นจำเป็นต้องเห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะหาเหตุของทุกข์ในลำดับต่อไป จะเห็นได้ว่าเมื่อผมแสดงความเห็นว่าการเลี้ยงไม้ประดับเป็นภาระ เป็นทุกข์ หลายท่านมีความเห็นที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าฉันไม่ทุกข์ บ้างก็ว่าหมดรักจึงทุกข์ บ้างก็ว่ามันมีแต่สุขนะ ฯลฯ

อันนี้เขายังไม่เห็นทุกข์ด้วยตัวเอง เรื่องทุกข์นี่มันบอกกันไปก็ไม่เข้าใจ มันต้องทุกข์เอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง จึงจะเข้าใจ

4). สัมมาอาชีวะคืออะไร?

หลายท่านอาจจะยังเข้าใจว่าการประกอบอาชีพด้วยไม้ประดับนั้นสัมมาอาชีวะ ในข้อนี้อาจจะทำให้ท่านอกหักจนถึงขั้นไม่พอใจได้ ขอให้ตั้งสติดีๆ

สัมมาอาชีวะนั้นประกอบด้วย การเลี้ยงชีพที่ไม่โกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง เป็นต้น และในมิจฉาวณิชชาว่าด้วยเรื่องการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรทำ หนึ่งในนั้นคือ ค้าขายของเมา (มัชชวณิชชา) คำว่าเมานั้นถ้าแปลตื้นๆ เขาก็มักจะแปลกันว่าเหล้า แต่คำบาลีว่า สุรา เมระยะ มัชชะ นั้นแปลว่าเมาทั้งสามคำ แล้วเมานี้คืออะไร ก็คือมัวเมาในกิเลส หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) นั่นเองแต่ทั้งสามคำนั้นเป็นความละเอียดในความเมาที่ต่างกัน สุรานั้นหยาบ มัชชะนั้นละเอียด นั่นหมายความว่าการค้าขายใดที่ทำให้เกิดการหลงมัวเมานั้นชาวพุทธไม่ควรทำ

ขอให้กลับไปทบทวนว่าสิ่งที่เราขายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงหรือไม่ ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วเราขายได้อย่างไร เราก็ต้องล่อลวงผู้ซื้อ ต้นนี้งามนะ ต้นนี้หายาก เอากามคุณเช่น รูป สัมผัส เอาโลกธรรมเช่น ต้นนี้เขาฮิตกัน เอาอัตตาเช่น ต้นนี้เหมาะกับคุณ ไปล่อเขาให้ซื้อ มันก็เข้าเขตมิจฉาอาชีวะกันอยู่เห็นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึก ถ้ามองตื้นๆก็จะทำต่อไปได้ เพียงแค่บาปโดยไม่รู้ตัวหรือว่ารู้ตัวแต่ก็ยอมเพราะหลงมัวเมาเช่นกัน

เราขายสิ่งที่ทำให้เขามัวเมาอยู่กับสิ่งไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์นี้เป็นกุศลไหม? เป็นทางของชาวพุทธหรือไม่ หากจะบอกว่าสัมมาอาชีวะและสัมมาวณิชชาขอให้ทบทวนและศึกษาดีๆ เพราะวิบากกรรมนั้นเห็นได้ยาก กว่าจะรู้ก็มักจะสายไปเสียแล้ว

5). ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นไม่ใช่ทั้งเลี้ยงไม้ประดับและไม่เลี้ยงไม้ประดับ แต่เป็นการไม่เลี้ยงโดยที่ไม่มีอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวทางสุดโต่งสอนด้านว่า “เธอจงเสพกามแต่ไม่ติดกาม” แต่ท่านสอนว่า “ให้เว้นขาดจากกาม แต่ไม่ให้ไปติดอัตตา

กามหรือความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่ให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งสิ้นเปลือง เป็นบาปที่แสบเผ็ดร้อน

แล้วอัตตาคืออะไร? อัตตาคือความยึดดี เช่นเราหลงติดกามในไม้ประดับอยู่ แล้วอยู่ๆเราก็ยึดดีว่าเราจะเลิก แต่กามมันยังมีอยู่ มันยังอยากได้อยู่ มันมองแล้วสวยอยู่ ทีนี้พอไม่ได้เสพมันก็จะเริ่มรู้สึกทุกข์ทรมาน อันนี้คือทางโต่งอีกด้านหนึ่ง

การประมาณทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญา ต้องลด ละ เลิกการเสพกามให้ได้ จนไม่ทำให้ตัวเองลำบากจนถึงขั้นทรมาน ขีดของทางสายกลางนั้นมันอยู่ตรงไหนไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่มันต้องปฏิบัติเอาจึงจะรู้ได้เอง

6). ปลายทางของผู้ยึดมั่นถือมั่นคือทางไหน?

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อหลงในสิ่งใดก็จะเห็นแต่คุณค่าของสิ่งนั้น ว่าดี ว่าเลิศ ว่ามีประโยชน์ ใครมาบอกว่าไม่ดีก็จะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตัวเองเห็นว่าดีจริงๆ นั่นก็ถูกแล้วเพราะถ้าคนมีกิเลสมันไม่ยึดกิเลสของตัวเองมันก็ผิดสัจจะ(คนเห็นผิด จะเห็นถูกเป็นผิด = ถูกของเขา)

ทีนี้มันอยู่ที่ทิศทางที่เดินไป ทางที่ไปนั้นเป็นทางพ้นทุกข์หรือไม่ สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อการสะสมอย่างนั้นหรือ เพื่อการเสพสมใจอย่างนั้นหรือ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นหรือ นั่นคือทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นหรือ เดินไปทางตันแม้จะเดินไปได้ไกลอย่างไร ก้าวหน้าแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี เพราะมันผิดทาง

ถ้ายึดสิ่งที่เป็นกุศลอยู่บ้างยังพอหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่จำเป็นในชีวิต เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันก็หลงทางเข้าป่าเข้าพงไปเลย

7). เลี้ยงอย่างมีสติได้จริงไหม?

ผมเห็นความเห็นในแนวทางนี้ ก็อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน เราลองมาค่อยๆขยายคำว่า “เลี้ยงอย่างมีสติ” กันอย่างช้าๆ

คำว่ามีสตินั้นหมายถึงความรู้ตัว จะทำอะไรก็รู้ตัว ในมุมมองทั่วไปเราก็อาจจะประยุกต์ไม้ประดับมาช่วยในการเจริญสติได้เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน

แต่ในความจริงแล้วต้องดูว่าเรามีสติอยู่บนพื้นฐานของอะไรต่างหาก ถ้าเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเรายังจะเรียกสภาวะที่เรามีนั้นว่าสติได้อีกหรือ ในเมื่อมันตกอยู่ภายใต้การบงการของกิเลสตั้งแต่แรกแล้ว มันก็สติหลอกๆเท่านั้นแหละ เพราะมันไม่มีศีลมากั้นให้เห็นกิเลส ไม่มีปัญญามาพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดไม่จำเป็นของชีวิต

หากเรายังหลงอยู่ เราจะเรียกว่าเรามีสติได้อย่างไร มันก็หลงว่ามีสติเท่านั้นเอง หรือถ้ากล่าวให้ดูสวยๆก็คือ “หลงอย่างมีสติ” มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ หลงแล้วจะมีสติได้อย่างไร ว่าแล้วก็โดนกิเลสหลอกให้เสพสะสมแล้วสุขสมใจอยู่กับสิ่งลวงนั่นแหละ

8). ภาระคืออะไร?

ภาระนั้นคือผล หรือวิบากบาปที่ต้องแบกไว้ ความหนักของภาระนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดหลังจากเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พอพระราหุลเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ อุทานว่า “ บ่วงเกิดแล้ว ” ว่าแล้วก็หนีไปบวชเลย นี่คือปัญญาของมหาบุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

คนเรานั้นมีปัญญาไม่เท่ากันในการที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษ คนที่มัวเมาในกิเลสเขาก็ยินดีที่จะแบกกิเลสนั้นไว้ แม้มันจะสร้างทุกข์ บาป อกุศล เวรภัย ให้กับเขา แต่ก็เขาก็ยังเห็นว่าสิ่งนั้นดี เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สรุปแล้วคนมัวเมาก็แบกกิเลสไปได้แบบไม่คิดว่ามันหนัก คนที่รู้ความจริงพอเห็นว่าหนักก็วางลงแค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องของความเบื่อ ความรัก หน้าที่ การงานหรืออะไรอื่นๆ มันเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ต่อตนเองและผู้อื่น

9). อัตตา

ผู้ที่หลงมัวเมามากๆ แม้จะไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา แต่โดยพฤติกรรมแล้วคือจากไม่ได้ พรากไม่ได้ ไม่ยอมแยกจากกัน คือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นจนถึงระดับอัตตา

ความยึดนั้นมีความลึกที่แตกต่างกัน หลายคนเลี้ยงไม้ประดับเพราะมันสวยดี ขั้นนี้เขาติดกาม ถ้าแก้ที่กามก็จบ บางคนเลี้ยงเพราะโลกธรรมเช่น ชอบที่ตนเองเป็นกูรูไม้ประดับ ถ้าแก้ที่โลกธรรมก็จบ ส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ ฉันชอบมัน มันคือชีวิตของฉัน ขาดมันฉันตาย ขาดฉันมันตาย อันนี้แก้ที่อัตตา แต่อัตตามันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น เพราะเป็นสภาพของการยึดที่ลึกและเห็นได้ยาก เป็นภัยน้อยแต่มาก

คือถ้ามองด้วยตาและตัดสินตามโลก เขาก็เป็นคนเลี้ยงไม้ประดับคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถมเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้าจะวัดโดยขีดของโลกนั้นมันก็ถูกของเขา แต่ในมุมของการทวนกระแสโลก คือหลุดจากการเป็นทาสของกามและอัตตาใดๆ การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้เป็นเหมือนคนที่ตกอยู่ในทะเลยางที่เหนียว ข้น และลึก ยากนักที่จะหลุดออกมาได้

เพราะเขาเหล่านั้นได้ผูกตัวตนของตัวเองไว้กับสิ่งเท่าเขารัก โดยที่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่จำเป็นต้องยึดแบบนั้น ถึงไม่ยึดก็อยู่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย มันไม่ใช่ความจริง เราไปสร้างมันขึ้นมาเองแล้วก็ยึดไว้เอง เรียกว่าอุปาทาน พอมีอุปาทานก็มีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จุดหมาย

10). เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

การเห็นทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเห็นทุกข์ทั้งๆที่ยังหลงติดหลงยึดได้ แต่การเห็นทุกข์นั้นก็ต้องใช้ปัญญา และปัญญานั้นก็ใช่ว่าจะได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องใช้การคิด พิจารณาประโยชน์และโทษให้ถี่ถ้วน ศึกษาใช้ธรรมอ้างอิงจนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล

ผู้ที่เห็นทุกข์ แม้จะยังไม่สามารถหลุดจากความอยากได้ แต่ก็ได้เปิดประตูแห่งอริยสัจแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้ทุกข์ไปอีกหลายล้านชาติ หรือเพียงแค่จบบทความนี้ก็สามารถเห็นทุกข์ได้ทันทีแล้วแต่บุญบารมีที่แต่ละท่านสะสมมา

คนที่ไม่รู้จักทุกข์ก็จะไม่หาทางออกจากทุกข์ เขาเหล่านั้นก็จะยินดีที่จะจมลงในภพของการเสพสมในของกิเลสต่อไป ส่วนคนที่รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ง่ายนัก เพราะวิบากบาปที่เราได้ทำไว้นั่นแหละจะดึงรั้งเราไว้ ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นร้านขายไม้ประดับ พอเรามีปัญญาเห็นคุณเห็นโทษแล้วมันจะเลิกไม่ง่ายนะ ลูกค้าจะไม่ยอม ไหนจะครอบครัว ค่าใช้จ่าย หนี้สิน คนงาน ไหนจะต้นไม้อีกมากมายที่จะเป็นภาระอีก เราหลุดออกไปไม่ได้ง่ายๆหรอก สร้างบาปไว้เยอะก็ต้องรับผลกรรมชั่วนั้นๆไปด้วย

คนที่เห็นโทษก็ให้ศึกษาหาทางออกในลำดับต่อไป คนที่ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาเพิ่มเติมไปก่อน ส่วนคนที่ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่นั้นก็ขออภัยด้วยเพราะบทความนี้คงจะไปขัดใจท่านไม่มากก็น้อย ก็ถือซะว่าเราคิดต่างกัน แล้วก็ปล่อยวางมันไปเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

9.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,016 views 0

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

ในปัจจุบันนี้การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะต่างๆไปว่าจะเป็นการซื้อทอง ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ที่หวังผลเก็งกำไรนั้น เป็นกิจกรรมที่เห็นและยอมรับได้โดยทั่วไปในสังคม

ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนอื่นๆในปัจจุบันนั้นจะเป็นลักษณะของการพนันแบบชัดเจน แต่ผู้ที่สนใจและหลงไปกับการลงทุนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเหตุผลมากมายมาค้านแย้งได้ว่าการเล่นหุ้นของตนไม่ใช่การพนัน ไม่ใช่อบายมุขมีอีกมากมายหลายล้านเหตุผลที่จะบอกว่าการเล่นหุ้นไม่ผิด สังคมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป

ในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ มาตรฐานของศีลธรรมก็มักจะตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เคยเป็นกงจักรก็กลายเป็นดอกบัว และในอนาคตกงจักรที่เราเห็นในปัจจุบันก็จะค่อยๆกลายเป็นดอกบัวเช่นกัน เหตุนั้นเพราะอะไร? นั่นเพราะความเสื่อมจากศีลธรรมของคน เมื่อคนเสื่อมก็ไม่มีความรู้มาแยกแยะดีชั่ว อันไหนบาปอันไหนบุญ แต่ความหลงผิด หลงติด หลงยึดในตัวตนนั่นเองที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ากงจักรเป็นดอกบัว เรามักจะถูกล่อด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเหมือนน้ำผึ้งที่เคลือบอยู่บนใบมีดโกน

ความฉลาดของกิเลส

กิเลสนี่มันร้ายสุดร้าย มันฉลาดกว่าเราเยอะ แม้เราจะ IQ180 ก็ตาม แต่กิเลสมักจะล้ำหน้าเราไปเสมอ เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นและการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันจะแสวงหาเหตุผลให้เราไปเล่นหุ้น ให้เราลงทุน มันจะมีเหตุผลอ้างอิงมากมายเพื่อใช้หักล้างศีลธรรม ทำลายศีลธรรมทิ้งเพื่อเสพกิเลส กิเลสนี่มันคือนักสร้างเหตุผลที่ทำให้เราหลงไปจมอยู่ในนรกได้อย่างรู้สึกเป็นสุข เราก็รู้สึกเป็นสุขจริงๆตามที่กิเลสนั้นส่งพลังให้นะ แต่เวลาทุกข์จากความเสียหายหรือเครียดจากการลงทุนนี่กิเลสมันไม่ทุกข์ด้วยนะ แต่มันก็จะเป่าหูให้เราลงทุนต่อ ศึกษาต่อ หลงวนเวียนต่อ เหล่านี้คือพลังของกิเลส จะเรียนรู้มาแค่ไหน เกียรตินิยม จบเมืองนอก ปริญญาเอก ศาสตราจารย์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน เถ้าแก่พันล้าน ฯลฯ ต่างก็แพ้ให้กิเลสทั้งนั้น

จริงๆจะว่าไปมันก็โลภตั้งแต่คิดจะเข้าไปลงทุนแล้ว ความโลภนี่แหละผลักดันให้เราสนใจ ให้เราขยับมือ ขยับขา ขยับปากเข้าไปสู่โลกแห่งการลงทุน กิเลสมันจูงเราเข้าไปตั้งแต่แรกแล้วเราก็ยังไม่รู้ตัว แล้วตอนที่หลงวนเวียนอยู่ในนรกแห่งการลงทุนจะไปเหลืออะไร มันก็มืดบอดเท่านั้นเอง มองกิเลสดีไปหมด มองการลงทุนดีไปหมด

แล้วยังมีการหลงไปด้วยนะว่าถ้ารวยแล้วจะเอาเงินมาทำกุศล นี่กิเลสมันหลอกซ้อนไว้แบบนี้ มันเอาความดีมาล่อให้ทำบาป ดูซิกิเลสมันแผนซ้อนแผนมันฉลาดขนาดไหน

เล่นหุ้นอย่างไม่โลภ

มีหลายความคิดเห็นได้เสนอว่าก็เล่นหุ้นอย่างไม่โลภสิ เล่นแบบเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องความโลภนี่มันไม่เข้าใครออกใคร บางคนก็ว่าโลภน้อยไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้วไม่โลภเลยมันจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจริงๆเราโลภมากโลภน้อย เพราะถ้าวัดจากสังคมส่วนใหญ่มันอาจจะผิดเพี้ยนไปก็ได้

ถ้าบอกว่าไม่โลภเลยนี่มันต้องลงทุนให้ได้กำไรเท่ากับศูนย์หรือติดลบนะ เพราะไม่มีความโลภจึงไม่มีความคิดจะเอาเลย มีแต่ใจที่อยากสนับสนุนกิจการ อยากสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันความเจริญ เอาแบบเท่าทุนกับขาดทุนเลยนะ อย่าไปเอากำไร เพราะถ้าคิดถึงกำไรแม้แต่สลึงเดียวนี่ใจมันก็โลภแล้ว พอโลภมันก็เป็นบาปแล้ว แถมกิจกรรมที่โลภนี่มันก็อบายมุข เงินมากเงินน้อยไม่สำคัญเท่ากับจิตที่โลภ

หรือแม้แต่การออมนี่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเก็บสะสมนะ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เดี๋ยวนี้เราหลงประเด็นกันไปว่าการออมต้องมีเงินงอกเงย จริงๆเก็บออมคือเก็บไว้ใช้เท่านั้น เรื่องการงอกเงยนี่มันคือกิเลสมันงอกออกมาทีหลัง บางธุรกิจบางองค์กรเขาก็เสนอมาว่า ถ้ามาฝากเงินกับเขา เขาก็จะให้ดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้แต่ละที่เขาก็ไม่ได้ให้เท่ากันเสมอไป เราก็จะเลือกที่ให้มากที่สุด นี่ความโลภมันเกิดแล้วเห็นไหม แล้วเงินที่เขาเอาจากเราไปเขาก็ไม่เอาไปเก็บไว้เฉยๆนะ เขาเอาไปปล่อยกู้ เอาไปขูดรีดเอากำไร เอาไปให้ธุรกิจต่างชาติกู้ยืมมาถล่มประเทศไทยอีกที หรือไม่ก็ให้ธุรกิจในไทยถล่มกันเองนี่แหละ ก็เบียดเบียนกันต่อไป นี่หรือคือการออม เขาเอาเงินน้อยๆมาล่อเราและเราก็เพิ่มกิเลส เพิ่มวิบากบาป มันเป็นการเก็บออมตรงไหน นี่มันการลงทุนในธุรกิจบาปแท้ๆเลย

พอไล่กันไปจนเริ่มจะจนมุมก็อาจจะยอมรับว่า “เออ!!..ฉันโลภ” จริงๆวิธีประชดประชันเหล่านี้มันก็มาจากเสียงของกิเลสเหมือนกัน ประมาณว่าปล่อยให้ฉันได้เสพกิเลสของฉันเถอะอย่าเอาศีลธรรมมาใกล้ฉันเลย ว่าแล้วก็เสพกิเลสต่อไป เห็นไหมว่าผีมันกลัวศีลจริงๆ ถ้าใช้ศีลนี่จะจับผีได้ ถ้าผีหนีไม่ได้ ผีจะทุกข์ร้อนทรมานเลยนะ ผีอะไร? ก็ผีขี้โลภนี้ยังไงละ

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผี เป็นคนโลภ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนักเลย ทางข้างหน้าของผีขี้โลภ หรือที่เรียกกันตรงๆว่า “ผีเปรต” นี่มันมีแต่นรก นรกนี้คือความเดือดเนื้อร้อนใจ มันเป็นผีในจิตของคนและมันก็เกิดนรกในจิตของคนนี่แหละ มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ หุ้นขึ้นก็ทุกข์เพราะจิตโลภอยากให้ขึ้นเยอะๆ หุ้นตกก็ทุกข์เพราะเสียดายทรัพย์ หุ้นขึ้นหุ้นลงก็สะสมกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหายแน่แท้จริงเชียว

เล่นหุ้นให้เป็นกุศล

จริงๆแล้ววิธีเล่นหุ้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล ให้เกิดความดีงามในชีวิตมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มันไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหรอก ที่อยู่ในตลาดหุ้นนี่ก็นรกเป็นส่วนใหญ่ นรกมาก นรกน้อยก็แตกต่างกันไปตามมิจฉาอาชีวะและมิจฉาวณิชชาที่กระทำอยู่

หุ้นที่เป็นกุศลเป็นความดี ที่ให้กำไรในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย มีแต่การลงทุนที่ได้ผลกำไรอย่างแน่นอน เรื่องขาดทุนนี่ไม่มีเลย ไม่ใช่ zero-sum game อย่างทั่วๆไป ไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนขาดทุน มีแต่คนได้กำไร

การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นคือการลงทุนไปกับสิ่งที่ดีงาม คือลงทุนกับคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสังคม คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ทำกุศล เสียสละเพื่อคนเป็นอันมาก นี่แหละคนหรือกลุ่มคนที่ควรจะลงทุน เป็นเนื้อนาบุญที่หาได้ยาก

ถ้าเราไปลงทุนกับคนที่ถือศีล เป็นฤๅษีอยู่ป่า อยู่อย่างปลีกวิเวก เก็บตัวไม่อยู่กับโลก แม้จะเอาเงินหรือสิ่งของไปให้ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์มากมาย เมื่อไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ได้ผลแห่งการให้นั้นๆ ต้องแยกกันระหว่างบุญกับกุศล บุญคือจิตที่คิดสละ ในบทความนี้จะยกเรื่องบุญไว้ก่อน จะกล่าวกันแต่ในเรื่องของกุศลคือความดี และอานิสงส์คือประโยชน์ที่เกิด ดังเช่นที่ยกตัวอย่างมา เราไปทำกุศลกับคนที่ไม่ทำกุศล ประโยชน์ก็เกิดไม่มาก แม้ภาพจะสวย จะดูดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็เกิดกุศลน้อยอยู่ดี

ตัวอย่างถัดมา เป็นกรณีที่เราไปทำกุศลให้คนที่เราหลงคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ หลงว่าเป็นผู้บรรลุธรรม ตามที่เห็นได้ทั่วไปในข่าว อันนี้ไม่เป็นกุศล ถือว่าลงทุนผิด ไปลงทุนให้คนที่ปฏิบัติผิดทาง แล้วปัจจัยที่เราส่งเสริมไปเหล่านั้นก็ไปเสริมกิเลสเขา ให้เขาได้ทำชั่ว ได้เกิดความโลภ ใช้ปัจจัยเช่นเงินของเราไปบำรุงบำเรอกิเลสตน ซื้อของฟุ่มเฟือย สร้างของที่ไม่จำเป็น สร้างบริวาร หารายได้ บิดเบือนคำสอนของศาสนา เราต้องรับผลของการลงทุนที่ติดลบนี้ไปด้วย ในกรณีนี้จะขอยกไว้เป็นตัวอย่างในข้อยกเว้นสำหรับหัวข้อนี้

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนให้กับคนที่ปฏิบัติตัวดีทั่วไป ก็คือการส่งเสริมคนดีนี่เอง เห็นว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ส่งเสริมอุดหนุนเขา ให้เขามีโอกาสที่ดี ให้เขามีหน้าที่การงานที่ดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย”

นี่คือลักษณะของการลงทุนให้เกิดสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินหรือปัจจัยใดๆเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำการสนับสนุนอุ้มชูคนดีเท่าที่ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ทรมานจนเกินไป เห็นคนทำดีที่ไหนเราก็ไปช่วยสนับสนุนเขา เป็นกำลังให้เขา ปกป้องเขา แค่นี้ก็เป็นการลงทุนที่ดีแล้ว

ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนไปกับคนที่ปฏิบัติดี คนที่เสียสละตัวเองช่วยเหลือสังคม พาให้สังคมทำดี เกิดการสำนึกดีขึ้นในหมู่คณะ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเสียสละตนเอง ทิ้งความสุข ความสงบ ความสบายของตัวเองเพื่อทำงานให้กับสังคม ให้กับชุมชน ให้กับโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง เป็นดังเนื้อนาบุญที่สามารถสร้างกุศลให้เติบใหญ่ไม่มากก็น้อย

การเติบโตของการลงทุนนี้เป็นอย่างไร? เมื่อเราสนับสนุนคนดีที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตน หวังแต่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ เขาเหล่านั้นจะใช้ปัจจัยที่เราให้ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือการสนับสนุนต่างๆให้เป็นไปเพื่อผู้อื่น เมื่อคนเราคิดถึงแต่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่ปัญญาของเขาจะสามารถสร้างได้ และการไม่เห็นแก่ตัวนั้นเองก็เป็นปัญญาที่มากมายอยู่แล้ว

การเสียสละเงินเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องง่าย การเสียสละแรงงานเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีก็ยากขึ้นมาหน่อย การเสียสละเวลาเพื่อช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามก็เป็นเรื่องยาก แต่การเสียสละชีวิตเพื่ออนุเคราะห์สังคมและโลกเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก

ดังนั้นหากเราคิดจะลงทุนให้เกิดกุศล เกิดความดี เกิดประโยชน์แท้แก่ชีวิตเรา ก็ให้เลือกลงทุนให้ดี สนับสนุนคนดีให้ทำดี แต่อย่าประมาทในกุศลแม้น้อย แม้ว่าการเสียสละเงินจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนที่เสียสละแรงงาน เราก็ควรจะสนับสนุนให้เขาทำดี แม้จะเป็นความดีที่ไม่มาก แต่ก็วันหนึ่งก็อาจจะเติบโตเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ในกุศล ไม่ควรหยุดทำความดี ไม่ควรหยุดลงทุนให้กับผู้ทำความดี เพราะสิ่งเหล่านี้เองเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กำไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” ,”ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”,”ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”,”ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ”,”นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”

แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เราจะได้รับผลของกรรมดีที่เราทำ เราคิดแต่จะให้ เราก็มีแต่จะได้รับ เป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ

เห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราสามารถลงทุนได้โดยใช้กำลังหลายๆอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะแรงกาย หรือใช้ปัญญาก็สามารถลงทุนในหุ้นชีวิตเหล่านี้ได้ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่บาป ไม่ใช่การพนัน เป็นกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

25.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,248 views 0

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

….ผลกำไรที่ได้รับมานั้นคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือ

การลงทุนในตลาดหุ้น เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันมากในหมู่คนเมืองและคนทำงานในยุคสมัยนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์นั้นดูเหมือนว่าเป็นนักลงทุน มองการไกล วิเคราะห์เก่ง แล้วยังสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้จริงๆด้วย เป็นอะไรที่ตอบโจทย์โลกธรรมทั้งในมุมของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างเต็มที่

แม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มากมายขนาดที่ว่าการขยันหาเงินทั้งชีวิตก็อาจจะไม่ได้เงินมากเท่าลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งก็มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวเป็นตนกันมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนเหล่านี้ได้

การประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลมากกว่าสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือวิเคราะห์ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือพลังงานของกรรม ขึ้นชื่อว่ากรรมก็เป็นเรื่องอจินไตยยากจะคาดเดาผล แต่การจะเกิดกรรมนั้นก็มาจากการกระทำ เราสามารถมองเผินๆได้ว่าเพราะเขามีการวิเคราะห์เป็นการกระทำเขาจึงประสบความสำเร็จ แต่ในมิติของกรรมนั้นลึกซึ้งกว่านั้นมาก

เพราะการจะเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือสิ่งที่เรียกว่าประสบผลสำเร็จ จะต้องมีกรรมทั้งในส่วนของปัจจุบันคือการวิเคราะห์และตัดสินใจ และกรรมในส่วนของอดีตที่เราเคยทำมาสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจึงจะเป็นผลที่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ดังนั้นหากเราสังเกตดีๆว่า แม้เราจะลงทุนตามคนที่ประสบความสำเร็จแต่เราจะไม่ได้รับเหตุการณ์ดังที่เราคาดหมายตลอดไป นั่นเป็นเพราะกรรมของเรา เราไม่มีกรรมที่จะได้รับลาภจากการลงทุนในลักษณะนี้เราจึงไม่มีทางได้มัน ไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไรเราก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เว้นเสียแต่ว่าเราสะสมกิเลสเข้ามากๆ หมกมุ่นเข้ามากๆ เราจึงจะพอประสบความสำเร็จได้บ้าง แต่นั่นก็หมายถึงเราแลกมาด้วยบาปจำนวนมาก เพราะไม่มีอะไรที่เราจะได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำ การที่เราจะได้รับอะไรสักอย่าง เราต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ และสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็นก็ได้

….หุ้นขึ้นก็กิเลสขึ้น หุ้นตกก็กิเลสขึ้น

ถ้าหากเรามีเวลาทบทวนใจของเราดีๆ จะสังเกตได้ว่าเวลาที่หุ้นที่เราถือครองอยู่นั้นปรับค่าขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะขึ้นจิตใจของเราก็จะฟูขึ้นด้วยความดีใจ ตามติดมาด้วยความโลภที่จ้องจะขายเมื่อถึงราคาที่เราพอใจ บ่อยครั้งที่ชะล่าใจขายไม่ทันแล้วสุดท้ายราคาร่วงลงมา และบ่อยครั้งที่รีบขายทั้งที่ราคายังพุ่งขึ้นไปได้อีก ไม่มีเหตุการณ์ใดเลยที่ไม่มีกิเลสเข้าไปปนในกระบวนการเหล่านั้น ทุกความดีใจเสียใจล้วนปนไปด้วยกิเลสทั้งสิ้น

แม้ว่ายามหุ้นตก จิตใจก็ตกต่ำตาม ด้วยความเสียดายเงินที่ลงไป พยายามติดตามข่าวด้วยใจที่หวังว่ามันจะขึ้น จะได้เงินจะมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลในเรื่องของการลงทุนนั้นก็เป็นไปในรูปแบบของการพนันทั้งสิ้น แม้เราจะนิยามมันว่า การลงทุน มีการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย แม้จะดูเหมือนเป็นนักวิเคราะห์ เป็นผู้รู้ เป็นนักวางแผน แต่ก็อยู่ใต้เกมของกรรมกิเลสที่เรียกว่าอบายมุขอยู่ดี

….หุ้นคืออบายมุข

การลงทุนในหุ้นแม้จะได้รับการยอมรับในสังคม แม้จะไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผิดในทางธรรม เป็นทางเสื่อมแห่งอบายมุขอยู่ดี ไม่ว่าเราจะสรรหานิยามมาปรุงแต่งการลงทุนให้ดูสวยหรูเพียงใด ดูดีมีประโยชน์แค่ไหน การลงทุนเหล่านี้ก็เป็นได้แค่หนึ่งในทางฉิบหายของชีวิตหรือที่เรียกว่าอบายมุข นั่นคือการพนันนั่นเอง

ลักษณะของการพนันคือการลงทุนไปหนึ่งหน่วยแต่หวังจะให้มันงอกเงยมากกว่าหนึ่งหน่อยโดยอาจจะใช้ตรรกะเข้ามาคิดคำนวณและก็มีโอกาสที่จะหนึ่งหน่วยนั้นจะหายไปด้วย ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการพนันแบบแท้ๆ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ทางที่ถูกของพุทธ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางสู่ความผาสุกในชีวิต

….หุ้นกับความผาสุกในชีวิต

เรามักจะได้รับข้อมูลว่าการลงทุนนั้นทำให้ร่ำรวยและสบายในตอนท้ายของชีวิต ทำให้ชีวิตผาสุกซึ่งเป็นค่านิยมในยุคนี้ที่คนจะลงทุนในตลาดหุ้น แต่ในยุคก่อนหน้านี้การลงทุนจะต่างออกไป คือจะลงทุนให้เวลากับหน้าที่การงาน ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน คือลักษณะที่เห็นได้ชัดในคนยุคเบบี้บูม แต่พอมาในยุคนี้เรากลับลงทุนในการพนัน โดยใช้การพยากรณ์ การวิเคราะห์ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเดา การเดานี้มันก็มีข้อมูลเหมือนกันไม่ใช่ว่าไม่มี เช่นการเดาข้อสอบเราก็เดาว่าคำตอบส่วนใหญ่น่าจะเป็นข้อนี้มากที่สุด เช่นเดียวกันกับการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายมหาศาลวิเคราะห์กันจนหัวหมุน สุดท้ายก็สรุปลงตรงที่การเดา

เมื่อชีวิตมีแต่การคาดเดา ไม่ได้สร้างทรัพย์ขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจและความสามารถอย่างแท้จริง ก็ต้องวัดดวงกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพนันที่อ้างอิงระบบใหญ่ขึ้นมามากกว่าการใช้ไพ่หรือลูกเต๋าเท่านั้นเอง

ดังนั้นการจะมีชีวิตผาสุกบนพื้นฐานของอบายมุขนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย ผู้ประสบความสำเร็จนั้นก็เป็นเพียงคนที่กินกุศลเก่า เอากรรมเก่าของตนเองมาใช้เสพกิเลส ส่วนคนที่โลภอยากได้ตามเขาก็ต้องเจ็บช้ำไปตามๆกันเพราะตัวเองไม่มีกุศลเก่าให้กินให้ใช้เหมือนคนอื่นเขาก็เลยต้องขาดทุนกันเรื่อยไป

ผู้ที่คิดจะเอาดีในทางธรรม หรือต้องการจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากยังข้องแวะกับอบายมุขหรือการลงทุนในตลาดหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน ก็ยากจะพบกับความผาสุกในชีวิต เพราะกิเลสหยาบแสนหยาบในระดับอบายมุขตัวเองยังพ้นไปไม่ได้ ยังยินดีที่จะจมอยู่ในนรกโดยแลกมาด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็ไม่มีวันที่จะออกจากขุมนรกนี้ได้ ไม่มีวันผาสุก ต้องวนเวียนอยู่ในความฉิบหายอีกนานแสนนาน

….ความร่ำรวยไม่ได้หมายความว่าจะสนองกิเลสได้ทุกอย่าง

การที่เรามีความร่ำรวย มีเงินทองสนองกิเลสนั้นไม่ได้หมายความจะสนองกิเลสได้ทุกอย่างเสมอไป ในมุมคนที่ไม่เคยมีลาภ มีเงินทองก็มักจะมองว่า หากฉันมีเงินฉันจะมีความสุข หากฉันร่ำรวยชีวิตของฉันจึงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แบบนี้มันคิดแบบคนไม่เคยมี พอไม่เคยมีก็ไม่เคยเห็นกิเลสตัวเอง

กิเลสนี่แหละคือสิ่งที่เหนือชั้นเหนือความร่ำรวยขึ้นไปอีก หากเรามีลาภเราก็จะอยากได้ยศ พอมียศเราก็จะอยากได้สรรเสริญ ทั้งหมดเพราะเราเมาในโลกียสุขนั่นเอง กิเลสไม่เคยปล่อยให้เราพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน มันจะกระตุ้นความอยากในจิตใจของเราให้ออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่แพงกว่ามาเสพเสมอ

เมื่อเรามีเงิน กิเลสก็จะชักจูงเราไปเสพสิ่งต่างๆเพื่อบำเรอกิเลส การหาเงินเก่งไม่ได้หมายความว่าจะเก็บเงินเก่ง ถึงจะเก็บเงินดีอย่างไรสุดท้ายก็ต้องเสียไปให้กิเลสอยู่ดี ถ้าจะสรุปจริงๆก็คงจะเป็นหาเงินเพราะกิเลสตั้งแต่แรก มันมีกิเลสเป็นตัวบงการแต่แรก ยอมเป็นทาสกิเลสตั้งแต่เริ่มจนจบนั่นแหละ

ซ้ำร้ายเงินและความมั่งคั่งไปด้วยยศและชื่อเสียงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่บันดาลสุขให้ได้เสมอไป หากเราพบว่าตัวเรานั้นเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ถึงจะร่ำรวยและมีคนนับหน้าถือตาเพียงใด ก็คงจะไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้เท่าก่อนหน้าที่เราจะพบว่าเราป่วยอย่างแน่นอน นั่นเพราะเงินซื้อไม่ได้เสียทุกอย่าง คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วมองว่าถ้ามีเงินก็จะได้สนองกิเลสได้นั้นเป็นการประเมินกำลังของกิเลสที่ผิดอย่างมหันต์

….ความไม่เที่ยงของหุ้นและชีวิตนักลงทุน

แม้ว่าเราจะมองว่าการลงทุนในหุ้นเป็นการออมเงินที่ได้ผลกำไรดีวิธีหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เที่ยงอยู่ดี เพราะในมุมของโลกียะถ้ามีผลดีก็ต้องมีผลไม่ดีอยู่คู่กันเสมอ การออมในหุ้นจึงเป็นคำเรียกที่ดูดีเอาไว้หลอกคนโลภให้มั่นใจในการเล่นหุ้นเท่านั้นเอง

การที่เรามีเงินมากมายในตลาดหุ้นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นหลักประกันในชีวิตของเราได้เสมอไป ยังมีเหตุปัจจัยอีกมากมายที่บีบให้เราต้องสละทรัพย์ทั้งหมดเพื่อสิ่งอื่น เช่นเมื่อเราเล่นหุ้นไปสักพักสะสมวิบากบาปได้จนเหมาะสม กรรมก็อาจจะดลบันดาลให้เราหรือคนรักของเราป่วย ทำให้เงินที่เราสะสมมาต้องถูกใช้ไปหมดในพริบตาก็ว่าได้

ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ตลาดหุ้นมีสภาพไม่เที่ยงนั้นมีมากไปหมด ตั้งแต่เศรษฐกิจและสังคม จนถึงการปั่นหุ้นของคนมีกิเลสด้วยกันก็ทำให้เกิดสภาพเหล่านั้น เมื่อสภาพเหล่านั้นไม่เที่ยงแต่เรากลับไปยึดเกาะด้วยหมายที่จะเอาชนะ ยึดมั่นถือมั่นว่าฉันนี่แหละแน่ ฉันนี่แหละคือคนที่จะได้กำไรในสภาพไม่เที่ยงเหล่านี้ ดูสิกิเลสมันอหังการขนาดไหน ขนาดเห็นกันอยู่ชัดๆว่าเป็นการพนันบนสภาพที่แปรผันตลอดเวลายังเมามายในอบายมุขกันได้อย่างภาคภูมิใจ

คงจะเหมือนดังที่เขาเปรียบไว้ว่า “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” แต่จะว่าเหมือนก็คงไม่ใช่ แมลงนี่มันมีปัญญาน้อย การที่มันจะหลงในแสงสีของไฟก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก แปลกตรงคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น มนุษย์ผู้ประเสริฐแต่กลับหลงเมามายอยู่ในอบายมุขและเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองว่าการพนันอย่างการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องดีเสียอย่างนั้น

….วิบากกรรมของคนเล่นหุ้น

ขึ้นชื่อว่าอบายมุข หรือทางฉิบหายในชีวิตแล้ว วิบากกรรมหรือผลกรรมที่เกิดจากการเล่นหุ้นนั้นคงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ในมุมแรกคือหากเราประสบความสำเร็จจากการเล่นหุ้น ก็จะไปเหนี่ยวนำหรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเล่นหุ้นตาม แล้วก็จะมีคนที่เข้าสู่อบายมุขเพิ่ม แม้เขาจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ถือว่าเป็นการชักจูงคนเข้าสู่อบายมุข แม้จะมีหน้าตาสดใส แต่งตัวดี ผูกไทด์ใส่สูทสร้างภาพดูหรูหราน่าชื่นชมอย่างไร สุดท้ายก็เป็นแค่ทูตแห่งอบายมุขเท่านั้นเอง

แล้วเงินที่เราลงทุนไปในตลาดหุ้นนั้นสร้างอะไรให้กับเรา ในมุมของนักลงทุนเขาก็จะบอกว่านำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศชาติเจริญ แต่ในมุมของธรรมะไม่ใช่แบบนั้น เงินที่เราลงทุนไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้นต้องดูให้ดีว่าเขามีธรรมาภิบาลหรือไม่ เขาประกอบสัมมาอาชีวะหรือไม่ ผิดมิจฉาวณิชชาหรือไม่ หากเขาทำธุรกิจบาป เราก็จะกลายเป็นคนที่สนับสนุนบาป ก็ได้บาปร่วมกันกับเขาไป แต่ถ้าหากฉากหน้าเขาเป็นธุรกิจที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าเงินที่ลงทุนนั้นถูกโยกย้ายไปมาอยู่เสมอ ธุรกิจของเขาอาจจะเป็นธุรกิจที่ดี แต่เขาเอาเงินลงทุนที่เราลงไปส่วนหนึ่งไปลงทุนกับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นธุรกิจบาป เราก็ต้องรับในวิบากกรรมส่วนนี้ไปด้วย เพราะเราเป็นหนึ่งในแรงหนุนให้เขามีกำลังไปทำบาป

ทีนี้พอเราสนับสนุนธุรกิจบาปเข้ามากๆ บาปก็จะกลับมาเล่นงานเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเราไปลงทุนในธุรกิจอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เช่นไก่ทอด เราก็จะอยากสนับสนุนให้บริษัทที่เราลงทุนไว้มีกำไรเราจึงกินไก่ทอดนั้น พอมีคนมาชวนให้กินมังสวิรัติซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บาปของเราจะก็จะต่อต้านในทันทีเพราะขัดแย้งกับสิ่งที่เราลงทุนไว้ เห็นไหมนี่เป็นเพียงมุมเล็กๆที่เกิดจากความเห็นผิดไปในอบายมุขเท่านั้น

วิบากบาปจากการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีอีกมาก หากสังคมยังเคลื่อนที่ไปด้วยทุนนิยม ชีวิตจะไม่มีวันพบกับความผาสุกเลย ลองสังเกตเมืองใหญ่ที่มีเงินมากมายมหาศาล มีเม็ดเงินหมุนเวียนกันสร้างวัตถุได้ยิ่งใหญ่มากมาย แต่กลับมีความสุขไม่มากเท่าประเทศเล็กๆอย่างภูฏานซึ่งแทบจะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เลย

คนที่หลงว่าทุนนิยมคือความสุขนี่แหละคือวิบากบาปของคนที่หลงมัวเมาในเงิน ในความมั่งคั่งจนบดบังความจริงของชีวิต กิเลสมันจะบังไว้หมด ทำให้หลงว่าเงินและความเจริญของประเทศคือความสุข มันจะไม่เห็นว่าความพอเพียงคือความสุข และความเข้าใจนี้เองที่จะผลักดันให้พวกเขาเดินหน้าสู่นรกอย่างมั่นใจ นี้เองคือพลังแห่งวิบากบาปที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

….การลงทุนในโลกียะกับชาติภพที่ไม่มีวันจบสิ้น

นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นหรือในการลงทุนอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกัน คือนักลงทุนที่วิเคราะห์และเข้าใจได้เพียงความเป็นอยู่ในชีวิตนี้เท่านั้น จึงตัดสินใจลงทุนแม้ว่ามันจะเป็นอบายมุข จะเป็นการพนันแค่ไหนก็ยินดีที่จะทำเพราะมองเห็นเพียงแค่ว่า ขอให้ฉันมีชีวิตที่สุขสบายในชาตินี้ก็เพียงพอ

แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้จบแค่ตาย ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของภพหนึ่งไปภพหนึ่ง เปลี่ยนจากคนแก่เปลี่ยนชีวิตที่ใกล้ตายไปเป็นชีวิตใหม่ โดยใช้กรรมเก่าที่ทำมาในชาติที่ผ่านมา ร่วมกับกรรมเก่าที่เก็บสะสมไว้หลายต่อหลายชาติก่อนหน้านี้ สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นร่างใหม่ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมแก่กรรม

ดังที่เราเห็นได้ว่า เราเกิดมาพร้อมกับปัจจัยที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน บางคนรวย บางคนจน บางคนหน้าตาดี บางคนธรรมดา บางคนปกติ บางคนพิการ ในเมื่อผลของกรรมคือการรับสิ่งที่เราทำมา แต่เราเกิดมาเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็มีพ่อแม่มาเลี้ยงแล้ว ดังนั้นไม่ว่าการเกิดมาในภพใด จะยากดีมีจน มีคนรักมีคนดูแลหรือถูกทิ้ง ล้วนเกิดจากกรรมที่สะสมไว้ทั้งนั้น เป็นการนำกุศลกรรมเก่ามากินมาใช้ในช่วงที่ยังเป็นเด็ก

ทีนี้นักลงทุนที่มองเพียงแค่ชาติเดียวก็จะลงทุนพลาด จะลงทุนไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ หรือแม้จะทำกุศลก็ทำไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ การจะเกิดมารวยหรือจนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือการเกิดใดๆล้วนต้องประสบทุกข์ ไม่ว่าจะปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ต้องเจอกับทุกข์

ดังนั้นการลงทุนของนักลงทุนทั่วไปก็จะสามารถทำให้ตัวเองมีกินมีใช้ในชาตินี้หรืออย่างมากก็ชาติหน้าเท่านั้น แต่นักลงทุนที่เก่งกว่าจะมองเห็นไปถึงวัฏสงสารที่แสนยาวไกล จึงวางแผนได้ไกลกว่า วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งกว่า เห็นไปถึงรูปและนามที่สะสมมา เห็นกิเลส เห็นภพ เห็นชาติ เห็นการเกิดและการดับใดๆก็ตามในโลกนี้ จึงสามารถจัดสรรการลงทุนให้เป็นไปทางโลกียะและโลกุตระอย่างเหมาะสม ลงทุนทั้งทางโลกและทางธรรมให้เป็นไปอย่างกุศล ทางโลกก็เพื่ออาศัย ทางธรรมก็เพื่อดับกิเลส อาศัยเกิดและดับไปอย่างนี้ทุกชาติ สร้างกุศลซึ่งเป็นกำไรแท้สะสมไปทุกชาติ

ดังนั้นนักลงทุนข้ามภพข้ามชาติจึงไม่กลัวจน แต่จะกลัวรวย เพราะการรวยนั้นหมายถึงการเบิกกุศลเก่ามาใช้เกินพอดี แต่การจนนั้นคือการออม และเก็บสะสมกุศลที่ตัวเองไว้กินใช้ภายหน้า ซึ่งเหมือนกับธนาคารกรรมที่เก็บสะสมไว้ ส่วนจะมีมากน้อยเพียงไร คงมีเพียงนักลงทุนผู้นั้นเท่านั้นที่จะรู้ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์