Tag: กุศลกรรม
ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม
ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม
การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…
เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
1.คบหาผู้รู้
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ
สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ
ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย
2.ลักษณะของผู้รู้
ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน
สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์
ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ
3.คุณสมบัติของผู้รู้
คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ
4.การตามหาผู้รู้
การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม”
เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม”
กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง
ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล
5.การจะได้พบผู้รู้
การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด
การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส
ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง
ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้
การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ
เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป
6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า
เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก
พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา
ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน
ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร
7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?
เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป
ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่
– – – – – – – – – – – – – – –
25.9.2557
นรกของสัตว์เลี้ยง
นรกของสัตว์เลี้ยง
ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา
การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย
การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…
การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง
การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด
ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่
บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย
สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง
การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
16.9.2557
ทำบุญหวังผล
ทำบุญหวังผล
ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ และในสังคมทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากที่ใดใกล้วัดก็จะได้พบเห็นการทำบุญตักบาตรเกื้อกูลพระสงฆ์ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้เป็นประจำในทุกเช้า เป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีให้เห็นได้อยู่ในสังคมไทย
แต่การทำบุญนั้น ใครเล่าจะรู้ว่าจะได้อานิสงส์เท่าไหร่อย่างไร สิ่งใดเล่าเป็นตัววัด จะรับรู้ได้อย่างไรว่าบุญนั้นจะเกิดผล ผู้ที่ทำบุญส่วนมากกลับมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือทำบุญแล้วมักจะหวังผล หวังให้เกิดสิ่งที่ดีกับตน หวังให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้สมใจ ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอสวรรค์วิมาน ขอเทวดาคุ้มครอง ขอนิพพาน ขออะไรก็ขอกันไป โดยมีสิ่งของเครื่องบรรณาการไปแลกหรือติดสินบน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้คาดหวังว่าจะมี เทวดา ฟ้า สวรรค์ หรืออะไรมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีในชีวิตตน
เป็นการเอาโลกียะทรัพย์ คือวัตถุ สิ่งของ ไปแลกโดยหวังสิ่งที่มากกว่า เช่นทำบุญไป 100 บาท หวังว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือคนอีกพวกก็มักจะทำบุญด้วย วัตถุ สิ่งของ เพื่อหวังไปแลกอริยทรัพย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณีอยู่แล้วที่จะเอาของไร้ค่าไปแลกกับของมีค่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก
ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม การที่เราทำสิ่งใดนั้น เราย่อมได้รับผลของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไร ต้องทำเอาเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ วิมาน นิพพาน ฯลฯ ถ้าอยากจะได้ ต้องทำเอาเอง ต้องปฏิบัติเอาเอง ไม่ใช่การเฝ้าร้องขอ วิงวอน บนบาน ขอพร กับใครหรืออะไรทั้งสิ้น
อ่านไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าโหดร้าย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ เราจะได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรมา เราก็ไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ความยุติธรรมเช่นนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?
ผู้ที่มัวเฝ้าหวัง เฝ้าขออะไรก็ตาม แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ถ่องแท้ ไม่กระจ่างแจ้งเรื่องกรรม เขาเหล่านั้นจึงงมงายในสิ่งลี้ลับ สิ่งมหัศจรรย์ เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชาต่างๆ
การขอหรือการหวังใดๆนั้นอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่การเกิดสิ่งที่หวังนั้นไม่ได้เกิดจากการร้องขอของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยทำสิ่งดีมาก่อนก็ไม่มีวันได้สิ่งดี เหมือนกับการหยอดกระปุกสะสมเงิน ถ้าเราไม่เคยหยอดกระปุกเลย ถึงเราจะพยายามแงะแกะเขย่าเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่เงินจะร่วงลงมา
ดังนั้นการที่เราขอแล้วได้นั้น ไม่ได้หมายความเทพเทวดาหรืออะไรในสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะตัวของเรามีกุศลเก่าที่เก็บไว้ ความคาดหวังอย่างตั้งมั่นในการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ทำให้เราได้เบิกทุนกุศลเก่าที่เก็บไว้ในคลังกุศลของเรามาใช้อย่างไม่รู้ตัว จะสังเกตได้ว่าเวลามีคนบนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญขอนั่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีทั้งคนสมหวังและไม่สมหวัง นั่นก็เพราะคนที่สมหวังเขาทำกุศลสะสมมามากเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไปเห็นคนที่เขาได้ ก็เข้าใจไปว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความโลภ ก็เลยหวังให้ตนขอได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร…เพราะตนไม่เคยทำกุศลกรรมนั้นมา เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลของกรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ
แล้วต้องทำบุญแบบไหน?…
เราหลงไปกับการทำบุญที่เป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเป็นทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเข้าใจผิดก็จะห่างไกลกับความสุขแท้ไปเรื่อยๆ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกที่ควรเสียก่อน คือ มีความเข้าใจที่พาพ้นทุกข์ พาลดกิเลสเสียก่อน จึงเรียกได้ว่าสัมมาทิฏฐิ การให้เพื่อเป็นไปสู่การสั่งสมกิเลส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควรเลย
ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว มีผล ( อัตถิ ทินนัง)“ มีผลอะไร? คือมีผลไปลดกิเลส ลดความละโมบ ลดการสะสม ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดการเอาแต่ได้ ลดความเอาแต่ใจ ลดความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกที่ควร หรือสัมมาทิฏฐิ
ดังนั้น เมื่อเราทำทาน เราจึงต้องเข้าใจว่า ทานนี้เราให้ไปเพื่อลดกิเลสของเรา ลดความอยากได้อยากมีของเรา จึงจะเป็นบุญที่แท้จริง สร้างกุศลอย่างเต็มที่ ไม่มีบาปหรืออกุศลใดมาหักล้างให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ
เมื่อเราได้เข้าใจว่าทำการทำทานของเราได้เกิดผลลดกิเลสแล้ว นั่นก็คือทานนั้นสำเร็จถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ เป็นความสมบูรณ์ของทานนั้นๆแล้ว ส่วนกุศลหรืออานิสงส์จากการทำบุญที่จะเกิดตามมานั้น จะเป็นอย่างไรให้เป็นเรื่องของเขา จะเกิดสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ เพราะเราเมื่อเราทำทาน เราก็ได้รับสิ่งประเสริฐที่สุดคือการลดกิเลส เป็นสมบัติของเราแล้ว
ถ้าอย่างนั้นให้ทานแล้วต้องไม่หวังผล?..
จะตอบในแง่เดียวมันก็ไม่ใช่.. การให้ทานนั้น เราควรจะรับรู้ว่าผลจะเกิดอะไร เช่นเราให้สิ่งของกับคนๆหนึ่งไป แล้วรู้ผลว่าเขาจะไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อันนี้ก็คือเราหวังผล คือให้เกิดผลดีกับเขา แต่เราไม่หวังผลเพื่อให้เกิดกิเลสใดๆในใจเราเพิ่ม
หรือถ้าเราไปทำทานแล้ว รู้ผลว่าเขาจะไปทำชั่ว เอาไปทำสิ่งไม่ดี เราก็รู้ผลนั้นๆ จึงระงับการให้ทาน เพราะทานนั้นจะเป็นไปเพื่ออกุศล แต่ใจเราไม่ได้ติดยึดเรื่องการให้แล้ว เรายินดีที่จะให้ แต่ถ้าให้ไปแล้วมันเกิดอกุศลมากกว่ากุศลเราก็ไม่ให้ จิตตรงนี้ก็เป็นทานแล้ว คือไม่ให้ เพื่อจะไม่ส่งเสริมโอกาสที่เขาไปสร้างบาปสร้างอกุศลเพิ่ม เป็นการไม่ให้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อหวังไปชะลอหรือขัดกิเลสเขา ไม่ให้เขามีกิเลสเพิ่ม
การทำทานนั้น ควรทำอย่างมีปัญญา คือควรรู้ว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ได้กุศลหรืออกุศล เป็นไปเพื่อบุญหรือบาป เป็นการลดกิเลสหรือสั่งสมกิเลส จะเกิดสิ่งที่ดีหรือให้ผลที่ร้าย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงทำทานเพื่อลดกิเลสของเราและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พาตนเองและสังคมเจริญไปด้วยกัน เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
1.9.2557
ความตายชนะทุกสิ่ง
ความตายชนะทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือต่ำต้อยเพียงใด ชีวิตก็ต้องดำเนินมาถึงความตาย แม้ชีวิตจะมีแต่ความสุข ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ คนรัก ญาติมิตร บริวาร หรือกระทั่งความทุกข์ โรค ภัย ไข้เจ็บ ความเหงา เศร้า ทรมาน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย ทุกสิ่งช่างไร้ค่า…เมื่อต้องเผชิญกับความตาย
เมื่อความตายมาถึง สิ่งที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะผ่านไปได้ก็เฉพาะจิตวิญญาณเท่านั้น ส่วนทางที่ไปนั้น ก็เป็นไปตามกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมา คงจะมีหลายคนในโลกที่ไม่เชื่อและยังไม่เข้าใจเรื่องตายแล้วไปไหน?
ความตายไม่ได้นำไปสู่การดับสูญ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนจากคนที่นอนป่วยกลายเป็นสิ่งอื่น ตามกรรมที่เขาได้ทำมา ทำชั่วก็ไปชั่ว ทำดีก็ไปดี ทำชั่วดีปนกัน กรรมเขาก็คำนวณให้ออกไปอย่างเหมาะสม นั่นก็เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเราที่นั่งอ่านบทความอยู่ตรงนี้ก็เป็นผลจากกรรมในอดีต เราเกิดมาพร้อมกับกรรมดีกรรมชั่วที่เราทำมาแต่ชาติปางก่อน
การที่เราเกิดมามีกินมีใช้เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยสี่ โดยทั่วไปก็มักมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ เป็นเรื่องของโชค แต่ในทางพุทธไม่มีคำว่าบังเอิญหรือโชคดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงที่ว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งดีสิ่งชั่วเหล่านั้นที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น
ความตายที่ผ่านเข้ามาก็เป็นเพียงการชำระล้างของกรรม เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่สะสมโลกียะทรัพย์ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขลวงๆ ก็จะต้องพลอยสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดทุนไปตามๆกัน คงจะมีแต่ผู้ที่สะสมอริยทรัพย์ คือบุญและกุศลเท่านั้นที่พอจะสามารถกอบโกยทุนบางส่วน ไปลงทุนในละครบทต่อไปได้
ความตาย และการเกิดของกิเลส…
แต่ความตายก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าการเกิด การเกิดนั้นย่อมเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะความเกิดเป็นเหตุแห่งความตาย ตายแล้วก็เกิดวนกันไปอยู่อย่างนี้ ดังที่กิเลสเกิดในแต่ละวัน เช่น เราอยากกินของที่ชอบ กิเลสก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่ว่าจะได้กินหรือไม่ได้กิน มันก็จะดับไปของมันเอง แต่แล้ววันต่อมามันก็เกิดอีก แล้วก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่นานไปก็ดับไปอีก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ไม่มีวันจบสิ้น
แม้ว่าความตายนั้นจะชนะทุกสิ่งได้ แต่ความตายของกิเลสนี้ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นเอง กิเลสคือศัตรูร้ายที่ฝังตัวแอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเรา เป็นตัวบงการให้มีการเกิด แต่ตัวมันเองจะไม่ยอมตาย ถ้ามัวแต่เลี้ยงมันไว้ คนที่ตายก็เป็นตัวเราเองนี่แหละ แล้วมันก็จะสั่งให้เราเกิด เพื่อหาอาหารให้มัน ให้เสพสมใจมัน ใช้งานเราจนร่างกายที่ได้รับมาทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เฒ่า แล้วก็ตายจนต้องทิ้งร่างนี้ไป เบิกทุนบุญกุศลในชาติก่อนเพื่อเกิดมาตายไปชาติหนึ่งเปล่าๆ โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ คือการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์ เพราะมัวแต่ทำตามคำสั่งกิเลสให้ไปสะสมโลกียะทรัพย์
การจะเอาชนะกิเลสนั้น จึงจะเป็นต้องสวนกระแส ต้องคอยต้าน คอยฝืน ไม่ทำตามกิเลส พิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของกิเลสนั้นๆ ค้นหาว่าจริงๆแล้วเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร และเข้าไปค่อยๆพิจารณาตามจริงถึงสาระแท้ของสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าจริง หรือแค่กิเลสต้องการ เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างตั้งมั่น จนเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์หรือสาระใดๆเลย กิเลสก็จะยอมถอย ยอมตายไปจากใจของเราเอง เป็นการชนะศึกจากการรบกับกิเลสโดยใช้ปัญญา
เป็นการมอบความตายให้กับกิเลส โดยที่มันเองก็ยินดีที่จะตาย และตายไปตลอดนิรันดร์กาล เป็นความตายที่เอาชนะได้แม้แต่กิเลส เป็นความตายที่ไม่ต้องมีการกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมีการตายอีกต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557