Tag: อาหารมังสวิรัติ
ตลาดอาริยะ สีมาอโศก
ตลาดอาริยะ สีมาอโศก
วันนี้ไปงานตลาดอาริยะที่โคราช มีเวลาอยู่ไม่มาก ด้วยข้อจำกัดของการเดินทางและธุระช่วงเที่ยง แต่ก็ตัดสินใจไป ระยะทางไปราว ๆ 150 กม. ไม่ใกล้ไม่ไกล พอไปได้ ก็ได้ประสบการณ์หลายอย่างที่่คุ้มค่า
1.เชื่อมโลก
เข้าไปก็เห็นแต่ชาวบ้านทั้งนั้น เรียกว่าประสบความสำเร็จในการเชื่อมกับชุมชนคนท้องถิ่น ทำให้เขาได้เข้ามารู้จัก ได้เข้ามาศึกษาว่าการปฏิบัติธรรมแนวนี้เป็นอย่างไร ทาน คืออะไร การทำทานเป็นอย่างไร งานตลาดก็ดูเหมือนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้มีส่วนเชื่อมพี่เชื่อมน้องเข้ามา
2.อาหารมังสวิรัติ
คนจะได้รู้จักอาหารที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์มากขึ้น มันเป็นเรื่องแปลกมาก ที่คนทั่วไปเข้ามาต่อแถวกินอาหารมังสวิรัติ ก็จริงอยู่ที่ว่าราคาถูกมาก แต่ประโยชน์คือเขาได้รู้จัก ได้เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียน แม้เขาจะกินไม่หมด ไม่ถูกปาก เททิ้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเอาไปทำปุ๋ยต่อได้ แค่ให้เขาได้มีโอกาสได้ศึกษา ได้สัมผัส มันก็เป็นคุณค่ามากแล้ว
3.ของดีราคาถูก
ผมเป็นคนที่ซื้อของบ่อย เลือกซื้อเลือกหา ก็ต้องบอกว่าเขาหาของมาขายถูกจริง ๆ แล้วก็เป็นของดี ที่ใช้งานได้ อย่างวันนี้ได้ด้ามจอบ 30 บาท ปกติทั่วไปก็เห็นว่า 60+ ก็สารพัดอย่างที่เขาเอามาขายในราคาแบ่งปัน ตรงนี้ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ชัดเจน
4.การแบ่งปัน
ในมุมคนขายก็คงจะได้โอกาสแบ่งปันอยู่แล้ว สำคัญอยู่ตรงคนซื้อนี่แหละ เพราะมีมากกว่าคนขาย และดูเหมือนจะมีมากกว่าของที่ขายด้วย คนซื้อก็ได้ประโยชน์ในการหัดแบ่งปันคนอื่น ไม่เอาไว้คนเดียวหมด เช่นด้ามจอบนี่มันถูกนะ ผมจะซื้อสำรองไว้หลาย ๆ อันก็ไม่เสียหาย เงินก็พอมี แต่ของมันมีจำกัด แบ่งคนอื่นจะมีประโยชน์กับเขามากกว่า เราเอามาก็ไม่ได้ใช้หรอก แค่สำรอง จะใช้จริงแค่อันเดียว ก็ซื้อมาอันเดียว เราก็สละสิทธิ์ให้คนอื่นต่อ แม้ราคามันจะถูกยั่วใจมากมายก็ตาม แต่ประโยชน์ของการแบ่งปันมันมีมากกว่า เราก็เลยมาฝึกแบ่งปันด้วยในฐานะผู้ซื้อ
5.กระทบโลก
ขึ้นชื่อว่านักปฏิบัติธรรม มันก็ต้องกล้าที่จะกระทบโลก ก็อย่างว่ามีแต่ชาวบ้าน เขาก็แต่งตัวสวยหล่อตามที่เขาชอบนั่นแหละ ก็เข้ามากระทบคนวัด คนมากมายปะปน นิสัยต่างกัน ศีลธรรมต่างกัน มันก็จะมีการกระทบกระทั่ง ชนกัน เพราะมันไม่เสมอกัน อันนี้แหละ ผมคิดว่าคือความบันเทิงของนักปฏิบัติธรรม มันก็ต้องกระทบ กระทบแล้วก็ตรวจใจไปว่าไปชอบหรือชังอะไรเพราะอะไร มันมีผัสสะให้ตรวจ มีเวทนาเป็นความจริงให้รู้ มันสนุก มันจริง ไม่ต้องเสียเวลานึกปั้นว่าเราเจออย่างนั้นอย่างนี้จะเป็นยังไง เอาชนกันจริง ๆ นี่สนุก ยิ่ง contrast เยอะ ๆ จะยิ่งปั่นป่วนมาก แต่ก็ไม่ได้มากเกินควบคุม เพราะที่นี่ก็ยังเป็นวัด คนทั่วไปเขาก็ดูสำรวมอยู่
…ไปอยู่ราว ๆ 3 ชั่วโมง มานั่งนึกทบทวนก็ได้ประมาณนี้แหละครับ จริง ๆ ประเด็นมันก็เยอะไปหมดแหละ แต่นึกไม่ออก ใช้เวลาน้อย อาหารก็น้อย ปรุงได้น้อยตามไปด้วย ใครสนใจก็ตามศึกษากันเอา ประเด็นพวกนี้ครูบาอาจารย์ท่านแจกไว้หมดแล้วนั่นแหละ แต่อันนี้ผมเอาที่ตัวเองไปประสบพบเจอมาเล่ากันในมุมของผม
มังสวิรัติไม่ถึงใจ
มังสวิรัติไม่ถึงใจ
…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส
การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ
ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก
เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน
มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี
…ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย
การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล
หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด
ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น
การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ
ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น
นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด
…การปฏิบัติที่ใจ
การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง
การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น
การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น
เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น
แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต
…กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น
การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา
…สรุปข้อแตกต่าง
ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน
ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก
การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
5.12.2557
ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ
ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ
ว่าด้วยการทำบุญทำทานในสมัยนี้ ไม่ว่าจะทำบุญตักบาตรให้กับพระ ทำบุญเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ ทำบุญในงานมงคลต่างๆ หรือการทำการกุศลที่มีอาหารเป็นส่วนประกอบในงานใดๆก็ตาม โดยส่วนมากก็มักจะเป็นอาหารที่พรั่งพร้อมไปด้วยเนื้อสัตว์ไปเสียทุกงาน
เรามักเข้าใจไปว่าการให้อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นการทำบุญ เราหลงเข้าใจไปว่าสัตว์ตายเพื่อเป็นอาหารสัตว์นั้นก็ได้บุญ เราหลงเข้าใจกันว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้กันมานานแสนนาน ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นการทำบุญที่ได้บาป…
ทำบุญได้บาปอย่างไร?
ในพระไตรปิฏกบทหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องทำบุญได้บาป ได้ชี้แจงไว้ดังนี้ ๑.บุญได้บาปเพราะมีการสั่งให้ไปเอาสัตว์ตัวนั้นมา ๒.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นต้องโศกเศร้า เพราะถูกบังคับมา ๓.ได้บาปเพราะมีการสั่งให้ฆ่าสัตว์นั้น ๔.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมาน ๕.ได้บาปเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติสู่ความสงบจากกิเลสทั้งหลาย เกิดความยินดีที่ได้กินเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควรกิน (เนื้อสัตว์ที่ได้มาด้วยการเบียดเบียน)
จึงจะเห็นได้ว่า การนำเนื้อสัตว์มาบริจาคเป็นทานนั้น มีส่วนแห่งบาปปะปนอยู่มากมาย จนเรียกได้ว่า อาจจะไม่คุ้มกันกับการทำบุญทำทานด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น
กว่าจะได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ ต้องผ่านความทุกข์ทรมาน ผ่านความเศร้าโศกเสียใจมากมาย สัตว์ที่จะถูกฆ่าต่างก็มักจะรู้ตัวว่าตัวเองนั้นจะต้องถูกฆ่า บ้างก็น้ำตาไหล บ้างก็วิ่งหนี ดิ้นรนเท่าที่มันจะสามารถทำได้ แต่สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็ไม่มีทางหนีจากบ่วงกรรม จากบาปที่สัตว์เหล่านั้นเคยทำมา ไม่มีทางหนีคมหอกคมดาบจากคนผู้มีใจเหี้ยมโหด
โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมักจะไม่สามารถทนเห็นการกระทำที่แสนจะโหดร้ายทารุณได้ แต่ก็มักจะหลงติดในกามรส ติดในโลกธรรม หลงยึดว่าเนื้อสัตว์อร่อย หลงยึดว่าคนส่วนใหญ่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลงยึดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นกับชีวิตหลงยึดว่าเนื้อสัตว์ดี
มนุษย์ผู้มีใจสูง หากได้รับรู้ถึงความโหดร้ายทารุณ รู้ถึงความทรมาน รู้ถึงบ่วงกรรมที่จะเกิดขึ้น รู้ถึงโทษชั่ว รู้ถึงภัยจากกิเลสคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ เขาเหล่านั้นจะพยายามออกจากการเบียดเบียนเหล่านั้น เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าถ้ายังฝืนเบียดเบียนต่อไปจะนำมาซึ่งทุกข์ โทษ ภัย ต่อตัวเอง ดีไม่ดี อาจจะเป็นเขาเองก็ได้ที่ต้องกลายเป็นสัตว์เหล่านั้นไปในชาติใดชาติหนึ่ง
เพราะโดยสัจจะแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น สัตว์ที่ถูกกักขัง ถูกทรมาน และถูกฆ่าเหล่านั้น เขาก็เคยก่อกรรมชั่วมามากมาย และในชาติที่เราเห็นเขาเป็นสัตว์ เขาก็กำลังชดใช้กรรมของเขาอยู่ ใช้แล้วก็หมดไปเรื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่หมดก็อาจจะเกิดเป็นสัตว์ไปชดใช้กรรมอีกเรื่อยๆก็เป็นได้ จนชาติใดชาติหนึ่งกรรมชั่วได้เบาบาง ส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ด้วยความที่มีกิเลสมากก็กลับไปเบียดเบียนสัตว์กินเนื้อสัตว์อีก สะสมบาป เวร ภัย สะสมความชั่วอีกมากมาย เมื่อตายก็อาจจะวนกลับไปเป็นสัตว์ได้อีก วนเวียนไปเช่นนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่ามีสัตว์ที่ถูกฆ่าและคนที่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันเสมอ มีสัตว์ มีคนกินเนื้อสัตว์ ก็มีคนฆ่าสัตว์ และมันจะวนเวียนกันไปจนกว่าคนใดคนหนึ่งจะหลุดพ้นจากกิเลสได้นั่นเอง
ฉลาดทำบุญด้วยการละเว้นเนื้อสัตว์
เมื่อเราเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว เรายังคิดจะทำบุญด้วยเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? เรายังสนับสนุนให้ผู้อื่นกินเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้ แต่ทำไม่เราไม่ให้โอกาสผู้อื่นได้สัมผัสอาหารมังสวิรัติบ้างเล่า
อย่างเช่น การทำบุญตักบาตรให้พระ ถ้าเราใส่แต่อาหารมังสวิรัติ ใส่ผักไป พระท่านก็จะได้โอกาสพิจารณาอาหาร ได้โอกาสที่จะกินมังสวิรัติแม้ว่าตัวท่านเองจะยังมีกิเลสอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ก็ตาม แต่หากสังคมช่วยกันด้วยการไม่ส่งเสริมกิเลสให้พระ ไม่ใส่เนื้อสัตว์ให้พระ ก็จะสามารถช่วยบำรุงความเจริญให้ศาสนาได้
เพราะผู้บวชในพระพุทธศาสนานั้น บวชไปเพื่อความพราก เพื่อความไม่มี เพื่อความลด และดับกิเลส ดังนั้นเราจึงควรส่งเสริมให้ท่านได้ลดกิเลสในเรื่องเนื้อสัตว์นี้ ไม่เอาเนื้อสัตว์ไปถวายท่าน เพราะพระที่ยังมีกิเลสมาก ก็มักจะกินเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควร เป็นเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เราจะได้บาปเพราะทำให้พระผู้ปฏิบัติสู่การลดกิเลส กินเนื้อสัตว์ที่ประกอบไปด้วยบาป ซ้ำยังไปส่งเสริมกิเลสในตัวท่านอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยหากชาวพุทธจะทำการใดๆ เพื่อส่งเสริมกิเลสพระ
การเลี้ยงพระด้วยอาหารมังสวิรัตินั้นจะเป็นกุศลอย่างยิ่งเพราะไม่ประกอบด้วยบาปใดๆ ปรุงรสให้จืด ทำด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เสริมโปรตีนให้ท่านด้วยถั่วและธัญพืช มีรายงานและการวิจัยมากมาย รวมถึงหลักฐานชนิดที่ว่าเป็นคนทั่วไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังมีสุขภาพที่ดี ร่างกายเบาสบาย สดชื่น แข็งแรง มีโรคน้อย
ซึ่งจะไปตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อยและอายุยืน” ดังนั้น หากเราคิดจะทำบุญให้ได้กุศลสูงสุด เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญให้กับศาสนา ก็พึงพิจารณาหาอาหารมังสวิรัติมาถวายพระ นำอาหารมังสวิรัติไปจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ นำอาหารมังสวิรัติมาทำบุญตักบาตร ส่วนท่านจะฉันหรือไม่ฉันนั้นก็ให้เป็นไปตามกิเลสของท่าน ส่วนเรามีหน้าที่ไม่เสริมกิเลสของท่านก็เป็นบุญอันยิ่งใหญ่แล้ว
เมื่อจิตของเราคิดจะสละทรัพย์บริจาคทานให้ผู้อื่นเพื่อเป็นบุญแล้ว ก็ควรพิจารณาสิ่งที่จะนำไปบริจาคนั้นให้ดีด้วย เพื่อทำกุศลให้ถึงพร้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หากทานที่เราให้ไปนั้น ให้แล้วกลับกลายเป็นเพิ่มกิเลส เพิ่มบาปให้กับผู้อื่น เราก็ไม่สมควรให้ หรือให้แต่น้อย ส่วนทานใดที่เราให้ไปแล้วพาให้เขาลดกิเลส พาให้เขาเกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมไปในทางเดียวกัน ทานนั้นจึงเป็นทานที่สมควรให้
– – – – – – – – – – – – – – –
29.10.2557