Tag: ความดี

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,187 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีพิสูจน์รักแท้

December 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 16,893 views 0

วิธีพิสูจน์รักแท้

วิธีพิสูจน์รักแท้

…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?

ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ

…รักแท้นั้นคืออะไร?

รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม

เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน

ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย

แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม

ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่

เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี

และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก

ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต

การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป

…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?

หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป

คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน

ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน

ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้

เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่

แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง

คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ

…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?

การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ

ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน

นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น

มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน

ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว

คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง

การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ

ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย

แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

24.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,779 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,319 views 0

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน

การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้

อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น

การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ

ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ

จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้

ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา

ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย

ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว

อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา

ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ

อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)