Tag: ศีล
การเพิ่มศีล
มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น
การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ
ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป
ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่
การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้
การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา
เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น
ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา
แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ
การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้
อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย
เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี
เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?
ถาม : เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?
ตอบ : ในศีลข้อ 1 ภาคขยาย ได้กล่าวถึงประโยคที่ว่า มีความเมตตา มีความเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย อันนี้คือแง่คิดที่เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นมากที่สุด เบียดเบียนน้อยที่สุด ความรักที่มีสภาวะเช่นนี้จะบาง เบา แต่กว้าง และลึกซึ้ง ไม่เหมือนความรักทั่วไป ที่หนัก(ใจ) (กิเลส)หนา แคบ(มักจะเกื้อกูลได้แค่วงแคบ ๆ เช่น คู่ครอง ลูก ฯลฯ) และไม่ลึกซึ้ง (เป็นความรักเสมอสัตว์ทั่วไป ไม่ประเสริฐ ไม่แปลก ไม่พิเศษ เป็นโลกีย์ทั่วไป)
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก
การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง
การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้
ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
13.8.2562
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
ตามที่ได้ศึกษาพุทธประวัติ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศในด้านการให้ทาน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวก หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกตรงนั่นเอง
จากประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บำรุงทั้งคนยากไร้ บำรุงทั้งนักบวช ทั้งยังบำรุงได้เยี่ยมยอดอย่างหาผู้ใดเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้คนที่ยังปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้อยู่
ผมได้เห็นผู้ที่มาเปิดโรงทานที่สนามหลวง มีคนมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มพนักงาน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆจนถึงผู้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นยังไม่เสื่อมไปจากธรรม เพราะการให้ทาน คือองค์ประกอบหนึ่งของมรรคผล
เมื่อคนมีจิตเจริญขึ้น เขาจึงจะสามารถสละความตระหนี่ บริจาคทรัพย์สินและแรงงานให้กับผู้อื่นได้ หากคนเหล่านั้นยังมีความโลภที่มากอยู่ ความโลภก็จะไม่ปล่อยให้เขาทำทาน ไม่ให้เขาเสียสละ กิเลสกับธรรมะมันจะไปด้วยกันไม่ได้ หนำซ้ำโรงทานเล็กใหญ่ที่แจกกันตามท้องสนามหลวงตามที่ได้พบเห็นนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ระบุผู้รับ เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังผล ทานที่มีแต่ให้ มีแต่แจก เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์
ทานที่ให้เพื่อหวังว่าตนนั้นจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความสุขกลับมา เป็นทานที่มิจฉา ในทางพุทธถือว่าทำไปแล้วเสียของ คือทำดีแล้วเทให้กิเลสหมด ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำของดีแล้วเทให้หมากิน” หมาในที่นี้คือกิเลส คือทำดีเท่าไหร่ก็เทให้กิเลสหมด หากทานนั้นยังเต็มไปด้วยความโลภ ทำทานด้วยความเห็นผิด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้
ในทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อจิตเจริญสูงขึ้นหรือภาวนานั้นมีผลเป็นสัมมา คือถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ รอบของการปฏิบัติจะสูงขึ้นตาม จะให้ทานได้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ล้ำลึกขึ้น เช่นเดียวกับการถือศีล ที่สามารถถือศีลที่ปฏิบัติได้ยากได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สบายขึ้น และจะเจริญไปเป็นรอบ ๆ เป็นการยกจิตทั้งหมด มิใช่ปฏิบัติธรรมไปแล้วขี้เหนียว ขี้งก หวงความสามารถ หวงความรู้ ศีลไม่มีหรือศีลขาดเป็นประจำ อันนี้แสดงว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีผล ปฏิบัติผิดทางหรือมิจฉามรรค
การที่คนมาเปิดโรงทานให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงความเจริญของจิตใจ ที่ยินดีสละ ยินดีให้ หวังจะเกื้อกูลให้ผู้รับได้เป็นสุข จากที่ผมสังเกต คนที่มาแจกนั้นถ้าไม่นับรวมกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจใหญ่น้อยหรือกลุ่มมูลนิธิต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และสำนักปฏิบัติธรรมที่มาแจก ก็เป็นสำนักที่มุ่งไปจน พากันไปจน ไม่ได้มุ่งเน้นสะสมหรือร่ำรวยอะไร เป็นความมหัศจรรย์ ตรงที่ว่า บ้านเมืองเรามีคนรวยยิ่งกว่านี้มากมาย แต่กลับมีแต่คนจนที่มาทำโรงทาน มีคนจนมาแจกของให้คนรวยกิน นี่จึงแสดงให้เห็นว่า การทำทานนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรวย แต่จำเป็นต้องมีจิตที่เสียสละแบ่งปัน แม้คนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็มาทำทานได้ คือเอาแรงงานเป็นทาน ทำงานฟรีเพื่อคนอื่น มาเป็นจิตอาสา นี่ก็คือความเจริญที่เห็นได้เป็นรูปธรรม
ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเหมาเอาว่าตนปฏิบัติถูกต้อง แล้วมันจะถูกต้องจริงอย่างที่คิด มันต้องมีตัววัดที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย เช่น ปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำทานได้หรือไม่ ถือศีลที่ยิ่งกว่าที่เคยถือได้หรือไม่ จิตใจเจริญหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงที่เคยมีอยู่เดิมได้หรือไม่
ในส่วนตัวผมเองคิดว่า การให้ทานนี่แหละเป็นเบื้องต้นที่จะวัดผลความเจริญของจิตใจ ว่าเข้าใกล้มรรคผลบ้างหรือยัง ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว ยังไม่ยินดีให้ทาน คนอื่นเขาร่วมเปิดโรงบุญโรงทาน พากันทำงานจิตอาสากัน แต่เรากลับไม่ขยับ แม้มีเหตุปัจจัยพร้อมแต่ก็ยังไม่ขยับ เรายังนิ่งเฉยั อันนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ของการให้ทานนั้น จิตยังไม่เจริญไปถึงจุดนั้น คือจุดที่เห็นว่าควรให้ในเวลาที่ควรให้ กลับเห็นว่ายังไม่ควรให้ในเวลาที่ควรให้ ทั้ง ๆ ที่เหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการประกาศธรรมะให้โลกรู้ว่า การเสียสละเป็นแบบนี้ ธรรมะยังเจริญอยู่ที่นี่ ยังมีคนที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดอยู่ที่นี่ คือประกาศธรรมให้โลกเห็นว่า ทานที่มีผลในการลดความตระหนี่ นั้นมีอยู่จริง หลักฐานก็คือสามารถสละทรัพย์สิน เวลา แรงงานออกมาทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้
การประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อการอวดตัวอวดตน แต่ทำไปเพื่อแสดงธรรมะให้ผู้อื่นเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้รับรู้ ให้เขาได้มาสัมผัส (เอหิปัสสิโก) ให้เขาได้ทำใจในใจเข้าถึงสิ่งดี และร่วมกันมาทำสิ่งที่ดีเหล่านั้น เป็นการตามหาญาติ ตามหาลูกหลานพระพุทธเจ้าที่พลัดพรากจากกัน แล้วให้มาเชื่อมต่อกันด้วยธรรมะ ด้วยทาน ด้วยศีล ที่เสมอกัน
ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามธรรมอีกเหมือนกัน ถ้าคนที่เจริญถึงขั้นที่เข้าใจว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ที่สมควรทำ เขาก็จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันให้ทานในรูปแบบที่เขาพึงกระทำได้ ส่วนคนที่ยังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าทานนั้นดีอย่างไร สมควรให้ทานอย่างไร ก็จะไม่ร่วมกันทำสิ่งใด ๆ เลย จึงเกิดสภาพเหมือน “น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน” คนดีจะเข้าไปรวมกับคนดี ส่วนคนที่ยังไม่ดีก็รวมกับคนที่ไม่ดีเหมือน ๆ กัน
อาจจะมีคนสงสัยว่าถ้าคนปล่อยวางล่ะ จะเรียกว่าอย่างไร? คำตอบคือ แม้พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ชื่นชมคนที่หยุดหรือพอใจอยู่แค่ความดี (กุศลกรรม) เท่าที่ตัวเองทำ ยิ่งถ้าพวกเสื่อมจากความดียิ่งไม่ต้องพูดถึง ท่านชื่นชมก็แต่ผู้ที่เจริญในความดี คือทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ทานก็ให้ทานได้มากขึ้น มีศีลก็มากขึ้น ส่วนกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงนี่ต้องขัดเกลามันออกไปให้ได้ยิ่งขึ้น
และตามโอวาทปาฏิโมกข์ มีระบุไว้ชัดว่าให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชี้ชัดด้วยตัวชี้วัดคืออริยะสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้ทานเป็นประจำ เมื่ออ้างอิงหลักฐานดังนี้ คนที่ไม่สนใจใยดี ไม่ยินดีในทำความดีของตนเองและผู้อื่น ในโอกาสแห่งการทำทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมก็ได้ อาจจะเป็นเพียงผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าการให้ทานในโอกาสพิเศษเช่นนี้มีผลอย่างไร เหมือนกับหมาตัวหนึ่งที่เดินไปเดินมาข้างสนามหลวง มันไม่รู้ว่าคนเขาทำอะไรกัน มันก็หากินไปวันวัน ตามเวรตามกรรมของมัน
1.12.2559
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์