Tag: อารมณ์

จิตฟุ้งซ่านเพราะถูกกระตุ้น

September 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,260 views 0

ถาม : การที่เราได้ไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้หวนคิดถึงเรื่องเก่าๆที่เคยสุขหรือทุกข์ใจ เช่นเรื่องของแฟนเก่า ภาพในวันเก่า จนจิตฟุ้งไปกับอารมณ์นั้น ควรทำอย่างไร?

1.1.ถ้ามันฟุ้งซ่านคุมไม่อยู่ก็เปลี่ยนเรื่องไปทำอย่างอื่น ใช้อุบายกำหนดจิต หลอกจิตให้สงบไปก่อน

1.2.ถ้าไม่ถึงกับฟุ้งซ่านมาก ก็ให้ตามดูอาการที่เกิดขึ้น ดูว่ามีความทุกข์หรือสุขขนาดไหน เพราะอะไร

1.3.ค้นลึกต่อไปที่เหตุของสิ่งที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์นั้นว่าเราไป หลงติดหลงยึดอะไรจึงทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น

1.4.เมื่อเห็นเหตุเหล่านั้นให้ให้พิจารณาธรรมะ ที่ตรงกับเหตุนั้นเพื่อไปทำลายอธรรมที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน

ถาม : ถ้าเราไม่ไปเจอเหตุการณ์เช่นนั้นเราก็ไม่ฟุ้ง เราควรหลีกเลี่ยงหรือไม่อย่างไร

2.1.ถ้าจิตไม่แกร่งพอจะทนไหว ก็ควรจะหลีกเลี่ยงก่อน ถึงจะต้องปะทะกันก็ควรจะรักษาระยะห่าง

2.2.ถ้าพอจะสู้ไหว อาการไม่ออกไปภายนอกก็ลองเข้าไปหาเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะ “ผัสสะ” คือตัวที่จะชี้ให้เห็นว่า “เหตุแห่งทุกข์” อยู่ตรงไหน ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีทางได้ปฏฺิบัติธรรม เพราะมีผัสสะจึงมีการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรหนีจากผัสสะ แต่ถ้าไม่ไหวก็วนกลับไปทำอย่างข้อ 2.1

2.3. ถ้าปฏิบัติถูกตรง จนทำให้กิเลสจางคลายได้จริง จะสามารถรู้ได้เองเมื่อเกิดผัสสะ ความสุขทุกข์ที่เคยมีจะเบาลง (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้วันเวลาเยียวยา แต่หมายถึงปฏิบัติกันทั้งๆที่เกิดอาการแรงๆกันอยู่เมื่อวาน แล้ววันนี้ทำได้ดีขึ้น)

2.4. ถ้าทำลายกิเลสได้จริง จะเหลือแต่อาการไม่ทุกข์ไม่สุข (ไม่ใช่เพราะเบื่อแบบชาวบ้าน แต่เป็นเพราะทำลายความหลงติดหลงยึดด้วยปัญญา)

การเดินทางที่แสนพิเศษ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,847 views 0

การเดินทางที่แสนพิเศษ

การเดินทางที่แสนพิเศษ

….การท่องเที่ยวผ่านอดีต ไปอนาคต จบลงที่ปัจจุบัน

ในชีวิตหนึ่งเราอาจจะเดินทางไปไหนต่อไหนก็ได้ ไกลเท่าไรก็ได้ อาจจะทั่วโลกหรือทั่วจักรวาลก็ยังได้ เราได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งต่างๆระหว่างการเดินทางมากมาย จนถึงจุดหมายซึ่งทำให้เราพบกับสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ก็ยังมีการเดินทางที่พิเศษกว่านั้นเป็นการเดินทางไปที่ไหนก็ได้แม้ว่าจะนั่งอยู่บนม้านั่งตัวเก่า นอนอยู่บนเตียงเดิมเดิม แต่กลับงดงามอย่างหาอะไรมาเปรียบไม่ได้

จินตนาการสามารถพาเราไปที่ไหนก็ได้ ไกลแค่ไหนก็ได้ ละเอียดเท่าไรก็ได้ จะแวะพัก จะย้ายที่ จะทำอะไรก็ได้…

เราจึงใช้จินตนาการเหล่านั้นพาตัวเองผ่านอดีต ผ่านหลายภพหลายชาติที่เคยติดเคยยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา เดินทางตรวจสอบจิตใจว่าเรายังเหลืออะไรให้หวนไปในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ เรายังสุขยังทุกข์กับเรื่องราวในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ ทุกเรื่องราวที่ผ่านมาสร้างรอยยิ้มและน้ำตามากมาย เป็นเหมือนเส้นทางที่มีแต่ความทรงจำที่ผ่านมามากมายขื่นขมและงดงามหาที่เปรียบไม่ได้

เรายังคงเฝ้าถามตัวเองว่ายังเหลือทุกข์เหลือสุขอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นหรือไม่ แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง เราอยากทำให้มันกลับมาหรืออยากลบมันทิ้งไปหรือไม่

หลังจากเราเดินทางไปในอดีต เราก็จะไปท่องเที่ยวกันต่อในอนาคต เราจะพาจินตนาการไปยังที่ที่อยากไป คนที่อยากพบ เหตุการณ์ที่อยากเจอ เป้าหมายในชีวิตของเราที่อยากมี ความฝันวันวานที่เราเคยมี เราใช้เวลาดื่มด่ำไปกับจินตนาการในอนาคต เรามีความสุขหรือไม่ที่เราคิดถึงมัน จะดีไหมถ้าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นจริง เราใช้มันเป็นแรงผลักดันในชีวิตได้ไหม ถ้าถึงวันที่เราฝันจริงๆ แล้วเราจะมีความสุขจริงๆใช่ไหม?

เราเดินทางไปยังอนาคต ที่เวลาทั้งหลายจะเคลื่อนไปตามจินตนาการของเรา คนข้างๆเราเขายังจะอยู่กับเราถึงวันที่เราหวังหรือไม่ พ่อและแม่ของเราจะจากไปตอนไหน เราจะต้องอยู่คนเดียวอีกนานแสนนานไหม ถ้าเราต้องโดดเดี่ยวและสูญเสียจริงๆ เราจะทุกข์ เราจะเสียใจ เราจะทนได้ไหม เราจะไม่ร้องไห้ได้ไหม

หากเรายังคงยินดีในอดีตและอนาคต เราก็ยังคงต้องเดินทางต่อไป การเดินทางของเรานั้นยังไม่จบยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมัน เราต้องใช้เวลามากมายเดินทางข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นจากเดือนเป็นปี จากปีเป็นชีวิต เราตายและเกิดใหม่เพื่อเดินทางเรียนรู้บนถนนเส้นเดิม แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่เราก็ยังจะเดินทางตามหาความฝันเหมือนเดิม

จนกว่าเราจะพบว่าเราพอแล้ว เราไม่ยินดีในสุขและไม่สนใจจะจมอยู่กับทุกข์ทั้งในอดีตและอนาคตแล้ว ไม่มีเรื่องใดๆให้เราต้องทำ ไม่ต้องไขว่คว้าฝันนั้นอีกต่อไปแล้ว เราจึงยินดีที่จะหยุดเดิน เราไม่กลับไปอดีต และจะไม่เดินต่อไปในอนาคต การเดินทางของเราจบลงที่ตรงนี้ ตอนนี้ เราอยู่กับปัจจุบัน อดีตคือความทรงจำดีๆ เรื่องราวมากมายที่ผ่านมานั้นยังคงมีอยู่ อนาคตต่อจากนี้ก็ยังมีอยู่แต่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเดินทางที่แสนพิเศษจะเกิดขึ้นเพราะมันมีตอนจบ มีเส้นทาง มีประสบการณ์ มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านมาแล้วก็มีตอนจบ เป็นการสิ้นสุดของการเดินทางท่องเที่ยวที่ผ่านมานานแสนนาน ผ่านรอยยิ้มและน้ำตามากมาย บทสรุปนั้นงดงามด้วยเรื่องราวของทุกก้าวที่ผ่านมา

พระอาทิตย์กำลังขึ้นในเช้านี้ แต่ไม่มีการเดินทางอีกต่อไป ไม่ต้องท่องเที่ยวอีกต่อไป เหลือเพียงแค่คนหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตไปอย่างปกติ โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนอีก ไม่ต้องกลับไปอดีต ไม่ต้องไปอนาคต เพราะเขาอยู่กับปัจจุบัน

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,518 views 0

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์

ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน

อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย

วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…

แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด

และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป

เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน

เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?

แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น

หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?

หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?

แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?

เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?

แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?

เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?

แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร

เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?

พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?

นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?

เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา

เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?

อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?

….

สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย

แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้

กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี

ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ

หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รับน้อง

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,744 views 0

รับน้อง

รับน้อง

ช่วงนี้ได้ยินข่าวการรับน้อง เป็นอีกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรไม่ดี แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำกิจกรรมอย่างประมาท เพราะเราคิดอย่างประมาท

การรับน้องเป็นเรื่องของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และกิเลส ซึ่งมีมานานตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็คงจะไม่เสียเวลาไปค้นหากันให้ยุ่งยาก รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม หรือเป็นการสนองตัณหา เสริมกิเลสก็พอ

ผมเองเคยเป็นทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ที่เคยรับน้อง ซึ่งเข้าใจดีถึงประเพณีที่ปนเปื้อนไปด้วยความอยากที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน สมัยเป็นรุ่นน้องก็เคยเห็นเพื่อนๆเขาจริงจังกับกิจกรรมของรุ่นพี่ พอมาเป็นรุ่นพี่เราก็เห็นรุ่นพี่ทั้งหลายสนุกกับกิจกรรมของตัวเองโดยมีรุ่นน้องเป็นเหยื่อเหมือนกัน

จะสังเกตได้ว่ายิ่งนานวันไปกลุ่มที่มีลักษณะการรับน้องที่มีความรุนแรงและอารมณ์เข้ามาปนเปื้อนเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงและอารมณ์เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในรูปของการบาดเจ็บล้มตายและความเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น เพราะกิเลสจะยิ่งพัฒนาตัวเองส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นพี่ทำแบบนี้ พอรุ่นน้องมารับช่วงต่อ ก็เก็บเอากิเลสของรุ่นพี่มาต่อยอด คือต้องทำให้มันเจ๋งกว่ารุ่นพี่ พัฒนากันไปตามที่ใจอยากจะเป็น

ก็คงจะดีถ้าทิศทางการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เกิดความดีงาม เกิดการพัฒนาในเชิงบวก มีกิจกรรมมากมายที่รุ่นพี่สามารถออกแบบใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดกรอบเดิมๆที่เขาคิดไว้ กิจกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ ความอดทน ความกล้า ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี นั้นมีมากมาย ถ้าคิดกันง่ายๆ ก็กิจกรรมจำพวกงานจิตอาสาต่างๆ เช่น…

..ชวนกันไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆก็ได้ แค่นี้ก็วัดใจแล้วว่าจะกล้าลดตัวลดตน มาทำดีรึเปล่า

….ไปทาสี โรงเรียน วัด ก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ ขนอิฐ แบกปูน แค่นี้ก็วัดความสามัคคี ความอดทน ความเป็นผู้นำ กันได้แล้ว

……ไปปลูกต้นไม้ ขุดลอกคลอง เก็บผักตบชวา ดำนา เกี่ยวข้าว …มีกิจกรรมที่สามารถดึงความสามัคคีและสร้างสรรค์ได้มากมาย เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องลำบากเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น

ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายๆกลุ่มที่เขาทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะมองว่าแบบนี้แปลกไม่เหมือนรับน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางขัดใจ ขัดกิเลส ไม่ไปทางอกุศล ตามที่คนส่วนใหญ่มักเมามายในกิจกรรมที่พาให้หลงไปในสิ่งมัวเมาในอารมณ์ เมาโลกธรรม เมาอัตตา คือรุ่นพี่ก็เมาสรรเสริญ เมายศ หลงมัวเมาไปว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ สั่งรุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วยศ อำนาจ เหล่านั้น เราก็ปั้นขึ้นมาเอง

เพราะความจริงเราก็เป็นแค่คนที่เข้ามาเรียนก่อนเขาปีหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่เรียนจบก่อน แล้วมันยังไงละ? มันดี มันเด่น มันยอดกว่าตรงไหน ตรงความรู้ใช่ไหม? สิ่งที่รุ่นน้องกับรุ่นพี่ต่างกันชัดเจนก็คือความรู้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาถ่ายทอดกันมากกว่า ส่วนเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องการใช้อำนาจ การใช้กำลัง ความมัวเมา ใครก็ทำได้ ลองเอาปืนใส่มือเด็กสิ เด็กก็ยิงเป็น เผลอๆจะแม่นกว่าผู้ใหญ่อีก

ดังนั้นเราอย่าไปแข่งกันทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย เพราะเรื่องแบบนี้ใครก็ทำได้ แค่เพียงเขาไม่ทำกัน เพราะเขาเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น คนที่ไม่เห็นผลเสียแล้วยังมองว่าดี ก็เหมือนยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

ถ้าเราสามารถกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ“รับน้องไปทำไม” เราจะคิดอะไรดีๆได้อีกมากมาย แล้วก็มาคิดกันต่อว่า แล้วรับน้องอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ทั้งกับเรากับน้อง จุดประสงค์คืออะไร ผลที่จะได้รับคืออะไร แล้วค่อยหากิจกรรมที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์มาคิดกันอีกที

ถ้าทางที่รุ่นพี่พากันทำกันมามันคือทางที่ไม่สร้างสรรค์ พาให้เป็นทุกข์ พาไปนรก เรายังจะเดินตามกันไปอีกหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

4.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์