Tag: อบายมุข

เกมลวงใคร?

August 17, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,478 views 1

เกมลวงใคร

เกมลวงใคร? : ความสนุก ความสุข ความน่าสนใจ ที่ถูกออกแบบมาให้ถูกต้องตรงใจตามกิเลส

คนเรานั้นเกิดมากับกองกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และโลกที่หมุนวนไปด้วยกิเลสก็มักจะสร้างสิ่งที่ยั่วเย้ามอมเมาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเล่น การแสดง การท่องเที่ยว การแข่งขัน ฯลฯ และเกมคือสิ่งที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน

โดยธรรมชาติของกิเลส มันจะทำหน้าที่สร้างสิ่งที่จะดึงเราให้ลงต่ำ ดึงเราลงนรก ดึงลงอบายภูมิให้ลึกลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ทำให้เรารู้ตัว และให้เราเสียเวลา เสียเงิน เสียพลังงาน เสียสติปัญญาให้กับมันไปเรื่อยๆ

เกมในสมัยก่อน เราแค่นั่งเล่นอยู่หน้าจอ ปิดเครื่องก็จบกันไป แต่เกมสมัยนี้ดูดพลังของเรามากขึ้นไปอีก การนั่งเล่นหน้าจอเพียงแค่มอง คิดแล้วใช้มือกด ไม่ใช่สิ่งที่จะสาสมใจคนในยุคนี้อีกต่อไป เราต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อเสพมากขึ้น นั่นคือเราต้องขยับ เดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรางวัลที่เกมได้สร้างล่อกิเลสเราไว้

เกมแต่ละเกมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะยั่วกิเลสของเราในทุกเหลี่ยมทุกมุม เพื่อที่จะให้ผู้เล่นเกิดความลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในโลกลวงที่เขาสร้างขึ้นมา เกมในปัจจุบันนั้น ต้องจ่ายทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งเวลา เงิน สุขภาพ สติปัญญา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นต้องเสียไปเพื่อแลกกับการได้เสพสุขจากเกม ไปตามลำดับที่เขาออกแบบมาให้ โดยที่เขาจะสร้างสิ่งลวงในโลกของเกมมาแลกเช่น ไอเทมใหม่ๆ ฉากใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ศัตรูใหม่ๆ ฯลฯ เพื่อที่จะล่อให้คนหลงติดตามมาเรื่อยๆ

ผู้ออกแบบจะจับจุดว่าคนเรานั้นมีความต้องการในอะไร แล้วก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คนหลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ควรได้ เรียกว่าล่อกิเลสในคนให้ออกมาแสวงหา เช่น สร้างโอกาสได้ความร่ำรวยลวงๆ สร้างโอกาสในการได้อำนาจบารมีลวงๆ สร้างโอกาสในการได้ความเก่งลวงๆ ฯลฯ

แล้วเขาก็ออกแบบได้เก่งจริงๆนะ ออกแบบเกมได้น่าเล่นน่าลอง หลายคนเห็นก็เข้าไปตะครุบเลย บางคนเห็นเพื่อนเข้าไปตะครุบก็เข้าไปตะครุบบ้าง บางคนไม่สนใจแต่ก็โดนพลังของคนที่หลงตะครุบชักชวนให้ไปตะครุบตาม บางคนติดสังคม ก็ต้องเกาะตามกระแสกับเขาแล้วเมาไปด้วยกัน

ทีนี้เมื่อคนเล่นได้เสพสมกิเลสก็จะเกิดความสนุก จนกระทั่งเต็มใจที่จะจ่ายเงิน สุขภาพ เวลา สติปัญญาให้กับเกม ถ้าเปรียบกับทาสนี่ก็ยังไม่ใช่ เพราะทาสต้องโดนบังคับหรือเฆี่ยนตีและต้องทำงานที่ไม่อยากทำ แต่เกมนี่สร้างคนให้ยิ่งกว่าทาสอีก คือให้คนยอมเล่น ให้ยินดียอมเสียทรัพยากรเพื่อแลกมาซึ่งสิ่งลวงๆ ให้รู้สึกว่ามีอิสระในการเสพแต่จริงๆ ก็ถูกโซ่แห่งความอยากคล้องไว้อยู่

สิ่งลวงๆ คืออะไร? สิ่งลวงเหล่านั้นก็คือสิ่งที่เกมได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคน เพราะเขารู้ว่าคนนั้นอยากได้อยากมี แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงก็ตามที เพื่อแลกกับความสุขเพียงชั่วครู่ ที่คนนั้นได้เสพ ได้มี ได้ครอบครองอยู่ แต่สุขนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป แม้ได้เสพแบบเดิมก็จะไม่สุขเหมือนอย่างเดิม เหมือนอย่างที่เราเอาเกมเก่าๆ มาเล่น มันจะไม่สุขเหมือนครั้งแรกๆ ถึงจะสุขแต่มันก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว สุขนั้นไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน สุดท้ายก็จะเกิดอาการเบื่อ ซึ่งเป็นการเบื่อหน่ายแบบโลกๆ ซึ่งเกิดจากการเสพสิ่งเดิมจนเบื่อ

เมื่อเล่นเกมจนเบื่อก็พบว่า เล่นไปสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความสุขจากการเสพชั่วครั้งชั่วคราว ดีไม่ดีไม่สุขเลยก็ว่าได้ และได้ความรู้มาอีกนิดหน่อย คือเกมนั้นเป็นอย่างนั้น เกมนี้เป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้พาให้ตนพ้นจากทุกข์ เป็นความรู้ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต

ถึงแม้คนจะรู้ว่าเกมทุกเกมเล่นแล้วก็จบดับไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตนเองหลงเข้าไปเล่น หลงเข้าไปพัวพันยึดติดมันจนเสียทรัพยากรมากมายนั้นเพราะเหตุใด ทำไมตนเองจึงต้องเข้าไปเสพสิ่งนั้น ทั้งที่รู้ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้คุณค่าหรือมีสาระแท้อะไรในชีวิตเลย

แต่ก็อาจจะมีหลายคนแย้งว่า ฉันเล่นเกมแล้วได้ประโยชน์นะ ได้ฝึกสมอง ได้ออกกำลังกาย ฯลฯ มันก็จริงตามที่เขากล่าวอ้าง ซึ่งนี่เองคือความร้ายของกิเลส เพราะมันจะเอาประโยชน์บางอย่างมาล่อ เอาข้อดีมากลบข้อเสีย เอาเหตุผลต่างๆนาๆ มาอ้างอิงว่าเสพแล้วดี ถึงจะมีโทษบ้างแต่ก็มีประโยชน์อยู่มาก เหล่านี้คือลักษณะทั่วไปของกิเลสที่จะหลอกให้คนหลง คือเอาประโยชน์ลวงมาเคลือบโทษจริงไว้

ถ้าเราเอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น จะรู้เลยว่าประโยชน์ที่ได้นั้นน้อย ประโยชน์ที่เสียไปมีเยอะและโทษที่ได้ก็มีมากมาย เพียงแต่เราอยากเล่นเกม เราก็เลยหาข้อดีของมันมาเพื่อให้ได้เล่นเท่านั้น ซึ่งเรื่องข้อดีข้อเสียนี่ถ้าเอาไปเถียงกันก็ไม่จบ คนหลงเขาก็จะมองแต่ข้อดี ไม่มองข้อเสีย คนไม่หลงเขาก็เห็นข้อดีข้อเสียชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องนำไปพิจารณากันเอง

ส่วนคนที่ไม่ติดนั้นก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปแขวะคนที่เขาติดได้ เพราะกิเลสมันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม เขาอาจจะติดเกมของเขา แต่เขาไม่ได้ติดเหล้า บุหรี่ พนัน หวย หุ้น กิน เกียรติ กาม ก็มีเหมือนกัน คนที่ไม่ติดเกมแต่ยังติดอบายมุขอื่นๆ มันก็เมาพอๆ กับติดเกมนั่นแหละ แต่มันเลือกเมากันคนละอย่าง ดังนั้นไม่ต้องไปยุ่งกันมาก มุ่งล้างความหลงติดหลงยึดของตัวเองให้ได้ก็พอ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตน อย่าไปทำนาของคนอื่น

เราควรจะมองคนด้วยความเมตตาว่า เขาหลงติดหลงยึดเขาก็เป็นทุกข์นะ เขาต้องแสวงหามาเสพ หามาครอบครอง นี่มันทุกข์แต่เขาไม่รู้ เราบอกดีๆ ได้ก็บอกเขา ถ้าบอกแล้วจะโกรธกันก็ปล่อยวางไปก่อน แต่ไม่ใช่เอาอัตตาไปอัดเขาหรือไปข่มเขา ทำเหมือนได้ทีขี่แพะไล่ เห็นเขาหลงผิดก็รีบซ้ำเติมเขาเลย อันนี้มันจะเป็นคนพาลไปเสียเปล่าๆ

….

ลักษณะเด่นของเกมส่วนใหญ่นั้นคือการแข่งขัน การหาทางเอาชนะภารกิจต่างๆ ซึ่งในชีวิตจริง โลกก็มอมเมาให้เราวนอยู่แต่กับการแข่งขันอยู่แล้ว แต่คนก็ยังไม่สะใจ ไม่สาสมใจ ไม่ถูกใจ ต้องแสวงหาการแข่งขันอย่างอื่นมาเสพ ให้ชนะ ให้ได้ ให้มี ให้ดี ให้เลิศกว่าเขา ทั้งที่จริงเกมก็ไม่ใช่ชีวิตจริง แต่เรากลับไปจริงจังกับมัน ไปให้เวลาและทรัพยากรต่างๆ แก่มัน เป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ซ้อนอยู่กับโลกนี้ เป็นกิเลสที่ลวงซ้อนกิเลสไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่ก็คือหนทางแห่งความมัวเมาที่หนักหนาที่สุดทางหนึ่ง

ใครที่หลงเข้าไปแตะไปเสพแล้ว ก็เรียนรู้โทษของมันแล้วก็ค่อยๆ ถอยออกมา อย่าให้ถึงขั้นหมกมุ่นมัวเมา เสียเวลา เสียงาน เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียชีวิตกันไป

สรุปแล้วเกมนั้นก็ลวงตั้งแต่คนออกแบบเกม ให้หลงว่าการทำเกม การหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสิ่งที่พาให้คนหลงมัวเมานั้นเป็นสิ่งดี ก็เลยออกแบบเกมที่น่าเล่น น่าสนใจ น่าสนุกมาลวงคนอีกทีหนึ่ง แล้วคนเล่นก็ลวงตัวเอง ลวงกันเอง พากันมัวเมาไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเวลาที่เกิดปัญหาจากเกมขึ้นมา ในสังคมก็จะมีการโทษกันไปโทษกันมา คนเล่นผิดบ้าง เกมผิดบ้าง แต่ตัวการจริงๆ กลับลอยนวลพ้นข้อกล่าวหาเสมอ ตัวการที่ว่านั้นคือ…กิเลส

17.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,875 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ (การขอแต่งงาน)

November 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,741 views 0

จากข่าวที่มีการขอแต่งงานที่มีคนดูมากกว่าล้านครั้ง : คลิปขอแต่งงานที่น่ารักมาก ขนมาทั้งญาติทั้งเพื่อน เซอร์ไพรส์สุดๆ

สมัยนี้เขาไม่ขอแต่งงานกันธรรมดาแล้ว มันต้องมีบันเทิง มีบท มีละคร เรียกง่ายๆว่ามีอบายมุขเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

พร้อมคำสัญญาที่มีไว้เพื่อล่อหลอกให้ได้เสพอีกฝ่าย แน่นอนว่าตอนที่เขาใช้คำเหล่านั้นเขาก็อาจจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ความจริงคือสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริง

หลายคนดูไปก็ซึ้งไป …แต่เดี๋ยวก่อน ทุกเสี้ยววินาทีที่คุณซึ้ง คุณสุขจากการเสพเรื่องราวเช่นนี้ คุณก็ได้สะสมกิเลสไปแล้วเท่านั้น

ใครประมาทก็จะบอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ถ้าคนเห็นโทษเห็นภัยของวัฏสงสารแล้วจะขำไม่ค่อยออกถ้าตนเองยังเหลือความเห็นผิดเหล่านั้นอยู่

แม้เผลอไปยินดีเพียงเสี้ยวเดียวในจิตใจ นั่นคือยังมีอุปาทานอยู่ ก็ต้องกลับมาตรวจกันยกใหญ่ว่ายังเหลือความเห็นผิดในอะไร สิ่งใดที่ทำให้เกิดรสสุขลวงขึ้นเช่นนี้

เกิดสุขจากเสพก็เป็นกิเลสแล้ว เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสใครก็ทำได้ แต่ล้างกิเลสนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ลองดูกันเองแล้วจะรู้ว่าการจะออกจากสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความรู้ที่พาล้างกิเลสได้จริง ถึงจะมีความรู้ก็ใช่ว่าจะล้างความเห็นผิดกันได้ง่ายๆ

คนที่บอกว่าตนเป็นโสด ไม่สนใจเรื่องคู่ ถ้ายังดูเรื่องราวเหล่านี้แล้วยังเกิดสุข ยังฝันตามเขาอยู่ ให้ทบทวนตัวเองใหม่ได้เลย อย่าประมาท เพราะกิเลสมันแอบโตแล้วมันเล่นเรากลับทีเดียวหงาย

แค่ล้างกิเลสยังต้องใช้เวลาหลายชาติ นี่ยังมายินดีในการเพิ่มกิเลสกันอีก ก็วนอยู่กับสุขลวงกันต่อไปละนะ

. . . . . . . . . . . .

คลิปนี้มีคนเห็นกว่า 2 ล้าน(ตอนนี้) ถ้ามีคนติดสุขตามสัก 1.5 ล้าน แสดงว่าได้กระตุ้นกิเลสแล้ว 1.5 ล้านคน*กิเลสของเขา

คนทั่วไปก็มองว่าเป็นกำไร แต่จริงๆคือความขาดทุน เพราะสิ่งที่ทำก็คือกรรม คือเราเป็นเหตุในการกระตุ้นกิเลสเขา เราทำเท่าไหร่เราก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น

ลองคิดดูว่าถ้าชาตินี้มีคนมายั่วกิเลสเราให้เราอยากแต่งงาน 1.5 ล้านครั้ง เราจะทนไหวไหม แต่มันไม่มาแบบนั้นหรอก มันจะทยอยมาชาติละนิดละหน่อย มาล่อลวงให้เราหลงไปตามกรรมที่เราทำไว้ ไม่ขาดไม่เกิน

อะไรที่มันไม่พาพ้นทุกข์ท่านให้ปิดไว้ ถึงจะรักกันหลงกันยังไงก็ให้ปิดไว้เงียบๆเท่าที่จะทำได้ เปิดเผยมามันจะไม่งาม เพราะสิ่งที่เปิดเผยนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะโง่จึงเปิดเผย เพราะโง่จึงหลงผิด

. . . . . . . . . . . .

บทความนี้คนมีศีลในระดับต่างกันจะมีความเห็นต่างกัน (*ศีลในทีนี้คือสามารถปฏิบัติได้อย่างปกติ มีศีลนั้นเป็นสามัญ มีปัญญารู้แจ้งในคุณของศีลนั้น)

1.คนไม่มีศีล มองเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆก็ทำได้ ไม่เห็นแปลก สุขจะตาย

2.คนฐานศีล 5 ก็ยังมองว่าสุขอยู่ รู้ว่าไม่ดีหรอก แต่ชาตินี้ขอมีคู่ก่อนแล้วกันนะ

3.คนฐานศีล 8 ในระดับมรรคจะมีความละอายถ้าตนรู้สึกยินดีในเรื่องมีคู่ ถ้าในระดับผลจะไม่มีความยินดีใดๆแล้ว

4.ศีลมากกว่านั้น เห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ที่คนหลงเสพหลงสุขมัวเมากันไป เหมือนมองเด็กๆ เล่นดินเล่นทราย หยิบขี้หมาแห้งมากินแล้วหัวเราะมีความสุข

ชีวิตฟุ่มเฟือย

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,114 views 0

ชีวิตฟุ่มเฟือย

ชีวิตฟุ่มเฟือย

… เมื่อชีวิตที่มีถูกใช้ไปเพื่อสนองกิเลส

ชีวิตในสังคมเมืองปัจจุบันนั้นดูรีบเร่งและกดดัน คงมีไม่น้อยที่ต้องลำบากตั้งแต่เช้า ขึ้นรถสาธารณะที่คนแน่นจนขยับแทบจะไม่ได้ รถติดอยู่นานทั้งที่ลงทุนตื่นเช้า ทำงานอยู่กับความกดดันและน่าเบื่อจนหมดวันก็ต้องหอบชีวิตฝ่ามวลชนผสมรถติดกว่าจะถึงบ้านเพื่อที่จะได้เงินมาดำรงชีวิตและ…สนองกิเลส

เราใช้เงินในการดำรงชีวิตจริงๆไปเท่าไร เราเสียเงินให้กับกิเลสไปเท่าไร หากเราได้ลองทำบัญชีอาจจะพบว่าเรามักจะยินดีเสียเงินให้กับสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในชีวิตมากมาย แน่นอนว่าเรามักจะยอมแลกเงินและความเหนื่อยยากเหล่านั้นไปเพื่อการเสพสุข เรามักจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการใช้เงินมาสนองกิเลสตัวเอง เรามักจะปลอบตัวเองว่าไม่ผิดหรอกถ้าฉันจะใช้เงินที่ฉันหามาเพื่อสนองกิเลสของตัวเอง

ชีวิตที่เป็นทาสของกิเลสมันก็ต้องวิ่งวนหาเงิน ทำบาป ทำอกุศลเพื่อไปบำรุงบำเรอกิเลสแบบนี้ เพราะหลงว่าต้องเสพจึงจะเป็นสุข เข้าใจว่าความสุขเกิดได้จากการเสพเท่านั้น กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราเข้าใจคำว่า “สุขกว่าเสพ” เป็นเหมือนคำในอุดมคติที่ไม่มีจริง เพราะเห็นกันอยู่เต็มๆตาว่าการกินของที่ชอบ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ของที่ใฝ่ฝันนี่มันรู้สึกสุขอยู่จริงๆ

ความสุขที่ได้รับจากการเสพนั้นเป็นของจริง เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่สุขจริง เพราะมันคือ “สุขลวง” เป็นสุขที่กิเลสสร้างขึ้นเพื่อให้เราหลงเสพไปเรื่อยๆ ให้ขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำประหยัดอดออมไว้เพื่อสนองกิเลส

เรามาดูลีลาของกิเลสที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ซึ่งกลายเป็นเรื่องทั่วไปเสียแล้วหากคนจะยอมรับกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่กิเลสนั้นทำอะไรกับเราบ้าง ถ้าเราไม่มีกิเลสจะดีอย่างไร ลองมาอ่านกัน

!เนื้อหาหลังจากนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังความรู้สึกดังเช่นว่า ฉันก็สุขของฉัน, มันเรื่องของฉัน, ความสุขของฉัน, สิทธิของฉัน, คนเราไม่เหมือนกัน, คนอื่นเขาก็ทำกัน, คนเราเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ฯลฯ เพราะความเข้าใจเหล่านี้คือ “กิเลสของฉัน” ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายระวังอาการกลัวของกิเลส ซึ่งมันจะร้อนตัว ต่อต้าน ไม่ยอมให้เราพิจารณาเรื่องของมัน พึงระวังกันไว้ให้ดี

1). อบายมุข

ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า เบียร์ การพนันต่างๆ ล้วนเป็นความอยากที่เป็นภัยมาก ซึ่งจริงๆแล้วชีวิตเราไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้เลย มันไม่จำเป็นเลย แต่เราก็ไปยึดมันมาเป็นของเรา ทำให้ต้องเสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียสติ หรือกระทั่งเสียชีวิต เพราะต้องวนเวียนอยู่ในสถานที่และเวลาที่ไม่สมควร

เราใช้เงินจากการทำงานหนักมาเพื่อเสพสิ่งไร้สาระเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ยังเป็นโทษอย่างมาก แต่เรากลับมองแต่ด้านประโยชน์ สูบบุหรี่แล้วโล่ง มีความสุข…แต่คนไม่สูบเขาก็สุขนะ กินเหล้าแล้วสบายใจได้ปลดปล่อย…แต่คนไม่กินเขาก็สบายใจนะ เป็นลักษณะของคนที่ต้องเสพจึงจะเป็นสุข แถมยังหลงไปอีกว่าคนอื่นไม่รู้หรอกว่าสุขเพราะเสพอย่างตนดีอย่างไร กลายเป็นทาสผู้จงรักภักดีต่อกิเลสแม้ว่ามันจะผลาญทรัพย์สิน สุขภาพ เวลา และชีวิตไปก็ตาม

2). สิ่งบันเทิง

การมัวเมาเสพสิ่งบันเทิงนั้นก็เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ไม่ต่างกับอบายมุขเท่าไรนัก เช่นการดูละครน้ำเน่า การดูกีฬา เทศกาลดนตรี ละครเวทีที่นำเสนอเรื่องราวบันเทิงต่างๆ หลงคลั่งไคล้ดารานักแสดง สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นในชีวิตเลยสักนิดเดียว ไม่มีสาระอะไร ถึงจะไม่ได้เสพก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่คนที่หลงมัวเมายึดสิ่งเหล่านี้ไว้จะมีความสุขความทุกข์ไปกับมัน เช่นเชียร์กีฬา พอฝ่ายที่เราเชียร์ทำแต้มได้ก็ดีใจ แต่พอเสียแต้มก็เสียใจ พอเขาทำไม่ถูกใจก็ขุ่นใจ มันหลงเอาตัวไปผูกกับเรื่องเล่นๆแบบนี้ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องจริง เขาแข่งกันให้เราดู ให้เราบันเทิง มันเป็นสิ่งบันเทิงใจแบบหนึ่ง เป็นกิเลสแบบหนึ่ง ถึงเขาจะชนะหรือแพ้มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเราเลย

ด้วยความที่เราหลงไปยึดมันหนักเข้าจนมัวเมา จึงกลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนที่ชอบคนละฝ่าย มีการเย้ยหยัน กดดัน ดูถูกกัน ข่มกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลงมัวอย่างมาก จนกระทั่งมีการอวดกัน เอาชนะกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันก็มีให้เห็นมาแล้ว ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากเรื่องเล่นๆ ไม่มีสาระ จะมีเรื่องเหล่านั้นหรือไม่มีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา แต่เราก็กิเลสหนา กิเลสเลยพาหาเรื่องเข้าไปเกี่ยวจนได้

3). อาหารการกิน

มีคนมากมายเสียเงินให้กับการกิน กินของเดิมๆก็ไม่พอใจ กิเลสมันไม่ยอม ต้องไปกินของอร่อยที่เขาว่าดีว่ายอด ต่อให้ต่างประเทศก็จะบินตามไปกิน มันหลงในการกินแบบนี้ หลงว่าการติดรสมันสุขมาก จึงยินดีลำบากเอาเงินที่มาจากการทำงานไปสนองกิเลสในเรื่องกิน เริ่มที่จะอยู่เพื่อกิน ไม่ได้กินเพื่ออยู่อีกต่อไป

สิ่งที่เรียกว่า “รสอร่อย” นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมากันมากที่สุด ไม่ว่าจะอาหารหรือเครื่องดื่ม ต่างก็มัวเมาคนด้วยกามคุณ ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในสมัยนี้ยังไม่พอ ยังล่อเราด้วยโลกธรรม เช่นกินอาหารแพงๆ อาหารหรูๆ อาหารที่คนธรรมดาไม่มีปัญญาจะกิน กลายเป็นคนที่หลงงมงายอยู่กับการกิน ชีวิตมีแต่เรื่องกิน

ทรัพย์ที่หามาก็ไปหมดกับเรื่องกิน ขอให้ได้กินของดี ของที่เขาว่าอร่อย ดูดี มีคุณค่า มีรสนิยม มีประโยชน์ แต่จริงๆจะมีคุณค่าหรือประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ความอร่อย ดูดีและรสนิยมนี่มันของลวงแน่นอน เป็นกิเลสแท้ๆ

4). ท่องเที่ยว

เป็นที่นิยมของคนในยุคนี้ มักจะเก็บเงินที่ทำงานหามาได้ยากลำบาก แลกกับการไปลำบากที่อื่น เพียงเพื่อจะได้เห็นดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีหน้าตาต่างไปจากบ้านตัวเอง

บางคนลงทุนไม่มากเที่ยวในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่บางคนเที่ยวในประเทศแล้วก็ยังไม่พอใจ มันเสพไม่อิ่ม กิเลสมันบอกไม่ให้พอ มันต้องไปเสพที่บ้านอื่นเมืองอื่นต่อ มันต้องไปที่นั้นที่นี้ กลายเป็นชีวิตเดินตามความฝันของกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว เอาเงิน สุขภาพ และความเสี่ยงภัย ไปแลกกับการเสพอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

หลายคนมีข้ออ้างในการเรียนรู้ชีวิต แน่นอนว่าประโยชน์นี้ก็มีอยู่ แต่การเรียนรู้ชีวิตนั้นสามารถทำได้หลากหลาย สุดท้ายถ้าไล่กันจนจนมุมก็จะสรุปว่าชอบท่องเที่ยว จริงๆมันก็ติดเที่ยวนั่นเอง อยากไปเสพรสเสพเหตุการณ์บางอย่างที่แตกต่างออกไปจากที่ตัวเองเคยเสพ กิเลสมันก็อยากแบบนี้แหละ ต่อให้ไปทั่วโลกมันก็ไม่หยุดหรอกมันจะไปนอกโลกต่อแล้วก็กลับมาเจาะรายละเอียดในโลกต่อ วนเวียนไปมาหาเรื่องเที่ยวอยู่แบบนั้นแหละ

5). แต่งตัว

แต่งตัวนี่เป็นความฟุ่มเฟือยที่เป็นภัยอย่างลับๆ ภัยที่มาในรูปของสิ่งที่ดูดี หลายคนใช้เงินที่หามาทุ่มเทไปกับการทำร่างกายและเครื่องนุ่งห่มให้ดูดี ดูเด่น ดูน่าสนใจ เพราะต้องการสนองทั้งอบายมุข กาม โลกธรรม และอัตตาของตัวเอง มันก็เสพทุกอย่างในเวลาเดียวกันนั่นแหละ ติดกิเลสอยู่หลายเหลี่ยมหลายมุมซึ่งก็คงจะไม่ไขกันทั้งหมดในบทความนี้

แม้ว่าเราจะใช้เงินมากมายในการทำให้เกิดความสวยความหล่อความงามเหล่านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิต ถึงเราจะมองว่าความงามเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตง่าย ทำงานสะดวก มีคนมาคบหา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเหล่านั้นจะดี

เมื่อเราแต่งตัวเพิ่มความงาม นั่นหมายถึงเรากำลังเพิ่มกำลังในการกระตุ้นกิเลสผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไม่แต่งตัวโป๊ เขาคงไม่มองเรา พอเราแต่งโป๊เข้าหน่อยผู้คนก็เข้ามาจีบเราจนต้อนรับกันไม่ทัน นั่นเพราะเราไปกระตุ้นกิเลสเขา ไปทำให้เขาอยากเสพเรา ทีนี้แล้วยังไง? มันก็มีแต่ผีกิเลส มีแต่คนกิเลสหนาเข้ามาเท่านั้นแหละ ความคิดประมาณว่าเข้ามาเยอะๆแล้วคัดนี่มันใช้ไม่ได้นะ เพราะที่มาทั้งหมดนั่นก็พวกกิเลสหนาทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแค่แสดงลีลาต่างกัน บางคนก็แอบไว้ บางคนก็เปิดเผย ใช่ว่าจะรู้กันง่ายๆ แต่ที่รู้ได้คือคนดีเขาไม่เข้ามาใกล้หรอก

สรุปก็คือเราฟุ่มเฟือยแต่งตัว ลงทุนไปเสริมความงาม ทั้งหญิงและชายก็มีมุมความงามในแบบของตัวเอง แต่สุดท้ายก็เหมือนกับการเสียเงิน เสียเวลาไปเพื่อลากสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิตของตัวเองเท่านั้นเอง

6). การสะสม

การใช้เงินที่มีไปเพื่อการสะสม การได้รับนั้น แม้เป็นสิ่งที่สร้างสุขให้เมื่อได้รู้สึกครอบครอง แต่สุดท้ายจะกลายเป็นทุกข์ที่ขังให้หลงวนอยู่ในทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนกับสิ่งเหล่านั้นไม่จบไม่สิ้น

ไม่ว่าเราจะสะสมตุ๊กตา ของชำร่วย ต้นไม้หายาก รถราคาแพง บ้านหลายหลัง ธุรกิจมากมาย รวมไปถึงลูกและคู่ครอง ฯลฯ การเพิ่มจำนวนของสิ่งที่สะสมหมายถึงเงินที่ต้องจ่ายไปและภาระในการดูแลที่มากขึ้น แต่ด้วยความหลง เราก็จะยินดีแลกเงินกับการครอบครองสิ่งเหล่านั้น ขอแค่ให้เรารู้สึกว่าได้มี ได้ครอบครอง แล้วเราก็จะเป็นสุข

เป็นลักษณะของความโลภ ที่ต้องหามาครอบครองจึงจะเป็นสุข แต่ครอบครองชิ้นเดียวก็ไม่พอ พอได้แล้วก็อยากได้มากขึ้น อยากสะสมมากขึ้น อยากได้สิ่งที่ยอดกว่ามาครอบครอง หลงใหลอารมณ์สุขของการได้ครอบครอง ได้มี ได้อวด แม้จะไม่ได้ประกาศก็แอบภูมิใจอยู่ในตนเอง ที่สามารถครอบครองสิ่งเหล่านี้ได้

และเมื่อสะสมมากภาระก็มากและทุกข์ก็จะมากตามไปด้วย ของเสียก็ต้องมาดูแล ของหายก็ต้องหา กลัวใครเขาจะมาขโมยแย่งเอาไป เป็นภาระเป็นทุกข์ให้กระวนกระวายอยู่ตลอดการสะสมนั่นเอง

7). ลาภยศและชื่อเสียง

สมัยนี้คนก็เอาลาภแลกลาภกันมาก เอาแบบหยาบๆก็การพนัน หวย หุ้นต่างๆ ยศก็ใช้เงินซื้อกันได้ ชื่อเสียงก็ใช้เงินแลกมาได้ แต่เมื่อเราแลกสิ่งเหล่านี้มาด้วยความโลภ แลกมาเพื่อที่เราจะได้เสพในลาภ ยศ สรรเสริญที่มากขึ้น นั่นหมายถึงการสะสมบาปและสร้างอกุศลกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมยศและสรรเสริญนี้ อาจจะไม่เห็นภาพเหล่านี้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมากนัก แต่ถ้าลองมองให้ใหญ่ขึ้นเป็นในมุมขององค์กร บริษัท ธุรกิจ การลงทุน การเมืองการปกครองก็จะสามารถเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเอาโลกียทรัพย์ไปแลกสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาของคนกิเลสหนาที่ยังวนอยู่ในเรื่องโลก เมื่อใช้กิเลสเป็นเป้าหมาย แม้ว่าในตอนแรกจะได้เสพสุข แต่ในท้ายที่สุดก็จะทุกข์ และจะทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้ความโลภและอำนาจที่มีเข้าไปแย่งชิงโลกธรรมนั้นหมายถึงการไปเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เกิดการแย่งชิง แข่งขัน ทำร้ายหรือฆ่ากันได้

เมื่อเรามัวเมาไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเหล่านี้ เราก็จะพยายามรักษาและประคองไม่ให้มันเสื่อม ใช้ทรัพยากรและสิ่งที่มีเข้าไปอุดรูรั่วของความเสื่อม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเสื่อม เพราะโลกธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สลับหมุนวนสับเปลี่ยนขั้วกันอยู่เสมอ

แม้ว่าโลกธรรมที่ได้มาโดยธรรมเช่น เราเป็นคนดีเขาจึงให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่ได้มาโดยธรรมเหล่านี้จะไม่เสื่อมไป แม้เราจะไม่ได้หามาแต่ถ้าเรายึดติดและเสพสุขกับสิ่งเหล่านี้ มันก็จะทำให้เราแสวงหาในวันใดก็วันหนึ่ง

8). อัตตา

จริงๆแล้วการที่คนเราแสวงหาเงิน ทำงานเหนื่อยยากสุดท้ายก็ใช้เงินเหล่านั้นมาสนองกิเลส ก็คือการสนองอัตตาของตัวเองนั่นแหละ เพราะเรามีตัวตนให้ยึดว่าฉันจะต้องเสพสุขแบบนั้น ฉันจะต้องได้อันนี้ ฉันจะต้องเที่ยวแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ กินแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็เป็นอัตตาทั้งนั้น

อัตตานั้นยังมีการยึดในหลายระดับ ในระดับหยาบๆคือการยึดวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ ระดับกลางก็ยึดจิตที่ปั้นสุขขึ้นมาเอง หลงว่าเสพสิ่งนั้นแล้วมันจะสุข เช่นรสอร่อย รสสุขตอนเชียร์กีฬา ความสุขเมื่อได้เห็นพระอาทิตย์ยามเช้า เป็นความสุขที่จิตของเราปั้นขึ้นมาลวงเราเอง และในระดับละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นการเสพสภาพสุขในอรูปภพ เช่นความมีศักดิ์ศรี เกียรติ ความเชื่อ ความเข้าใจ เช่นเข้าใจว่าคนระดับสูงอย่างเราต้องให้ทิปร้านอาหารเสมอ แบบนี้มันก็เป็นอัตตาที่พาเสียเงินได้แบบโง่ๆเหมือนกัน

สรุป

เมื่อเราเข้าใจว่าเรากำลังใช้ชีวิตของเรา ไม่ใช่ให้กิเลสใช้ชีวิตของเรา เราจึงควรพิจารณากิจกรรมส่วนเกินของชีวิตที่จะสร้างภาระและภัยให้กับตัวเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการจะต้องเลิกทำงาน ละเว้นหน้าที่แต่อย่างใด หรือหมายเพียงแค่การที่เราเจียดเวลาเสาร์อาทิตย์ไปทำกุศล เข้าวัด ฟังธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรมเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตไป ทำงานไป ล้างกิเลสไป สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเราก็ค่อยๆลด ค่อยๆเลิกไปตามกำลังที่ทำไหว

ถ้าเราไม่ถูกกิเลสจูง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินให้กับกิจกรรมสนองกิเลสเหล่านั้น เพราะแม้ไม่ได้เสพก็ยังเป็นสุขอยู่ เพราะสุขที่มีนั้นสุขกว่าเสพ การทำลายกิเลสจะให้ผลเช่นนี้ คือยินดีที่จะไม่เสพด้วยใจที่เป็นสุข อธิบายแบบนี้ก็คงจะงงกันไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเร้นลับอะไร เพราะเป็นความจริงที่ปฏิบัติได้จริง ทำได้จริง ไม่ว่าความหลงติดยึดในสิ่งใดก็สามารถชำระล้างได้จริง

เมื่อเราไม่มีกิเลสมาเป็นตัวผลักดัน เราจะใช้ชีวิตอย่างประหยัด มีความสุขเพราะไม่ต้องหาเงินด้วยความโลภ ไม่เอาเงินเป็นเป้าหมาย สามารถเลือกงานได้มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น มีเงินเหลือเยอะขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ชีวิตโดยรวมดีขึ้นเมื่อปราศจากกิเลสไปโดยลำดับ ลดกิเลสได้บ้างก็ลดทุกข์ได้บ้าง ลดกิเลสได้มากก็ทุกข์น้อยมาก ทำลายกิเลสได้หมดเลยก็ไม่ต้องทุกข์จากกิเลสอีกเลย

ในชีวิตที่เราต้องหาเพื่อให้กิเลสกินใช้นี่ยังเรียกว่ามีภาระอยู่มาก แม้จะรู้ว่ากิเลสนั้นสร้างสุขลวงให้เราเสพแต่หลายคนก็กลับยินดีพอใจในรสสุขเพียงแค่นั้น หลงว่าสุขเท่านั้นคือสุขที่เลิศ ทั้งที่จริงมันมีสุขที่มากกว่า มากจนอธิบายไม่ได้

โดยนิยามแล้วเรียกว่า “สุขกว่าเสพ” คือไม่ต้องเสพก็ยังเป็นสุข แถมยังเป็นสุขมากกว่าคนที่ยังเสพ มันเป็นยังไง มันจะดีแค่ไหน มันมีด้วยหรือ โม้หรือเปล่า คิดไปเองรึไม่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องลองปฏิบัติดูเอง เริ่มจากสิ่งหยาบๆเช่นอบายมุข การเที่ยวกลางคืน การท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งที่ทำให้เสียทรัพย์มาก เสียแรงงานมาก เสียเวลามาก เพียงแค่ลดกิเลสเหล่านี้ได้ก็สุขมากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าถ้าทำลายกิเลสได้หมดจะสุขขนาดไหน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)