Tag: ความเห็นผิด

การวางเฉย

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,917 views 0

การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น

หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้

หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)

การติและการชม

การติและการชม

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ

๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,609 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

June 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,800 views 1

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

เมื่อปีก่อน พื้นที่หนึ่งเคยเป็นแค่ที่ไร่เก่าที่ถูกปล่อยร้าง อย่างมากก็มีแค่วัชพืช บนพื้นที่เป็นร่องของรอยไถ เมล็ดของกระถินได้ตกลงมาและเติบโตโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าวันนี้มันจะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้อย่างยากลำบาก

ผมได้ดำเนินการขุดพื้นที่ให้เป็นสภาพของเกาะ ซึ่งไม่สามารถนำรถไถเข้ามาปรับพื้นที่ได้อีก กระถินต้นน้อยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านเดือนมาเป็นปี แน่นอนว่าในตอนแรกมันยังเป็นแค่ต้นเล็กๆ แต่พอมันโตขึ้น ก็มีชาวบ้านเข้ามาตัดมันจนกุดไปเป็นระยะ จนผ่านไปปีกว่า พื้นที่เกาะกว่าร้อยตารางวาก็กลายเป็นดงกระถิน

มาถึงวันนี้ ผมใช้แรงและเวลาอย่างมากในการะขุดกระถินออก การนำกระถินออกใช้การตัดไม่ได้ เพราะการตัดก็ยังเหลือตอ เมื่อเหลือตอก็โตต่อได้ และถ้าโดนตัดบ่อยๆ ตอจะยิ่งใหญ่ขึ้น ทำให้ขุดยากขึ้นด้วย เพราะรากจะแทงออกไปตามปริมาณของกิ่งที่แตกแขนงออกไปเช่นกัน นั่นหมายถึงยิ่งตัดก็ยิ่งจะเอาออกยากในภายหลัง

ขุดกระถิน…

การขุดกระถินนั้นจะต้องขุดลงไปลึกถึงระดับหนึ่งให้ลึกถึงส่วนราก ซึ่งจะทำให้กระถินไม่แตกกิ่งใหม่ขึ้นมาอีก แต่การขุดนั้นไม่ง่าย ในเมื่อเราใช้รถไถกระถินออกไม่ได้ เราก็ต้องใช้เครื่องมือ ไม่ว่าจะลองใช้จอบ เสียม ก็กลับพบว่าไม่มีอะไรขุดกระถินออกได้ดีเท่าอีเตอร์ถ้านึกภาพไม่ออกก็น่าจะนึกถึงอุปกรณ์ขุดเหมือง ประมาณนั้นละนะ

ทีนี้อีเตอร์ธรรมดานี่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ จึงต้องเอาปลายด้านหนึ่งมาลับให้คม เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเฉาะลงไปในเนื้อส่วนรากของกระถินเข้าไปอีก แต่ยิ่งคมก็ยิ่งอันตราย ทั้งหนัก ทั้งคม ต้องใช้แรงมาก ต้องระวังมาก ถ้าพลาดมาโดนตัวเองก็อาจจะบาดเจ็บหนักได้เช่นกัน

และการขุดแต่ละครั้งก็ใช่ว่าจะสำเร็จ ต้องเพียรอย่างมาก บางครั้งขุดพลาดบ้าง แฉลบไปข้างๆ ก็เสียแรงฟรีๆ บางครั้งเจอตอใหญ่ ขุดไปอีเตอร์กระเด้งกลับ ถ้ายึดอีเตอร์ไว้มั่นก็จะเจ็บทั้งมือทั้งแขน ต้องทำอย่างยึดแต่ไม่มั่น เพราะถ้าไม่ยึดให้ดีก็หลุดมือ หรือไม่มีแรง แต่ถ้ายึดมั่นมากเกินไปก็จะเจ็บตัว

ทั้งนี้ถ้าเราเอากระถินออกตั้งแต่ตอนแรก ก็คงจะไม่ลำบากเสียแรงกันให้วุ่นวายกันแบบนี้ เมื่อเรากั้นเขตไม่ให้รถไถเข้ามาช่วยเราก็เลยต้องออกแรงเองทั้งหมด

ขุดกิเลส…

หากจะมองในเชิงเปรียบเทียบ การขุดกระถินก็คงจะให้ภาพคล้ายๆกับการขุดกิเลส ถ้าใครอยากรู้ว่าการขุดกิเลส การล้างกิเลสเป็นอย่างไรให้ลองไปขุดกระถินสักร้อยสองร้อยต้น แล้วระลึกไว้เสมอว่าการทำลายกิเลสยากกว่านั้นจนเทียบไม่ได้

กระถินนั้นต้องใช้การขุดออก จะตัดออกไปไม่ได้ ถึงจะตัดควบคุมไม่ให้ต้นมันโต แต่ตอที่เหลือไว้มันก็จะยิ่งโตใหญ่อยู่ดี นั่นหมายถึงถ้าไม่ขุดกระถินออกก็ไม่มีทางจบปัญหา กิเลสก็เช่นกัน แม้ว่าเราจะสามารถใช้สติ ดับความฟุ้งซ่านได้เป็นคราวๆ แต่สติที่มีขอบเขตเพียงแค่การระลึกรู้ตัวนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะชำระกิเลสได้ เป็นเพียงแค่ตัวรู้เท่านั้น หากรู้แล้วปล่อยให้เกิดดับไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วกิเลสกำลังแอบกำเริบเติบโตอยู่ นั่นแหละคือภาระอันยิ่งใหญ่ที่เราต้องมาสะสางกันยกใหญ่ทีหลัง

กระถินนั้นเรายังพอจะเห็นว่ามันเริ่มเติมโตตั้งแต่ต้นเล็กไปจนต้นใหญ่ เห็นต้นเห็นรากของมัน แต่กิเลสเราไม่รู้เลยว่ามันเริ่มจากตรงไหน จับต้นชนปลายกันไม่ถูก หาเหตุกันไม่เจอ ได้แต่งงกับผลกรรมร้ายๆทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต ซ้ำร้ายกิเลสยังแผ่ขยายรากและเติบโตได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ตัดตรงนี้ ไปเกิดอีกตรงนั้น แถมตรงนี้ยังโตขึ้นไปได้อีก

ถ้ากระถินเป็นต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยรากและแตกหน่อจากใบได้ด้วย ก็คงจะเป็นพืชที่ครองโลกไปแล้ว แต่แค่ที่มันเป็นอยู่ก็กำจัดมันได้ยากแล้ว ส่วนกิเลสนั้นเป็นพลังงานที่สามารถขยายและแตกตัวได้อย่างไม่จำกัด เป็นเหมือนคลื่นที่มองไม่เห็นแต่มีพลังงานมหาศาลให้คนทำชั่ว คนมีกิเลสหนึ่งคนสามารถขยายกิเลสของตนให้คนอื่น ขยายและแพร่พันธุ์กิเลสได้อย่างไม่จำกัด

ทีนี้เมื่อกิเลสนั้นเป็นพลังงาน มองไม่เห็นได้ง่ายเหมือนกระถิน แล้วจะเอามันออกได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจับตัวตนของกิเลสได้ จะแน่ชัดได้อย่างไรว่ากิเลสเป็นเชื้อชั่วที่ควรขุดรากถอนโคนทิ้ง และถึงแม้จะมั่นใจว่าต้องขุดทิ้งก็ใช่ว่าจะสามารถจะขุดกิเลสกันได้ง่ายๆ ต้องเพียรกันสุดยากลำบาก

ที่ว่าทำได้ง่ายๆนั้นไม่มีหรอก มีแต่ขุดผิดเท่านั้นแหละ เขาให้ขุดกิเลสในสันดานทิ้ง ไปขุดอะไรทิ้งก็ไม่รู้ เช่นไปขุดความยึดมั่นถือมั่นว่ากิเลสเป็นของไม่ดีทิ้ง คล้ายๆกับมีกระถินอยู่เต็มพื้นที่ที่จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยความเห็นผิดก็เลยปล่อยให้กระถินเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ให้มันโตตามธรรมชาติอยู่แบบนั้น แล้วเข้าใจว่าทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นเอง ก็เหมือนกับคนที่คิดว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแต่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลส เสพกามเมาอัตตาอยู่นั่นเอง

…การขุดกิเลสนั้นเป็นเรื่องนามธรรมที่ยากสุดยาก เป็นสิ่งที่ต้องเพียรกันถึงขั้นทุ่มชีวิตเอาใจใส่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จกันได้ง่ายๆ เพราะถึงจะขยันแต่ขุดผิดที่ ก็หมายความว่าเหนื่อยเปล่า ยิ่งทำยิ่งหลงทาง ยิ่งขยันยิ่งพาตัวเองไปสร้างทุกข์

คนขยันแต่ไม่มีปัญญานี่ต้องหยุดก่อน อย่าเพิ่งทำอะไร ลองศึกษาก่อน พิจารณาดูก่อนว่าควรจะทำอะไร ควรจะขุดตรงไหน สิ่งไหนที่เรียกว่ากิเลส อันไหนกาม อันไหนอัตตา ควรจะทำลายตัวไหนก่อน ลำดับขั้นตอนเป็นอย่างไร มีผลเป็นอย่างไร นั่นหมายถึงว่า ถ้ายังไม่เจอผู้รู้ที่มีวิชาทำลายกิเลสได้จริง ก็อย่าเพิ่งปักมั่นว่าการทำลายกิเลสไม่มี แม้จะได้ชื่อว่าวิชาล้างกิเลสนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกลวงให้หลงด้วยชื่อและคำเล่าอ้างให้หลงไปในผู้ที่ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ลวงให้ผู้คนหลงมัวเมาและศรัทธาในตนเพราะหวังลาภ ยศ สรรเสริญ กาม อัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

14.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,485 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)