Tag: ความเสื่อม
VIP โลกีย์ ราคีโลกุตระ
ถ้าตามสมมุติโลก คนที่เขามีชื่อเสียงมาก สนับสนุนมาก คนเขาก็นับว่าเป็น VIP (Very Important Person) จึงให้การต้อนรับ ดูแล ใส่ใจเป็นพิเศษ อันนั้นก็ตามโลกเขาไป
แต่ในความเป็นโลกุตระ หรือคนที่มุ่งปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสนั้น จะไม่ได้เอาสมมุติเหล่านั้นมาเป็นตัวยึดถือ ด้วยความเป็นบุญนิยม คือนิยมในการทำบุญ หรือการชำระล้างกิเลส ให้คุณค่ากับการชำระล้างกิเลส เว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียนเป็นโทษภัยโดยลำดับ จึงไม่ได้นิยมตามแบบทุนนิยม
แบบทุนนิยมก็ตามที่เรารู้กัน ใครมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีทุนมาก คนเขาก็ให้การยอมรับ ดูแล ใส่ใจ ให้โอกาส เป็น VIP ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยมจึงแตกต่างกันคนละขั้ว
สังคมธรรมมีราคี เมื่อมีทุนยิยมเข้ามาปนในบุญนิยม คือคนที่เขาเอาระบบทุนนิยมเข้ามาปน เข้ามาใช้ในสังคมปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเสื่อมจากธรรม เพราะไปเอาอธรรมมาเป็นตัวนำ
ผมเคยเห็นคนที่เขาป่าวประกาศว่าจะเข็นกงล้อธรรมจักร ปากเขาก็พูดไป 1 ปี 5 ปี 7 ปี เขาก็พูดอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำเขาไม่เหมือนที่ปากพูด เขาก็เอาทุนนิยมนี่แหละมาปฏิบัติ พอมีคนมาสนับสนุนเขา ด้วยเงินก็ตาม ด้วยการยอมรับเขาก็ตาม เขาก็ให้ความเป็น VIP กับคนนั้น ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนโตไปให้เขาด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นลีลาการเลียอันน่าขยะแขยงสุดจะพิศดารยิ่งนัก ด้วยความที่ปกติดูจะเป็นคนที่แสดงออกไปในเชิงกล้าและกร่าง แต่พอเจอเงิน เจอคนมีอำนาจก็ถึงกับอ่อนยวบยาบ กลายเป็นอวยเขา เลียเขา ส่งเสริมเขา (เพราะเขามาส่งเสริมตน) ซึ่งในกระบวนการทั้งหลายนี้ ไม่ได้มีวิถีบุญนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่วิถีโลกีย์หรือทุนนิยมล้วน ๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นรอยด่างของกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่จะต้องจัดการคนเหล่านี้ ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ตามหลักที่ในหลวง ร๙ ได้ตรัสไว้ว่า …
“….ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)
ในสังคมปฏฺิบัติธรรมก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีพร้อมกัน เสมอกันหมดได้ ความเป็นสังคมคือความปะปนกันในฐานะที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราจะส่งเสริมให้สังคมเกิดความเจริญในธรรม เราก็ต้องจัดการควบคุมคนที่มีลักษณะเมาในทุนนิยมหรือเป็นทุนนิยมโดยพฤติกรรม และส่งเสริมคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักบุญนิยม ให้ได้มีอำนาจ ปกครองคนไม่ดี ก็จะเจริญได้ตามลำดับ
ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากหรือมีอำนาจมาก ก็จะชักนำให้เกิดความเสื่อม เป็นราคีในหมู่โลกุตระ เป็นวิบากร้าย เป็นความล้าช้า ความลำบากในการปฏิบัติธรรม เป็นตัวถ่วงกลุ่ม เป็นยางเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการเข็นกงล้อธรรมจักร
ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล?
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล
เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง คือไม่เข้าไปคบหาหรือคลุกคลีกับคนพาล
เพราะคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลังและยังชักนำให้เป็นไปในทางเสื่อม การเพ่งโทษของคนพาลคือ คบกันไป เดี๋ยวก็ชักนำให้ไปเพ่งโทษคนนั้นคนนี้ ดีไม่ดีสุดท้ายจะกลายมาเพ่งโทษถือสาเราเสียเอง การชักนำสู่ความเสื่อมคือ พาให้ผิดศีล ไม่สนับสนุนในการเพิ่มศีล ไม่เข้าหาธรรม พาหมกมุ่นอบายมุข ให้มัวเมาในกาม ให้หลงในอัตตา
ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของคนพาล ก็จะคลุกอยู่กับคนพาล นอกจากจะไม่พาพ้นทุกข์แล้ว เผลอ ๆ ยังไปติดธาตุแห่งความพาลเพิ่มขึ้นมาอีก
ดังนั้นอันดับแรกของการปฏิบัติตนสู่ความผาสุก คือห่างไกลคนพาลให้ได้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ก็เอาคนพาลที่เป็นบุคคลให้ชัดเจนก่อน
เพราะความพาลนี่มันแพร่กระจายได้ แทรกซึมได้ เลียนแบบกันได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห่างมาก่อน
แล้วมาคบบัณฑิตต่อ จึงจะดำเนินไปสู่ทางเจริญ ไม่คบบัณฑฺิตนี่ปิดประตูเจริญเลย เพราะธรรมในศาสนาพุทธเรียนรู้เองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมต้องเริ่มจากคบสัตบุรุษเท่านั้น
ผมใช้หลักนี้ในการคัดคนเป็นหลักเลย ใครที่เขาดูเหมือนจะดีนี่ต้องดูว่าเขาคบใครเป็นบัณฑิต เขาถือใครว่าบัณฑิต เขายกให้ใครใหญ่กว่าเขา หรือเขาถือว่าใครเป็นคนพาล เขาห่างไกลใคร ก็ต้องพิจารณากันไป เพราะสมัยนี้คนพาลมาแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเยอะ มันก็ต้องพิสูจน์
อย่างบางคนก็มีแต่ความอวดเก่ง แต่ไม่มีความจริง คือเก่งวาทะ อวดดี อวดรู้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โมฆะบุรุษนั้น เมื่อเรียนธรรม แม้จะรู้อยู่หลายสูตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเอาความรู้ธรรมนั้นไปดูถูก อวดเบ่ง อวดดี หรือไม่ก็เอาไว้กันคนมานินทาเท่านั้นเอง
ยกเว้นน้อยท่านที่จะมีภูมิเก่ามามาก ท่านเหล่านั้นจะแสดงกำลังให้เห็นทั้งนามทั้งรูปว่ามีของจริง ถ้าเราสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ได้เองว่าสู้ไม่ได้ เพราะรูปก็จะเหนือกว่า นามก็จะเหนือกว่าอย่างถูกสมมุติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างเช่นที่ผมแจกแจงธรรมะในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขาสัมมาทิฏฐิแต่ไม่มีภูมิเท่า เขาจะรู้ได้เองว่าเขาแจกขนาดนี้ไม่ได้ เขาไม่ละเอียดละออเท่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ชัดในสภาวะขนาดนี้ คนไม่รู้ธรรมจริงแจกสภาวะเป็นภาษาไม่ได้หรอก ให้แจกล่ะงงเป็นไก่ตาแตกเลย หรือไม่ก็พูดวน พูดมั่ว พูดไม่เต็มปาก ถ้าไม่เชื่อเอาหัวข้อที่ผมพิมพ์เด่น ๆ ไปขยายสิ เดี๋ยวผมจะติให้ เชื่อไหมว่าผมติเก่งกว่าผมพิมพ์อีกนะ เพราะตินี่มันง่าย หาจุดผิดนี่มันง่าย ยิ่งเราชัดในเรื่องไหน ๆ เราจะรู้จุดพลาดของเรื่องนั้น ๆ
เช่น ผมเผยแพร่ธรรมในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขายังหลงผัวหลงเมียอยู่ ถ้าเขามีความเห็นถูกอยู่บ้าง เขาจะไม่กล้ามาแสดงความเก่งให้เห็นเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยู่ในจุดด้อย น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก พูดมาก็โดนสวน ผมก็ถามง่าย ๆ กลับนั่นแหละ ทำไมยังอยู่กับคู่? ยังมีประโยชน์อะไร? มีอะไรติดใจ? ไม่มีประโยชน์ใหญ่กว่านี้ให้ทำหรอ? กตัญญูผัวเมียมันดีกว่ากตัญญูพ่อแม่ตรงไหน? ฯลฯ เชื่อไหม ถาม ๆ ไปถ้าคนไม่มีภูมิถึง เขาจะหลุด เขาจะตอบไม่ได้ แล้วเขาจะโกรธ แต่ผมไม่ถามหรอก เพราะคนมีปัญญาเขาไม่มาสู้กับเราตั้งแต่แต่แรกแล้ว เราจะไปเปลืองแรงกับคนไม่มีปัญญากันทำไม
ถ้าคนเหนือกว่าเขาจะโชว์ภูมิให้รู้จักกัน ก็ไม่ยากหรอก เดี๋ยวเขาจะแสดงเพลงกระบี่เดียวกันที่ล้ำลึกกว่าให้เราได้เห็นเอง คือที่เราทำได้ เขาก็จะทำให้ดู และจะแสดงสิ่งที่เราทำไม่ได้เพิ่มเติมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย คนที่เหนือกว่าเขาจะมีศิลปะในการแสดงตัวตนให้งดงาม หนักแน่น และน่าเลื่อมใส
ส่วนคนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้อะไรหรอก ดีไม่ดี พูดข่มเราเสียอีก สำคัญตนว่าเหนือกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ชัดเจน ก็มีเหมือนกัน
อันนี้เป็นมิติของคนพาลที่ล้ำลึกขึ้น คือเป็นคนพาล แต่แสร้งว่าเป็นบัณฑิต แสร้งว่าเป็นผู้รู้ เป็นกับดักที่ดักทั้งตัวเองทั้งคนอื่นไปในตัว
ดังนั้น ผมจึงใช้หลักนี้ในการประเมินข้อธรรม คนไม่เคยพบกัน ไม่เคยสัมผัสความจริงของกันและกันมันจะศึกษากันยาก เก่งสุดได้แค่สื่อภาษา การแจกแจงรายละเอียดนั่นแหละ คือการเผยให้ชัดเจนขึ้น บางทีมาเป็นข้อธรรม มาเป็นคำคม มันรู้ไม่ได้ชัด มันตรวจความจริงได้ยาก ว่าเป็นบัณฑิตจริงรึเปล่า เพราะจำมาก็มี เหมือนคำที่เขาว่า “พระใบลานเปล่า” รู้มากรู้หมดแต่เอาตัวไม่รอดก็มี
เพราะการจะศึกษา การจะช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูลกันนั้นต้องมีของจริง คือทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้จริง จะมีกำลังมาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงทำตนให้ได้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จะไม่มัวหมอง”
บางทีแจกมาก แต่เป็นลักษณะก็อบเกรด A ก็มีเหมือนกัน พูดเหมือนครูบาอาจารย์เป๊ะ ๆ แต่ลอกมาล่าโลกธรรม ก็มีเหมือนกัน ในกลุ่มปฏิบัติธรรมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
คนพาลจึงมีสองมิติใหญ่ ๆ คือพาลให้เห็นกันชัด ๆ กับแบบพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต แม้สองประเภทนี้ ก็ควรจะห่างไกลเข้าไว้ เพราะคบไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
แล้วจึงหาบัณฑิตจริง ๆ คบบัณฑิตที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ทำตนเองและได้ตามนั้นจริง บูชาบัณฑิตนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะทำให้พ้นภัยและพ้นทุกข์
จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมคือ ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต เอาที่เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา จริง ๆ นี่แหละ เพราะมันต้องอาศัยการพรากออกจากธาตุที่เลว และการศึกษาจากธาตุที่ดี จิตจึงจะเจริญได้ ต้องอาศัยรูปถึงจะเรียนรู้นามได้ ไม่ใช่นึกคิดหรือศึกษาด้นเดาเอาเองแล้วจะบรรลุได้
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
ความรักนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเป็นทุกข์ ร้อนรน กระวนกระวาย เมื่อคนเกิดความรัก ก็เหมือนเขาถูกมนต์สะกดของกามเทพ ให้หลงใหล มัวเมา ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก ความจริงแล้วสิ่งที่ลวงคนให้หลงไปกับความรักก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกามราคะและอัตตาเท่านั้นเอง
ในมุมมองของธรรมะ ความรักไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทุ่มเทเพื่อให้ได้มา เป็นเพียงสิ่งที่ควรจะทุ่มทิ้งไป แต่ในมุมโลกียะความรักนั้นเหมือนกับเป้าหมายในชีวิตที่หลายคนเฝ้าฝันที่จะได้มาครอบครอง ทุ่มกายเทใจแลกมันมา ท้ายที่สุดก็จะได้มาแค่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์เท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าสอนว่า ในความรักนั้น มีเพียงแค่ทุกข์ ไม่มีอะไรปนอยู่นอกจากทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีความดีงามอะไร มีแต่ความทุกข์ล้วน ๆ นี่คือมุมมอง ที่เห็นผ่านสายตาของผู้ที่หมดกิเลส จึงได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ในเมื่อความรักนั้นทำให้เขาเหล่านั้นตาบอดอยู่
เมื่อความรักเกิด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นทันที ความอยากได้อยากครอบครองก็เกิดขึ้น ความอยากเติบโตขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ความหวง ความโกรธ ก็จะแรงเป็นเงาตามตัว มีใครบ้างที่เกิดความรักแล้วไม่ทุกข์ ไม่มีหรอก เพียงแต่เขาจะรู้รึเปล่าว่านั่นคือ อาการของทุกข์ ความกระวนกระวายใจ ความคิดถึง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ที่รบกวนจิตใจ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะให้มีเสี้ยนตำฝังในเท้า เดินไปก็เจ็บไป ความรักก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความอยาก ความใคร่ ความกระสัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตอยู่ไม่เป็นสุข วิ่งวนไปวนมาแต่เรื่องความรัก หาวิธีให้ได้มาเสพ ให้ได้สุขมากขึ้น หมกมุ่นอยู่กับความคันในใจเหล่านี้เรื่อยไป
แม้จะได้ความรักมาครอบครองแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป มันอาจจะโตขึ้นเพราะมีกามราคะและอัตตาเป็นอาหาร มันอาจจะรู้สึกสุขเพราะได้เสพสมอารมณ์กิเลสอยู่บ้าง แต่สุดท้ายมันจะหายไป ไม่ว่าความรักใด ก็ต้องเผชิญกับ “ความแก่” เป็นสภาพเสื่อมถอย เป็นขาลงของความรัก ความอ่อนแรง ไม่สดชื่น ความไม่ทันใจ ไม่ได้อย่างใจเหมือนก่อน ไม่เหมือนสมัยวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนทุกข์เพราะผิดหวัง เพราะมันไม่สุขสมใจเหมือนก่อน แม้จะพยายามแค่ไหน มันก็ไม่สุขเท่าตอนรักกันใหม่ ๆ นี้คือสภาพแก่ หรือความชราในความรัก นั่นเพราะกิเลสมันไม่ใช่สิ่งเที่ยง ไม่ใช่ว่าเสพรสเดิมแล้วมันจะสุขเท่าเดิมตลอด มันต้องหารสใหม่ ๆ มาเติมเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้คู่รักต้องพยายามเติม พยายามบำเรอกันยิ่งขึ้น ๆ เพื่อที่จะหนีจากความแก่เหล่านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนก็ต้องแก่ ความรักก็ต้องเสื่อม มันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะพาให้คนผู้ยึดมั่นถือมั่นในความรักนั้นทุกข์และเศร้าหมองกันเลยทีเดียว
ก็อาจจะมีบ้างที่มีคนที่มีความสามารถในการบำเรอกิเลสอีกฝ่าย มีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุขบำเรอให้ แม้จะพยายามทำให้ความเสื่อมของความรักนั้นเกิดช้าที่สุด แต่ความรักก็ยังหนีความเจ็บป่วยไปไม่ได้ คนสองคนไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันไปได้ตลอด มันจะมีเรื่องที่ทำให้เกิดการกระทบของความเห็นที่แตกต่าง แรกรักก็อาจจะยอมกันไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นถือมั่นมาก ๆ ถึงกับไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะกัน การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน อาการเหล่านี้คือสภาพเจ็บป่วยในความรัก เป็นแผลใจ เป็นรอยด่าง เป็นสภาพเสื่อมแบบสะสม เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ที่คนรักกันเลิกกันก็เพราะทะเลาะกันนี่แหละ ก็อาจจะมีบางคู่ที่จะเลิกกันไปเฉย ๆ เพราะไม่ได้ทะเลาะหรือผิดใจกัน แต่ที่เขาเลิกกันนั้น ก็เพราะว่าเขาเป็นทุกข์ เพราะทุกข์จากความรักมันมากกว่าการเลิกกัน เลิกกันมันเป็นสุขกว่า เขาก็เลิกกัน เพราะรักแล้วมันทุกข์ เขาเป็นทุกข์หนัก เขาก็ไม่อยากแบกมันไว้ เขาก็เลิก ส่วนที่ไม่เลิกก็ประคองกันไป เยียวยาแผลใจกันไป อยู่กันอย่างชิงชัง หวาดระแวง เป็นความอาฆาตแค้นสะสมไว้ในใจทีละน้อย ๆ จองเวรจองกรรมกันไปเรื่อย ๆ
สุดท้ายก็มาถึงความตายในความรัก มาถึงจุดที่มันต้องพราก เขาบังคับให้พราก ไม่จากเป็น ก็จากตาย ถ้าจากตายก็อาจจะทุกข์หนักมาก เพราะสูญเสียชัดเจน ก็น่าเห็นใจคนที่เข้าไปรัก รักใครแล้วเสียคนนั้นไป ก็เป็นทุกข์ รักมากทุกข์มาก ส่วนจากเป็นนี่ก็หลากหลายมิติ สารพัดบทละครที่วิบากกรรมจะสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นทุกข์ จะเล่นเป็นบทไหน ก็ต้องเป็นทุกข์ จะจบแบบชัดเจนก็ทุกข์ จบแบบไม่ชัดเจนก็ทุกข์ เพราะเขาจะให้พรากจากสิ่งที่รัก สุดท้ายจะเล่นได้รางวัลตุ๊กตาทองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยึดมาก จริงจังมาก ทุกข์มาก
ไล่มาตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องความรัก ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นที่เกิดขึ้น ทนทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ไม่เห็นจะน่าได้น่ามีหรือน่าครอบครองตรงไหน มีทุกข์จะมีไปทำไม ก็เว้นเสียแต่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็กลับหัวกันกับเนื้อหาในบทความนี้แหละ อธิบายแบบกลับหัวได้เลย มันจะไปคนละทิศ ก็ไปทิศที่กิเลสชอบ ทิศที่กิเลสพอใจ แต่ไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องพบกับทุกข์ในความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่าคนที่ไม่มีรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ที่มีความสุข สรุปกันชัด ๆ “คนที่ไม่มีความรัก คือคนที่มีความสุข” เป็นสภาวะที่เข้าถึงได้ยาก แต่ก็เป็นความจริงที่ควรจะยึดอาศัยไว้เป็นเป้าหมาย ถ้าไม่พากเพียรปฏิบัติธรรมที่ถูกตรงอย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางเข้าถึงสภาพที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะของท่านนั้น เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สาวกที่ปฏิบัติถูกตรง)
ดังนั้นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างตั้งมั่น ก็จะเพียรพยายามศึกษาให้รู้จักทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของความรัก จนก้าวข้ามพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก ตลอดจนเรื่องทุกข์ใจอื่น ๆ ได้โดยลำดับ
13.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง
การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)
ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป
แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา
ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง
ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์
แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ
จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย
ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน